Posted: 30 May 2017 10:01 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กรณีอัตราการว่างงาน เม.ย.60 พุ่ง 4.6 แสนคน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 59 อยู่ที่ 0.97% และเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 57 นั้น กระทรวงแรงงาน ระบุตัวเลขว่างงานเปลี่ยนตามฤดูกาล ชี้ นายจ้างยังต้องการแรงงานพุ่งกว่า 2.19 แสนอัตรา


30 พ.ค. 2560 รายงานข่าวจากกลุ่มงานโฆษกและการข่าว กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า อนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงานกล่าวถึงกรณี ตัวเลขจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่พบว่า อัตราการว่างงานเดือนเมษายน 2560 มีผู้ว่างงาน 4.6 แสนคน หรือคิดเป็น 1.2% สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2559 อยู่ที่ 0.97% และเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งทำให้เกิดการแสดงความเห็นเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นการบริหารงานของรัฐบาลในช่วงระยะเวลา 3 ปี โดยชี้แจงว่า ในความเป็นจริง ตลาดแรงงานมีความต้องแรงงานอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงแรงงานมีข้อมูลการสำรวจความต้องการแรงงาน ตั้งแต่ตุลาคม 2559 - เมษายน 2560 ที่พบว่า นายจ้างหรือสถานประกอบการแจ้งความต้องการแรงงานมายังกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จำนวนทั้งสิ้น 219,896 อัตรา เฉลี่ย 31,414 อัตรา/เดือน โดยมีความต้องการแรงงานมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2560 จำนวน 37,491 อัตรา

โฆษกกระทรวงแรงงาน ระบุว่า กลุ่มอาชีพที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด คือกลุ่มอาชีพงานพื้นฐาน จำนวน 74,981 อัตรา รองลงมาได้แก่ กลุ่มอาชีพพนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด จำนวน 40,540 อัตรา กลุ่มอาชีพเสมียน เจ้าหน้าที่ จำนวน 38,101 อัตรา กลุ่มงานช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 24,638 อัตรา และกลุ่มงานผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักรและผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ จำนวน 13,718 อัตรา และเมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า สถานประกอบการมีความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาระดับ ปวช. – ปวส./อนุปริญญา มากที่สุด 82,022 อัตรา รองลงมาได้แก่ ระดับมัธยมศึกษา 71,759 อัตรา ระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า 36,476 อัตรา และระดับปริญญาตรีและสูงกว่าจำนวน 29,639 อัตรา ซึ่งจะเห็นได้ว่า ยังมีตำแหน่งงานว่างรองรับผู้ที่ต้องการทำงาน พร้อมกันนี้กระทรวงแรงงานยังจัดให้มีบริการฝึกทักษะอาชีพให้แก่กำลังแรงงาน ในสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการอีกเป็นจำนวนมาก โดยจัดบริการให้ทุกกลุ่มทั้งทหารปลดประจำการ คนพิการ ผู้สูงอายุ รวมถึงได้ร่วมกับสถานประกอบการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีและสหกิจศึกษา โดยการฝึกอบรมเพิ่มทักษะให้กับนักเรียน/นักศึกษาในสถานประกอบการก่อนที่จะจบการศึกษาเพื่อให้มีประสบการณ์และความถนัด ในงานนอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการจ้างงานเร่งด่วนในช่วงหน้าแล้งเพื่อรองรับแรงงานในพื้นที่ เช่น การจ้าง ขุดลอกคูคลองในพื้นที่การปรับภูมิทัศน์ในชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรช่วงรอฤดูเก็บเกี่ยวอีกด้วย

อนันต์ชัย กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานและอัตราการว่างงาน รายเดือนตั้งแต่ ปี 2555 – 2560 (เม.ย.) พบว่า จำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานและอัตราการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล โดยในช่วงต้นปี (ปลายไตรมาส 1) เป็นช่วงนอกฤดูการเกษตร และปลายฤดูการท่องเที่ยว อาจเป็นเหตุทำให้จำนวนผู้ประกันตนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยจะเพิ่มสูงสุดช่วงไตรมาสที่ 2 และจะค่อยๆ ลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง สำหรับภาวการณ์จ้างงาน ในตลาดแรงงาน เดือนเมษายน 2560 ตัวเลขในระบบประกันสังคมมีผู้ประกันตน (มาตรา 33) จำนวน 10,523,934 คน มีอัตราการขยายตัว 1.80% (YOY) เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2559 ซึ่งมีผู้ประกันตน จำนวน 10,338,067 คน แสดงให้เห็นว่ามีผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การทำงานเพิ่มขึ้นถึง 185,867 คน

“ทั้งนี้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ดำเนินการวางแผนรับมือ ตลอดจนปรับบทบาทของกระทรวงให้สามารถพัฒนาแรงงานตามความต้องการของตลาดได้ในทุกมิติต่อไป” อนันต์ชัย กล่าว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.