Astrophotos from Thai Robotic Telescopes

เนบิวลาปู (Crab Nebula, Messier 1, M1) เป็นหนึ่งในเนบิวลาที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด เนื่องจากความสว่าง และความงดงามของมัน เนบิวลาปูอยู่ในกลุ่มดาววัว (Taurus) ห่างจากโลก 6,300 ปีแสง ความสุกสว่างนี้เกิดจากการจบชีวิตลงดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง ทำให้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ที่เรียกว่า “Supernova” มวลแก๊สที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของดวงดาวแผ่ขยายพุ่งออกไปในทุก ๆ ทิศทาง ทิ้งไว้เพียงใจกลางแก่นดาว กลายเป็นดาวนิวตรอนที่หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูงและปล่อยพลังงานออกมาเรียกว่าพัลซาร์

นักดาราศาสตร์ชาวจีนเป็นผู้พบเนบิวลาปูครั้งแรกประมาณวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1054 โดยมันสว่างมากกว่าดาวศุกร์ถึง 6 เท่า สามารถสังเกตเห็นได้ในเวลากลางวันถึง 23 วัน และสว่างค้างอยู่เป็นระยะเวลาถึง 2 ปี ในตอนนั้นเขาเชื่อว่าเป็นดาวดวงใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้น จนกระทั่งปี ค.ศ. 1758 ชาร์ล เมซีเย (Charles Messier) นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่ศึกษาการโคจรกลับมาของดาวหางแฮลลีย์ เข้าใจผิดว่าเนบิวลาปูคือดาวหางแฮลลีย์ เนี่องจากมีการคำนวณไว้ว่าดาวหางนี้จะโคจรกลับมาในปีดังกล่าว แต่หลังจากศึกษาอยู่ระยะเวลาหนึ่งก็พบว่าวัตถุนี้ไม่ใช่ดาวหาง เพราะหากเป็นดาวหาง จะต้องเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ เขาจึงเป็นคนแรกที่จำแนกเนบิวลาปูไว้ในบันทึกรายชื่อวัตถุท้องฟ้า (Catalogue of Nebulae and Star Clusters) ซี่งรวบรวมวัตถุท้องฟ้าได้แก่ เนบิวลา กาแล็กซี และกระจุกดาวต่าง ๆ เอาไว้ และตั้งชื่อเนบิวปูว่า “M1” หรือ “Messier 1” ส่วนชื่อของเนบิวลาปู ได้มาจากภาพวาดที่บันทึกโดย วิลเลียม พาร์สัน (William Parsons) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับปูนั่นเอง

ภาพ : ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์/ กีรติ คำคงอยู่
TRT-NEO / CDK700/ FLI16803

A-TRT-82

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.