Posted: 01 Nov 2019 10:23 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
Submitted on Sat, 2019-11-02 12:23


ม.มหิดล ติดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดอันดับ 522 ของโลก จาก 1,000 มหาวิทยาลัยทั่วโลก อันดับที่ 81 ของเอเชีย และอันดับ 1 ในประเทศไทย จากการประกาศของ U.S. News ประจำปี 2562

2 พ.ย. 2562 มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศมีการขยายหลักสูตรการศึกษาออกไปหลากหลายสาขาวิชาเพื่อให้ครอบคลุมต่อความต้องการของประเทศ โดยเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่ให้ความสำคัญต่อการผลิตผลงานวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งในแต่ละปี มหาวิทยาลัยมหิดลมีผลงานวิชาการเป็นจำนวนมาก ที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยมหิดลยังคงได้รับการจัดอันดับจากหลายสถาบัน เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศไทย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะรักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่าเว็บไซต์ www.usnews.com ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด 1,000 มหาวิทยาลัยจากทั่วโลก ประจำปี 2562 "Best Global Universities Rankings 2019" โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการจัดอันดับที่ 522 ของโลก และอันดับที่ 1 ของประเทศไทย (อันดับที่ 71 ในสาขาวิชาจุลชีววิทยา (Microbiology) อันดับที่ 78 ในสาขาวิทยาภูมิคุ้มกัน (Immunology) อันดับที่ 162 ในสาขาเภสัชวิทยาและพิษวิทยา (Pharmacology and Toxicology) อันดับที่ 208 ในสาขาวิชาการแพทย์ (Clinical Medicine) อันดับที่ 289 ในสาขาชีวโมเลกุลและพันธุศาสตร์ อันดับที่ 292ในสาขาชีววิทยาและชีวเคมี (Biology and Biochemistry) และอันดับที่ 411 ในสาขาวิชาสังคมศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ (Social Sciences and Public Health)

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลยังเป็นอันดับ 1 ใน 9 ตัวชี้วัด(จากทั้งหมด 11 ตัวชี้วัด) ได้แก่ 1.จำนวนบทความทางวิชาการทั้งหมดที่ได้รับตีพิมพ์ในฐานข้อมูลวารสารชั้นนำระดับนานาชาติ ได้แก่ InCites, ISI และ Web of Science) 2.การวัดสัดส่วนการถูกอ้างอิงต่อจำนวนบทความทางวิชาการที่ได้รับตีพิมพ์ 3.จำนวนการถูกอ้างอิงทั้งหมดจากบทความทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ 4.จำนวนบทความทางวิชาการที่อยู่ในกลุ่มร้อยละ 10 ของบทความที่ได้รับการอ้างอิงสูงที่สุด 5.สัดส่วนร้อยละของบทความทางวิชาการที่อยู่ในกลุ่มร้อยละ 10 ของบทความที่ได้รับการอ้างอิงสูงที่สุดต่อจำนวนบทความทั้งหมด 6.จำนวนบทความทางวิชาการที่มี co-author กับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ 7.สัดส่วนร้อยละของจำนวนบทความทางวิชาการที่มี co-author กับสถาบันการศึกษาต่างประเทศต่อจำนวนบทความทั้งหมด 8.จำนวนบทความทางวิชาการที่อยู่ในกลุ่มร้อยละ 1 ของบทความที่ได้รับการอ้างอิงสูงที่สุดในสาขาวิชานั้นๆ และ 9.สัดส่วนร้อยละของจำนวนบทความทางวิชาการที่อยู่ในกลุ่มร้อยละ 1 ของบทความที่ได้รับการอ้างอิงสูงที่สุดในสาขาวิชาต่อจำนวนบทความทั้งหมดในสาขาวิชานั้นๆ

"ผลจากการจัดอันดับสะท้อนในเห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพของการเรียนการสอนและการวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถทางวิชาการให้กับนักศึกษา เพื่อสร้างบัณฑิตไทยที่มีคุณภาพและพร้อมสู่การทำงานในระดับนานาชาติได้ และที่สำคัญ คือการสร้างบัณฑิตให้ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง" ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะรักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว[full-post]


Posted: 01 Nov 2019 10:39 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
Submitted on Sat, 2019-11-02 12:39


อาร์เจนตินาอาจจะกลายเป็นแหล่งที่ทิ้งขยะพลาสติกรายใหญ่แหล่งใหม่ หลังจากที่ทางการจีนมีมาตรการจำกัดรับซื้อขยะพลาสติกจากกลุ่มประเทศตะวันตก โดยที่เรื่องสร้างความเป็นห่วงในหมู่นักกิจกรรมทางสังคมและนักสิ่งแวดล้อมว่าอาร์เจนตินาอาจจะนำขยะพลาสติกคุณภาพต่ำหรือปนเปื้อนเข้ามาโดยที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ แต่จะนำมาเผาหรือกำจัดในเชิงที่ก่อมลภาวะ

สื่อเดอะการ์เดียนรายงานว่านักกิจกรรมทางสังคมและนักสิ่งแวดล้อมแสดงความกังวลหลังจากที่ประธานาธิบดี เมาริซิโอ มาครี ของอาร์เจนตินา ออกข้อกำหนดเปลี่ยนแปลงนิยามของวัสดุบางชนิดที่ใช้สำหรับรีไซเคิลว่าเป็น "สินค้า" แทนที่จะเป็น "ขยะ" เรื่องนี้ทำให้เกิดความกังวลว่าอาร์เจนตินาอาจจะกลายเป็นสถานที่แห่งใหม่ที่รับขยะพลาสติกหลายพันล้านกิโลกรัมจากประเทศโลกที่หนึ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางการจีนที่เคยเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดสั่งยกเลิกการนำเข้าพลาสติกแล้ว

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงนิยามขยะให้กลายเป็น "สินค้า" อาจจะส่งผลให้มีการดำเนินการที่หละหลวมจนเกิดความผิดพลาดทำให้มีการปนเปื้อนในขยะพลาสติกที่มีการจัดการได้ยากและมักจะถูกนำไปทิ้งหรือไม่ก็เผา

จิม พัคเก็ตต์ ผู้อำนวยการบริหารจากองค์กรบาเซลแอกชันเน็ตเวิร์ก องค์กรที่ต่อต้านการส่งออกขยะไปยังประเทศกำลังพัฒนากล่าวว่าอาร์เจนตินากำลังจะกลายเป็นประเทศที่ต้องแบกรับขยะจากทั่วทุกมุมโลกและรัฐบาลอาร์เจนตินาก็พยายามหากำไรจากเรื่องนี้

ในปัจจุบันมีประเทศ 186 ประเทศที่ลงนามใน อนุสัญญาบาเซล (Basel Convention) ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนและการกำจัดของเสียอันตราย แต่สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นหนึ่งในนั้น

ภายใต้บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมของอนุสัญญามีข้อเสนอที่มาจากนอร์เวย์ระบุว่าประเทศโลกที่หนึ่งจะไม่สามารถส่งออกขยะพลาสติกคุณภาพต่ำให้กับประเทศกำลังพัฒนาได้โดยปราศจากคำยินยอมอย่างชัดเจนและถ้าหากมีการแลกเปลี่ยนขยะกันก็ควรจะมีการดำเนินการอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมของอนุสัญญายังระบุวางเป้าหมายให้แม้แต่ประเทศที่ไม่ได้ลงนามอย่างสหรัฐฯ หยุดส่งออกขยะพลาสติกไปยังประเทศที่ยากจนกว่า

อย่างไรก็ตาม พัคเก็ตต์บอกว่าเมื่อไม่นานนี้มีการเจรจาหารือแล้วทั้งอาร์เจนตินาและสหรัฐฯ ต่างก็ไม่ยอมรับการควบคุมการส่งออกน้ำเข้าขยะของนอร์เวย์ที่มุ่งควบคุมการเคลื่อนย้ายขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้

เรื่องเหล่านี้ทำให้นักสิ่งแวดล้อมเป็นห่วงว่าอาร์เจนตินากำลังจะมาแทนที่จีนในฐานะประเทศที่รับขยะพลาสติกจากสหรัฐฯ อังกฤษ และประเทศอื่นๆ ในยุโรป หลังจากที่จีนมีมาตรการจำกัดการรับขยะพลาสติกเมื่อเกือบสองปีที่แล้วโดยจะรับแต่ขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้ง่ายที่สุดเท่านั้น โดยที่ก่อนหน้านี้เดอะการ์เดียนก็เคยรายงานว่ามีการย้ายแหล่งส่งออกขยะเหล่านี้ไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เช่น ไทย, มาเลเซีย, เวียดนาม พอประเทศเหล่านี้เริ่มห้ามการนำเข้าก็มีการส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนาแห่งอื่นเช่น กัมพูชา, ลาว, กานา, เอธิโอเปีย, เคนยา และเซเนกัล ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยรับขยะพลาสติจากสหรัฐฯ เลย

โฆษกของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (EPA) กล่าวว่าสหรัฐฯ สนับสนุนอนุสัญญาบาเซลแต่ต่อต้านบททบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมมีการตั้งเกณฑ์เกี่ยวกับพลาสติกที่ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป ทางโฆษกของ EPA มองว่าการจำกัดเคลื่อนย้ายขยะพลาสติกเพื่อการรีไซเคิลจะเป็นการ "ลดมูลค่า" และทำให้พลาสติกผลิตใหม่ได้รับการให้ความสำคัญมากกว่า ซึ่งจะกลายเป็นการเพิ่มปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องทิ้ง EPA บอกอีกว่าพวกเขาทราบเรื่องการเปลี่ยนนิยามพลาสติกของอาร์เจนตินาแต่ยังไม่มีโอกาสที่จะประเมินผลกระทบในเรื่องนี้

เซซิเลีย อัลเลน นักรณรงค์จากสหพันธ์เพื่อทางเลือกกำจัดขยะแบบอื่นนอกจากการเผา (Global Alliance for Incinerator Alternatives หรือ GAIA) ซึ่งเป็นองค์กรในบัวโนสไอเรส กล่าวว่าขยะพลาสติกที่อาร์เจนตินารับมาจากต่างประเทศมีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่ได้รับการรีไซเคิล แต่อาจจะถูกนำไปทำการเผาขยะซึ่งจะส่งผลให้เกิดผลมลภาวะ กลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ยังมีการต่อต้านจากการตัดสินใจของรัฐบาลอาร์เจนตินาจากกลุ่มสมาพันธ์ผู้เก็บคัดแยกขยะชาวอาร์เจนตินา ทางสมาพันธ์กลัวว่าการออกมาตรการเปลี่ยนนิยามของรัฐบาลจะทำให้เกิดการลดมูลค่าพลาสติกภายในประเทศและเน้นการรับพลาสติกจากต่างประเทศ ซึ่งแคโรไลนา ปาลาซิโอ ตัวแทนสมาพันธ์ฯ บอกว่าขยะพลาสติกในประเทศของพวกเขาก็มีมากพออยู่แล้ว และรัฐบาลควรจะเอาเวลามาพัฒนาสภาพการทำงานและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่คนทำงานคัดแยกขยะ

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมามูลค่าความต้องการของพลาสติกรีไซเคิลจากการที่มันแพงมากกว่าพลาสติกผลิตใหม่ ที่ผลิตจากก๊าซอีเธนที่ได้มาจากการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซจากใต้ดิน

เรียบเรียงจาก
Argentina could become 'sacrificial country' for plastic waste, say activists, The Guardian, 01-11-2019
https://www.theguardian.com/environment/2019/nov/01/argentina-plastic-waste-dumping-ground-imports


[full-post]


Posted: 01 Nov 2019 10:51 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
Submitted on Sat, 2019-11-02 12:51


2 พ.ย. 2562 คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ออกแถลงการณ์ 'ปิดตำนาน เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง' โดยระบุว่าเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำทั้ง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ได้เห็นพ้องต้องกันในการพัฒนา และผลักดันการจัดการน้ำในรูปแบบ “สะเอียบโมเดล” โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง

อีกทั้งแผนยุทธศาสตร์เรื่องน้ำในส่วนของลุ่มน้ำยม ได้วางแผนในการบริหารจัดการน้ำโดยมีโครงการอ่างเก็บน้ำ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง แก้มลิง และโครงการทางระบายน้ำ ยม-น่าน รวมทั้งบางระกำโมเดลที่ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนฯ เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องคืนความสุขให้กับพวกเราชาวบ้านที่เดือดร้อนและหวาดผวากับโครงการเขื่อนที่จะมาทำลายป่าสักทองกว่า 30,000 ไร่ และทำร้ายวิถีชีวิตชุมชน ตำบลสะเอียบ ทั้ง 4 หมู่บ้าน กว่า 1,000 ครัวเรือน

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนฯ จึงขอให้รัฐบาลยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โครงการเขื่อนยมบน-เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) โดยเด็ดขาด และให้มีมติ ครม. รองรับ อีกทั้งการดำเนินโครงการพัฒนาใดๆ ในลุ่มน้ำยมจะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการการพัฒนาบนทิศทางความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและความมั่นคงในชีวิตของประชาชน รวมทั้ง ให้รัฐบาลยึดการแก้ไขปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำยมด้วย “สะเอียบโมเดล” (การจัดการน้ำชุมชนขนาดเล็ก กระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำยม)

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนฯ ขอให้รัฐบาล และนักการเมืองที่หวังผลประโยชน์ทั้งหลาย ยุติการรื้อฟื้น การผลักดัน โครงการเขื่อนดังกล่าว เพื่อเป็นการปิดตำนานเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง อย่างถาวร เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบได้มีแผนงานในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างเป็นระบบแล้วตามยุทธศาสตร์เรื่องทรัพยากรน้ำที่รัฐบาลได้วางไว้แล้ว[full-post]


Posted: 02 Nov 2019 12:17 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
Submitted on Sat, 2019-11-02 14:17

สมาคมโรฮิงญาแห่งประเทศไทยออกจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องพม่า สมาชิกอาเซียนประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพของชาวโรฮิงญาทั้งที่จะเดินทางกลับรัฐยะไข่และที่จะอยู่นอกประเทศต่อ ขอให้ประกันสิทธิพลเมืองเสมือนชาวพม่าและให้มีกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ในขณะที่ร่างแถลงการณ์อาเซียนซัมมิทครั้งที่ 35 ไม่กล่าวถึงเรื่องชาวโรฮิงญา แหล่งข่าวระบุ ผู้แทนพม่ากดดันอย่างหนักไม่ให้บรรจุเข้าไป

2 พ.ย. 2562 สมาคมโรฮิงญาแห่งประเทศไทย มีจดหมายเปิดผนึกถึงผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (อาเซียนซัมมิท) ครั้งที่ 35 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย. 2562 ที่อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี โดยมีข้อเรียกร้องถึงทั้งรัฐบาลพม่า และรัฐบาลชาติสมาชิกอาเซียน ในเรื่องการประกันความปลอดภัยชาวโรฮิงญาที่สมัครใจจะกลับไปยังรัฐยะไข่ ประกันเรื่องการพิสูจน์สัญชาติและสิทธิพลเมือง ไปจนถึงอนุญาตให้ชาวโรฮิงญาอาศัยในประเทศชาติสมาชิกต่อหากไม่สมัครใจกลับพม่า มีใจความดังนี้


จดหมายเปิดผนึกถึงผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในการประชุมครั้งที่ 35

เนื่องในการประชุมสุดยอดผู้นำชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 2 – 4 พฤศจิกายน 2562 ที่ประเทศไทย วาระการประชุมในครั้งนี้ ผู้นำของชาติสมาชิกและประเทศคู่เจรจาที่เข้าร่วมการประชุมที่มีเป้าหมายการดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าอาเซียนเป็นกลุ่มประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางซึ่งอุทิศตนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ เรา ในฐานะสมาชิกของสมาคมชาวโรฮิงญาในประเทศไทยที่เป็นตัวแทนของพี่น้องชาย หญิงและเด็กชาวโรฮิงญาที่ถูกบังคับให้หลบหนีการสู้รบและความรุนแรงในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา รวมทั้งชาวโรฮิงญาที่อยู่ในกระบวนการการส่งกลับและย้ายถิ่นฐาน เรามีความกังวลและขอความช่วยเหลือจากผู้นำอาเซียนต่อไปนี้

เราขอเรียกร้องถึงรัฐบาลเมียนมาในฐานะสมาชิกอาเซียน
ให้กำหนดกระบวนการพิสูจน์และให้สัญชาติแก่ชาวโรฮิงญาพลัดถิ่นจากบ้านเกิด ทั้งคนที่หลบหนี และที่ยังคงอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและเป็นที่ยอมรับจากประชาคมนานาชาติ
ให้หลักประกันความปลอดภัยแก่ผู้อพยพลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่สมัครใจในการเดินทางกลับบ้านเกิดในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา การเดินทางกลับจะต้องเป็นไปอย่างสมัครใจ ไม่มีการบังคับให้ผู้ลี้ภัยต้องกลับบ้านเกิดของตนด้วยความหวาดกลัวและการปราศจากหลักประกันถึงความปลอดภัยในอนาคต
ให้หลักประกันแก่ชาวโรฮิงญาในการเข้าถึงสิทธิ การทำงาน ทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงตำรวจและทหาร เช่นเดียวกับพลเมืองของเมียนมา

เราขอเรียกร้องถึงรัฐบาลชาติสมาชิกอาเซียน
ให้ดำเนินการพิสูจน์สถานะและออกเอกสารประจำตัวแก่ผู้อพยพชาวโรฮิงญาในการอยู่อาศัยและทำงานในแต่ละประเทศอย่างถูกกฎหมายในระหว่างการพิสูจน์สถานะของรัฐบาลเมียนมา
ให้พิจารณา อนุญาตให้ชาวโรฮิงญาสามารถอยู่อาศัยในประเทศชาติสมาชิกได้ต่อหากไม่สมัครใจที่จะเดินทางกลับประเทศเมียนมา

ประเด็นชาวโรฮิงญาในเวทีอาเซียนนั้นประหนึ่งถูกทำให้เหมือนลืมเลือนไปจากหน้ากระดาษ ปลายเดือน ต.ค. สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นได้เผยแพร่ข่าวว่าไม่มีการพูดถึงประเด็นชาวโรฮิงญาเลยในร่างแถลงการณ์ของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 35 ที่จะมีตัวแทนประเทศสหรับอเมริกา รัสเซีย จีนและญี่ปุ่นเข้าร่วม โดยแหล่งข่าวระบุว่า ผู้แทนพม่าได้แสดงจุดยืนคัดค้านการบรรจุเรื่องชาวโรฮิงญาไว้ในแถลงการณ์ นอกจากนั้นพม่ายังมีท่าทีไม่พอใจกับมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อผู้นำทหารพม่าที่มีส่วนกับการจู่โจมชาวโรฮิงญาอีกด้วย

ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2560 ชาวโรฮิงญามากกว่า 740,000 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่รัฐยะไข่ตอนเหนือไปยังบังกลาเทศ หลังกองทัพพม่าใช้กำลังเข้าโจมตี เพื่อตอบโต้การลอบจู่โจมของกลุ่ม ARSA ปฏิบัติการของกองทัพพม่า ต่อมาได้รับการวิจารณ์และประณามจากนานาประเทศรวมทั้งองค์การสหประชาชาติในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายประการ หนักที่สุดคือรายงานของสหประชาชาติที่ระบุว่าการกระทำของกองทัพพม่าเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ปัจจุบัน ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศและรัฐบาลบังกลาเทศต่างสร้างแรงกดดันให้กันและกัน หลังจากความพยายามส่งผู้ลี้ภัยกลับพม่าประสบความล้มเหลวเป็นครั้งที่สองเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องการหาผู้ลี้ภัยที่สมัครใจเดินทางกลับและ คำถามเรื่องความปลอดภัยในรัฐยะไข่


บังกลาเทศ-UN ฉะพม่าล้มเหลวเตรียมความพร้อมนำผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับประเทศ

ในขณะที่ชาวโรฮิงญาที่อยู่ในพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองคอกซ์ บาซาร์เป็นเวลา 2 ปี ก็ค่อยๆ สร้างแรงกดดันให้ประชาชนในพื้นที่ด้วย ในช่วงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลบังกลาเทศมีแผนจะย้ายผู้ลี้ภัยหลักพันคนไปยังเกาะบาซาน ชาร์ ในอ่าวเบงกอล แต่ผู้ลี้ภัย องค์กรสิทธิต่างๆ รวมถึงสหประชาชาติเองมีข้อสงสัยในเรื่องความเหมาะสมและความปลอดภัยในเกาะที่อยู่บนเส้นทางมรสุม ทำให้มีโอกาสน้ำท่วมบ่อย และต้องใช้เวลาเดินทางจากฝั่งราว 2-4 ชั่วโมง ทั้งนี้ เลขานุการกระทรวงการจัดการภัยพิบัติของบังกลาเทศออกมาชี้แจงว่าได้มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างและแนวกันพายุไว้แล้ว และทางบังกลาเทศได้มีการหารือในประเด็นการเคลื่อนย้ายผู้ลี้ภัยไปยังเกาะดังกล่าวมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว

ที่มาข่าวเพิ่มเติม

East Asia Summit draft statement skips over Rohingya crisis, Bangkok Post via Kyodo News, Oct. 27, 2019

Bangladesh to Start Relocating Some Rohingya to Island Soon, VOA News, Oct. 22, 2019

Bangladesh to move Rohingya to flood-prone island next month, The Star Online, Oct. 20, 2019

[full-post]


Posted: 02 Nov 2019 01:59 AM PDT(อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
Submitted on Sat, 2019-11-02 15:59

2 พ.ย. 2562 ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งข่าวว่าจากกรณี จ.ส.อ.ทรงวุฒิ บุญรัตน์ นายสิบฝ่ายสรรพาวุธแผนกสรรพาวุธ มณฑลทหารบกที่ 42 ได้ปรากฏภาพผ่านสื่อออนไลน์ เกี่ยวข้องกรณีพ่อค้าหัวปลาถูกยิงเสียชีวิตคารถกระบะ บนถนนในพื้นที่ ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2562 ดังที่ปรากฎเป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมานั้น

ล่าสุดเมื่อ 2 พ.ย. 2562 พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองทัพภาคที่ 4 เปิดเผยว่า ภายหลังทราบเหตุ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้หน่วยต้นสังกัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยความโปร่งใส เเละพร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และภายหลังได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงเพื่อดำเนินการทางวินัยทหารตามลักษณะฐานความผิด ยืนยันว่าทางกองทัพยินดีให้ความร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยจะไม่มีการปกป้องอย่างเด็ดขาด

โดยเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2562 เจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร มณฑลทหารบกที่ 42 ได้ควบคุมตัวกำลังพลดังกล่าวส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีนายทหารสารวัตรสืบสวนสอบสวน มณฑลทหารบกที่ 42 ร่วมรับฟังการสอบสวนด้วยโดยในเบื้องต้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันฆ่าผู้อื่น, ร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว และไม่มีเหตุอันจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ปัจจุบันได้ส่งตัวฝากขังที่เรือนจำกลางจังหวัดสงขลาเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายสำหรับการดำเนินการทางวินัย มณทลทหารบกที่ 42 ในฐานะหน่วยต้นสังกัดได้มีคำสั่งพักราชการตั้งแต่ 1 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมาและหากคดีถึงที่สุดและมีความผิดตามข้อกล่าวหาก็จะรายงานปลดออกจากราชการต่อไป

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กองทัพภาคที่ 4 ได้มีนโยบายกวดขันวินัยกำลังพลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความรักความสามัคคีภายในกรมกองและสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชน และหากมีการตรวจพบการกระทำความผิดก็จะมีมาตรการลงโทษทั้งทางวินัยและอาญาทหารขั้นเด็ดขาดโดยไม่มีข้อยกเว้น จึงขอให้สังคมได้มีความมั่นใจว่ากองทัพจะไม่ปกป้องผู้กระทำความผิดในทุกๆ กรณี และหากพบเห็นเจ้าหน้าที่ทหารกระทำความผิดหรือสร้างความเดือดร้อน ขอให้แจ้งหน่วยต้นสังกัดทราบ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน และพิจารณาลงทัณฑ์ตามความเหมาะสมต่อไป

[full-post]


Posted: 02 Nov 2019 04:20 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
Submitted on Sat, 2019-11-02 18:20

'ปิยบุตร' โพสต์ภาพคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ พบผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศ สหรัฐฯ แลกเปลี่ยนมุมมองด้านกฏหมาย ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ทั้งในประเทศไทยและในระดับภูมิภาค

2 พ.ย. 2562 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้โพสต์ภาพ กรณีได้พบกับเดวิด สติลเวลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา (David R. Stilwell, Assistant Secretary of State for East Asian and Pacific affairs) พร้อมด้วย อุปทูตไมค์ ฮีธ สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และคณะ เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2562 เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองด้านกฏหมาย ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ทั้งในประเทศไทยและในระดับภูมิภาค โดยสมาชิก กมธ. ที่เข้าร่วมหารือได้แก่ นายสิระ เจนจาคะ นางสาวพรรณิการ์ วานิช นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ และนายรังสิมันต์ โรม

นายปิยบุตร ระบุว่าได้เล่าถึงการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ ภายใต้กลไกรัฐสภาว่า มีการทำงานหลักๆ 3 ด้าน ได้แก่ 1. การรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมจากประชาชน 2. การสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อพูดคุยถกเถียงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายในสังคม 3. การเดินทางไปศึกษางานในพื้นที่ อาทิ สามจังหวัดชายแดนใต้ สถานการณ์ผู้ลี้ภัย การค้ามนุษย์ การซ้อมทรมาน โดยหวังว่า การทำงานของ กมธ. จะถือเป็นจุดเริ่มต้นให้สิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมในประเทศไทยได้มีพี้นที่มากขึ้นทั้งในสภาฯ และในพี้นที่สาธารณะ หลังจากมีสถานการณ์เหล่านี้ถดถอยลงไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรสามารถมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชนสากลผ่านการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร พิจารณาให้การออกกฎหมายต่างๆ เป็นไปตามหลักปฏิบัติและพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

“นอกจากนี้ผมได้แลกเปลี่ยนถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น การใช้กฏหมายเพื่อให้หยุดพูดหรือกลั่นแกล้งไม่ให้มีส่วนร่วม (SLAPP: Strategic Lawsuit Against Public Participation) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนใต้ สุดท้ายผมให้ความเห็นว่าประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคที่มีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย เป็นที่น่าเสียดายว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมาความเป็นประชาธิปไตยของเราถดถอยลงไปมาก แต่ขณะนี้เรามีสภาผู้แทนราษฎรกลับมาทำหน้าที่แล้ว ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการเดินทางกลับสู่ประชาธิปไตย และเราพร้อมจะร่วมมือกับทุกฝ่ายเพี่อเดินหน้าให้ประเทศไทยกลับมาเป็นผู้นำด้านประชาธิปไตยในภูมิภาคอีกครั้งหนึ่งให้ได้” นายปิยบุตร ระบุ

นอกจากนี้ ในทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการของ กิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้ลงภาพการพบหารือ พร้อมระบุข้อความว่า “ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ สติลเวลล์ ยินดีที่ได้มีโอกาสพบปะกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ #ไทย เพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน” อีกด้วย



ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเวทีเสวนาและรับฟังปัญหาจากเครือข่ายภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ ที่โรงแรมชัยคณาธานี จ.พัทลุง ที่มาภาพ: เฟสบุ๊ค Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

Posted: 02 Nov 2019 05:47 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
Submitted on Sat, 2019-11-02 19:47


'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเวทีรับฟังปัญหาจากประชาชนภาคใต้ที่ จ.พัทลุง ยกการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ประชาชนร่วมคิด ชี้เพราะอำนาจไม่ได้อยูที่ประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้งบประมาณมาไม่ถึง แต่รัฐบาลกลับนำไปอุ้มกลุ่มทุน

2 พ.ย. 2562 Thai PBS รายงานว่าที่โรงแรมชัยคณาธานี จ.พัทลุง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเวทีเสวนาและรับฟังปัญหาจากเครือข่ายภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ เวทีเสวนา “แก้ปัญหาปากท้องประชาชน ต้องแก้รัฐธรรมนูญ?”

โดยนายธนาธร ถามผู้เข้าร่วมงานว่า สมมุติว่าที่นี่เป็นสภา แล้วเราต้องตัดสินใจว่ามีงบประมาณก้อนหนึ่งประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท จะเอาไปทำอะไรโดยมี 4 ตัวเลือก ซึ่งทุกคนในห้องร่วมต่างกันยกมือให้กับตัวเลือกที่ 1 และ 2 โดยไม่มีใครเลือกตั้งเลือกที่ 3 และ 4 เลยแม้แต่คนเดียว 1.เพิ่มเบี้ยเลี้ยงดูบุตรจากคนละ 600 บาทต่อเดือนสำหรับคนจนเป็น 700 บาทต่อเดือนแบบถ้วนหน้า ใช้งบ 1.7 หมื่นล้านบาท 2.นำไปพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก 10,000 โรงทั่วประเทศ โรงละ 2 ล้านบาท ใช้งบ 2 หมื่นล้านบาท 3.นำไปอุดหนุนค่าสัมปทานให้กับบริษัทโทรคมนาคมที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ 2 หมื่นล้านบาท และ 4.นำไปซื้อเรือดำน้ำ 3 หมื่นล้านบาท

นายธนาธร ยังกล่าวด้วยว่าหากนี่เป็นสภาจริงๆ เราคงจะได้นำงบประมาณไปพัฒนาสิ่งเหล่านี้ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ในความเป็นจริงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผ่านมา ได้มีการใช้ ม. 44 ไปลดค่าสัมปทานให้กับทุนคมนาคมไปแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท และซื้อเรือดำน้ำไปแล้ว 3 หมื่นล้านบาท นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนของอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ความจนหรือรวยในประเทศนี้ไม่ใช่เรื่องของบุญทำกรรมแต่ง เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ยังยากจนเป็นเพราะพวกเขาไม่มีอำนาจ สิ่งที่เรามานั่งพูดกันวันนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ก็คือเรื่องของอำนาจ

“คนที่มีอำนาจในปัจจุบันก็คือกลุ่มคนเดียวกันกับที่รัฐประหารปี 2557 มาจากระบบราชการ กลุ่มทุน ปืนและรถถัง ไม่มีประชาชนเป็นที่มาของอำนาจ พวกเขาจึงออกแบบงบประมาณออกมาแบบนี้ ไปอุ้มกลุ่มทุน ไปหล่อเลี้ยงระบบราชการที่ใหญ่เทอะทะ” นายธนาธร กล่าว

หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า ถ้าเราอยากเห็นสังคมไทยเดินไปข้างหน้า โดยที่ดอกผลของการพัฒนาได้รับการแจกจ่ายอย่างถ้วนหน้า ถ้าเราอยากเห็นสังคมไทยอยู่ในโลกาภิวัฒน์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ถ้าเราอยากเห็นงบประมาณถูกนำไปใช้เพื่อประชาชน ถ้าเราอยากเห็นสิ่งเหล่านี้ เราต้องแก้รัฐธรรมนูญ

โดยชี้ว่านี่คือโจทย์ใหญ่ว่าตกลงอำนาจในประเทศนี้เป็นของใคร อำนาจในการจัดสรรงบประมาณ 3.2 ล้านล้าน ใครควรจะได้เป็นคนจัดสรร นี่คือเวลาที่เราต้องคิดอย่างทะเยอทะยานเพื่อคนรุ่นต่อไป เพื่อให้ปัญหานี้จบในคนรุ่นเรา ว่าอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรในประเทศนี้ ควรอยู่ที่ประชาชน และเพื่อจะแก้ปัญหานี้ เราต้องทำให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย, ยุติระบบราชการรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง,การลดบทบาทของกองทัพ มีการแต่การทำ 3 อย่างนี้เท่านั้น ประเทศไทยถึงจะเดินไปข้างหน้าได้ และจะทำอย่างนี้ได้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าก้าวแรกก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในไต้หวัน ส่วนใหญ่ว่าจ้างแรงงานไทย ที่มาภาพ: Radio Taiwan International

Posted: 02 Nov 2019 10:17 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
Submitted on Sun, 2019-11-03 00:17


ไต้หวันเปิดนำเข้าครบ 30 ปี แรงงานต่างชาติชุดแรกที่เดินทางมาทำงานในไต้หวันเป็นคนงานไทย ปัจจุบันแรงงานต่างชาติกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในสังคมไต้หวันไปแล้ว นักวิชาการเรียกร้องรัฐบาลเปลี่ยนแนวความคิดจากสกัดกั้น อนุญาตให้ย้ายถิ่นเพื่อดึงดูดให้แรงงานต่างชาติทำงานในไต้หวันได้อย่างถาวรต่อไป

Radio Taiwan International รายงานเมื่อปลายเดือน ต.ค. 2562 ว่าไต้หวันเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างชาติอย่างถูกกฎหมายเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2532 แรงงานต่างชาติชุดแรกที่เดินทางมาทำงานในไต้หวันเป็นคนงานไทย ทำงานในไซต์งานก่อสร้างทางด่วนสาย 3 ระยะเวลาผ่านไป 30 ปี ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติกว่า 710,000 คน กระจายทำงานในภาคส่วนต่างๆ ของไต้หวัน อาทิ ภาคการผลิต ก่อสร้าง ประมง และภาคสวัสดิการสังคม กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดเสียมิได้ของสังคมไต้หวันไปแล้ว นักวิชาการด้านแรงงานกล่าวเรียกร้องรัฐบาลทบทวนนโยบายของเมื่อ 30 ปีที่แล้ว จากการนำเข้าเพื่อทดแทนภาวะขาดแคลนแรงงานและพยายามสกัดกั้นไม่ให้แรงงานต่างชาติย้ายถิ่น มาเป็นแรงงานต่างชาติช่วยสร้างโอกาสทำงานให้กับแรงงานท้องถิ่น และภายใต้สถานการณ์ที่อัตราการเกิดตกต่ำ ภาวะขาดแคลนแรงงานไม่สามารถจะแก้ไขได้ รัฐบาลควรจะมองการณ์ไกล พิจารณาให้มีการย้ายถิ่น เพื่อดึงดูดให้แรงงานต่างชาติที่มีทักษะฝีมืออยู่ทำงานในไต้หวันตลอดไป แน่นอน นี่ไม่ใช่เป็นประเด็นของกระทรวงแรงงานแต่เพียงกระทรวงเดียว แต่เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องนำมาขบคิด

นอกจากอุตสาหกรรมการผลิตแล้ว เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2535 อนุญาตให้องค์กรหรือครอบครัวที่มีผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่ช่วยตนเองไม่ได้ นำเข้าผู้อนุบาลต่างชาติได้ รวมถึงผู้ช่วยงานบ้าน และลูกเรือประมงต่างชาติ ส่วนทางด้านภาคการผลิตก็ขยายประเภทอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงานและสามารถยื่นขอนำเข้าแรงงานต่างชาติได้จากเดิม 6 ประเภท 15 ตำแหน่งงานมาเป็น 68 ประเภทอุตสาหกรรม

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2535 คณะกรรมการการแรงงานในสมัยนั้น ประกาศเกณฑ์การจัดเก็บค่าบริการจัดหางานและค่าบริการดูแลของบริษัทจัดหางานที่เป็นผู้จัดส่งและดูแลแรงงานต่างชาติ ประกาศนี้ เป็นที่มาของการอนุญาตให้บริษัทจัดหางานเรียกเก็บค่าบริการดูแลจากแรงงานต่างชาติได้ จากนั้นมีการปรับประเภทกิจการที่อนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างชาติได้ โดยเพิ่มกิจการชำแหละเนื้อสัตว์และภาคการเกษตร จนกระทั่งยอดจำนวนแรงงานต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2562 แรงงานต่างชาติในไต้หวันมีจำนวน 711,001 คน ทำงานในภาคการผลิต 452,412 คน ภาคสวัสดิการสังคม 258,589 คน ในจำนวนนี้ เป็นผู้อนุบาลในองค์กร 15,200 คน ผู้อนุบาลในครัวเรือน 241,562 คน และผู้ช่วยงานบ้าน 1,826 คน

ด้านประเทศผู้ส่งออกจากที่อนุญาตให้ส่งออกแรงงานมาทำงานที่ไต้หวันได้ 6 ประเทศ แต่ปัจจุบันส่งออกจริง 4 ประเทศ ได้แก่ไทย อินโดนีเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ ส่วนมองโกเลียและมาเลเซียไม่มีการส่งออกแรงงานมายังไต้หวันเลย และในจำนวน 4 ประเทศที่ส่งออกแรงงานมายังไต้หวัน อินโดนีเซียส่งออกมากที่สุด 271,583 คน ซึ่งส่วนใหญทำงานในตำแหน่งผู้อนุบาลในครัวเรือน เวียดนามอยู่อันดับ 2 มีจำนวน 223,433 คน ตามด้วยฟิลิปปินส์ 155,560 คน ส่วนแรงงานไทยจากแรกเริ่มครองแชมป์มีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด จนถึงปี 2549 ถูกอินโดนีเซียเบียดตกลงมา จนปัจจุบันเหลือจำนวนเพียง 60,423 คน

ศจ.เฉิงจือเยว จากสถาบันวิจัยแรงงาน มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ (NCU) กล่าวว่า นโยบายด้านแรงงานควรมองการณ์ไกลไปถึง 10-20 ปีข้างหน้าว่า ความพึ่งพิงแรงงานต่างชาติของไต้หวันเป็นเช่นไร ปัจจุบัน ไต้หวันไม่เพียงแต่ประสบปัญหาอัตราการเกิดที่ตกต่ำและภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงเท่านั้น ยังต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ เช่นญี่ปุ่นเป็นต้น ให้เงื่อนไขที่ดีกว่าเพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติไปทำงาน ไต้หวันนอกจากได้เปรียบในเรื่องความเคารพด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังควรพิจารณาในแง่มุมให้สิทธิ์แก่แรงงานต่างชาติที่มีทักษะสามารถย้ายถิ่นเพื่อดึงดูดให้อยู่ทำงานในไต้หวันตลอดไป และแน่นอน คงไม่ใช่เป็นภาระหน้าที่ของกระทรวงแรงงานเพียงหน่วยงานเดียวเท่านั้น

ด้าน รศ. ซินปิ่งหลงจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันชี้ว่า ในอดีต ไต้หวันจะใช้นโยบายสกัดกั้น เกรงว่าการนำเข้าแรงงานต่างชาติในจำนวนที่มากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อโอกาสทำงานของแรงงานท้องถิ่น โดยเฉพาะแรงงานสูงอายุอาจตกงาน แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะกิจการที่เป็นงานหนัก มีความเสี่ยงสูงและอันตราย ไม่สามารถหาแรงงานท้องถิ่นเข้าทำงานได้ ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก โครงสร้างแรงงานเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก นโยบายด้านแรงงานก็ควรเปลี่ยนตามไปด้วย ไม่ควรมองจากจำนวนแรงงานต่างชาติ แต่ควรจะพิจารณาจากมุมมองการนำเข้าแรงงานต่างชาติ จะช่วยสร้างโอกาสการทำงานให้แก่แรงงานท้องถิ่นมากน้อยเท่าไหร่ อย่างไร?

ขับเคลื่อนโดย Blogger.