iLaw
YoetsrhterdaSayoitdopsSnofns ogaSdtrl 2:3u5ti PrhMed ·

สาวตรี สุขศรี: แก้กฎหมายละเมิดอำนาจศาล กำหนดบทลงโทษผู้พิพากษา และสร้างกลไกตรวจสอบอิสระจากภายนอกคือสามเรื่องเร่งด่วนของการปฏิรูประบบยุติธรรมไทย

.
สาวตรีระบุว่า หน้าที่หลักๆของศาลคือการค้นหาความจริง ตัดสินข้อพิพาท รวมทั้งกำหนดบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด การที่ศาลสามารถให้คุณให้โทษรวมถึงสามารถสั่งจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนได้ย่อมจะทำให้มีผู้ที่เสียประโยชน์จากการทำหน้าที่ของศาลจึงต้องการกลไกเรื่องเครื่องมือพิเศษที่จะใช้เพื่อคุ้มครองให้ศาลสามารถเอานวยความยุติธรรมไปตามข้อเท็จจริงของพยานหลักฐานโดยปราศจากการแทรกแซง
.
กฎหมายละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายที่ใช้กันในหลายประเทศรวมทั้งประเทศประชาธิปไตย ประเทศอย่างอังกฤษซึ่งใช้ common law หรือกฎหมายจารีต จะให้ความคุ้มครองผู้พิพากษาในกฎหมายละเมิดอำนาจศาลอย่างกว้างขวางโดยหมายรวมถึงการคุ้มครองเกียรติของผู้พิพากษา ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาซึ่งใช้ระบบ common law เหมือนกันจะมีขอบเขตกฎหมายละเมิดอำนาจศาลที่แคบกว่าคือมุ่งเน้นคุ้มครองความสงบภายในศาลและห้องพิจารณาเท่านั้น แต่การวิพากษ์วิจารณ์ศาลเป็นเรื่องที่สาธารณชนสามารถทำได้ เพราะ Free Speech หรือเสรีภาพในการพูดถือเป็นคุณค่าที่สหรัฐให้ความสำคัญอันดับต้นๆในฐานะบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 1
.
สำหรับประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษรหรือ civil law กำหนดกรอบความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไว้แค่การรักษาความเรียบร้อยระหว่างการพิจารณาคดีเท่านั้น หากการกระทำเป็นความผิดอื่น เช่น คู่ความหมิ่นประมาทผู้พิพากษา หากจะดำเนินคดีผู้พิพากษาต้องไปฟ้องคดีตามปกติ แต่ไม่ใช่การละเมิดอำนาจศาล นอกจากนั้นโทษของความผิดนี้ก็เป็นแค่เชิญออกนอกห้องพิจารณาคดีหรือหากไม่เชื่อฟังก็จะเป็นโทษกักขังแต่ไม่ใช่โทษจำคุก และระยะเวลาของการละเมิดข้อกำหนดศาลก็ไม่เกิน 1 สัปดาห์ เท่านั้น
.
ที่สำคัญความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลก็เป็นความผิดที่มีการประกันหลัก due process หรือการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมรับรองไว้ด้วย เช่นการมีทนายความหรือต้องใช้องค์คณะอื่นที่ไม่ใช่องค์คณะที่มีข้อพิพาทเรื่องการละเมิดอำนาจศาลเป็นผู้พิจารณา ซึ่งต่างจากกรณีของไทยที่ การไต่สวนและการมีทนายความไม่ได้เป็นการบัญญัติไว้ในตัวบทกฎหมายแต่เป็นดุลพินิจหรือความเมตตาของศาลในแต่ละองค์คณะ
.
ในกรณีของไทยกฎหมายละเมิดอำนาจศาลที่มีครั้งแรกย้อนไปถึงสมัยกฎหมายตราสามดวงที่พูดด้วยภาษาปัจจุบันสรุปได้ว่า หากคู่ความโต้เถียงกัน ให้ศาลห้ามปราม หากผู้ใดไม่ฟังให้เสมียนศาลนำไปจำขื่อไว้จนค่ำ ซึ่งจะเห็นได้ว่ากฎหมายเพียงแต่มุ่งคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดี มากระทั่งในร.ศ. 127 ที่มีการใช้กฎหมายลักษณะวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายไทยถูกตราโดยได้รับอิทธิพลจากกฎหมายอังกฤษ จึงมีการขยายความกฎหมายละเมิดอำนาจศาลให้กว้างจนกระทั่งต่อมาถึงในปัจจุบันที่เป็นความผิดตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง อย่างไรก็ตามสาวตรีก็เห็นว่าถ้าจะมีกฎหมายละเมิดอำนาจศาลในระบบกฎหมายไทยที่ยังพอทันสมัยอยู่บ้างก็คงเป็นในส่วนของศาลปกครองที่กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรว่า องค์คณะที่จะทำหน้าที่พิจารณาจะต้องไม่ใช่องค์คณะที่มีเหตุละเมิดอำนาจศาล และโทษจำคุกอยู่ที่ไม่เกิน 1 เดือน แต่ไปเพิ่มโทษปรับแทนเป็นไม่เกิน 50000 บาท และมีข้อยกเว้นว่าหากการวิพากษ์วิจารณ์การพิจารณาหรือคำพิพากษาเป็นไปโดยสุจริตหรือด้วยวิธีทางวิชาการไม่ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล
.
สาวตรีย้ำด้วยว่า แม้ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนแล้วแต่ศาลยังคงตัดสินใต้พระปรมาภิไธย จนบางครั้งอาจรู้สึกว่าสถาบันศาลไปยึดโยงกับความศักดิ์สิทธิ์บางประการ
.
"หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อำนาจกษัตริย์ในการตัดสินคดีถูกยกเลิกไป แต่วาทกรรมที่ว่าศาลตัดสินใต้พระปรมาภิไธยยังคงอยู่ ทำให้ศาลรู้สึกว่าตนเองยังคงมีความศักดิ์สิทธิ์บางอย่างเหนือประชาชน"
.
สาวตรีระบุด้วยว่าแม้ระบบยุติธรรมไทยจะมีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลอยู่ แต่ก็เป็นระบบตรวจสอบภายในที่ไม่อยู่ในความรับรู้ของสาธารณะ ซึ่งตรงนี้ก็อาจทำให้สาธารณะมีคำถามถึงความเป็นอิสระของศาลได้ ที่ผ่านมาศาลมักกลัวว่าการกดดันของประชาชนในคดีที่เป็นประเด็นสาธารณะและเป็นที่สนใจจะกระทบต่อความเป็นอิสระของศาลจนเราเห็นกรณีที่มีคนไปชุมนุมที่หน้าศาลถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล (คดีนักกิจกรรมละเมิดอำนาจศาลจังหวัดขอนแก่น) แต่ก็มีกรณีที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ทำคำพิพากษาแล้วถูกเรียกสำนวนไปตรวจแก้ในสาระสำคัญดังกรณีผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ตรงนั้นมีคำถามว่าเป็นการแทรกแซงภายในหรือไม่
.
สาวตรีทิ้งท้ายว่าหากในอนาคตจะมีการปฏิรูประบบศาล ส่วนตัวมองว่ามีประเด็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข 3 อย่าง 1. ควรมีการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนกับผู้พิพากษาตัดสินคดีไปโดยไม่ชอบที่ไม่ใช่แค่เรื่องโทษทางวินัยแต่ต้องเป็นโทษทางแพ่งหรืออาญาด้วย 2.องค์กรตรวจสอบศาลต้องเป็นองค์กรภายนอกส่วนที่มาจะเป็นอย่างไรก็ไปถกเถียงกันต่อได้ แต่ถ้ายังกลไกตรวจสอบภายในเพียงอย่างเดียว สาธารณะก็คงอดมีข้อกังขาไม่ได้เหมือนที่มีข้อกังขาต่อการตัดสินคดีทหารโดยทหารศาลว่าจะเที่ยงธรรมมากน้อยแค่ไหน และสามคือต้องไปแก้ไขกฎหมายละเมิดอำนาจศาลให้มีความชัดเจนและแคบเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์คือเพื่อคุ้มครองความเป็นอิสระให้ศาลตัดสินคดีได้รวดเร็วและยุติธรรมเท่านั้น
-------------------------------------
วันที่ 7 ตุลาคม 2563 เวลา 13.00-16.30 น. ณ ห้อง321 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชจัดเสวนาในหัวข้อเรื่อง "เสาหลักต้องเป็นหลักอันศักดิ์สิทธิ์ : บทบาทศาลท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน" เพื่อพูดคุยถึงการออกข้อกำหนดของศาลรวมถึงใช้กฎหมายละเมิดอำนาจศาลในบริบทที่ศาลถูกดึงมีเข้ามาเป็นผู้ตัดสินคดีทางการเมืองท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังครุกรุ่ม รวมถึงร่วมแลกเปลี่ยนหาตำแหน่งที่ของศาลที่ควรจะเป็นในท่านกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความแหลมคม งานวันนี้มีนักศึกษาประมาณ 20 คนและมีประชาชนทั่วไปราว 15 คนร่วมฟังการเสวนา โดยมีผู้ร่วมเสวนาสามคนได้แก่ รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ผ.ศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสัณหวรรณ ศรีสด จากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ)
.
อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ >>> https://freedom.ilaw.or.th/node/855


Atukkit Sawangsuk

ชัดเจนครับ

1.ละเมิดอำนาจศาลต้องใช้บังคับในห้องพิจารณาคดีเท่านั้น
จะเอามาใช้โดยอ้างปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ศักดิ์ศรีเกียรติภูมิอะไรไม่ได้
เพราะผู้พิพากษาเป็นมนุษย์ขี้เหม็นเหมือนเรา
2.ต้องมีกฎหมายเอาผิด บุคคลในกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบือนความยุติธรรม โดยเฉพาะผู้พิพากษา ไม่ใช่ตัดสินอย่างไรก็ได้แล้วลอยนวล
อันนี้ไม่ใช่แค่ทุจริตนะ ทุจริตมีกฎหมายเอาผิดอยู่แล้ว
แต่หมายถึงตัดสินโดยอคติ โดยความลำเอียงทางการเมือง โดยไม่ยึดหลักกฎหมาย โดยไม่ยึดพยานหลักฐาน หรือพยานหลักฐานเห็นๆ กลับตัดสินไปอีกอย่าง
3.ต้องมีองค์กรตรวจสอบศาล แยกออกมาอยู่ภายนอก ไม่ใช่ศาลงุบงิบลงโทษกันเอง ประชาชนไม่กล้าร้องเรียน
ถ้าจะให้ครบถ้วนทั้งในแง่การเข้าสู่อำนาจและการตรวจสอบอำนาจ ต้องทำแบบอังกฤษ มีทั้งองค์กรตรวจสอบศาล และองค์กรคัดเลือกผู้พิพากษา
ไม่ใช่แบบไทย ศาลจัดสอบเอง อายุ 25 เอาไปอบรมให้อยู่ในจารีต ในกรอบความคิดอนุรักษ์นิยม ก่อนสอบผู้ช่วยฯ ก็ต้องสอบเนติบัณฑิต ซึ่งประธานศาลฎีกาเป็นนายกสภา คือครอบงำความคิดหมด
ของฝรั่งเขาคัดจากคนมีประสบการณ์ อายุเหมาะสม เช่น 35 มีผลงานเป็นทนายโจทก์จำเลยเข้าใจหัวอกคนที่อยู่ข้างล่างอยู่ใต้บัลลังก์ใต้อำนาจศาล ไม่ใช่เรียนจบแล้วก็เหาะมาอยู่บนหอคอยงาช้าง เจ้ายศเจ้าอย่างเป็นเจ้านายเจ้าชีวิตคน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.