Posted: 28 May 2017 08:44 PM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

บทสัมภาษณ์ 9 นักวิชาการในชุด ‘แผ่นดินจึงดาล’ นี้ ประชาไทตัดทอนมาจากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มในหนังสือ ‘แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ’ เพื่อมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามันจะนำพาเราไปสู่อะไร


ธงชัย วินิจจะกูล จากคณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิล เมดิสัน สหรัฐอเมริกา ผู้เปิดมุมมองทางประวัติศาสตร์ด้วยการนำเสนอแนวคิดราชาชาตินิยม ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เขานำคำถามเรื่องการเปลี่ยนผ่านมาตีแผ่ สาวลึกกลับไปในอดีตสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อรัชกาลที่ 6 เชื่อมโยงกลับสู่ปัจจุบัน

หากจะตอบแบบขมวดปม อาการหมกมุ่นครุ่นคิดต่อการเปลี่ยนรัชกาลที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมไทย นั่นก็เป็นเพราะระบอบประชาธิปไตยของเราไม่สามารถลงหลักหนักแน่นได้เพียงพอที่จะสร้างความต่อเนื่องของระบบ ตรงกันข้าม เรากลับเป็นประชาธิปไตยแบบชี้นำและแอบอิงกับตัวบุคคลมากจนเกินไป ทันทีที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ระบบที่ดำรงอยู่จึงสั่นคลอนและสร้างภาวะความรู้สึกไม่มั่นคงไปทั่วทั้งสังคม

เมื่อเป็นเช่นนี้ ‘พระราชอำนาจนำ’ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สถาบันและเครือข่ายจะต้องหาคำตอบ เพื่อให้ยังสามารถคงอิทธิพลและบทบาทต่อการเมืองไทยได้

ธงชัยวิเคราะห์ว่า จากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจวบจนฉบับล่าสุด อำนาจค่อยๆ พรากจากประชาชนถอยกลับไปสู่มือกษัตริย์ และชัดเจนยิ่งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รัฐธรรมนูญที่ทำให้ความตั้งใจของรัชกาลที่ 7 เกิดเป็นจริง

บารมีของกษัตริย์และความมั่นคงของสถาบัน

รัชกาลที่ 7 เคยกล่าวไว้ว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อิงอยู่กับการมีกษัตริย์ที่ดี แต่ไม่สามารถมีใครรับประกันได้ว่ากษัตริย์จะดีเสมอไป เพราะฉะนั้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เหนือการเมือง เป็นชั้นบนของระบอบการเมือง ระบอบทำนองนี้อิงอยู่กับองค์พระมหากษัตริย์ที่ดีหรือมีบารมีมากเกินไป แต่กลับไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะมีพระมหากษัตริย์ที่ดีหรือมีบารมีเช่นนั้นได้เสมอไป

ระบอบการเมืองซึ่งพยายามสร้างสถาบันที่ไม่อิงกับตัวบุคคลอย่างเช่นระบอบประชาธิปไตยต่างหากจึงมีโอกาสที่จะมีความมั่นคงต่อเนื่องได้เป็นสิบเป็นร้อยปี เพราะไม่อิงกับตัวบุคคลเกินไป ในแง่นี้ความล้มเหลวของปัจจุบัน ส่วนหนึ่งก็มาจากความล้มเหลวที่ระบอบการเมืองของเราไม่สามารถสถาปนาสถาบันซึ่งยั่งยืนและไม่อิงกับบุคคลได้ เพราะระบอบการเมืองของเราอิงกับบุคคลซึ่งไม่ยั่งยืนจนเกินไป

การเปลี่ยนจากรัชกาลที่ 5 ไปรัชกาลที่ 6 เป็นครั้งหนึ่งในไม่กี่ครั้งที่ราบรื่นหากมองในระยะแรก เพราะไม่มีการท้าทาย ทุกอย่างวางไว้แล้ว แต่ถ้ามองการเปลี่ยนบัลลังก์ครั้งนั้นในกรอบ 5 ปี 10 ปีกลับไม่ราบรื่น เพราะสุดท้ายกษัตริย์ที่ขึ้นมาใหม่ไม่เหมาะกับระบอบที่เป็นอยู่ เพราะฉะนั้นพวกเจ้าก็เริ่มทะเลาะเบาะแว้งกัน ถอนตัวไปทีละคนสองคน

แม้ว่าเงาของกษัตริย์ที่มีบารมียิ่งใหญ่พระองค์ก่อนยังอยู่ แต่เงานี้เป็นดาบสองคม ด้านหนึ่งทำให้เกิดฮันนีมูนพีเรียดที่ผู้คนยินดีให้เวลากับกษัตริย์องค์ใหม่ เชื่อว่าองค์ใหม่ก็จะทำให้สถาบันกษัตริย์ยิ่งใหญ่ต่อไปได้ แต่คมที่สองคือ เมื่อช่วงฮันนีมูนพีเรียดผ่านไปแล้ว ผู้คนจะเทียบผลงานองค์ใหม่กับองค์เก่า และถึงวันนั้นทุกคนก็จะบ่น เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่คนใหม่จะขึ้นมาเทียบคนเก่าได้ เพราะความหลงใหลองค์เก่าแบบเกินจริงเกินควรจนเหนือมนุษย์ ในที่สุดความไม่พอใจหรือความขัดแย้งก็จะโผล่ตัวขึ้น

หรือว่าเรายังอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง?

ผมคิดว่าคนทั่วไปก็คิดว่าการสืบราชสมบัติมีผลกระเทือนชีวิตคน จริงไหม นี่แปลว่าอะไร แปลว่าคนไทยจำนวนมากแชร์ความเข้าใจที่ตรงกันอันหนึ่งซึ่งไม่ยอมพูดออกมา หรือหลอกตัวเอง หรือโกหกตัวเอง ทั้งที่คิดอย่างนั้น รู้อย่างนั้น แต่กลับพูดออกมาตรงข้ามด้วยซ้ำไปว่ากษัตริย์ไม่เกี่ยวกับการเมืองแค่มีความสำคัญกับชีวิต แต่ที่ทุกคนห่วงกัน ตั้งคำถามทำนองนี้กัน แสดงว่าการสืบราชสมบัติ การเปลี่ยนบัลลังก์ มีผลต่อชีวิต สังคม การเมือง มากกว่าที่คนไทยจะยอมรับอย่างตรงไปตรงมา

ผมต้องการจะถามกลับไปที่คนอ่านทั้งหลายว่า กรุณาตั้งคำถามนี้กับตัวเองและตอบด้วยตัวเองก่อนว่า คิดว่ากษัตริย์มีความสำคัญ มีบทบาทสำคัญอย่างไรกับชีวิตของประเทศ เพราะถ้าสำคัญน้อย บทบาทน้อย ก็ไม่ต้องปรับมาก เพราะไม่เป็นผลกับเราเท่าไร แต่ที่ทุกคนห่วงกันก็เพราะว่ามีผลมาก ดังนั้น กรุณาตอบสิว่ามีผลอย่างไร เพราะอะไรถึงมีผลกระทบอย่างนั้น

คำถามที่ต้องถามต่อมาก็คือ แล้วประเทศไทยอยู่ในระบอบหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาตั้งนานแล้วไม่ใช่หรือ เราอยู่ในระบอบสังคมการเมืองประเภทไหนกัน กษัตริย์มีบทบาทอย่างไรจึงทำให้ความเป็นไปของกษัตริย์มีผลต่อชีวิตของสังคมการเมืองมากขนาดนั้น หรือว่าเรายังอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง

เครือข่าย

กษัตริย์ ในความหมายด้านที่เป็นสถาบันมีลักษณะอย่างหนึ่งที่สำคัญ ที่มีคนเรียกว่าเป็นเครือข่าย (Network) เวลาพูดถึงกษัตริย์กับบทบาททางการเมือง เราใช้ในความหมายกว้างไปกว่าตัวบุคคลหรือองค์พระมหากษัตริย์ เพราะหมายถึงคนตั้งเยอะแยะที่มีผลประโยชน์ มีส่วนได้ส่วนเสีย มีอุดมการณ์ความเชื่อผูกพันอยู่กับการมีกษัตริย์ที่เข้มแข็ง คนเหล่านั้น เครือข่ายเหล่านั้นจำนวนมาก ไม่ใช่เชื้อสายเจ้าด้วยซ้ำไป คือเป็นคนธรรมดาเหมือนกับพวกเรานี่แหละ แต่ด้วยอุดมการณ์ ด้วยความเชื่อ ด้วยเจตนาดี เจตนาร้าย ความหลงใหลคลั่งไคล้และผลประโยชน์เชิงวัตถุ อะไรก็ตามแต่ ทำให้พวกเขาต้องการกษัตริย์ที่เข้มแข็งและมีส่วนในระบบการเมือง

ถ้าลองอธิบายย้อนทางกลับก็ได้ดังนี้ ถ้ากษัตริย์ไม่มีบารมีพอ ไม่มีพฤติกรรม กิจกรรม บุคลิกต่างๆ ที่ทำให้คนรู้สึกศรัทธาต่อบารมีของพระองค์พอ พระราชอำนาจนำไม่มี ไม่มีจุดยึดโยงที่จะสร้างได้ เครือข่ายกษัตริย์ก็ไม่มีฐานใดๆ ที่จะสร้างความชอบธรรมที่จะทำให้อำนาจทางการเมืองของฝ่ายเจ้าเติบโตขึ้นมา มองแบบนี้ก็จะโยงกลับไปที่ตัวบุคคลอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เข้าใจว่าทำไมการเปลี่ยนรัชกาลมีความสำคัญขึ้นมา ไม่ใช่เพียงเพราะพฤติกรรมส่วนบุคคลโดดๆ แต่เพราะพฤติกรรมส่วนบุคคลเกี่ยวโยงกับระบอบการเมือง สถาบัน ฯลฯ กล่าวโดยสรุปก็คือ การเปลี่ยนรัชกาลมีความสำคัญคอขาดบาดตายไม่ใช่เพราะการเปลี่ยนบุคคลถ้าหากการเปลี่ยนบุคคลไม่อยู่ในบริบทของระบอบหรือเงื่อนไขอย่างของไทยในปัจจุบัน

กษัตริย์และรัฐธรรมนูญ

ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่เกิดขึ้น อยู่ในสภาพที่ประกาศเปิดเผยโจ่งแจ้งว่า นี่คือระบอบปกครองในทำนองแบบที่รัชกาลที่ 7 ต้องการ แต่คณะราษฎรไม่ยอม เราจะเรียกระบอบแบบนี้ว่าอะไรดี (หัวเราะ) 80 กว่าปีผ่านไปจากสมัยรัชกาลที่ 7 ก็ประสบความสำเร็จในที่สุด

กลับไปที่ประเด็นเดิม ระบอบประมาณนี้อิงอยู่กับการที่กษัตริย์ต้องมีบารมีสูง รัฐธรรมนูญนี้อิงกษัตริย์มากบนฐานความเชื่อว่ากษัตริย์ต้องดี แต่ไม่มีใครมีการันตีได้ มันจึงขัดแย้งในตัวมันเอง ความขัดแย้งในตัวเองอันนี้จะปะทุหรือไม่ ปะทุแน่ สักวันหนึ่ง แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าเมื่อไร


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.