Atukkit Sawangsuk

ปาฐกถาธงชัย วินิจจะกูล เมื่อต้นปี ถลก "ประวัติศาสตร์กฎหมาย" ว่าการปฏิรูปกฎหมายสู่สมัยใหม่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือการทำของนอกให้เป็นของไทย ทำให้ดูเหมือนมีการปกครองด้วยกฎหมาย แต่จริงๆ ไม่ใช่เลย แล้วก็พัฒนามาเป็นนิติรัฐแบบรัฐมีอภิสิทธิ์ กับนิติธรรมที่อิงกับพุทธและธรรมราชา

"นิติธรรม" คำนี้ขุดมาใช้ในรัฐธรรมนูญ 2550 หลังรัฐประหารโค่นทักษิณ ใช้ตุลาการภิวัตน์ทำลายล้างประชาธิปไตย อ้างว่าแปลจาก Rule of Law แต่ความหมายมันคือ การใช้อำนาจกฎหมายโดย "คนดีย์"

ชวน อ.เข็มทอง Khemthong Tonsakulrungruang มาคุยเรื่องนี้ ในฐานะที่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง "อิทธิพลของพุทธศาสนาในกฎหมายไทย"


ซึ่งนักกฎหมายที่ถนัดเรื่องนี้มีน้อยนะครับ ถัดจาก อ.วรเจตน์ ซึ่งสนใจพุทธด้วยตัวเอง ก็มี อ.เข็มทองนี่แหละ ศึกษาโดยตรง ว่ามีการใช้กฎหมายโดยอ้างศาสนาได้อย่างไร ทั้งที่มันไม่ได้อยู่ในตัวบท ในลายลักษณ์อักษรของกฎหมายเลย แต่มันอยู่ในวิธีคิด ในการอบรมบ่มเพาะผู้พิพากษาตุลาการ จนกลายเป็นยกย่องกันว่า ผู้พิพากษาคนนั้นคนนี้ เป็นคนดี เข้าถึงแก่นธรรม มากกว่าดูความสามารถในทางกฎหมาย

ในแง่ตัวบุคคล ก็สัญญา ธรรมศักดิ์ สนิทสนมกับพุทธทาส "เผด็จการโดยธรรม"

พูดงี้ไม่ได้ปฏิเสธศาสนา หลักธรรม แต่มันคนละเรื่องกันกับการใช้กฎหมาย เทพียุติธรรมของฝรั่งต้องปิดตา คือต้องไม่มีอคติว่าคนนั้นเป็นใคร ว่าไปตามพยานหลักฐาน แต่ถ้าใช้ศาสนา ก็จะคิดว่าตัวเองเป็นผู้บรรลุธรรม มองไอ้นั่นไอ้นี่คนเลวคนชั่ว ต้องเอามันให้ตาย หาช่องเล่นจนได้ โดยไม่คำนึงถึงหลักกฎหมาย

รัฐธรรมนูญ 2540 ว่าด้วยองค์กรอิสระ นี่คือกฎหมายศาสนาโดยแท้ เพราะคิดว่าจะมีคนดีลอยมากจากฟ้ามาเป็นองค์กรอิสระ แล้วก็ให้อำนาจมากๆ จะได้ปราบมาร เพียงแต่ตอนนั้นยังยึดโยงวุฒิสภาจากเลือกตั้ง พอ 50 60 ยิ่งไปใหญ่

ตุลาการรายแรกที่บรรยายธรรมในคดีการเมือง ถ้าจำกันได้ คือประเสริฐ นาสกุล ประธานศาล รธน. คดีซุกหุ้นทักษิณ ซึ่งผู้คนปลาบปลื้มฟูมฟาย (เขาให้วินิจฉัยเรื่องซุกหุ้นขัดกฎหมายหรือไม่ ขัดไม่ขัดก็ว่าไปสิ นี่แกร่ายยาวสอนว่าอย่าเห็นแก่ตัว) ศาลไม่ใช่พระ ถ้าเราอยากฟังเทศน์เราก็ไปวัด ที่เราไปศาลเพราะต้องการฟังคำวินิจฉัยด้วยเหตุผลทางกฎหมาย


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.