หมายเหตุประเพทไทย #156 แนวคิดเรื่องชาติและกำเนิดนักเขียนคณะสุภาพบุรุษ


Posted: 07 May 2017 06:12 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ คำ ผกา และ เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี ค้นหาที่มาของนักเขียน “คณะสุภาพบุรุษ” ซึ่งกำเนิดขึ้นหลังตีพิมพ์นิตยสาร “สุภาพบุรุษ” ระหว่างปี พ.ศ. 2472-2473 หลายคนกลายเป็นนักเขียนมีชื่อเสียงในเวลาต่อมา เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา), อบ ไชยวสุ (ฮิวเมอร์ริสต์), โชติ แพร่พันธุ์ (ยาคอบ), มาลัย ชูพินิจ (แม่อนงค์, เรียมเอง), ชิต บุรทัต (แมวคราว), ฉุน ประภาวิวัฒน์ (นวนาค) ฯลฯ

ทั้งนี้ข้อเสนอของคณะสุภาพบุรุษ ที่ตั้งคำถามเรื่องความยุติธรรม เรื่องความก้าวหน้าในชีวิตการงานของปัจเจกบุคคลควรถือตามความสามารถ ไม่ถือเอาชาติกำเนิด รวมทั้งบุญธรรมกรรมแต่งหรือวาสนา เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะสังคมไทยในเวลานั้นเท่านั้น แต่การตั้งคำถามเหล่านี้เกิดขึ้นไปทั่วเอเชียในหมู่นักชาตินิยมที่ต้องการปลดแอกจากเจ้าอาณานิคม

นักเขียนคณะสุภาพบุรุษซึ่งส่วนใหญ่จบการศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ นับเป็นผลผลิตของระบบการศึกษาภายใน พวกเขาเหล่านี้ได้เรียนหนังสือ และได้เห็นขบวนการในดินแดนอื่นๆ ที่สามัญชนออกมาเรียกร้องตำแหน่งแห่งที่ของตนในสังคม เรียกร้องให้ทุกๆ คนควรมีตำแหน่งแห่งหนในโครงสร้างสังคมอีกแบบหนึ่งไม่ใช่แบบเดิมอีกต่อไป

นอกจากนี้ในบทความของ “ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์” ตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดีเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2544 ยังเสนอด้วยว่า คณะนักเขียนสุภาพบุรุษในช่วงเวลานั้น ยังทำให้เกิดแนวคิดว่าผู้แต่งคือ “นักเขียนอาชีพ” ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับช่วงที่สังคมเปลี่ยนจากระบบศักดินามาสู่ทุนนิยม ที่การอ่านงานวรรณกรรมมิได้ผูกขาดในกลุ่มชนชั้นสูงอีกต่อไป แต่กลายเป็นสมบัติสาธารณะที่ทุกคนมีสิทธิจะสร้างหรือเสพได้และ “เมื่อวรรณกรรมได้แปรสภาพมาเป็น "สินค้า" ชนิดหนึ่ง สิ่งที่ต้องตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ความสำคัญของผู้แต่งในฐานะ "นักเขียนอาชีพ" ผู้เป็นเจ้าของผลงานวรรณกรรม ที่ทรงสิทธิในการได้รับผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้จากผลงานที่ตนเองสร้างขึ้น”



ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai

หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.