.
ยูดีดีนิวส์ : 24 มิ.ย. 63 เวลา 10.30 น. วันนี้ถือเป็นวันครบรอบ "การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475" หรือ “88 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชาธิปไตย (สมบูรณาญาสิทธิราชย์) มาสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ" และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งเกิดขึ้นจากคณะนายทหารและพลเรือนร่วมกัน โดยเรียกตนเองว่า "คณะราษฎร" เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์โลก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองภายในประเทศ การปฏิวัติดังกล่าวทำให้ประเทศสยามมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกเกิดขึ้นมาดังกล่าว
.
บรรยากาศที่บริเวณหน้ารัฐสภา ถ.สามเสน เขตดุสิต กทม. กลุ่มคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) กลุ่ม 24มิถุนาประชาธิปไตย และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) พร้อมด้วยประชาชนผู้รักประชาธิปไตย จำนวนกว่า 100 คน เดินทางมาร่วมแสดงพลังโดยการนำพานรัฐธรรมนูญ (จำลอง) และหมุดคณะราษฎร (จำลอง) มาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์วันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง พร้อมอ่านประกาศคณะราษฎร
.
โดยทำกิจกรรม “ทวงคืนมรดกคณะราษฎร ทวงสัญญารัฐธรรมนูญประชาชน” บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา และทวงถามความคืบหน้ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ในฐานะมรดกทางอุดมการณ์ของคณะราษฎร และคำมั่นสัญญาที่รัฐบาลให้กับประชาชน ว่าจะดำเนินการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา
.
ทั้งนี้มีตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 และแกนนำพรรคฝ่ายค้าน อาทิ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นตัวแทนรับหนังสือ
.
นายอนุสรณ์ อุณโณ กล่าวว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ครช.ได้ยื่นข้อเสนอว่าด้วยหลักเกณฑ์และแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ได้แก่
.
1. สร้างสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เข้มแข็ง ไม่นำเหตุความมั่นคงมาอ้างในการจำกัดเสรีภาพให้ประชาชนเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และสร้างหลักประกันด้านรัฐสวัสดิการ
.
2. สร้างกลไกเข้าสู่อำนาจที่ยึดโยงกับประชาชน กำหนดให้ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส. และส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด การปฏิรูปประเทศหรือยุทธศาสตร์ชาติต้องไม่เกิดขึ้นโดยคนกลุ่มเดียวและต้องไม่นิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหาร
.
3. ให้ตราพระราชบัญญัติการรับฟังความเห็นของประชาชนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและให้ความเห็นของประชาชนมีผลผูกพันในทางกฎหมายและทางการเมืองต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
.
4. ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เรื่องหลักเกณฑ์แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยอาศัยเพียงเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
.
นายอนุสรณ์ กล่าวต่ออีกว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ถูกจัดทำภายใต้คณะรัฐประหารนำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอกย้ำให้เห็นถึงความถดถอยทางอำนาจของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบกลไกทางการเมืองให้สถาบันทางการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชนอ่อนแอ อาทิ พรรคการเมืองหรือสภาผู้แทนราษฎร แถมยังเข้าไปกุมอำนาจทางการเมือง อาทิ วุฒิสภา หรือ องค์กรอิสระ เพื่อควบคุมและแย้งกับอำนาจที่มาจากประชาชน เมื่อเจตนารมณ์พื้นฐานของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือการลดทอนอำนาจจากประชาชน จึงไม่แปลกที่สังคมไทยจะเห็นความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาลที่ไม่สามารถรับมือต่อวิกฤตการณ์ที่ถาโถมเข้าใส่ประเทศได้อย่างทันท่วงที โดยปล่อยให้ประชาชนต้องเผชิญหน้ากับความสิ้นหวังและอดอยาก
.
“ในวาระ 24 มิถุนาหรือวาระ 88 ปี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถือเป็นโอกาสสำคัญของประชาชนที่จะร่วมกันเรียกร้องให้มีการปักหมุดประชาธิปไตย สร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนกลับไปสู่รากฐานเดิม คือประชาชนทุกคนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ และมีเป้าหมายให้ประชาชนทุกคนมีความมั่นคงปลอดภัย มีความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ และมีสิทธิเสมอภาคกัน” นายอนุสรณ์ กล่าว
.
ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตนเป็นประธานรัฐสภาสมัยเมื่อปี 2540 และได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็อยากให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 ไปเป็นต้นแบบ 88 ปีที่ผ่านมาเรายังไม่มีประชาธิปไตยที่เป็นอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง ทุกวันนี้อำนาจยังเป็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของทุกคนต้องต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญต่อไป
.
นายชำนาญ กล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.กำลังทำงานอย่างต่อเนื่องโดยแบ่งออกเป็น 2 ชุด ได้แก่ ชุดศึกษาเนื้อหาและชุดการรับฟังความคิดเห็นโดยวันนี้จะมีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดที่มาจากข้อเสนอที่ผู้แทนจากหลากหลายองค์กรยื่นเข้ามาเราจะฟังทุกส่วน ยืนยันว่าจะช้าหรือเร็วสุดท้ายก็ต้องมีการแก้ไขอย่างแน่นอน
.
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยในวันนี้เป็นไปอย่างเข้มงวด มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำรัฐสภาและเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.เตาปูน สน.บางโพ สน.พญาไท สน.ดินแดน ทั้งในและนอกเครื่องแบบ คอยสอดส่องดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในกิจกรรมดังกล่าว ก่อนที่กลุ่มมวลชนจะแยกย้ายกันกลับด้วยความเรียบร้อยในเวลา 11.40 น.โดยไม่มีเหตุความรุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น[full-post]
แสดงความคิดเห็น