วันนี้ (30 พ.ค.) ศาสตราจารย์โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ นักวิชาการด้านปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊กตอบคำถาม กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตั้งคำถามและขอให้ประชาชนตอบกลับ ซึ่งล่าสุดกระทรวงมหาดไทยได้เรียกผู้ว่าฯจากทั่วประเทศประชุมเพื่อรับทราบแนวทางการลงพื้นที่สอบถาม รับฟังชาวบ้านแล้ว โดยศาสตราจารย์โสรัจจ์ อธิบายและตอบคำถามแต่ละข้อ มีรายละเอียดดังนี้

คำถามสี่ข้อของประยุทธ์ คือ

1.เลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่


อันนี้เป็นการคาดคะเนอนาคต ซึ่งไม่มีวันที่จะได้คำตอบที่แน่นอนร้อยเปอร์เซนต์อยู่แล้ว แล้วอีกอย่างเราจะเรียกว่าแบบไหนคือ “ธรรมาภิบาล” แค่นี้ก็สรุปได้แล้วว่าคำถามนี้ “ผิดรูปแบบ” คือไม่ใช่คำถามที่ดี หรือคำถามที่แท้จริงที่จะทำให้เราเข้าใจการเมืองหรือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างถ่องแท้

อย่างไรก็ตาม เราก็พอจะตอบได้คร่าวๆว่า หลังจากเลือกตั้งครั้งต่อไปสถานการณ์น่าจะดีขึ้น เนื่องจากจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นของประชาชนจริงๆ แต่ปัญหาก็คือรัฐบาลของประชาชนจะทำงานไม่ได้เต็มที่ เพราะมีวุฒิสภา 5 ปีแรกที่ คสช. แต่งตั้งมีขี่คออยู่ นอกจากวุฒิสภาก็มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ มีศาลรัฐธรรมนูญ ที่คอยขี่คอ เป็นรัฐบาลเหนือรัฐบาลของประชาชน ทำให้รัฐบาลของประชาชนทำอะไรไม่ได้ เราแน่ใจไม่ได้หรอกว่าพวกที่มาขี่คอเหล่านี้จะมี “ธรรมาภิบาล” จริงๆ เกิดพวกนี้บังคับให้รัฐบาลของประชาชนทำผิด โกงชาติบ้านเมือง ซึ่งหากรัฐบาลของประชาชนไม่ทำ ก็จะเขี่ยทิ้งเสีย แล้วเราจะทำอย่างไร แบบนี้คือการขาดธรรมาภิบาลอย่างชัดแจ้ง ไม่ว่าจะนิยามอย่างไร



2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร

คำถามชี้นำครับ รู้ได้ไงว่าจะไม่ได้ ใครหลงตอบไปก็คือโดนคำถามชี้นำหลอกเอา เหมือนกับในตำราที่อัยการถามจำเลยว่า “คุณเลิกตีภรรยาหรือยัง?” ทั้งๆที่จำเลยไม่เคยแตะตัวภรรยาเลยสักนิด แต่หากตอบว่า “ยัง” ก็คือยังตีอยู่ แต่ถ้าตอบว่า “เลิกแล้ว” ก็คือเคยตี ไม่ว่าจะยังไงก็แย่ทั้งคู่ นี่แหละความน่ากลัวของคำถามชี้นำ

จะบอกให้ ธรรมาภิบาลไม่ได้อยู่ทีตัวรัฐบาลครับ อยู่ที่ระบบที่เป็นนามธรรม ก็คือระบบตัวบทกฎหมายที่ใช้บังคับทุกคนแหละ รวมทั้งรัฐบาลด้วย ดังนั้นรัฐบาลต้องทำตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ นั่นแหละธรรมาภิบาลในระดับเบื้องต้น ดังนั้นพูดไม่ได้ว่ารัฐบาลไม่มีธรรมาภิบาล รัฐบาลไม่เกี่ยวกับธรรมาภิบาล ธรรมาภิบาลแปลว่า ปกครองที่ดี ก็คือเป็นการตามหลักการที่ถูกต้อง ถ้ารัฐบาลทำผิดกฎหมาย ก็มีวิธีการจัดการมากมาย

3.การเลือกตั้ง โดยไม่คำนึงถึงเรื่องอนาคตประเทศและเรื่องอื่นๆ นั้น ถูกต้องหรือไม่

คำถามชี้นำอีกแล้ว การเลือกตั้ง เราจะไม่ทำให้มันกลายเป็น “ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ” หรอกครับ เพราะนักการเมืองที่เขาอาสาเข้ามาทำงาน เขาก็รักชาติบ้านเมืองไม่มากไม่น้อยกว่าประชาชนคนอื่นๆ ดังนั้นเลิกถามแบบนี้ ถามอะไรที่สร้างสรรค์ดีกว่า ขอคำถามใหม่ครับ

4.ท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ควรมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่

ยังไงคือ “ไม่เหมาะสม” ไม่เหมาะสมในสายตาใคร เรามีตัวบทกฎหมายครับ มีองค์กรอิสระ มี ปปช. ฯลฯ ฯลฯ แล้วจะเอาอะไรอีก


source :- https://www.matichon.co.th/news/570718


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.