แฟ้มภาพโดนัลด์ ทรัมป์ในวันสาบานตนเป็นประธานาธิบดีเมื่อ 21 มกราคม 2560 (ที่มา: Facebook/the white house)

Posted: 12 Aug 2019 07:42 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
Submitted on Mon, 2019-08-12 21:42


หนึ่งในประเด็นใหญ่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาของสหรัฐฯ คือกรณีการกราดยิงต่อเนื่อง ที่หลังจากนั้นประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และนักการเมืองรีพับลิกันก็ออกมากล่าวโทษเกม แต่ก็มีการวิจารณ์ตอบโต้ว่าแทนที่นักการเมืองอนุรักษ์นิยมจะโทษเกม พวกเขาควรให้ความสนใจอาชญากรรมจากความเกลียดชังเชื้อชาติสีผิวมากกว่า นอกจากนี้เรื่องกฎหมายควบคุมอาวุธปืนกลับมาเป็นข้อถกเถียงอีกครั้ง และจากผลโพลเมื่อไม่นานนี้ระบุว่าชาวอเมริกันต้องการกฎหมายควบคุมอาวุธปืน และกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนดำเป็นฝ่ายสนับสนุนให้ควบคุมอาวุธปืน


12 ส.ค. 2562 หลังจากเหตุการณ์คนก่อเหตุกราดยิงในหลายที่ของสหรัฐฯ เกิดขึ้นติดต่อกันในช่วงไม่นานนี้ ทั้งใน เดย์ตัน โอไฮโอ และในเอลปาโซ ของเท็กซัส ก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมความรุนแรงจากอาวุธปืนอีกครั้ง สถานีวิทยุสาธารณะแห่งชาติสหรัฐฯ NPR ระบุว่าหนึ่งในเรื่องที่กลายมาเป็นข้ออภิปรายทางการเมืองคือเรื่องกฎหมายควบคุมอาวุธปืน

โดยในช่วงสัปดาห์ที่แล้วมีกลุ่มประชาชนผู้ไม่พอใจเรียกร้องให้ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอจากพรรครีพับลิกันทำอะไรสักอย่างกับกรณีอาวุธปืนหลังเกิดเหตุกราดยิงในเดย์ตัน หลังจากนั้นแม้แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งก่อนหน้านี้พูดโทษวิดีโอเกมที่มีความรุนแรงเริ่มพูดถึงการพิจารณากฎหมายจำกัดการถือครองอาวุธปืนโดยอาศัยการตรวจสอบพื้นเพของบุคคล

ทั้งนี้จากผลโพลหลายสำนักก็เผยว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการควบคุมอาวุธปืนในสหรัฐฯ จากผลโพลของมหาวิทยาลัยควินนิเปียกระบุว่าผู้ทำแบบสอบถามร้อยละ 61 เห็นด้วยกับการที่สหรัฐฯ จะมีกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวดมากขึ้น มีร้้อยละ 34 ที่คัดค้านในเรื่องนี้และที่เหลือระบุว่าไม่ทราบ ข้อมูลที่หน้าสนใจอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับโพลนี้คือเรื่องที่มีผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตร้อยละ 91 ระบุว่าเห็นด้วย ส่วนพรรครีพับลิกันมีเพียงร้อยละ 32 เท่านั้นที่เห็นด้วย

นอกจากนี้ยังมีความคิดเห็นแตกต่างกันระหว่างเชื้อชาติสีผิวและเพศของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยที่กลุ่มที่เห็นด้วยกับการควบคุมอาวุธปืนมากที่สุดคือกลุ่มคนดำ มีกลุ่มตัวอย่างคนดำถึงร้อยละ 85 เห็นด้วยในเรื่องนี้เมื่อเทียบกับคนขาวและฮิสแปนิคที่เห็นด้วยร้อยละ 59 นอกจากนี้ผู้หญิงที่ทำแบบสอบถามยังเห็นด้วยกับการควบคุมอาวุธปืนเช้มงวดมากขึ้นร้อยละ 68 เทียบกับชายมีผู้เห็นด้วยร้อยละ 53

มีผลโพลอีกแห่งหนึ่งคือแมสิสต์โพลออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ระบุว่ามีร้อยละ 51 ที่เห็นด้วยกับการควบคุมอาวุธปืนเข้มงวดขึ้น ขณะที่ร้อยละ 36 ระบุว่าควรจะปล่อยกฎหมายให้คงเดิม อย่างไรก็ตามสำหรับคำถามที่ว่าระหว่างการควบคุมความรุนแรงจากอาวุธปืนให้มากขึ้นกับการคุ้มครองสิทธิในการพกพาอาวุธปืนพวกเขาเห็นด้วยกับอย่างใดมากกว่ากัน ร้อยละ 58 ระบุว่าพวกเขาเห็นด้วยกับการควบคุมความรุนแรง ส่วนร้อยละ 37 ระบุว่าควรจะคุ้มครองสิทธิด้านอาวุธปืนมากกว่า

อย่างไรก็ตามท่าทีของวุฒิสภาสหรัฐฯ นำโดย ส.ว.เสียงข้างมากจากพรรครีพับลิกันก็แสดงออกว่าจะสนับสนุนผลักดันให้เกิดกฎหมาย "ธงแดง" ที่อนุญาตให้ตำรวจหรือสมาชิกครอบครัวขอหมายศาลเมื่อยึดอาวุธปืนชั่วคราวจากบุคคลที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อพวกเขาหรือบุคคลอื่นๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความผิดที่พวกเขาก่อ

ทั้งนี้ ส.ว. รีพับลิกัน มิตช์ แมคคอนเนล ยังเคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อวิทยุในสหรัฐฯ ว่าเขารับทราบเรื่องที่ผู้คนจำนวนมากเรียกร้องให้มีการตรวจสอบพื้นเพของผู้ที่จะพกพาอาวุธปืน เรื่องนี้สะท้อนจากผลโพลของแมริสต์โพลเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาระบุว่าร้อยละ 89 สนับสนุนให้มีการตรวจสอบพื้นเพของผู้คนที่จะซื้ออาวุธปืน ซึ่งในเรื่องนี้แม้กระทั่งผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันก็เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 84 เรื่องนี้ยังสะท้อนในผลโพลของควินนิเปียกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่กลุ่มตัวอย่างผู้ทำแบบสอบถามจากทุกฝ่ายทางการเมืองรวมถึงผู้ไม่ฝักใฝ่พรรคใดล้วนแต่เห็นด้วยกับการตรวจสอบพื้นเพ

อย่างไรก็ตามถึงแม้การเคลื่อนไหวเรียกร้องควบคุมอาวุธปืนในสหรัฐฯ จะดำเนินมาตลอดแต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็มีการขัดขวางจากกลุ่มสมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ (NRA) ซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้เรื่องสิทธิในการถือครองอาวุธปืนในสหรัฐฯ โดยมีการบริจาคให้นักการเมืองหลายคนซึ่งส่วนใหญ่เป็น ส.ส. และ ส.ว. จากพรรครีพับลิกัน

มีสื่อเปิดโปงในเรื่องนี้โดยอาศัยข้อมูลจาก OpenSecrets.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ขององค์กรวิจัยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่ชื่อ Center for Responsive Politics จากข้อมูลดังกล่าวระบุว่าผู้ที่รับบริจาคจาก NRA มากที่สุดคือ เท็ด ครูซ ส.ว. รีพับลิกันจากรัฐเท็กซัส ซึ่งรับเงินจาก NRA ราว 300,000 ดอลลาร์ในปี 2561 ถึงแม้ว่าครูซจะออกมาประณามการก่อเหตุล่าสุดก็ตาม นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองรีพับลิกันรายอื่นๆ ที่รับเงินบริจาคจาก NRA ตั้งแต่ 30,000-200,000 ดอลลาร์ในปีเดียวกัน
ฝ่ายซ้ายจวกทรัมป์โทษแต่เกม แต่ไม่สนใจอาชญากรรมจากความเกลียดชัง

นอกจากประเด็นเรื่องการควบคุมอาวุธปืนแล้ว หลายครั้งเมื่อมีการก่อเหตุกราดยิงในสหรัฐฯ นักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็มักจะกล่าวโทษว่าสื่อวิดีโอเกมที่มีความรุนแรงเป็นต้นเหตุ และในครั้งนี้เองประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็เคยพูดในแบบเดียวกันรวมถึงนักการเมืองรายอื่นๆ ของรีพับลิกันเช่น เควิน แมคคาธี ด้วย

เรื่องนี้ทำให้มีการโต้ตอบจากนักการเมืองฝ่ายซ้ายอย่างอเล็กซานเดรีย โอแคซิโอ-คอร์เทซ ผู้แทนเดโมแครทที่ระบุในทวิตเตอร์โต้ตอบการโทษเกมของแมคคาธีว่าปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่วิดีโอเกม แต่เป็นแนวคิดแบบคนขาวเป็นใหญ่ (white supremacy) ต่างหาก โอแคซิโอ-คอร์เทซ วิจารณ์อีกว่าในเรื่องนี้พรรครีพับลิกันรู้อยู่แก่ใจ เพราะแม้แต่ประธานาธิบดีเองก็เคยกล่าวต่อฝูงชนขับไล่สมาชิกสภาที่ไม่ใช่คนขาวมาก่อน

มีหลักฐานส่วนหนึ่งบ่งชี้ว่าแรงจูงใจของกรณีการกราดยิงที่เอลปาโซนั้นมาจากเรื่องความเกลียดชังทางเชื้อชาติสีผิว โดยที่ผู้ต้องสงสัยก่อเหตุในเอลปาโซเพิ่งให้การรับสารภาพว่าเขามีแรงจูงใจมุ่งสังหาร "ชาวเม็กซิกัน" ผู้ต้องสงสัยบอกว่าเขาได้วางแผนการก่อเหตุและขับรถเป็นระยะเวลายาวนาน 10 ชั่วโมงจากเมืองอัลเลนในเท็กซัสมาถึงเมืองเอลปาโซที่มีพรมแดนติดกับเม็กซิโก จากนั้นจึงก่อเหตุด้วยการเปิดฉากยิงใส่ผู้คนที่ห้างค้าปลีกวอลล์มาร์ทจนมีผู้เสียชีวิต 22 รายมีอายุตั้งแต่ 15-90 ปี ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นพลเมืองอเมริกัน มีอยู่ 8 รายที่เป็นคนเม็กซิกัน และมีรายหนึ่งเป็นชาวเยอรมัน

เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ เชื่อว่าช่วงก่อนก่อเหตุในเอลปาโซผู้ก่อเหตุได้โพสต์ข้อความยาว 2,300 ตัวอักษรบนเว็บบอร์ด 8chan ในช่วงก่อนเกิดเหตุเพียง 19 นาที เนื้อหาข้อความยืดยาวของเขาระบุว่า "ชาวฮิสแปนิกรุกรานรัฐเท็กซัส"

โอแคซิโอ-คอร์เทซ เคยวิจารณ์ไว้ว่าเรื่องเหล่านี้มาจากการปลุกปั่นของผู้นำที่เหยียดเชื้อชาติสีผิว โดยที่ประธานาธิบดีทรัมป์เองก็เคยเรียกผู้อพยพว่าเป็น "ผู้รุกราน" ผ่านทางโฆษณาของเขาในเฟสบุก

จากที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสาขาหนึ่งของห้างค้าปลีกวอลล์มาร์ท ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดหาอาวุธปืนรายใหญ่ในสหรัฐฯ แทนที่ทางบรรษัทจะพิจารณาเรื่องการควบคุมการค้าอาวุธปืนของตัวเอง พวกเขาก็กลับสั่งให้ลูกจ้างของตัวเองยกเลิกการวางโชว์วิดีโอเกมที่ "มีเนื้อหารุนแรงหรือพฤติกรรมก้าวร้าว" แทน นอกจากนี้ยังสั่งยกเลิกการจัดแสดงตัวอย่างของเกมเครื่องคอนโซลที่นำเสนอเนื้อหารุนแรงจากร้านค้าของพวกเขา 4,750 สาขา แต่พวกเขาก็ไม่ได้พูดถึงว่าจะยกเลิกการขายปืนหรือกระสุนปืนแต่อย่างใด โดยพวกเขายังขายสินค้าเหล่านี้ในห้างของพวกเขาครึ่งหนึ่งจากทุกสาขา

เรื่องนี้ทำให้คนทำงานวอลล์มาร์ทพากันประณามการตัดสินใจของคนใหญ่คนโตในองค์กรที่เน้นโทษวิดีโอเกมแทนที่จะทำให้อาวุธปืนเข้าถึงได้ยากขึ้น โดยที่คนงานร่วมกับองค์กรยูไนเต็ดฟอร์เรสเปกต์ออกแถลงการณ์วิจารณ์ว่าการตัดสินใจของซีอีโอ ดัก มักมิลลัน "ไร้ความรับผิดชอบและเหลาะแหละ"

กลุ่มคนงานแถลงว่านโยบายใหม่นี้ไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยในที่ทำงานเลย และสิ่งที่เป็นอันตรายจริงๆ ไม่ใช่วิดีโอเกมแต่คือ "การที่ปืนตกอยู่ในมือของคนที่มีแนวคิดคนขาวเป็นใหญ่" พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์อีกว่าการที่ซีอีโอของวอลล์มาร์ทยอมสมรู้ร่วมคิดกับการเหยียดเชื่อชาติสีผิวและการกลัวคนนอกของทรัมป์ทำให้คนงานอย่างพวกเขาต้องเสี่ยงอันตราย

หลังจากเกิดเหตุการกราดยิงหลายครั้งในสหรัฐฯ ช่วงที่ผ่านมา ทรัมป์เริ่มออกมาเรียกร้องให้มีการ "ประณามการเหยียดเชื้อชาติ, การดันทุรังไม่ยอมรับความต่าง และแนวคิดคนขาวเป็นใหญ่" ซึ่งเรื่องนี้นักการเมืองสายห้าวหน้าเรียกร้องมานานแล้ว และตัวทรัมป์เองก็ไม่ได้พูดถึงการใช้โวหารและนโยบายที่เหยียดเชื้อชาติสีผิวของตัวเอง

เรียบเรียงจาก

'I'm The Shooter,' El Paso Suspect Allegedly Told Police, NPR, 09-08-2019

US president Donald Trump blames videogames for fueling violent culture, PC Gamer, 05-08-2019

Ocasio-Cortez Tells Off Kevin McCarthy: Blame White Supremacy, Not Video Games, Huffington Post, 05-08-2019

Americans Largely Support Gun Restrictions To 'Do Something' About Gun Violence, NPR, 10-12-2019

These lawmakers receive the most campaign money from gun-rights backers like the NRA, Market Watch, 10-12-2019

Gun Rights: Top Recipients, OpenSecrets.org

Workers and Shooting Survivors Slam Walmart Plan to Stop Gun Violence by...Wait for It...Displaying Video Games Less Prominently, Common Dreams, 09-08-2019

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Red_flag_law

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.