วิวัฒนชัย วินิจจะกุล

“พ่อแม่มีลูกทั้งหมด 10 คน ผมเป็นลูกคนที่ 9 อายุห่างจากธงชัย (ธงชัย วินิจจะกูล) 9 ปี ชีวิตวัยเด็กเติบโตมาในตึกแถวสามชั้นครึ่งย่านท่าพระจันทร์ พ่อแม่ย้ายมาอยู่ตั้งแต่ปี 2494 บ้านของเราเป็นร้านขายอาหาร ข้าวหมูแดง ข้าวหน้าเป็ด ข้าวมันไก่ ก๋วยเตี๋ยว ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผมอายุ 7 ขวบ จำได้ว่าได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์ รับรู้ว่ามีการยิงกัน และเห็นธงชัยใส่ชุดนักเรียนมอมแมมกลับมาบ้าน ตอนนั้นเขายังเรียนอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบ อาม่า ผม และน้องสาวถูกพาไปอยู่บ้านของป้าแถวประตูน้ำชั่วคราว พ่อแม่คงกลัวว่าคนแก่และเด็กจะโดนลูกหลงจากเหตุการณ์ เพราะท่าพระจันทร์ก็อยู่ใกล้ธรรมศาสตร์และสนามหลวง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสมรภูมิในเวลานั้น

“เช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ร้านอาหารของเราปิดขายมาได้สักพักใหญ่แล้ว เพราะพ่อป่วยเป็นกระดูกกดทับเส้นประสาทบริเวณต้นคอ เขาต้องใส่เฝือกคอเกือบทั้งวัน เพื่อยึดไม่ให้คอหมุนไปมา หมอก็สั่งว่าห้ามทำงานหนัก ตอนนั้นผมอายุ 10 ขวบ ตื่นเช้ามาเตรียมจะไปโรงเรียนเหมือนปกติ เดินลงบันไดมาก็แปลกใจ เพราะเห็นพี่ๆ ยังอยู่ในบ้าน ตอนนั้นถึงได้รู้ว่าโรงเรียนประกาศหยุด สำหรับเด็กที่ยังไม่ได้เข้าใจเรื่องการเมืองลึกซึ้ง มุมหนึ่งก็ดีใจที่ไม่ต้องไปโรงเรียน อีกมุมก็เสียดายเพราะวันพุธมีวิชาวาดเขียน ซึ่งเป็นวิชาที่ชอบ ผมไม่รู้หรอกว่าสถานการณ์นอกบ้านตึงเครียดขนาดไหน แต่ในความไม่รู้นั้น อีกด้านคือมันรับรู้จนเคยชิน ก่อนหน้านั้นเราเคยได้ยินเสียงปืนเป็นเรื่องปกติ คืนวันที่ 5 ต่อเนื่องเช้าวันที่ 6 เสียงปืนดังถี่ขึ้น เสียงแป๊กๆๆๆ เหมือนเสียงประทัดก็ดังอยู่ตลอด

“ช่วงสายของวันนั้น อยู่ๆ ก็มีคนแปลกหน้าวิ่งแตกตื่นเข้ามาในบ้านหลายสิบคน ทั้งทุบประตูบ้านขอเข้ามา และเข้ามาทางหน้าต่างชั้นสอง เพราะตึกแถวละแวกนั้นมีหลังคาเป็นระเบียงต่อกันเป็นแนวยาว หนึ่งในคนที่หลบเข้ามาคือพี่สาว เขาเป็นนักเรียนเตรียมอุดมฯ ที่หนีออกมาจากการชุมนุมในธรรมศาสตร์ หลายคนที่เข้ามาตัวเปียก เราต้องหาเสื้อผ้าใหม่ให้เปลี่ยน พวกเขาคงเดินเลาะเลียบรั้วธรรมศาสตร์ริมแม่น้ำเจ้าพระยามาขึ้นที่ท่าเรือท่าพระจันทร์ ผมคิดว่าบ้านแถวนั้นคงรับคนเข้าไปหลบภัยกันทุกหลัง แต่คนเข้ามาที่บ้านของเราถือว่าโชคร้าย เพราะหลังจากนั้นไม่นาน สถานีวิทยุยานเกราะประกาศว่า บ้านเลขที่นี้-ชื่อร้าน ‘จิตรอารี’ คือบ้านของนายธงชัย วินิจจะกูล เป็นนักศึกษาแกนนำการชุมนุม และให้ที่พักพิงคนที่หลบรอดออกมาจากธรรมศาสตร์ เหมือนชี้นำกลุ่มอันธพาลการเมืองให้มุ่งหน้ามาทำร้ายคนในบ้าน พี่ๆ ต้องปีนบันไดขึ้นไปช่วยกันปลดป้ายร้านลงมา นับจากเช้าวันนั้นเป็นต้นมา เราไม่เคยเอาป้ายร้านกลับขึ้นไปติดอีกเลย

“ต่อมาก็มีตำรวจมาทุบประตู บุกเข้ามาพร้อมอาวุธ จำได้ว่าบางคนถือปืน M16 ด้วย จับกุมกวาดต้อนคนในบ้านออกไป พี่สาวคนที่หลบรอดออกมาจากธรรมศาสตร์เกือบถูกพาตัวไปด้วย ดีที่แม่รีบกระชากแขนกลับ แล้วบอกว่า ‘คนนี้ลูกของฉัน’ ผ่านไปสักพักมีตำรวจอีกชุดมาทุบประตูบ้านตะโกนถามซ้ำๆ ว่า ‘ธงชัยอยู่ไหน!’ ตอนนั้นคนที่อยู่ในบ้านมีพ่อ แม่ อาม่า พี่สาวสี่คน พี่ชายคนรองซึ่งเรียนอยู่ที่เทคโนฯ บางมด และไม่ได้ยุ่งอะไรกับเรื่องการเมือง เวลานั้นส่วนใหญ่ผมและน้องสาวอยู่กันที่ชั้นสอง พี่ชายเป็นคนลงไปเปิดประตู แล้วก็มีเสียงกรี๊ดลั่นของพี่สาวสักคน ผมรีบวิ่งลงมาตรงเชิงบันไดระหว่างชั้น มองไปที่หน้าบ้าน ได้ยินพี่สาวบอกว่าตำรวจใช้ปืนฟาดแล้วลากตัวพี่ชายออกจากบ้านไปแล้ว เขาคงดูเหมือนนักศึกษาที่ยังตกค้างอยู่ จากนั้นไม่ถึงอึดใจก็มีเสียงปืนกลดังกราด วินาทีนั้นคือบรรยากาศที่น่ากลัวที่สุด ไม่มีใครกล้าจินตนาการว่าเกิดอะไรกับเขา พ่อร้องไห้หันหน้าเอามือทุบผนัง คร่ำครวญว่าทำไมต้องเกิดเรื่องอย่างนี้กับครอบครัวของเรา

“บ่ายวันนั้น ลูกของป้ามารับพวกเราไปหลบพักอยู่บ้านป้าที่ประตูน้ำอีกครั้ง มีอาม่า พี่สาวสองคน ผม และน้องสาว ครั้งนี้ไปอยู่นานเป็นเดือนจนใกล้เปิดเทอม สรุปว่าพี่ชายของผมถูกจับติดคุก 3 คน คือ สองคนที่อยู่ในธรรมศาสตร์วันนั้น (ธงชัย และ ชวลิต วินิจจะกูล) และคนที่ถูกตำรวจใช้ปืนฟาดแล้วลากตัวออกจากบ้านไป (สุวิทย์ วินิจจะกูล) คนหลังถูกจับไม่นานก็ปล่อยตัวออกมาพร้อมกับผู้ต้องหาล็อตใหญ่ล็อตแรก ชวลิตถูกปล่อยออกมารอบสุดท้าย หลังจากนั้นเขาตัดสินใจเข้าป่า ซึ่งตอนนั้นพี่สาวที่เรียนอยู่เตรียมอุดมฯ ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ส่วนธงชัยเป็นหนึ่งในคนที่ถูกส่งฟ้องคดี 6 ตุลา เวลาแม่ไปเยี่ยมลูกชายที่บางเขน วันไหนที่ผมไปด้วยก็ช่วยถือถุงข้าวปลาอาหาร เดินฝ่าแดดร้อนเปรี้ยงจากหน้าประตูไปถึงอาคารเยี่ยม ในความรู้สึกตอนนั้นคือไกลเหลือเกิน

“เพื่อนบ้านย่านท่าพระจันทร์มีทั้งคนที่เข้าใจแล้วให้กำลังใจ และคนที่พูดกับพ่อแม่ประมาณว่า ‘เลี้ยงลูกยังไงให้เป็นคอมมิวนิสต์’ บางคนบอกว่า ‘ที่ร้านปิดมาเป็นปีได้ก็เพราะลูกชายรับเงินจากรัสเซีย’ พอดีว่าช่วงนั้นพ่ออาการดีขึ้นจนเกือบหายแล้ว แม่เลยตัดสินใจว่าจะเปิดร้านอีกครั้ง เพื่อพิสูจน์ให้คนที่กล่าวหาได้เห็นว่า ลูกของแม่ไม่ได้ผิด เราไม่ได้รับเงินใคร แม่บอกว่า ‘ถึงจะขายได้ห้าบาทสิบบาทก็เอา’ พวกเราก็เห็นดีด้วย มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะปิดร้านไปเป็นเวลานานๆ เพราะสำหรับครอบครัวที่มีลูกหลายคน ยังไงพ่อแม่ก็ต้องกัดฟันทำมาหากิน แต่พวกเขาคงวางแผนไว้นานแล้วว่า ถ้าทำงานเก็บเงินได้มากพอจะเกษียณตัวเอง พอเปิดร้านได้อีกประมาณปีเศษ ในปี 2521 ครอบครัวของเราก็ย้ายจากท่าพระจันทร์มาอยู่ย่านฝั่งธนฯ

“หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาจบลงใหม่ๆ ลมขวาจัดพัดแรง ผมเรียนอยู่ ป.5 ครูประจำชั้นเป็นภรรยานายทหารอากาศ เขาสั่งการบ้านให้นักเรียนคัดลายมือเนื้อร้องเพลง ‘หนักแผ่นดิน’ สั่งให้นักเรียนออกมายืนหน้าห้องร้องเพลงปลุกใจ แต่ผมร้องไม่เป็นสักเพลง ต้องใช้วิธีขยับปากตามเพื่อนไป (หัวเราะ) เพราะที่ผ่านมาเราร้องเป็นแต่เพลงเพื่อชีวิต กรรมาชน กงล้อ รวมฆ้อน คาราวาน อะไรพวกนี้ ยังจำได้ว่าเนื้อเพลงเพื่อชีวิตจะสอนให้เรากล้าหาญ เสียสละ คิดถึงส่วนรวม เรียนไปเพื่อรับใช้ประชาชน ผมคุ้นตากับบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ จากโปสเตอร์ที่ติดอยู่บนผนังบ้าน คุ้นเคยกับชื่อพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีบทบาทก่อน 6 ตุลา เรื่องที่ตลกคือ เพื่อนคนหนึ่งเล่าว่า พ่อเขาบอกว่าพรรคการเมืองที่ไม่ดีและอย่าไปเลือก คือพรรคการเมืองที่มีคำว่า ‘สังคม’ อยู่ในชื่อ ซึ่งผมมาเข้าใจทีหลังว่าเพราะเป็นคำที่ไปพ้องกับลัทธิสังคมนิยม คิดดูว่า พรรคกิจสังคม พรรคสังคมชาตินิยม พรรคธรรมสังคม ในตอนนั้นเป็นสังคมนิยมเหรอ

“ช่วง ม.ต้น ผมได้อ่านหนังสือ เราคือผู้บริสุทธิ์ และได้อ่านเอกสารที่กลุ่มนักศึกษาจัดทำขึ้นหลังจากนั้น ทั้งที่เป็นเอกสารโรเนียวและจุลสาร ทำให้เข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลา เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการสังหารหมู่ในตอนเช้ากับการช่วงชิงอำนาจและรัฐประหารในเย็นวันนั้น ผู้บริสุทธิ์คดี 6 ตุลาถูกขังอยู่ 710 วัน ก่อนจะได้รับการนิรโทษกรรม ทำให้ฆาตกรตัวจริงได้รับนิรโทษไปด้วย ธงชัยกลับมาเรียนต่อ แต่เราไม่ค่อยได้คุยเรื่องซีเรียสกันมากนัก ช่วงเวลานั้นการพูดถึง 6 ตุลาเป็นเหมือนเรื่องลึกลับน่ากลัว ถ้ามีใครมาถามถึงพี่สาวและพี่ชายที่เข้าป่า พี่ๆ บอกว่าให้ตอบว่า ‘เขาไปเรียนต่อต่างประเทศ’ จนกระทั่งเมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ผมได้ฟังอภิปรายเสวนาได้คุยแลกเปลี่ยนกับคนมากขึ้น มีหนังสือให้อ่านมากขึ้น ทำให้เข้าใจเหตุการณ์มากขึ้นว่า 6 ตุลาเกิดจากการบรรจบกันของหลายเงื่อนไขปัจจัย ทั้งความหวาดกลัวผสมความระแวงของชนชั้นนำ ความโหดร้ายเลือดเย็นของชนชั้นปกครอง การแย่งชิงอำนาจกันในกองทัพ และการเมืองระหว่างประเทศ

“ชีวิตวัยเด็ก 12 ปีของผมที่ท่าพระจันทร์ คาบเกี่ยวกับช่วงเวลาของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทุกวันนี้รายละเอียดหลายเรื่องเลือนรางไปบ้าง แต่ภาพบางภาพของเหตุการณ์ยังชัดเจน ทุกครั้งที่นึกถึงความทรงจำในช่วงเวลานั้น ผมอดไม่ได้ที่จะนึกถึงความสะเทือนใจของพ่อแม่ ภาพที่แม่ดึงลูกสาวกลับมาจากการกวาดต้อนของตำรวจ ลูกชายถูกทำร้ายร่างกายแล้วลากตัวออกจากบ้านไปต่อหน้าต่อตา ลูกติดคุก ลูกเข้าป่า รวมไปถึงสายตาที่คนอื่นมองในทางไม่ดี สำหรับคนจีนที่เริ่มต้นจากไม่มีอะไรเลย ค่อยๆ เก็บเงินสร้างตัวสร้างครอบครัวจนเซ้งตึกแถวได้ การต้องปลดป้ายร้านลงแล้วไม่ได้ติดกลับอีกเลย มันหมายความว่าบ้านที่เป็นศูนย์รวมความรักกลายเป็นสถานที่ไม่ปลอดภัยไปแล้ว และดูเหมือนเขาแทบจะไม่สามารถปกป้องคุ้มครองลูกๆ ได้เลยในเหตุการณ์วันนั้น มันเกินกว่าที่ผมจะอธิบายได้ว่าพ่อแม่ต้องแบกรับความรู้สึกหนักอึ้งไว้ขนาดไหน

“แม่ไปฟังคดีแทบทุกครั้งที่มีโอกาส ร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้คนที่เสียชีวิตจาก 6 ตุลาต่อเนื่องเป็นประจำ สมัยนั้นยังจัดงานรำลึกกันที่โรงพยาบาลสงฆ์ ใครชวนให้ไปพูดอะไรก็ไป แม่เหมือนเป็นตัวแทนของบรรดาญาติหรือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 6 ตุลาไปกลายๆ ผมคิดว่า ณ จุดนั้นแม่ไม่ได้มีลูกแค่สิบคนแล้ว แต่มีลูกเป็นหมื่นเป็นแสนคน ลูกๆ ที่รักความเป็นธรรม มีความฝันอยากเห็นสังคมไทยดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า อุดมคติ ความปรารถนาดี และความใฝ่ฝันของคนหนุ่มสาวไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ แต่ความโหดร้ายรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาได้ทำลายความฝันของพวกเขาแทบหมดสิ้น คนที่น่ารังเกียจคือคนที่อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุการณ์ 6 ตุลาต่างหาก ดังนั้นสังคมไทยจะต้องไม่ปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำ ไม่ควรมีครอบครัวไหนที่ต้องเจอกับผลกระทบเลวร้ายแบบเดียวกับคนรุ่นนั้นอีกแล้ว”

-

(เขาคือ 1 ใน 19 คนที่อยู่ในหนังสือ 'มนุษย์ 6 ตุลา')

https://www.facebook.com/bkkhumans/photos/a.1433077766976167/2824823324468264/


มนุษย์กรุงเทพฯ

'มนุษย์ 6 ตุลา' หนังสือรวมบทสัมภาษณ์ 19 ชิ้น เป็นความพยายามที่จะบันทึกเหตุการณ์ในเวลานั้นผ่านเรื่องเล่าชีวิตคน ตัดทอนและเรียบเรียงให้สั้นกระชับเพื่อง่ายต่อความเข้าใจ ปิดท้ายด้วยคำอธิบายขนาดยาวจากนักวิชาการ ที่ค่อยๆ คลี่ความโกลาหลให้เห็นที่มาของความรุนแรง
สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ - https://bit.ly/3l8Yiu7
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.