Posted: 27 May 2017 11:13 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สัมภาษณ์ กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช ผู้ศึกษาการก่อการร้ายถึงเทรนด์ที่เปลี่ยนไป ชี้ทุกวันนี้มุ่งสังหารมากขึ้น ยิ่งคนกลัวยิ่งชอบ ขณะที่ประชาชน รัฐ ตอบโต้ผิดกลับไปเข้าทางผู้ก่อการ มองกลุ่มรัฐอิสลามเข้าใจสังคมดิจิตัลขยันออกมาแสดงความรับผิดชอบ รับมือก่อการร้ายแบบภัยสงครามไม่ได้ มีแต่จะตายสิบเกิดแสน แนะรัฐไทยต้องเริ่มเจรจากลุ่มก่อความไม่สงบแล้ว ชี้หลังส่งทหารไป 13 ปีมีแต่แย่ลง

สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์ที่เสียงระเบิดจากเหตุก่อการร้ายขึ้นถี่เหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ระเบิดที่แมนเชสเตอร์ อารีนา ในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ กลุ่มติดอาวุธอะบูไซยาฟ และ Maute ก่อเหตุยิงปะทะกับกองกำลังรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่เมืองมาราวิซิตี้ บนเกาะมินดาเนา รวมถึงเหตุระเบิดพลีชีพในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ระเบิดบิ๊กซี จังหวัดปัตตานี แม้แต่ในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในกรุงเทพฯ ยังไม่นับเหตุก่อการร้ายในเมืองหลวงของหลายประเทศตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา

โลกใบเดิมของเรากำลังหมุนไปข้างหน้า การก่อการร้ายก็เช่นกัน หากเราดูจากหน้าประวัติศาสตร์จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบ เป้าหมาย และวัฒนธรรมในการก่อวินาศกรรม ทว่า ในปัจจุบัน ความถี่ที่เพิ่มขึ้นของการก่อการร้ายลักษณะคล้ายๆกัน การขึ้นมาของกลุ่มรัฐอิสลามและวัฒนธรรมการขยันออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างรวดเร็ว กำลังสื่อถึง “เทรนด์” ที่เปลี่ยนไปในวงการการก่อการร้ายอย่างไร

ประชาไท สัมภาษณ์ กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช ผู้เขียนหนังสือ “THOU SHALL FEAR: เจ้าจงตื่นกลัว การก่อการร้าย ความรุนแรง และการครอบงำ” ถึงลักษณะที่เปลี่ยนไปของการก่อการร้าย ทำไมต้องเลือกโรงพยาบาล โรงมหรสพ อิทธิพลของกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ในลักษณะของพ่อค้าทางความคิดและวิธีการที่ทำให้กลุ่มก่อการร้ายดังกล่าวฮอตฮิตติดตลาดโลกสมัยใหม่ที่ข้อมูลเคลื่อนที่รวดเร็วผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ข้อได้เปรียบของกลยุทธของกลุ่มก่อการร้าย ข้อเสียเปรียบของรัฐที่ไม่เคยเข้าใจวิธีการจัดการกับปัญหาการก่อการร้ายสมัยใหม่จนทำให้จับไม่ได้ ไล่ไม่ทัน และกระบวนทัศน์ที่รัฐและสังคมไทยควรปรับเพื่ออยู่กับการก่อการร้ายให้ได้

000000

ประชาไท: ลักษณะการก่อการร้ายในสมัยนี้ต่างจากสมัยก่อนอย่างไร


กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช

กฤดิกร: การก่อการร้ายแบ่งยุคหลักๆ เป็นสองยุคอยู่แล้ว

แบบที่หนึ่งคือแบบเก่า โดยมากมักจะมีความชอบธรรมในการก่อเหตุบ้างในสายตาของคนหลายคน เพราะเป็นความรุนแรงที่ไม่มุ่งเน้นให้เกิดความตายขึ้น ถ้ามีคนตายก็ถือว่าตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่ไม่ได้มุ่งเน้นให้ตาย มักจะเกิดขึ้นจากการเรียกร้องการถูกกดขี่บางประการ เช่นปาเลสไตน์ที่รบกับอิสราเอลเพื่อทวงดินแดนที่ถูกแย่งไป หรือเนลสัน แมนเดลา แห่งแอฟริกาใต้ ก็เคยเป็นผู้ก่อการร้ายของขบวนการปลดแอกคนผิวดำในแอฟริกา

แต่ตั้งแต่หลังสงครามเย็นเป็นต้นมามีสิ่งที่เรียกว่าการก่อการร้ายแบบใหม่ ที่มุ่งเป้าให้เกิดเหยื่อจำนวนมาก (Massive Casualty) มีความพยายามที่จะใช้วิธีการที่ไร้มนุษยธรรมมากขึ้น เพื่อสร้างหรือปลูกฝังความกลัวให้เกิดในสังคม ตรงนี้ผมคิดว่าคือสิ่งที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ เช่นกรณีเหตุการณ์ระเบิดในโรงพยาบาลพระมงกุฎ สิ่งที่น่าสนใจคือการเลือกระเบิดโรงพยาบาล ผมไม่ขอพูดถึงการส่งสาส์นทางการเมือง เพราะมันบ่งชี้ชัดเจนมาก แต่การเลือกพื้นที่โรงพยาบาลมันมีความน่าสนใจที่สะท้อนการรับรู้ที่ไม่ตรงประเด็นของฝ่ายความมั่นคงและสังคมไทย

พอมีเหตุก่อการร้ายขึ้นแล้วฝ่ายความมั่นคงออกมาบอกว่า ทำอย่างนี้ได้อย่างไร พื้นที่โรงพยาบาลเนี่ย แม้แต่สงครามยังต้องละเว้นเลย สิ่งนี้บอกว่าสังคมหรือหน่วยความมั่นคงเราไม่ใส่ใจรูปแบบภัยก่อการร้ายปัจจุบันที่กำลังเผชิญอยู่ว่ามีตรรกะหรือวิธีคิดแบบไหน

เหตุผลที่โรงพยาบาลเป็นพื้นที่ต้องห้าม มันเกิดจากข้อตกลงที่เกิดขึ้นสำหรับการสงคราม เป็นเงื่อนไขที่รัฐสมัยใหม่คุยกัน หน่วยงานกาชาดสากลก็มีกติกาว่า ไม่ว่าฝ่ายใดที่บาดเจ็บก็พร้อมจะรักษาให้หมด การระเบิดโรงพยาบาลจึงเป็นข้อห้ามเพราะมันส่งผลเสียต่อทั้งสองฝ่าย นี่คือวิธีคิดเรื่องสงครามบนเงื่อนไขรัฐสมัยใหม่ แต่ผู้ก่อการร้ายไม่ได้ใส่ใจ ในทางตรงกันข้าม เขาพยายามทำลายแกนกลางของตรรกะ วิธีคิดสมัยใหม่ เพราะต้องการสร้างและกระจายความกลัว

การก่อเหตุในพื้นที่ที่สร้างความกลัวได้มากกว่าเป็นเป้าหมายของเขาอยู่แล้ว ผมขอยกตัวอย่าง ในสังคมสมัยใหม่จะมีพื้นที่ยกเว้นหรือสิ่งต้องห้าม การทำลายพื้นที่ยกเว้น พื้นที่ต้องห้ามจะทำให้เรากลัวมากขึ้น หรือเรารู้สึกกับมันรุนแรงขึ้น สมมติว่า มีคนที่ไปข่มขืนคนที่อายุ 35 ปี กับข่มขืนเด็กอายุ 12 ปี พฤติกรรมเดียวกันแต่เราจะรู้สึกว่าการข่มขืนเด็กอายุ 12 ปีเป็นการกระทำที่รุนแรงกว่า เพราะความเป็นเด็กในคติของสมัยใหม่เป็นพื้นทีต้องห้าม ควรได้รับการปกป้องจากสังคม ฉะนั้นการทำร้ายหรือข่มขืนเด็กจึงเป็นการสร้างความรู้สึกที่รุนแรงกว่าการทำกับผู้ใหญ่

การก่อการร้ายก็เช่นกัน หากใช้ทรัพยากร ขีดความสามารถเท่ากัน การเลือกที่จะระเบิดโรงพยาบาล หรือค่ายทหารก็จะทำให้ประชากรมีความรู้สึกที่แตกต่างกันไป เพราะในแง่หนึ่ง เรารู้สึกว่าค่ายทหารเป็นจุดซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ มีการเผื่อใจไว้ระดับหนึ่ง เพราะเป็นพื้นที่ที่มีเอี่ยวโดยตรงกับความรุนแรง ฉะนั้นแม้เราไม่อยากให้เกิดแต่เราก็จะทำใจได้มากกว่า กลัวน้อยกว่า แต่ถ้ามันเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างโรงพยาบาล โรงเรียน โรงละคร โรงหนัง เราไม่คิดว่ามันจะเกิดเพราะมันเป็นพื้นที่ต้องห้าม พื้นที่ยกเว้นในตรรกะวิธีคิดแบบรัฐสมัยใหม่ เวลามันเกิดขึ้นเราจะรู้สึกทันทีว่า มันเกิดขึ้นได้ทุกที่ จะอยู่ที่ไหนก็ไม่ปลอดภัยอีกแล้ว ฉะนั้น เวลาฝ่ายความมั่นคงไปประณามว่าทำกับโรงพยาบาลได้ไง มันเป็นการอธิบายที่ไม่เข้าใจตรรกะวิธีคิดของการก่อการร้ายในยุคนี้เลย

แล้วการก่อการร้ายแบบนี้มันมีประสิทธิภาพจริงหรือ

เราต้องเข้าใจว่าผู้ก่อเหตุไม่ได้แคร์สังคม ไม่มีใครโง่ขนาดที่จะไม่รู้ว่าไประเบิดโรงละคร โรงพยาบาลแล้วจะไม่โดนประณาม แต่เราด่า เราประณามไปเขาก็ไม่แยแส ผมไม่ได้บอกว่าเราไม่ควรประณามนะ ประณามไปเถอะ ผมก็พร้อมจะสนับสนุนการประณามด้วย เพียงแต่มันไม่ได้นำไปสู่ผลในทางปฏิบัติใดๆ ตรงกันข้าม การประณามหรือการกดดันจะนำไปสู่ผลประโยชน์ถัดไปที่กลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่มต้องการ เราต้องเข้าใจว่ารัฐสมัยใหม่คือการทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความมั่นคงกับประชากร ก่อนจะมีรัฐสมัยใหม่เราถามหาความมั่นคงจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ช่วยคุ้มครองให้เราเดินทางปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายหรือโรคภัยไข้เจ็บ แต่พอเกิดรัฐสมัยใหม่ขึ้น การถามหาความคุ้มครองเปลี่ยนไปจากพระเจ้าเป็นรัฐ เราต้องการให้มีระบบตำรวจ กฎหมายที่เข้มแข็งในการป้องกันโจรผู้ร้าย เราต้องการระบบสาธารณสุขที่ดีในการรักษาเราจากโรคภัยไข้เจ็บ พูดง่ายๆ รัฐกลายเป็นผู้รักษาความมั่นคง ช่วยรักษาชีวิตของเราให้ได้นานที่สุด

ดังนั้น หากเกิดการก่อการร้าย ในพื้นที่ที่สร้างความกลัวได้มากที่สุด มันทำให้สังคมเกิดแรงกดดันกับรัฐ หรือผู้ปกครองของตนเองที่มีหน้าที่ต้องจัดหาความมั่นคงให้กับเขาตามพันธสัญญา ให้มีการตอบโต้อย่างเกรี้ยวกราดและรุนแรง แต่ต้องเข้าใจว่า มาตรการรุนแรงของรัฐทั้งการประณาม หรือส่งกำลังไปฆ่ามันไม่แก้ปัญหา ในทางตรงข้ามมันเป็นการเพิ่มปริมาณผู้ก่อการร้าย เราต้องนึกภาพว่า คนที่เอาระเบิดมาพันตัว มาระเบิดพลีชีพเขาไม่ได้กลัวความตาย เขาพร้อมจะสละชีวิตของเขาเพื่อความเชื่อบางประการที่เขาเชื่อว่ามีคุณค่าเหนือกว่าชีวิตเขาตั้งแต่ต้น แล้วคุณเอาปืนไปยิงเขาแล้วไง ก็เขาไม่ได้กลัวตายตั้งแต่ต้น ในทางตรงกันข้าม คนที่ก่อเหตุก่อการร้ายส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าตนเป็นฝ่ายถูกกดดัน และเขาต้องการเรียกร้องออกมา แต่เขามองไม่เห็นวิธีที่จะเรียกร้องกับรัฐนอกจากการใช้ความรุนแรง ถ้ารัฐมีมาตรการตอบโต้ที่เกรี้ยวกราดจากแรงกดดันของสังคม คุณต้องเข้าใจว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะสังหารหรือปราบปรามผู้ก่อการร้ายได้ถูกต้องทุกคน มันต้องมีลูกหลง มีคนซวยจากการปราบปราม ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ หลังเหตุการณ์ตึกเวิลด์ เทรด เซนเตอร์ ถล่ม ในปี 2544 สหรัฐฯ ส่งกองทัพไปทำสงครามกับผู้ก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน ในอิรักและที่อื่นๆ มีคนเสียชีวิตราว 3 แสนถึง 2 ล้านคน ไม่มีทางที่คนจำนวนเท่านั้นจะเป็นผู้ก่อการร้ายทั้งหมด คือมีคนที่ซวย เท่ากับมีคนที่ได้รับการกดขี่จากนโยบายของรัฐตะวันตกมากขึ้น เมื่อมีผู้ถูกกดขี่มากขึ้น หมายความว่า แนวร่วมของผู้ก่อเหตุจะขยายตัวมากขึ้น นั่นคือสิ่งหนึ่งที่เขาคาดหวังได้จากการสร้างความกลัว และมันสำเร็จได้ เขาไม่ได้แคร์สังคมที่จะประณามหรือก่นด่าเขาอยู่แล้ว เพราะไม่ว่าอย่างไรเขาก็โดนก่นด่า แต่สิ่งที่ได้มาคือนโยบายปราบปรามของรัฐที่เพิ่มแนวร่วมให้เขาได้ สอง มันเป็นการส่งข้อความบางประการว่า เรามีข้อเรียกร้อง เราไม่พอใจกับนโยบายของรัฐ เราไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์ระเบิดในโรงพยาบาลพระมงกุฏอยู่แล้ว เราไม่รู้ว่าผู้ก่อเหตุเป็นใคร แต่อย่างน้อยสาส์นที่ต้องการจะส่งนั้นชัดเจน ว่าเขาไม่พอใจรัฐบาล หรือไม่พอใจนโยบายความมั่นคงของรัฐบาลนี้ เพราะเขาก่อเหตุในวันครบรอบสามปีรัฐประหาร ในโรงพยาบาลทหาร และในห้องวงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นนามสกุลของคนที่กุมบังเหียนเรื่องความมั่นคงสูงสุดของไทย และในห้องนั้นยังมีทหารสัญญาบัตรทั้งที่เกษียณและยังไม่เกษียณ นี่คือความสำเร็จอย่างหนึ่งว่า อย่างน้อยๆเขาส่งสาส์นให้สังคมว่ามีคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเหล่านี้อยู่

ขยับไปในระดับนานาชาติ กลุ่มรัฐอิสลาม (IS) เข้ามามีบทบาทในวงการก่อการร้ายมากขึ้น เหตุก่อการร้ายก็ถี่ขึ้น สะท้อนอะไร

ผมคิดว่ามันสะท้อนสิ่งสำคัญสองสามอย่าง

ประการแรก สังคมไทยต้องโทษสายตาตัวเองที่เพิ่งมารู้ว่าการก่อการร้ายมันถี่ขึ้น ภัยก่อการร้ายไม่ใช่ภัยที่เพิ่งเกิด มันเกิดในบ้านเราถี่พอสมควร แต่พอมาเกิดใกล้ตัว เกิดที่กรุงเทพฯ แล้วเราก็รู้ตัว แล้วเราก็เริ่มไปมองเห็นปรากฏการณ์รอบตัวเราขึ้นมาบ้าง ทั้งที่ความถี่มันมีมา 2-3 ปีแล้ว

ประการที่สอง วัฒนธรรมการขยันเคลมของ IS ส่วนหนึ่งคือเพราะเขาเข้าใจสังคมดิจิตัลสมัยใหม่มาก ดังนั้นเขาเข้าใจเรามากกว่าเข้าใจเขาแน่ๆ สังคมในยุคดิจิตัลเป็นสังคมที่เรารับรู้แบบกระโดดไปมา เราไม่ได้ฟังเพลงเป็นอัลบัมเต็มมานานแล้ว การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เราไม่มีความอดทนเสพอะไรยาวๆ เพลงเลยออกมาเป็นซิงเกิล มีวัฒนธรรมของ Youtube หรือแม้แต่การเลื่อนฟีดเฟซบุคอ่านสเตตัสสั้นๆ เราไม่ได้สนใจความต่อเนื่องของเวลาอีกต่อไป สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนการรับรู้ของสังคมไป เราไม่ต้องการรอคำตอบนานจนเกินไป เราต้องการคำตอบที่มาทันที ผมคิดว่า IS เข้าใจลักษณะสังคมแบบนี้ดี เราต้องยอมรับว่า IS เป็นกลุ่มที่ใช้สื่อได้อย่างชำนาญมาก การเคลมเร็วของ IS ไมว่าบางครั้งจะเป็นเหตุที่เกี่ยวข้องกับเขาน้อยมากเพียงใดก็ตาม แต่ก็เคลมเพื่อเป็นการอุดช่องเพราะคนในสังคมต้องการรู้คำตอบทันที การเคลมจึงตอบโจทย์ยุคนี้ และทำให้ชื่อของเขาติดตลาด

ประการสุด คือคำถามที่ว่าทำไมถึงถี่ขึ้น มันบ่งบอกว่านโยบายการจัดการการก่อการร้ายในปัจจุบันมันไม่สำเร็จ เรามีแนวทางจัดการการก่อการร้ายเหมือนจัดการกับภัยสงครามแบบนี้ตั้งแต่สมัย ปธน. เรแกน มาเด่นชัดสุดตอนประธานาธิบดีบุชผู้ลูกกับการประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เวลาคุณไปก่อสงครามมันไม่ได้ฆ่าผู้ก่อการร้ายอย่างเดียวแต่มันเพิ่มจำนวนผู้ถูกกดขี่มากขึ้นด้วย มันทำให้ภัยเล็กๆ ขยายตัวใหญ่ขึ้น ภาษาวิชาการคือคำทำนายที่เติมเต็มตัวเอง (Self-fulfilling prophecy) คือ เดิมทีเราทำนาย หรือมองไปเองว่าภัยก่อการร้ายเป็นภัยที่ใหญ่ ทั้งที่ของจริงมันเล็กนิดเดียว ทำให้เราเล่นใหญ่เกินจริง สุดท้ายภัยมันขยายใหญ่โตอย่างที่เราคิดเอาไว้จริงๆ นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เพราะเราไม่เข้าใจธรรมชาติเขา เขาไม่กลัวความตายเราก็ไปมอบความตายให้เขา ฉะนั้น เราต้องเข้าใจว่า ปัจจุบัน ฝ่ายความมั่นคงทั่วโลกพยายามเคลมว่าตนเข้าใจภัยก่อการร้ายนั้น ที่จริงไม่ใช่เลย สิ่งที่ทำให้ผู้ก่อการร้ายสู้กับรัฐได้ ทั้งที่รัฐมีทรัพยากร งบประมาณ อาวุุธที่เหนือกว่า เพราะเขาต่อสู้ด้วยเงื่อนไขเดียวคือ เขาเข้าใจรัฐมากกว่าที่รัฐเข้าใจพวกเขา เขาเข้าใจว่าสังคมสมัยใหม่กลัวอะไร มีจุดอ่อนที่ไหน เรากลัวความตาย เรากลัวระเบิด ในขณะที่เราไม่เคยเข้าใจจริงๆเลยว่าเขากลัวอะไร จุดอ่อนคืออะไร

ทำไมแนวร่วม IS ถึงมีจำนวนมาก

เวลาเราพูดเรื่องแนวร่วม มันต้องพูดในสองแง่ อย่างแรก เรารู้สึกว่า การก่อการร้ายในยุโรป มันมีผู้ก่อการร้ายที่เกิดและโตในที่เกิดเหตุ หรือ Homegrown terroristมากขึ้นเหลือเกิน อันนี้เป็นปัญหาการมองของเราเองด้วย เพราะเวลาเรามองว่ามันเยอะขึ้น คือเรามองการเกิดขึ้นของผู้ก่อการร้ายในตะวันตก ทั้งที่จริงแล้วกำลังหลักอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่เรายังไม่เห็น

มันมีคำอธิบายในเรื่องการเกิดขึ้นของ Homegrown terrorist ที่สมาทานแนวคิดของ IS ว่า กลุ่มคนเหล่านี้มักเป็นสมาชิกครอบครัวรุ่นที่ 2 หรือ 3 อย่างเหตุการณ์ที่แมนเชสเตอร์ ก็เป็นรุ่นที่ 2 พ่อเขาอพยพมาจากลิเบีย ข้อสังเกตทางวิชาการมีอยู่ว่า คนรุ่นที่ 1 เป็นคนที่อพยพหนีความแร้นแค้น ภัยคุกคาม จากพื้นที่ที่เขาอยู่มาสู่โลกตะวันตก แม้ว่าในโลกตะวันตก เขาจะรู้สึกว่าไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับประชากรคนอื่นๆหรือกลุ่มประชากรหลัก แต่คนรุ่นแรกก็รู้สึกว่ามันยังดีกว่าสภาพเดิมที่ฉันจากมา เขาจึงมีแนวโน้มที่จะมีความอดทนต่อการถูกกดขี่ แต่คนรุ่นที่ 2 และ 3 ที่เกิดและโตในสภาพแวดล้อมใหม่ ที่ยังคงได้รับการเลือกปฏิบัติ แต่เขาไม่มีความอดทนอย่างที่คนรุ่นแรกมีเพราะไม่เคยผ่านความลำบากมาก่อน ทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะอ้าแขนรับใครก็ตามที่ทำลายวิธีคิดที่กดขี่เขาอยู่ พร้อมต้อนรับคนที่ปฏิบัติตัวกับพวกเขาอย่างไม่กดขี่ นี่ทำให้ IS ตอบโจทย์

เป็นไปได้ไหมที่จะเกิดการก่อการร้ายโดย IS ขึ้นในไทย หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตอบได้ง่ายๆว่ามีสิทธิ์เกิด แต่ว่ามีสิทธิ์มากน้อยขนาดไหนมันแล้วแต่คนจะประเมิน ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่า IS เข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จริงไม่ว่าจะในมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ในไทยยังไม่มีการยืนยันชัดเจน แต่ผมคิดว่ากรณีของไทยเราควรให้นำ้หนักเกี่ยวกับการก่อการร้ายภายในปะรเทศ มากกว่าการโยงกับการก่อการร้ายข้ามชาติ ถ้าถามว่ามีสิทธิ์ที่ IS จะแทรกซึมเข้ามาในไทยไหม ผมว่าก็มีสิทธิ์ ถ้าผมประเมินเป็นการส่วนตัว ผมไม่คิดว่าไทยจะเป็นตัวเลือกแรกๆที่ IS จะแทรกแซง เขามีแนวโน้มที่จะเลือกประเทศอื่น ที่เป็นประเทศมุสลิมมากกว่าประเทศไทย เพราะเป้าหมายของ IS คือการสร้างรัฐอิสลาม ในกรณีไทยแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเปลี่ยนรัฐไทยเป็นรัฐอิสลาม นอกจากรัฐไทยจะมีนโยบายกดขี่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หนักข้อกว่านี้ขึ้นเรื่อยๆ ก็มีแนวโน้มได้ที่ IS จะเข้ามามากขึ้นถ้าเขาเล็งเห็นว่าสามารถเปลี่ยนพื้นที่เหล่านี้ให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของเขาได้ นี่คือสิ่งที่ผมพยายามจะสื่อ คือถ้าเรายังเข้าใจการก่อการร้ายผิดและรับมือมันในลักษณะของภัยสงคราม เราก็ไม่มีทางแก้ปัญหาและมันจะน่ากลัวขึ้น

นี่คือทฤษฎีโดมิโนยุคหลังสงครามเย็นไหม

แนวคิดโดมิโนมาจากคำอธิบายเรื่องการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในสงครามเย็น ซึ่งสะท้อนกับนโยบายปราบปราม ป้องปรามการก่อการร้ายในปัจจุบัน ที่มีลักษณะการล้อมกรอบไม่ให้ภัยขยายตัว ซึ่งใช้ในยุคสงครามเย็นเพื่อป้องกันการขยายตัวแบบโดมิโน เพียงแต่ในยุคสงครามเย็นนั้นสำเร็จ เพราะในยุคนั้นพยายามจำกัดการขยายตัวของประเทศคอมมิวนิสต์ เขาพยายามป้องกันการขยายตัวของประเทศ แต่ประเทศมันอยู่กับที่ คุณไปล้อมกรอบมันได้ มันก็มีแนวโน้มสำเร็จสูง แต่กลุ่มก่อการร้าย ผู้ก่อการร้ายไม่ใช่ประเทศ มันไม่อยู่นิ่ง คุณไปล้อมกรอบเขาจุดหนึ่ง เขาก็สามารถเปลี่ยนจุดก่อเหตุได้ มันจึงทำให้นโยบายนี้ไม่ตอบโจทย์ คุณปิดเขาที่หนึ่ง เขาก็ไปก่ออีกที่หนึ่ง การมองปัญหาแบบสงครามมันใช้ไม่ได้
แล้วไทยจะรับมือกับสภาพการก่อการร้ายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างไร

ต้องตอบเป็น2 ระดับว่ารัฐบาลจะรับมืออย่างไร และสังคมจะรับมืออย่างไร

ขั้นแรก ทั้งรัฐบาลและสังคมต้องยอมรับความจริงก่อนว่า เราอยู่กับภัยก่อการร้ายจริง ตอนนี้เรากำลังหลอกตัวเองอยู่ว่าเราไม่มีภัยก่อการร้าย เราอยู่กับภัยก่อการร้ายที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มา 13 ปี แต่เราไม่เคยยอมรับ ทั้งๆ ที่ทั่วโลกก็เห็นตรงกันหมดว่าเป็นการก่อการร้าย สมมติว่าผมเป็นนายกฯ ญี่ปุ่น หรือเป็นคนในสังคมญี่ปุ่น มันจะตลกมากถ้ามีแผ่นดินไหว มีภูเขาไฟระเบิดแล้วผมบอกว่า ไม่ใช่แผ่นดินไหว ไม่ใช่ภูเขาไฟระเบิด จงเชื่อที่ฉันบอก อย่าเชื่อสิ่งที่ตาเห็น บ้านเรากำลังเป็นแบบนั้น นั่นคือสิ่งแรกที่สังคมไทยและรัฐบาลทำได้ คือต้องยอมรับเสียก่อน

อย่างที่สอง หาทางป้องกันหรืออยู่กับมันให้ได้ เราสามารถเรียนรู้บทเรียนจากประเทศอื่นๆ ที่เคยผ่านเหตุการณ์ลักษณะแบบเดียวกันมาได้ เราอย่าไปคิดว่าเป็น Thailand only ทั้งที่จริงไม่ใช่ มันมีประเทศอื่นที่ผ่านลักษณะแบบนี้มาหลายประเทศแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแอฟริกาใต้ในยุคเนลสัน แมนเดลา ที่พยายามปลดแอกคนผิวสีออกจากรัฐบาลคนผิวขาวก็รบกันจนเละเทะ จนสุดท้ายทนไม่ไหวก็ต้องมาพูดคุย ในที่นี้คือพูดคุยแบบพร้อมที่จะรับฟังเงื่อนไข ข้อเรียกร้องของผู้ก่อเหตุ ไม่ใช่พูดคุยพอให้ได้ชื่อว่าพูดคุย สุดท้ายปัญหาก็คลี่คลายลงได้

หรือในกรณีของ IRA (Irish Republican Army) ในสหราชอาณาจักรที่พยายามแยกตัวออกมาจากสหราชอาณาจักร ก็รบกันเละเทะกว่าบ้านเรา สุดท้ายอังกฤษไม่ไหว ต้องยอมพูดคุย เจรจาว่าจะทำข้อเรียกร้องได้ขนาดไหน อะไรบ้าง กลุ่ม IRA กลุ่มใหญ่ๆก็สลายไป เหลือแต่กลุ่มเล็กๆ ที่อาจจะไม่พอใจนโยบายบางส่วน แต่ว่าความเข้มข้นของการก่อเหตุลดลงไปกว่า 90 เปอร์เซนต์

นั่นคือสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้ ในเมื่อมีคนที่เคยเผชิญในสิ่งที่เรากำลังเผชิญมาก่อน แล้วเรารู้ว่าสุดท้ายมันจะนำเราไปสู่จุดไหน แล้วทำไมเราต้องรอให้ทุกอย่างมันเละเทะ พังพินาศก่อนแล้วจึงค่อยมาคุยกันล่ะ มนุษย์ควรมีศักยภาพในการลัดขั้นตอนจากการศึกษาอดีตได้ เราข้ามไปคุยกันเลยไม่ได้เหรอ นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะถามฝ่ายความมั่นคง

เราควรหยุดนโยบายการส่งกำลังลงไปในพื้นที่ เราส่งกันมา 13 ปีแล้ว มีอะไรดีขึ้น ผมก็เห็นแย่ลงทุกวัน มีระเบิดบิ๊กซี 7 จังหวัดภาคใต้ตอนกลาง ตอนบนบ้าง เราได้อะไรจากการแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ ซ้ำๆ มีแต่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราจะยังไม่มีสติปัญญาแล้วทำแบบเดิมอยู่ทำไม



แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.