iLaw

สถานการณ์ทางการเมืองในปี 2563 ภายใต้รัฐบาล “คสช.2" แม้จะมีสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งแล้ว แต่ผู้ถืออำนาจก็ยังคงปกครองประเทศแบบผูกขาดอำนาจและขาดการตรวจสอบถ่วงดุล แทบไม่ต่างจากยุค คสช.1 ที่มาจากการรัฐประหาร

กล่าวคือ กฎหมายที่เป็นฐานในการใช้อำนาจทางการเมืองเกือบทุกฉบับ ทั้งรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประกาศและคำสั่ง คสช. ฯลฯ ต่างก็เขียนขึ้นโดยคนของ คสช. และประกาศใช้โดยองค์กรของ คสช. ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการในองค์กรอิสระแทบทั้งหมด ซึ่งต้องทำหน้าที่ตีความบังคับใช้กฎหมายต่างก็มาจากระบบการคัดเลือกภายใต้อำนาจของ คสช. จึงกลายเป็นระบบกฎหมายแบบ “ชงเองตบเองสบายเอง”

เมื่อสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งจะทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ ก็ถูกเสียง ส.ส. ที่มาจากการ “เปลี่ยนสูตรคำนวน” หลังเลือกตั้งและ ส.ส. ที่ถูกอำนาจเงิน “ดูด” ให้ย้ายข้างครอบงำไว้เบ็ดเสร็จ แม้ฝ่ายรัฐบาลจะกลายเป็นส่วนน้อยบ้างในบางครั้ง ประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเลือกมาโดยฝ่ายรัฐบาลก็อนุญาตให้ลงมติใหม่ได้เรื่อยๆ จนกว่าจะชนะ ส่วนวุฒิสภา ซึ่งควรจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติถ่วงดุลอำนาจกับรัฐบาล สมาชิกที่ คสช. คัดเลือกทั้ง 250 คน ก็กลายเป็นเพียงหุ่นยนต์ยกมือตามสั่ง และเมื่อรัฐบาลต้องการอำนาจเบ็ดเสร็จแบบเร่งด่วนก็ยังกล้าใช้ทางลัดออก “พระราชกำหนด” โดยไม่ต้องผ่านการอภิปรายของสภาผู้แทนราษฎรได้อีก

ปรากฏการณ์เช่นนี้ ทำให้รัฐบาล “คสช.2” ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปกครองประเทศด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จยิ่งกว่า “เผด็จการรัฐสภา” แต่เป็น “เผด็จการด้วยสภาที่ออกแบบเอง”
ดังนั้น หนทางในแง่มุมกฎหมายที่จะลบล้างอำนาจของ “ระบอบ คสช.” และเดินหน้ากลับสู่ “ประชาธิปไตย” จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อันเป็นต้นทางของกฎหมายอีกหลายฉบับที่สร้างกลไกสนับสนุนอำนาจให้คณะรัฐประหาร
ในฐานะที่ไอลอว์ติดตามกระบวนการออกกฎหมาย รวมทั้งการจัดทำรัฐธรรมนูญ ของ คสช. มาตลอดตั้งแต่ต้น จึงมีข้อเสนอต่อสังคมไทย เพื่อหาทางออกจาก “ระบอบ คสช.” และเดินหน้ากลับสู่ “ประชาธิปไตย” ผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ โดยต้องจัดทำเป็นสองขั้นตอน ดังนี้
.
ขั้นตอนที่ 1 ลบล้าง “ระบอบ คสช.” และเปิดทางการมีส่วนร่วม
เริ่มจากการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกกลไกการสืบทอดอำนาจของ คสช. และเปิดทางให้เกิดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชน โดยมีเนื้อหา คือ
ยกเลิกกลไกการสืบทอดอำนาจที่ คสช. สร้างไว้ ได้แก่
1. ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรี “คนนอก” ที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง
2. ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 65 และ 275 ที่ให้ คสช. ตั้งคนของตัวเองมาเขียนแผน “ยุทธศาสตร์ 20 ปี” ขึ้นเอง เพื่อกำหนดอนาคตแทนคนทั้งประเทศ
3. ยกเลิกรัฐธรรมนูญ หมวด 16 ว่าด้วย การปฏิรูปประเทศ ตั้งแต่มาตรา 257 - 261 และ มาตรา 270 ที่ให้ คสช. ตั้งคนของตัวเองมาเขียน “แผนปฏิรูปประเทศ” ขึ้นเองและจะใช้บังคับเอง
4. ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 252 ที่เปิดช่องให้มีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง
5. ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ที่กำหนดให้การกระทำทุกอย่างของ คสช. ไม่เป็นความผิด และรับรองให้ประกาศและคำสั่งของ คสช. ยังมีผลใช้บังคับอยู่ตลอดไป
แก้ไขกลไกการสืบทอดอำนาจที่ คสช. สร้างไว้ ได้แก่
1. แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 ยกเลิกสมาชิกวุฒิสภาชุดพิเศษ 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. เปลี่ยนเป็น ในวาระเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ให้มีสมาชิกวุฒิสภา 200 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในแต่ละจังหวัด ด้วยระบบเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540
2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ยกเลิกระบบ “บัญชีว่าที่นายกฯ” ที่ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อ “ใครก็ได้” สามรายชื่อเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี และเปลี่ยนเป็นกำหนดว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
3. แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 203 และ 267 ยกเลิกกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระตามระบบปัจจุบันที่ให้คนจากองค์กรอิสระหมุนเวียนเก้าอี้เลือกกันเอง เปลี่ยนเป็นกระบวนการสรรหาที่เหมาะสมตามแต่ภารกิจของแต่ละองค์กร และ “เซ็ตซีโร่” ยกเลิกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยคนของ คสช. ทั้ง 10 ฉบับ ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง เปิดทางให้จัดทำกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระขึ้นใหม่ทุกฉบับ
4. แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้กระบวนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องพึ่งพาเสียงของสมาชิกวุฒิสภาเป็นพิเศษ สามารถทำได้โดยเสียงครึ่งหนึ่งของรัฐสภา และไม่บังคับให้ต้องลงประชามติ
5. แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มบทเฉพาะกาลอีกหนึ่งมาตรา ให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่เป็นตัวแทนจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด เพื่อศึกษาและรับฟังความคิดเห็น สำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใน 2 ปี ก่อนส่งให้รัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาตามกระบวนการในข้อ 4.
โดยข้อเสนอในขั้นตอนที่ 1. หากดำเนินการไปตามวิธีการที่มาตรา 256 กำหนดไว้ในปัจจุบัน ต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชนทั้งประเทศ รัฐบาลจึงยังมีหน้าที่ต้องรับรองว่า การจัดทำประชามติจะไม่มีการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ไม่ปิดกั้นการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชน ไม่แทรกแซงการจัดกิจกรรม และไม่คุกคามข่มขู่ผู้จัดกิจกรรมไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
.
ขั้นตอนที่ 2 เดินหน้ากลับสู่ “ประชาธิปไตย” และจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน
หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามขั้นตอนที่ 1. ดำเนินไปจนสำเร็จลุล่วง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเพราะขาดคุณสมบัติเนื่องจากไม่ได้เป็น ส.ส. ไม่ว่า ใครจะเป็นผู้นำรัฐบาลก็จะไม่มีอำนาจพิเศษและกลไกตามรัฐธรรมนูญที่ปกป้องให้อยู่ในอำนาจได้อย่าง “ผิดปกติ” อีกต่อไป ผู้ที่เป็นรัฐบาลจะต้องใช้อำนาจภายใต้ขอบเขตจำกัดและถูกตรวจสอบได้โดยกลไกรัฐสภาและกฎหมายในระบบปกติ
สภาผู้แทนราษฎรจะเริ่มต้นทำงานใหม่ไปตามระบบปกติ จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่แทนชุดปัจจุบัน ต้องมีการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างระบบพรรคการเมือง ระบบเลือกตั้ง และวิธีการได้มาซึ่งองค์กรอิสระชุดใหม่ทั้งหมด และจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชน
สภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีตัวแทนจากประชาชนจะทำงานโดยมีอิสระ ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ รวบรวมความคิดเห็น ความต้องการจากประชาชนทุกกลุ่ม ในขั้นตอนนี้ โอกาสจะเปิดกว้างสำหรับการพูดคุยลงรายละเอียด ถึงระบบเลือกตั้ง ส.ส. ที่ควรจะเป็น แผนการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการตัวเอง สิทธิเสรีภาพที่ประชาชนควรจะมี และข้อจำกัดสิทธิที่ไม่เกินสมควรแก่เหตุ ช่องทางให้มีส่วนร่วมทางการเมือง หน้าที่ของรัฐในการจัดบริการสาธารณสุข สวัสดิการ การศึกษา จัดสรรทรัพยากร คุ้มครองความปลอดภัย ฯลฯ
ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ที่จัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน จะถูกนำเสนอเข้าสู่สภา ซึ่งมี ส.ส. และ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และต้องผ่านการพิจารณาด้วยขั้นตอนแบบใหม่ อาศัยเสียงจากผู้แทนครึ่งหนึ่งของสองสภารับรอง และประกาศใช้
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงจะสามารถพาประเทศไทยกลับสู่ระบบการปกครองที่ปกติ ไม่มีการสืบทอดอำนาจโดยคณะรัฐประหาร ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และมีช่องทางให้ร่วมกำหนดอนาคตของตัวเองได้
.
ไอลอว์จึงเสนอไปยังผู้ที่กำลังทำกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยให้ช่วยกันพิจารณาข้อเสนอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดนี้ในฐานะหนทางหนึ่งที่จะกลับสู่ประชาธิปไตย หรือพัฒนาข้อเสนอชุดใหม่ขึ้นมา ด้วยความเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ของ คสช. นั้น คือ อุปสรรคสำคัญสำหรับโอกาสที่อำนาจสูงสุดจะเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
ดูข้อเสนอเต็มๆ ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5564

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.