ดีเบตประชาธิปไตยจากห้องเรียนในสหรัฐฯ

Posted: 07 May 2017 06:19 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ขอเล่าประสบการณ์จากห้องเรียน ป.ตรีที่ผู้เขียนเพิ่งสอนจบไป ผู้เขียนสอนวิชา “การเมือง สังคม และเศรษฐกิจในโลกกำลังพัฒนา” จุดประสงค์ของวิชานี้ก็เพื่อแนะนำแนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับสาขาวิชา International Development ห้องเรียนเราคุยกันหลากหลายประเด็นตั้งแต่ foreign aid แรงงานเด็ก สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงผู้อพยพข้ามประเทศ เราใช้กรณีศึกษาจากหลายประเทศ รวมทั้งนำข่าวสารบ้านเมืองในสหรัฐฯ มาวิเคราะห์และวิจารณ์ภายใต้แนวคิดทฤษฎี จำนวนนักเรียนในห้องมีไม่มากมาย นักศึกษาจึงสามารถแสดงความคิดเห็นจากมุมมองของตนเองได้

ในสัปดาห์ที่เราเรียนเรื่องประชาธิปไตย ผู้เขียนให้นักศึกษาดีเบตกันในหัวข้อที่ว่า “Should All Nations Be Encouraged to Promote Democratization?”[1] ก่อนดีเบตนักเรียนต้องอ่านบทความข้างต้นเสียก่อน ซึ่งบทความนี้ได้รวมงานเขียนของสองฝ่าย คือฝ่าย YES เขียนโดย Francis Fukuyama และ Michael McFaul และฝ่าย NO เขียนโดย Edward Mansfield และ Jack Snyder หลังจากดีเบตแล้ว ผู้เขียนให้นักศึกษาโหวตว่าเห็นด้วยกับฝั่งไหน

ผู้เขียนแบ่งความเห็นของนักศึกษาออกเป็นสี่กลุ่มใหญ่

(1) การดีเบตเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ที่น่าตื่นเต้นเผ็ดร้อนจะอยู่ในกลุ่มที่มีนักเรียนต่างชาติ นักศึกษาจากประเทศจีนและกลุ่มของเธอที่มีนักศึกษาอเมริกันรวมอยู่ด้วยเห็นว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ไม่ควรแทรกแซงการเมืองของประเทศอื่นโดยยกตัวอย่างประเทศจีน นักศึกษาจีนโต้แย้งไปไกลว่านั้นว่าระบบการปกครองของจีนนั้นดีอยู่แล้ว ไม่ต้องมีการเลือกตั้งก็เป็นประชาธิปไตยได้ รัฐบาลท้องถิ่นจัดคนเก่งมาเป็นตัวแทนประชาชนโดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง รัฐบาลสามารถจัดการกับปัญหาคอรัปชั่นได้อย่างเด็ดขาด แถมการเติบโตทางเศรษฐกิจก็เป็นไปอย่างก้าวกระโดด

ฟังแล้ว นักศึกษาจีนให้เหตุผลคล้ายคลึงกับแนวคิดประชาธิปไตยแบบไทยๆ ของกลุ่มชนชั้นนำไทยอยู่ไม่น้อย ส่วนกลุ่มนักศึกษาฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยก็เหมือนจะงงๆ กับโมเมนแบบนี้ไปพักใหญ่ เพราะสำหรับนักศึกษาอเมริกันหลายคนแล้ว นี่คือสิ่งที่เพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรกในชีวิตก็ว่าได้ ถ้าไม่มีการเลือกตั้งแล้วจะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร เป็นคำถามที่ดีเบตกันดุเดือดพอควร

(2) อีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่าประเทศพัฒนาแล้วควรสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ประเด็นที่ถกเถียงกันในกลุ่มนี้คือ การสนับสนุนควรจะออกมาในรูปแบบและวิธีการไหน การแทรกแซงนั้นจำเป็นหรือไม่อย่างไรและในสถานการณ์ใด ผู้เขียนถามนักศึกษากลับว่าทำไมประเทศพัฒนาแล้วจึงควรสนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศอื่น นักศึกษาให้คำตอบมาสองแง่คือ หนึ่ง คิดว่าประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมากที่สุด เป็นระบบการเมืองที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่สันติ

อีกเหตุผลในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือ นักศึกษาเชื่อแนวคิดที่เรียกว่า Democratic Peace หมายถึงว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะไม่ทำสงครามต่อต้านกันเองเพราะมีความเชื่อและค่านิยมเดียวกัน นอกจากนั้น การสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศอื่นก็มีความสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศสหรัฐอเมริกาเอง เพราะเป็นการช่วยขยายบทบาทผู้นำอย่างสหรัฐฯในการจัดระบบระเบียบโลกที่ยึดหลักการประชาธิปไตยและระบบการค้าเสรี

(3) นักศึกษาอเมริกันบ้างคนเห็นว่า สหรัฐฯไม่ควรเข้าไปยุ่งเรื่องภายในของประเทศอื่นและไม่ควรให้เงินช่วยเหลือประเทศใดเลย (ยกเว้นเงินช่วยเหลือด้านมนุษยชนเท่านั้น) และเห็นว่ารัฐบาลควรเอาเงินมาช่วยคนอเมริกันที่ยากจน ลดความเหลื่อมล้ำของชนชั้นในประเทศตนเองจะดีกว่า แถมเงินช่วยเหลือที่ส่งไปต่างประเทศอาจส่งผลลบมากกว่าบวกแก่ประเทศผู้รับ (William Easterly and Dambisa Moyo)

(4) หรือมีนักศึกษาบางคนอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะสนับสนุนข้างไหน โดยให้เหตุผลว่าประชาธิปไตยของสหรัฐฯในตอนนี้ก็กำลังเสื่อมถอย ไม่มีน่าจะไปสั่งสอนใครได้

แม้นักศึกษาจะมีความเห็นแตกต่างกันมากแค่ไหน แต่ส่วนใหญ่ดูจะเห็นตรงกันว่าสหรัฐฯ ไม่ควรเข้าแทรกแซงทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนอำนาจการปกครองของประเทศอื่นเหมือนในช่วงยุคสงครามเย็น และจากบทเรียนของสงครามในอิรัก อัฟกานิสถานในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ขยาดการเข้าแทรกแซงทางการเมืองโดยเฉพาะการใช้กำลังทหาร

หลังการดีเบตกันไป 45 นาที ผลโหวตสรุปว่านักศึกษาส่วนใหญ่เห็นว่าประเทศพัฒนาแล้วควรสนับสนุนกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า (1) ไม่สนับสนุนการใช้กำลังทหาร (2) คำนึงถึงปัจจัยทางสังคมภายในของประเทศนั้นๆ และ (3) ควรใช้วิธีนุ่มนวล เช่นให้เงินช่วยเหลือในด้านการพัฒนา (มีตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) แต่ให้มีเงื่อนไขว่าเงินที่ให้ไปต้องแลกกับการสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประเทศที่รับเงิน และให้การสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

นี่คือความคิดเห็นของนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของคนอเมริกันหรือคนจีนแต่อย่างใด แต่ความเห็นของพวกเขาก็สะท้อนอะไรได้หลายอย่าง ตั้งแต่ความแตกต่างทางความคิดระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้วในเรื่องประชาธิปไตย ความคิดเห็นเรื่องการแทรกแซงทางการเมืองของคนอเมริกันรุ่นใหม่ที่ไม่เหมือนคนช่วงยุคสงครามเย็น และความเห็นของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยและการเมืองภายในประเทศสหรัฐฯเองด้วย


เชิงอรรถ


[1] Francis Fukuyama, Michael McFaul and Jack Snyder, Chapter 17, “Democracy: Should All Nations be Encouraged to Promote Democratization?,” in Controversies in Globalization: Contending Approaches to International Relations, edited by Peter Hass and John Hird. (Sage, 2013), pp. 486-518.



เกี่ยวกับผู้เขียน: สรินณา อารีธรรมศิริกุล เป็นอาจารย์ที่ Michigan State University USA

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.