Posted: 26 May 2017 10:17 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

บทสัมภาษณ์ 9 นักวิชาการในชุด ‘แผ่นดินจึงดาล’ นี้ ประชาไทตัดทอนมาจากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มในหนังสือ ‘แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ’ เพื่อมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามันจะนำพาเราไปสู่อะไร


ในมุมมองของ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งรัฐธรรมนูญ ทั้งศาล ล้วนเป็นผลพวงของระบอบใหญ่ของประเทศ ผลผลิตจากระบอบย่อมตอบสนองต่อความต้องการของระบอบ และแน่นอนว่านี้ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจ

บทสนทนายาวนานชิ้นนี้ วรเจตน์ชำแหละอย่างรวบรัดต่อปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 สถาบันตุลาการและศาล นักกฎหมายและเนติบริกร ตุลาการภิวัตน์และฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ที่กำลังพาสังคมไทยเข้ารกเข้าพง

แต่ในน้ำเสียงของวรเจตน์ก็ดูเหมือนจะแฝงด้วยความหวังว่า สักวันความเปลี่ยนแปลงจะปรากฏ หากสามารถสร้างชุดคุณค่าหรือหลักการบางอย่างร่วมกันได้ ซึ่งเขารู้ดีว่าไม่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะหยุดหวัง

รัฐธรรมนูญฉบับล็อคประเทศ ไม่แก้ปัญหาความขัดแย้ง

ผมเคยพูดไว้นานแล้วและยังยืนยันว่า รัฐธรรมนูญที่ผ่านการออกเสียงประชามติจะเป็นตัวปิดล็อกการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดโดยหนทางทางรัฐธรรมนูญ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยระบบของมันแทบเป็นไปไม่ได้ รัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาในครั้งนี้เป็นฉบับซึ่งแก้ได้ยากที่สุดหรือเรียกว่าเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลย และกลายเป็นอะไรที่ล็อกสังคมไทยไว้ให้เดินไปในทิศทางที่กำหนดเท่านั้น ที่สำคัญ มันจะไม่แก้ปัญหาความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยซึ่งเป็นความขัดแย้งในระดับที่ลงลึกไปถึงรากฐานแล้ว

ปัญหาที่เหลืออยู่ก็คือ ปวงชนชาวไทยในฐานะเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญจะปรากฏตัวขึ้นเมื่อใด และจะมีกำลังมากพอที่จะกดดันให้องค์กรของรัฐยอมรับความเป็นเจ้าของอำนาจของเขาและเปิดทางให้เกิดกระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนอกเหนือไปจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้หรือไม่ ถ้าได้ โอกาสที่จะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญโดยกระบวนการกดดันทางการเมืองผ่านคำอธิบายทางกฎหมายก็พอจะมีอยู่ แต่ถ้าไม่ได้ก็เหลือสองทางคืออยู่กับรัฐธรรมนูญนี้จนแก่เฒ่าตายไป หรือมิฉะนั้นก็จะเป็นการเปลี่ยนโดยกำลังทางกายภาพ เท่าที่ผมดูตอนนี้ยังไม่มีเหตุการณ์บ่งชี้ว่าปวงชนชาวไทยจะปรากฏตัวและมีกำลังมากพอที่จะกดดันในทางการเมืองได้ แต่ก็ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีปัจจัยผลักดันให้เกิดขึ้น

ในทางกฎหมาย ปัญหาทางปฏิบัติจากรัฐธรรมนูญใหม่อาจจะยังไม่เกิดตอนนี้ แต่จะปะทุในวันข้างหน้า โดยโครงสร้างที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ยากที่จะทำให้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างราบรื่น มองในระยะยาวต่อไปอีก ถ้าไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเสียก่อน ถึงจุดหนึ่งก็คงจะมีเสียงเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญหรือทำรัฐธรรมนูญใหม่ ทีนี้ ถ้าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปไม่ได้เสียแล้วจะเป็นอย่างไรต่อ สิ่งนี้เป็นปัญหาแน่นอนในวันข้างหน้า ประเด็นเรื่องความรุนแรงที่อาจจะเกิดมีขึ้นนั้น จึงไม่ใช่ว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เหตุที่บอกว่าอาจเป็นไปได้เพราะว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญล็อกตัวเองไว้อย่างแน่นหนามาก หากแรงกดดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในอนาคต มันไม่เพียงพอให้องค์กรของรัฐที่มีส่วนในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดำเนินการแก้ไข สุดท้ายของที่เขียนเอาไว้ให้แก้ไม่ได้ มันก็ต้องถูกทำลายลงโดยสภาพ

‘Final Say’

ปัจจุบัน การพูดครั้งสุดท้ายอยู่ในรูปของมาตรา 44 และอยู่เหนือตัวบทกฎหมายด้วยซึ่งคงจะใช้กันไปอีกช่วงหนึ่ง มาตรา 44 เห็นได้ชัดว่าไม่ถูกต้องตามระบบ ตรวจสอบไม่ได้ เมื่อใช้บ่อยๆ เข้าก็อาจจะเสื่อมมนต์ขลังไป Final Say ไม่ใช่เรื่องการใช้อำนาจอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องอำนาจและการยอมรับ คนพูดสุดท้ายอาจพูดไม่ถูกทั้งหมดแต่เขาพูดในกรอบอำนาจที่เขามีและคนยอมรับได้ เอาแบบนี้แล้วจบ แต่ถ้าคนพูดไม่ได้พูดในกรอบอำนาจของเขาหรืออำนาจที่เขาใช้พูดมันไม่มีความชอบธรรม เมื่อถึงจุดหนึ่งที่คนไม่ฟัง ไม่เชื่อ มันก็จะไปสู่สถานการณ์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าเราจะไปถึงจุดนั้นเร็วหรือช้าเพียงไร

ส่วน Final say ในรูปแบบอื่นที่เคยมีมา แล้วบัดนี้ไม่มีอีกต่อไป เชื่อว่าสังคมคงไปสร้างตัวระบบขึ้นมาใหม่ที่มันรับกันได้ในที่สุด อาจใช้เวลาบ้างแต่ไม่อาจหลีกหนีได้ ขณะที่ศาลคือ Final Say เฉพาะในทางกฎหมาย จะไปยุ่งกับเรื่องอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายไม่ได้ บ้านเราชอบพูดเรื่องใช้แนวทางนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ นี่เป็นวิธีคิดที่ผิด เวลาที่ศาลตัดสินต้องตัดสินข้อพิพาททางกฎหมาย ข้อพิพาทอื่นๆ เช่น ข้อพิพาททางสังคม ทางการเมือง ทางวัฒนธรรม ทางเศรษฐกิจ ทางศิลปะ ฯลฯ ต้องทำให้ข้อพิพาทนั้นกลายเป็นประเด็นทางกฎหมายศาลจึงจะตัดสินได้ เพราะศาลไม่ได้มีความรู้ทุกอย่าง ศาลไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะตัดสินได้ทุกเรื่อง

นักกฎหมายที่รับใช้อำนาจ

ผมเคยพูดครั้งหนึ่งสั้นๆ ในงานเสวนาเรื่องกฎหมายคืออะไรว่า ลักษณะนักกฎหมายของเราที่มีสภาพรับใช้อำนาจที่ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่แนวคิดในสำนักกฎหมายไหนเลย ไม่เกี่ยวกับไอเดียทางนิติปรัชญาอะไรเลย สำนักกฎหมายบ้านเมืองเห็นว่ากฎหมายคือกฎหมาย ถ้ามันผ่านออกมาแล้วมีสภาพบังคับ คนยอมรับ มีประสิทธิภาพในการใช้บังคับ ก็ย่อมเป็นกฎหมายไม่ว่าจะออกมาโดยเผด็จการหรือไม่ แต่สำนักนี้ไม่ได้บอกว่า คุณต้องก้มหัวเคารพกฎหมายนั้นตลอดกาล นักกฎหมายในกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งบอกว่าการต่อต้านอำนาจเผด็จการที่ทำให้รัฐกลายเป็นรัฐอันธพาลนั้นต้องต่อต้านจากมิติทางศีลธรรม ไม่ใช่มิติทางกฎหมาย แน่นอนแนวความคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมืองหรือปฏิฐานนิยมทางกฎหมายมีปัญหาอยู่เมื่อเผชิญกับอำนาจดิบเถื่อนที่สามารถยึดกุมระบอบการปกครองได้ แต่ไม่ใช่ว่าคนที่ถือความคิดที่เน้นการวินิจฉัยความเป็นกฎหมายโดยเกณฑ์ที่แน่นอน เที่ยงตรงแบบนี้ เป็นพวกรับใช้อำนาจเสมอไป

คนที่เชื่อในกฎหมายธรรมชาติก็รับใช้อำนาจได้ พอๆ กับคนที่ไม่เชื่อเพราะบางทีคิดว่าที่ตัวทำอยู่นั้นดี คือหลงดี ติดดี แล้วได้ประโยชน์ไปพร้อมกันด้วย มีตัวอย่างให้เห็นมากมายด้วยว่าการรับใช้อำนาจนั้นได้ดี มีตำแหน่ง ตัวระบบที่เป็นอยู่ตอบสนองความเป็นเนติบริกร ลองถามนักกฎหมายว่ามีตำแหน่งแบบนี้เอาไหม 70-80 เปอร์เซ็นต์ ก็คงเอา อันนี้ในระยะยาวจะสร้างจารีตที่ไม่ดีขึ้นมาในวงการกฎหมายด้วย นักกฎหมายรุ่นใหม่ๆ ที่หวังได้ดีก็จะไม่กล้ามีจุดยืนตรงข้ามกับนักกฎหมายที่มีอำนาจ มีตำแหน่ง เพราะกลัวจะไม่ก้าวหน้า ถ้าไม่ทำตัวรับใช้ชัดเจนไปเลย ก็จะทำตัวให้คลุมเครือเข้าไว้ ความจริงสภาพแบบนี้เกิดขึ้นกับวงการอื่นด้วย แต่ผมคิดว่าวงการกฎหมายน่าจะเป็นวงการหนึ่งที่เห็นตัวอย่างชัดที่สุด

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.