Posted: 28 May 2017 05:22 AM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ถกเครียด 4 ชม.รวด ปม ‘ป้อมมหากาฬ’ แจงยิบคุณค่า 5 ด้าน กทม.เห็นชอบหลักการ หวังจบสัปดาห์หน้า

28 พ.ค. 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่ห้องประชุมชั้น 6 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน มีการประชุมเสนอหลักฐานการระบุคุณค่าพื้นที่ป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพฯ โดยคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, ตัวแทนชุมชนและนักวิชาการสาขาต่างๆ และทหารจากกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ รวมกว่า 20 ราย อาทิ นายยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกทม., พ.ท.โชคดี อัมพรดิษฐ์ ผู้บังคับการกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์, นายธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ, นางอรศรี ศิลปี ประธานประชาคมบางลำพู, นางพิมศิริ สุวรรณาคร ชุมชนบ้านพานถม, นายศานนท์ หวังสร้างบุญ กลุ่มมหากาฬโมเดล, นางสาวอินทิรา วิทยสมบูรณ์ นักกิจกรรมเพื่อสังคม, ผศ.สุพิชชา โตวิวิชญ์ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกเพื่อสังคมและเมือง สมาคมสถาปนิกสยามฯ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมในช่วงเริ่มต้นค่อนข้างตึงเครียด โดยมีการย้อนปรับแก้รายงานการประชุมครั้งที่แล้วและทำความเข้าใจร่วมกันในกรอบการประเมินนานถึง 2 ชม. ก่อนที่จะเข้าสู่การนำเสนอคุณค่า โดยเฉพาะประเด็นคำว่า ‘บ้าน’ และ ‘พื้นที่’ ซึ่งในการประชุมครั้งก่อน มีการตกลงในที่ประชุมว่าจะใช้คำว่าพื้นที่ ไม่ใช่บ้าน มิฉะนั้นจะวนเข้าสู่ความคิดเรื่อง รื้อ หรือไม่รื้อเท่านั้น แต่ในการหารือในวันนี้ ทหารและกทม. ขอให้เน้นเรื่องบ้าน แตกต่างจากรายงานการประชุมในวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากในการประชุมครั้งก่อน พ.ท.โชคดี อัมพรดิษฐ์ ผู้บังคับการกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ไม่ได้อยู่จนจบเนื่องจากติดภารกิจ ส่วนนายยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่ได้ร่วมประชุมเนื่องจากติดภารกิจเช่นกัน จึงส่งผู้ช่วยของตนมาแทน เมื่อได้รับทราบรายงานการประชุมครั้งก่อน ทั้ง 2 รายมองว่าควรมีการแก้ไข

นายยุทธพันธุ์กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายมาเจรจาคุณค่าของ ‘บ้าน’ และการอนุรักษ์ ขอให้หัวข้อเรื่องตัวบ้านเป็นหัวใจในการดำเนินเรื่องนี้ ทุกฝ่ายต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าบ้านมีคุณค่าอย่างไร แต่ถ้าจะเจรจาว่า ‘พื้นที่’ สำคัญอย่างไร และอะไรควรอยู่ในพื้นที่บ้างนั้น ไม่ใช่ภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ตนไม่ใช่คนแก้ปัญหาตามพจนานุกรม แต่ดูตามความเป็นจริง ยืนยันไม่ใช่คนคิดแยกส่วน พูดกันไม่ใช่พูดเอามันส์ ขณะนี้สังคมต้องการคำอธิบาย เจ้านายก็ถามทุกวัน สำหรับเรื่องคุณค่าจะโอ้โลมปฏิโลมอย่างไรก็ขอให้ใส่รายละเอียดเข้ามา ตนแฟร์ที่สุดแล้วในทรรศนะตัวเอง

นายยุทธพันธุ์ยังกล่าวด้วยว่า ตนสู้กับนักเลงมาเยอะ นักการเมืองก็สู้มาแล้ว รู้หรือไม่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่มานั่งประชุมอยู่นี้ ก็เป็นคนสู้มาเป็นสิบปี เรื่องระเบิดก็เดินตรวจจนขาฉีก

ว่าที่ร้อยตรีสุทัศน์ กาเซ็ม หัวหน้ากองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา กล่าวว่า ตนไม่ได้มีความรู้มากกว่านักวิชาการ แต่บางอย่างมีคำถามว่าใช่อย่างที่เสนอหรือไม่ เช่น ประเด็นที่ ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ระบุว่า ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานมานานอย่างน้อยพันปี ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการกล่าวเรื่องภาพรวมการตั้งถิ่นฐานมากกว่า ไม่ใช่ว่าชุมชนป้อมมหากาฬ อยู่ที่นี่มานานเช่นนั้น บ้าน 33 หลังที่เหลืออยู่ในชุมชน เป็นบ้านที่ทำสัญญาโดยชอบด้วยกฏหมาย 29 หลัง บุกรุก 4 หลัง ชาวบ้านแต่ละคนมีที่มาชัดเจน บ่งชี้ว่า ไม่ได้อยู่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ความเกี่ยวพันกับเจ้าของโฉนดในหลายหลังไม่ได้เกี่ยวโยงกัน การจะมาปักหลักโดยบอกว่าอยู่อาศัยมานาน จะเป็นไปได้ขนาดนั้นหรือไม่

จากนั้น มีการพักรับประทานอาหารกลางวันบนโต๊ะที่ใช้ในการประชุมโดยใช้เวลาไม่ถึง 1 ชม. ในระหว่างนี้ นายยุทธพันธุ์ยังพยายามพูดคุยสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน

ต่อมาในภาคบ่าย กลุ่มนักวิชาการได้นำเสนอคุณค่าทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านประวัติศาสตร์, ด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมและผังเมือง, ด้านสังคมและวิถีชีวิต, ด้านโบราณคดี และด้านวิชาการ โดยมีการแจกเอกสารที่ประกอบด้วยข้อมูล แผนผัง ภาพถ่าย ภาพลายเส้น รวมถึงภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งรศ.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เสนอให้ใช้เอกสารชุดดังกล่าวเป็นแนวทางในการพิจารณา

ผศ.สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต ในฐานะอุปนายกฝ่ายกิจกรรมเมือง และนโยบายสาธารณะ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า กลุ่มอาคารในชุมชนป้อมมหากาฬเป็นมรดกสถาปัตยกรรมไม้ที่แบ่งได้ 3 ยุคหลัก คือ ยุคก่อน ร.5 ซึ่งเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง, ยุค ร.5-ร.7 ซึ่งได้รับอิทธิพลตะวันตก เป็นเรือนปั้นหยา, ยุค ร.8-ร.9 ซึ่งเป็นยุคอุตสาหกรรม ครึ่งไม้ ครึ่งปูน มีส่วนประกอบของเหล็ก ไม่ว่าจะเป็นยุคใด ก็มีคุณค่าทั้งหมด ขอเสนอให้เก็บทุกหลัง จะยินดีมาก

“จะหากลุ่มอาคารบ้านไม้ที่อยู่อาศัยสืบเนื่องแบบนี้ค่อนข้างยาก ถือเป็นประโยชน์มากในเชิงวิชาการ เราสามารถอ่านอะไรได้อีกมากในบ้าน 1 หลัง” ผศ.สุดจิตกล่าว

ผศ.ดร.วิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในประเด็นคุณค่าเชิงผังเมืองว่า ชุมชนป้อมมหากาฬมีความเป็นแบบแผนการตั้งถิ่นฐานของชุมชนดั้งเดิมยุคต้นรัตนโกสินทร์ กล่าวคือ มีการแบ่งกลุ่มพื้นที่การใช้งานเป็นส่วนต่างๆ เช่น วัด วัง หน่วยงานราชการ ป้อมฯลฯ เป็นชุมชนเดียวที่เหลือยู่บริเวณชานกำแพงพระนครในพื้นที่กรุงเทพชั้นใน นอกจากนี้ ชาวบ้านยังมีความทรงจำ และการรับรู้ชื่อสถานที่ซึ่งเชื่อมโยงกิจกรรมในอดีต เช่น ตรอกถ่าน, ตรอกนกเขา, ตรอกพระยาเพชร เป็นต้น จึงขอเสนอให้เก็บองค์ประกอบอื่นๆที่สัมพันธ์กับตัวบ้านด้วย เนื่องจากจะช่วยส่งเสริมคุณค่าของบ้าน

“ชุมชนป้อมมหากาฬทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับป้อม ตัวเมือง และกำแพงว่าเป็นอย่างไร ชุมชนอื่นไม่เหลือแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการวางบ้านตามแนวทางเดินหรือตรอก ซึ่งชุมชนอื่นไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เท่านี้” ผศ.ดร.วิมลรัตน์กล่าว

นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง กล่าวว่าชุมชนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงยุทธศาสตร์โบราณ ซึ่งจดหมายเหตุกรุงรัตนโกสินทร์ระบุถึงการเลือกชัยภูมิที่ตั้งว่าส่วนสำคัญที่สุดคือส่วนที่อยู่ชั้นใน ส่วนพื้นที่รอบนอกมีส่วนในการช่วยป้องกันพระนคร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมในครั้งนี้ใช้เวลายาวนานกว่า 4 ชั่วโมง โดยสิ้นสุดในเวลาประมาณ 14.30 น. ซึ่งฝ่าย กทม.กล่าวสรุปว่ามีความเห็นชอบในกรอบที่นักวิชาการเสนอ ขอให้เกิดผลที่เป็นจริง นัดหมายการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 2-3 มิ.ย. โดยคาดหวังให้ได้ข้อสรุปเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ต่อไป

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.