บทสัมภาษณ์ 9 นักวิชาการในชุด ‘แผ่นดินจึงดาล’ นี้ ประชาไทตัดทอนมาจากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มในหนังสือ ‘แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ’ เพื่อมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามันจะนำพาเราไปสู่อะไร
วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (Impunity) และการละเมิดสิทธิมนุษยชนคือแผลเรื้อรังในสังคมไทย มันไม่ใช่ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐนอกแถวจำนวนหนึ่งกระทำนอกอำนาจหน้าที่ ไม่ใช่แค่กองทัพที่ออกมารัฐประหาร แต่มันมีรากที่ฝังลึกอยู่ในชุดความคิด ความเชื่อของสังคม ตั้งแต่ระดับปัจเจกไปจนถึงกลไกรัฐทั้งระบบ ไม่เว้นแม้แต่ในกระบวนการยุติธรรม
ทำไมประชาไทหยิบยกประเด็นนี้มาสนทนากับพวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เพราะท่ามกลางบรรยากาศของอำนาจเผด็จการทหารที่แผ่คลุมสังคมไทยอยู่นี้ ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลอยนวลพ้นผิดยิ่งชัดเจน แต่ดูเหมือนว่าจะมีประชาชนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นเห็นว่ามันเป็นปัญหา ขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่คิดเช่นนั้น (ซึ่งมิได้หมายความว่ามีเพียงรัฐบาลทหารเท่านั้นที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน)
หากจะสรุปสิ่งที่พวงทองพูด สังคมไทยไม่อาจก้าวไปข้างหน้าได้ หากปล่อยให้ซากศพของผู้สูญเสียและน้ำตาของบุคคลที่เกี่ยวข้องทับถมโดยไม่รับการคืนความยุติธรรม
สิทธิมนุษยชนกับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด
สิทธิมนุษยชนกับการลอยนวลพ้นผิดเป็นเรื่องเดียวกันเลย ในสังคมที่ไม่ยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะเขาตระหนักว่าทุกคนมีสิทธิในชีวิตของตนเอง คุณไม่สามารถไปละเมิดสิทธิของเขาได้ เวลาที่บอกประชาชนว่าเสรีภาพต้องมีขอบเขต รัฐก็ต้องมีขอบเขตในการใช้อำนาจเหมือนกัน ไม่สามารถละเมิดสิทธิบางอย่างของประชาชนได้ โดยเฉพาะสิทธิในชีวิต และสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ตราไว้ในกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ล้วนเอ่ยถึงสิทธิเหล่านี้ทั้งสิ้น ถ้ารัฐละเมิด ต้องรับผิดชอบ แต่ในสังคมไทยกฎหมายไม่มีความหมาย เพราะรัฐทำตัวเป็นกฎหมู่เสียเอง
ในกรณีไทย การที่เราปล่อยให้มีการลอยนวลพ้นผิดหลายครั้งหลายหน ด้านหนึ่งก็เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอำนาจนิยม ซึ่งให้ความสำคัญกับความมั่นคงของรัฐ แต่คนถูกทำให้เชื่อว่านั่นคือความมั่นคงของสังคม ถึงแม้ว่าบางครั้งการละเมิดสิทธิของประชาชนจะมีแพะที่โดนร่างแหไปด้วย ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับ ตราบเท่าที่ฉันไม่เดือดร้อนก็ไม่เป็นไร สอง-เราเป็นสังคมที่มองคนไม่เท่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนที่เป็นเหยื่อเป็นคนไม่มีฐานะทางสังคม เป็นคนจน เป็นคนไม่มีชื่อเสียง เป็นศัตรูทางการเมือง เราพร้อมที่จะมองข้าม เราไม่รู้สึกมีความรู้สึกเจ็บปวดแทนคนเหล่านั้นได้ ไม่รู้สึกอินังขังขอบ แต่ถ้าเป็นคนมีฐานะ มีชื่อเสียงในสังคม หรือเป็นอนาคตของชาติ เช่น เป็นหมอ เป็นนิสิตแพทย์เสียชีวิต คุณจะรู้สึกว่าคนเหล่านี้มีคุณค่ามากกว่าคนธรรมดาที่สูญเสียไป
ไม่มีการปรองดอง หากไม่มีการคืนความยุติธรรม
ดิฉันคิดว่าเวลาคนไทยมองเรื่องปรองดองเป็นการมองที่คับแคบ คิดว่าการปรองดองคือการที่ไม่ต้องรื้อฟื้นสิ่งที่เกิดขึ้น ยอมๆ กันไป อโหสิกรรมไป เพราะถ้ายิ่งไปติดตามเอาผิดกับคนที่ทำผิดจะยิ่งเกิดความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น เพราะคนที่ใช้ความรุนแรงมีเครือข่ายอำนาจของตัวเอง ยังมีอำนาจอยู่ สมมติกรณีที่ทหารทำผิดแล้วพ่ายแพ้ในทางการเมือง ยอมลงจากอำนาจ ถ้าคุณไปเอาผิดเขา ในที่สุดเครือข่ายของเขาอาจจะไม่ยอม กลับมายึดอำนาจ นี่คือสิ่งที่สังคมไทยทำมาตลอด
การทำแบบนี้จะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้มีอำนาจในอนาคตไม่รู้สึกกลัวว่าจะต้องรับผิด แล้วก็จะทำอาชญากรรมกับประชาชนอย่างกว้างขวางได้อีก เพราะเชื่อว่าถึงที่สุดแล้ว วัฒนธรรมปรองดองแบบไทยๆ จะช่วยปกป้องคุ้มครองเขา และเขาก็เชื่อว่าเครือข่ายซึ่งอาจจะอยู่นอกเหนือตัวรัฐบาล องค์กรทั้งหลายแหล่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมก็จะช่วยปกป้องเขาด้วย ดิฉันจึงมองไม่เห็นว่าวิธีการแบบนี้จะทำให้สังคมไทยหลุดพ้นจากการที่รัฐใช้อำนาจปราบปรามประชาชนตามอำเภอใจได้อย่างไร ดิฉันเชื่อว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นอีก ตราบใดที่เราไม่สามารถจะเอาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงมาลงโทษได้
สร้างกลไกที่ยึดโยงกับประชาชน
องค์กรอิสระที่มีอยู่ตอนนี้ เขาแทบจะไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเลย มาจากกลุ่มอำนาจที่เห็นกันอยู่ เลือกกันเอง ตัดสินไปในทิศทางที่เดากันได้ ถามว่าถ้าเราเป็นประชาธิปไตย ก็ต้องรื้อที่มาขององค์กรอิสระและยึดโยงกับประชาชนให้มากขึ้น นี่คือปัญหาของคนไทยที่หลักการมันเบาบางมาก คุณต้องคำนึงกระแสทางการเมือง คำนึงถึงกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่เลือกคุณมา ไปจนถึงเกรงใจพวกพ้องครอบครัวที่แวดล้อมคุณอยู่ ถ้าเราเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ดิฉันก็เชื่อว่าศาลจะตัดสินอะไรที่ออกไปในทางที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น แต่ตอนนี้เราเป็นระบบอำนาจนิยม เพราะฉะนั้นคำตัดสินก็จะออกมาในลักษณะแบบนี้
ดิฉันอยากให้มองย้อนกลับไป อย่างกรณีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเชื่อว่า ถ้าเรามีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่ยึดมั่นในหลักการ มีบุคคลที่มีประวัติในการทำงานที่ดีจะช่วยส่งเสริมให้สิทธิของไทยดีขึ้น แต่ก็จะเห็นว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทำให้คนผิดหวังเยอะมาก แต่ถามว่าแล้วเราควรจะมีหรือไม่ ดิฉันคิดว่ายังควรจะมี แต่ก็ต้องปรับปรุงตัวองค์กร ที่มาของตัวองค์กร แล้วจะต้องสนับสนุนในสิ่งที่ควรสนับสนุน วิพากษ์วิจารณ์อย่างเต็มที่เมื่อมีโอกาส เราไม่สามารถหันหลังบอกว่าเลิกๆ ถ้าไม่มี มันจะยิ่งแย่ แต่ว่าเขาจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์และทำให้ที่มาของเขามีความรับผิดมากขึ้นด้วย
รวมถึงตุลาการและศาล ซึ่งยากกว่า แล้วต้องทำให้เห็นว่าการตัดสินของศาลเป็นความรับผิดชอบของศาลในฐานะปัจเจกชน ต้องให้เขาเลิกอ้างว่าทำในนามของสถาบัน คุณจะเห็นว่าศาลไทย หลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพอ่อนเปลี้ยมาก ซึ่งศาลเองก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในสังคมไทย เขาก็เติบโตขึ้นมาท่ามกลางวัฒนธรรมอุปถัมภ์
แสดงความคิดเห็น