กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group - DRG
หลายวันที่ผ่านมานี้ เราได้เห็นความพยายามแก้ต่างให้กับกษัตริย์ในเรื่องทรัพย์สิน โดยเฉพาะพวกที่สวมหมวกนักวิชาการ ซึ่งดูแล้วก็ยังไม่พ้นความเชื่อว่าของอะไรที่เกี่ยวกับเจ้าก็ต้องเป็นของของเจ้าทั้งหมด
.
ความเชื่อว่าอะไรบ้างคือทรัพย์สินของกษัตริย์ เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดว่าคนคนนั้นยึดมั่นในระบอบอะไรกันแน่
.
ถ้ายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยจริงๆ ที่ทางเดียวที่สถาบันกษัตริย์จะอยู่ในระบอบนี้ได้คือต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเท่านั้น ในแง่นี้สถาบันกษัตริย์ก็คือหน่วยงานรัฐหน่วยหนึ่ง ที่ต้องถูกกำกับอย่างเคร่งครัดโดยองค์กรที่มีที่มาจากประชาชน กษัตริย์และเจ้าคนอื่นๆ ก็คือเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทหนึ่ง โดยทั่วไปคือมีหน้าที่เชิงพิธีการ เช่น เป็นประมุขของรัฐคอยปฏิสัมพันธ์กับประมุขรัฐอื่น ลงนามรับรองกฎหมาย เป็นประธานในงานต่างๆ หรือจะมีงานทางสังคมวัฒนธรรมอะไรก็ว่ากันไป (แต่ต้องไม่ใช่อำนาจบริหารหรืออำนาจที่ให้คุณให้โทษผู้อื่น)
.
เมื่อสถาบันกษัตริย์คือหน่วยงาน เจ้าคือเจ้าหน้าที่ ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับกษัตริย์จึงต้องแยกออกเป็นสองส่วน คือ 1. ทรัพย์สินที่รัฐใช้ในกิจการเกี่ยวกับกษัตริย์ เจ้าของทรัพย์สินในข้อนี้คือรัฐ แต่จัดไว้ให้กษัตริย์และเจ้าคนอื่นๆ เพื่อการทำหน้าที่ เช่น วัง พาหนะประจำตำแหน่ง ชุดและเครื่องประดับที่เป็นเครื่องแบบ อุปกรณ์ใช้สอยต่างๆ ในพิธีการ รวมถึงเงินในกิจการเกี่ยวกับกษัตริย์ กับ 2. ทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้า เจ้าอยากได้เสื้อผ้าอะไรไว้ใช้ส่วนตัว อยากได้คอมพิวเตอร์ใหม่ อยากเล่นเกมส์ อยากสะสมสิ่งของ ก็ไปหาซื้อมา เงินที่ใช้ซื้อก็ไปกำหนดในกฎหมายว่าจะให้เจ้ามีเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งอย่างไร รวมถึงอาจมีข้อจำกัดการใช้เงินเหมือนกับที่นักการเมืองมี (เช่น ห้ามซื้อหุ้น)
.
และแน่นอนว่า 1. จะโอนมาเป็น 2. ไม่ได้
.
ถ้าให้เปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ ข้าราชการอื่นๆ ก็เหมือนกับกระทรวง ทบวง กรม มีอาคารที่ทำการ มีบ้านพักข้าราชการ มีรถประจำตำแหน่ง มีครุภัณฑ์ต่างๆ มีงบประมาณที่ได้รับจัดสรรมา ส่วนข้าราชการก็มีบ้าน มีรถ มีเสื้อผ้าของตัวเอง ที่ใช้เงินเดือนซื้อมา ข้าราชการบางตำแหน่งก็มีข้อจำกัดการใช้เงินมากกว่าปรกติ (เช่น ส.ส. ห้ามซื้อ (ถือ) หุ้นสื่อ) โดยที่อาคารกระทรวงจะโอนมาเป็นของส่วนตัวของรัฐมนตรีไม่ได้ รถถังจะโอนมาเป็นของส่วนตัวของ ผบ.ทบ. ไม่ได้ เป็นต้น
.
ทีนี้ในเรื่องของทรัพย์สินที่เจ้าเคยถือไว้โดยอ้างว่า “เจ้าหามาเอง” ที่โดยตัวมันเองไม่ได้มีใว้ในกิจการเกี่ยวกับกษัตริย์ เช่น หุ้นและที่ดินที่ถือโดย “สำนักงานทรัพย์สินส่วนกษัตริย์” ในอดีตเมื่อตอนยังไม่เป็นระบอบประชาธิปไตย ทรัพย์สินเหล่านี้กษัตริย์ได้มาโดยการใช้อำนาจรัฐ เช่น การเกณฑ์แรงงาน การผูกขาดการค้า การเก็บภาษีประชาชนมาลงทุน แล้วมาถือไว้เอง (เพราะกษัตริย์ก็ถือตัวเองเป็นรัฐ) แต่เมื่อเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว เราวางฐานะสถาบันกษัตริย์คือหน่วยงาน เจ้าคือเจ้าหน้าที่ เราไม่ยอมรับให้ใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเอาอำนาจรัฐมาใช้สร้างความมั่งคั่งส่วนตัว หุ้นและที่ดินเหล่านี้จึงต้องตกเป็นของรัฐ อันที่จริงสำนักทรัพย์สินฯ ต้องไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล เพราะเป็นหน่วยงานที่ต้องอยู่ภายใต้กำกับของรัฐบาล จึงไม่สมควรมีอำนาจตัดสินใจในการบริหารทรัพย์สินได้เองซึ่งอาจขัดแย้งกับรัฐบาลได้ และต้องปล่อยทรัพย์สินที่ไม่ได้มีใว้ในกิจการเกี่ยวกับกษัตริย์ให้ไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่น (เช่น กระทรวงการคลัง)
.
ส่วนการบริจาคเงินให้กับเจ้า เมื่อเจ้าคือเจ้าหน้าที่ การที่เจ้ารับเงินก็ไม่ต่างจากการที่นักการเมืองรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งตามกฎหมายนักการเมืองนั้นห้ามรับเกิน 3,000 บาท แต่เจ้ากลับรับได้เป็นหลักร้อยล้าน การบริจาคนี้อาจนำไปสู่การใช้อิทธิพลของสถาบันกษัตริย์เพื่อตอบแทนผลประโยชน์แก่ผู้บริจาคได้เช่นเดียวกับที่ผู้ให้เงินนักการเมืองหวังอิทธิพลจากนักการเมือง ดังนั้นจึงต้องไม่เปิดให้มีการบริจาคให้กับเจ้าโดยตรงเพื่อ “ใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย” และหากใครประสงค์ที่จะบริจาคเพื่อใช้ในกิจการเกี่ยวกับกษัตริย์ เงินนั้นก็ต้องเข้าสู่การบริหารจัดการของรัฐบาล จะนำไปเป็นเงินส่วนตัวของเจ้าไม่ได้
.
สรุปอีกครั้ง ในระบอบประชาธิปไตย ทรัพย์สินที่รัฐใช้ในกิจการเกี่ยวกับกษัตริย์ และทรัพย์สินที่แสวงหามาโดยใช้อำนาจรัฐ จะต้องไม่ถูกโอนไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของกษัตริย์ นี่คือหลักการในการจัดระเบียบทรัพย์สินเกี่ยวกับกษัตริย์ในประเทศที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริง หากใครยังเห็นว่าทรัพย์สินทั้งหมดนี้ต้องเป็นของเจ้า นั่นเท่ากับคุณไม่เอาระบอบประชาธิปไตย คุณเอาระบอบอื่น ซึ่งเราจะไม่เอาด้วยกับพวกคุณ
แสดงความคิดเห็น