Atukkit Sawangsuk

นับถอยหลัง 88 ปี 24 มิถุนา 2475
เคยฟังนักประวัติศาสตร์อธิบายในอีกแง่มุมหนึ่งว่า


ที่จริงแล้ว คณะราษฎร โดยส่วนใหญ่เคารพยกย่อง "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" สมัยรัชกาลที่ 5
เพราะต่างก็เกิดและเติบโตในยุค ร.5
มีความประทับใจกับการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย ให้โอกาสลูกหลานสามัญชนไปเรียนต่างประเทศ ได้รับความคิดใหม่ๆ มาปฏิรูประบบราชการ เป็นยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองของสยาม
แต่พอเข้าสู่ยุครัชกาลที่ 6 ประสิทธิภาพการบริหารก็ไม่เหมือนเดิม ทรงทนุบำรุงการละครและเสือป่า ข้าราชการหัวใหม่โดยเฉพาะทหารเริ่มไม่พอใจ จนเกิดกบฎ รศ.130
มาถึงยุครัชกาลที่ 7 พระบรมวงศานุวงศ์กลับมามีอำนาจมาก (ร.7 เป็นน้อง อภิรัฐมนตรีมีแต่พีๆ บารมีแข็งปั๋ง เชื้อพระวงศ์มีจำนวนมากและมีอภิสิทธิ์ในการรับราชการ)
เศรษฐกิจตกต่ำยุค The Great Depression มีการใช้จ่ายล้นเกินมาตั้งแต่รัชกาลก่อน รัชกาลที่ 7 ต้องรัดเข็มขัด แต่อภิรัฐมนตรีไม่รัดด้วย ปลดข้าราชการ พวกมีเจ้านายเลี้ยงก็ไม่โดนปลด ขึ้นภาษี ชาวบ้านก็เดือดร้อน
สลิ่มไม่เคยรู้ประวัติศาสตร์ว่ายุคนั้น "รัฐบาล" โดนชาวบ้านวิจารณ์หนัก หนังสือพิมพ์ถล่มยับ (หรือรู้แต่บอกว่าเห็นไหม ร.7 ท่านใจกว้างให้วิจารณ์ได้) กรมพระกำแพงเพชร เดินทางไปดูงานต่างประเทศเมื่อปี 2474 ซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า 13 คัน (ใหม่ล้ำราคาแพง) กลับมาด้วย ก็โดนสื่อวิจารณ์อย่างหนักว่ามันเหมาะกับสถานการณ์ไหม เขากำลังรัดเข็มขัดกันอยู่
.................
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่จริงเกิดขึ้นสั้นๆ ในสมัย ร.5 สถาปนารัฐชาติ รวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลาง จากเดิมที่เป็นระบอบกษัตริย์กับหัวเมือง+ประเทศราช เพื่อรับมือกับยุคอาณานิคม และริบอำนาจจากขุนนาง (โดยเฉพาะผู้สำเร็จราชการ)
ระบอบนี้รุ่งเรืองด้วยพระปรีชาสามารถของรัชกาลที่ 5 แต่พอพ้นยุคสมัยท่าน ประสิทธิภาพก็ลดต่ำลง จนถึงกาลอวสาน
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้คนอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับยุคสมัย ร.5 โหยหา อยากได้ผู้นำแบบนั้นอีก แต่ไม่มี แล้วความคิดใหม่ก็แผ่ขยายเข้ามาพอดี คือเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ประชาธิปไตย



แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.