กางหนังสือ เปิดตำรา-นักเรียนไทยเรียนเรื่อง 2475 อย่างไร

Posted: 30 Apr 2017 09:15 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

เหตุการณ์หมุดคณะราษฎรหายเมื่อกลางเดือนเมษายน ทำให้เกิดการตั้งคำถามและพูดถึงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างแพร่หลายอีกครั้งทั้งในโซเชียลและสื่อต่างๆ มากมาย หลายคนแทบไม่เคยรู้จักหรือเคยได้ยินว่ามีหมุดคณะราษฎรจนกระทั่งมันหายไป บางคนอาจเคยคุ้นหูกับชื่อ คณะราษฎร อาจเคยผ่านตาตอนเรียนหนังสือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่น่าจะมีไม่น้อยที่ไม่แน่ใจนักว่ามันคืออะไร มีนัยอย่างไร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

เราพาย้อนกลับไปดูหลักสูตรการศึกษาไทยว่านักเรียน/ศึกษา-ครู/สอนกันอย่างไรในเรื่อง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

000

จากการสอบถามครูและนักเรียนจำนวนหนึ่งพบว่า มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง และประชาธิปไตยเรื่อยๆ ในระดับชั้นต่างๆ ส่วนเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะเริ่มสอนกันจริงจังในชั้นมัธยมศึกษา โดยมัธยมต้นจะปรากฏเล็กน้อยในวิชาการเมืองการปกครอง แต่ในระดับมัธยมปลายจะปรากฏเป็นหัวข้อเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475” โดยเฉพาะ บรรจุในวิชาประวัติศาสตร์ไทย ม.4-6 ซึ่งเป็นไปตามตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีมาตรฐานของการ “เข้าใจความเป็นมาของชาติไทย วัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย มีความรัก ความภูมิใจ และธำรงความเป็นไทย” มีตัวชี้วัดคือ
1.วิเคราะห์พัฒนาการของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ในด้านต่างๆ
2. วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์
3. วิเคราะห์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์และอิทธิพลต่อการพัฒนาชาติไทย
4. วิเคราะห์บทบาทของไทยสมัยประชาธิปไตย

ตามมาตรฐานและตัวชี้วัดนั้นกล่าวถึงสิ่งที่เด็กจะต้องเรียนรู้เพียงหลวมๆ เท่านั้น และอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เยาวชนยังไม่รู้จักหรือเข้าใจเรื่อง 2475 อย่างเพียงพอ


“เปลี่ยนแปลงโดยไม่พร้อม” - เวลาเรียนประวัติศาสตร์ไม่เพียงพอ


ในด้านครูผู้สอน กิตติยา วิริยะวีรวัฒน์ คุณครูประวัติศาสตร์ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติกาญจนบุรี กล่าวว่าการเรียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นไปเพื่อให้เด็กรู้คร่าวๆ เกี่ยวกับการเมืองการปกครองไทย แต่ไม่ได้ละเอียดมากนัก เพียงบอกให้เขารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นคนไทยเรายังไม่พร้อม เมืองไทยจึงล้มลุกคลุกคลานมาจนถึงปัจจุบัน เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นที่เด็กๆ ควรจะต้องได้เรียนรู้ และควรได้เรียนรู้มากกว่านี้ แต่กลายเป็นว่าเวลาที่ให้มาไม่เพียงพอที่จะสอนได้หมด กลายเป็นวิชาเพิ่มเติม อีกทั้งยังเป็นวิชาที่เด็กไม่ชอบไม่ค่อยสนใจ สำหรับหมุดคณะราษฎรคุณครูบอกว่า แทบจะไม่ปรากฏในแบบเรียน ครูทำได้เพียงสรุปเพิ่มเติมให้เด็กๆ ฟังเท่านั้น


“2475” ตัวแถมในวิชาประวัติศาสตร์

อาจารย์สอนประวัติศาสตร์ระดับมัธยมปลายแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ให้ข้อมูลว่า นักเรียนจะต้องเรียนเรื่อง2475 ตั้งแต่ป.6 ในวิชาประวัติศาสตร์ โดยจะเรียนวนลูปซ้ำๆ จากประถม ไปมัธยมต้น ไปมัธยมปลาย รวม 3 ครั้ง แต่รายละเอียดมีน้อยหากเทียบกับประวัติศาสตร์ช่วงอื่นๆ เช่น ม.ต้น เราใช้เวลาเรียนรัตนโกสินทร์ตอนต้นหลายคาบมากพอ แต่ตอนท้ายเรียนเรื่อง2475 อาจจะเป็น 1 ใน 10 ของทั้งหมด แม้กระทั่งในหนังสือเองก็เขียนเพียงรวบรัดสั้นๆ หรือข้ามประเด็นนี้ไปเลยก็มี

อาจารย์บอกอีกว่า นักเรียนไม่ชอบเรียนประวัติศาสตร์ร่วมสมัย และครูก็มักจะสอนประวัติศาสตร์สุโขทัย –อยุธยาอย่างเป็นล่ำสัน เรื่องราวตั้งแต่รัชกาลที่1-6 เยอะมาก แต่พอเป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยตั้งแต่รัชกาลที่7 เป็นต้นมา จะเหลือแค่สองคาบสุดท้ายทั้งที่เรียนเรื่อง ร.5 มา 10 คาบ

“ส่วนตัวมองว่าจริงๆ แล้วการเรียนประวัติศาสตร์ร่วมสมัยต้องเรียนให้เยอะให้ลึกกว่าประวัติศาสตร์ก่อนหน้าเพราะมันเกี่ยวข้องถึงตัวเราในปัจจุบันมากที่สุด เป็นต้นกำเนิดของสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ปรากฏว่าเราก็ไม่ค่อยได้เรียน เราข้ามไป ด้วยความที่อยู่ส่วนท้ายของบทเรียนจึงเป็นธรรมชาติที่อาจจะตกหล่นไป ความรู้ความเข้าใจจึงน้อยมาก 2475 จะมีอยู่นิดเดียวแล้วก็เป็นเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ อย่าง 14 ตุลาหรือ 6 ตุลา ซึ่งทั้งหมดนี้เรียนสองคาบเท่านั้น”


ประวัติศาสตร์ประชาชนของหายาก


อาจารย์ประวัติศาสตร์กล่าวอีกว่า การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ประเทศไทยเน้นเรื่องของผู้นำเป็นหลัก ผู้นำในที่นี้คือพระมหากษัตริย์ และวนอยู่รอบๆ พงศาวดาร แต่เมื่อเป็นประวัติศาสตร์ประชาชน จะเป็นส่วนน้อยมาก อีกอย่างหนึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่รักในสถาบันพระมหากษัตริย์ ประวัติศาสตร์ประชาชนในช่วงนั้นเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสถาบันพระมหากษัตริย์จึงทำให้ไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงกันอยู่แล้ว

เขากล่าวอีกว่า สำหรับในตัวชี้วัดก็มักพูดหลวมๆ อยู่แล้วมันจึงขึ้นอยู่กับผู้สอนว่าจะตีความเรื่องนั้นๆ ว่าอย่างไรส่วนใหญ่ถ้าไม่เป็นกลางก็จะเป็นลบไปเลยกับประวัติศาสตร์ 2475 เพราะว่าไม่ได้มีบริบทที่ครบรอบด้าน เป็นมุมมองฝ่ายเดียว หนังสือเรียนก็เป็นไปในทางเดียวกัน

“เรื่องหมุดคณะราษฎร ถามว่ามันถูกลบให้หายไปไหม คิดว่าไม่ใช่แค่หมุดคณะราษฎรหรอก ทุกวันนี้เราเรียน เรารู้จักคณะราษฎร แต่เรารู้ไหมว่าในคณะราษฎรมีใครบ้าง เด็กที่มีความรู้อาจจะนึกชื่อ ปรีดี พนมยงค์ออก แต่อาจจะนึกชื่อพระพหลพลพยุหเสนา ไม่ออกด้วยซ้ำ และเรายังไม่รู้เลยว่าคณะราษฎรมีกี่คน มีผลงานอะไรบ้างที่สำคัญ มรดกทางการเมืองของคณะราษฎรถูกทำเหมือนไม่มีเลย” อาจารย์กล่าว


ขาดแคลนคำถาม ขาดการวิเคราะห์

อาจารย์คนเดิมยังให้ความเห็นอีกว่า ทุกวันนี้นักเรียนเรียนประวัติศาสตร์นิพนธ์ตามเส้นเรื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆ มันควรมีเคส มีเรื่องราว และเชื่อมโยงให้ได้ว่ามันสัมพันธ์กับเราในปัจจุบันอย่างไรบ้าง ต้องเรียนทุกเรื่อง เรียนแม้กระทั่งเรื่องที่เราไม่ชอบ เหมือนกับที่เยอรมันนีเรียนประวัติศาสตร์นาซีฮิตเลอร์ เขาทำไม่ดีแต่เราต้องเรียน เพื่อดูว่ามันมีความผิดพลาดอย่างไร เราจะไม่ทำความผิดซ้ำ เราจะทำให้สังคมดีกว่าเดิมได้อย่างไร

“นักเรียนต้องได้เรียนว่าทำไมคณะราษฎรถึงเกิดขึ้น คือมีคำถามเยอะมาก แต่เราไม่ถูกสอนให้ถาม ได้แต่ปล่อยไว้แบบนั้น กลายเป็นว่าเราเรียนประวัติศาสตร์ที่นิพนธ์ไว้แล้ว ทั้งที่จริงๆ มันเป็นวิชาวิเคราะห์ เราต้องวิเคราะห์เอาหลักฐานมาดู เพื่อที่เราจะได้ค้นหาความจริงต่อไปอีก เรียนเพื่อให้มีความคิดมุมมองที่หลากหลายแตกต่างกันแล้วมาดูกันว่าแต่ละคนมีมุมมองยังไง” อาจารยก์กล่าว

มุมคนเรียน เรียนเหมือนฟังนิทาน


ส่วนมุมมองของผู้เรียนนั้น อริน ชิณณะเสถียร นักเรียนที่เพิ่งจบ ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ให้สัมภาษณ์ว่า ตอน ม.4 เรียนวิชาประวัติศาสตร์การเมือง (สังคม) ส่วนเนื้อหาที่มีในหนังสือ ก็ make sense เข้าใจตามเนื้อเรื่องของมัน แต่แค่สนใจรายละเอียดบางอย่างที่หนังสือเพียงแตะๆ หรืออาจจะไม่ได้เขียนไว้ ก็จะไปหาเพิ่มเติมเช่น เรื่องรัฐธรรมนูญที่ ร.7 จะพระราชทานให้เป็นต้น

“ผมอาจจะจำไม่ได้แม่นมาก แต่เท่าที่จำได้ก็มีการพูดถึง ซึ่งตัวเหตุการณ์ก็เพียงพอต่อความเข้าใจตามเนื้อเรื่อง คือมัน make sense ในตัวมันเองอยู่ แต่รายละเอียดจะเป็นชื่อคนกับลำดับเหตุการณ์ อะไรทำนองนี้เป็นหลัก สำหรับหมุดคณะราษฎรไม่แน่ใจว่ามีในหนังสือไหมแต่ครูพูดถึงอยู่ว่ามีหมุดนี้อยู่ ส่วนถ้าถามว่าสิ่งที่เรียนเพียงพอไหม คิดว่าเป็นปัญหาเดียวกันกับการเรียนประวัติศาสตร์โดยรวม สั้นๆ เลยคือเราเรียนกันเหมือนฟังนิทาน ทั้งที่มันควรปลูกฝังความเป็นนักประวัติศาสตร์เข้าไปให้มากกว่านี้ เช่นนิสัยการตั้งคำถาม การฝึกทักษะวิเคราะห์ ตีความ ประเมินค่า สังเคราะห์ เพื่อเป็นการสร้างนิสัยที่ดีให้กับผู้เรียน ไม่ใช่แค่ท่องหนังสือไปวันๆ” อรินกล่าว

ธีร์ พรหมบุตร นักเรียนที่เพิ่งจบชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ กล่าวว่า เรื่องรายละเอียดนั้นรู้น้อยมากจากที่เรียน จึงอาศัยการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เอง ทั้งจากหนังสือ สื่อออนไลน์ และการติดตามบุคคลที่พูดเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ทางโซเชียลมีเดียเพื่อให้ครบทุกด้าน เนื่องจากมีความคิดเห็นว่าในหนังสือเรียนนั้นไม่ได้เสนอข้อมูลครบทุกด้านอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้เกิดคำถาม ข้อสงสัยหลายอย่างที่การเรียนในหนังสือเรียนหรือในห้องเรียนไม่สามารถตอบได้ รู้สึกว่าการเรียนวิชาประวัติศาสตร์หรือวิชาสังคมควรจะเป็นวิชาที่ตั้งคำถามได้ ไม่เพียงแต่เรียนแบบท่องจำเท่านั้น

กานต์รวี วิริยะวีรวัฒน์ นักเรียนชั้นม.5 กำลังขึ้นชั้น ม.6 โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติกาญจนบุรีให้สัมภาษณ์ว่า รู้คร่าวๆ จากการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร ในส่วนของรายละเอียดค่อนข้างมีน้อย

นักเรียนจากโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งในภาคเหนือ กล่าวว่า ได้เรียนเรื่องนี้ในชั้น ม.5 เนื้อหาคร่าวๆ พอจะทราบว่าสาเหตุตอนนั้นเกิดจากเศรษฐกิจตกต่ำ ประชากรเห็นกระแสการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากต่างประเทศ แกนนำคณะราษฎรมี 7 คน ส่วนใหญ่หนังสือจะเล่าตาม พ.ศ. ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างคร่าวๆ ในส่วนตัวคิดว่าเนื้อหาที่เรียนนั้นเพียงพอสำหรับตน



ตัวอย่างบทเรียน "2745" ในตำราเรียนประวัติศาสตร์ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช



ตัวอย่างบทเรียน "2475" ในตำราเรียนประวัติศาสตร์ของสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์

สำหรับแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่ใช้ในโรงเรียนนั้นมีของหลายสำนักพิมพ์ โดยสำนักพิมพ์หลักที่จะหยิบยกเนื้อหาช่วง 2475 มาให้ดูเป็นตัวอย่างนั้นเป็นของ 1. สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช หรือ วพ. 2. สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ หรือ อจท. โดยเรานำ “คู่มือครู” มาเป็นตัวอย่าง

เนื้อหาในคู่มือครูนั้นไม่แตกต่างจากหนังสือที่นักเรียนใช้เรียน แต่จะมีการเน้นจุดต่างๆ ให้ชัดเจนและล้อมกรอบเนื้อหาเพิ่มเติม รวมถึงการแนะนำให้นักเรียนทำกิจกรรมเสริมความรู้ต่างๆ และแนวคำถามที่จะถามนักเรียน

โดยสรุปคร่าวๆ พบว่า ทั้งสองสำนักพิมพ์ อธิบายการระลอกการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่ามีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ที่พยายามเปลี่ยนระบบการบริหาร การตั้งดุสิตธานีในรัชกาลที่ 6 การตั้งอภิรัฐมนตรีในรัชกาลที่ 7 ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม อจท.นั้นมีเนื้อหาที่สั้นกว่ามาก ขณะที่ วพ.มีรายละเอียดต่างๆ มากกว่าและอธิบายยาวมาถึงช่วงของ “เสรีไทย” และยังมีการพูดถึงความพยายามเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงให้เป็นประชาธิปไตยตั้งแต่สมัย ร.5 อย่าง คำกราบบังคมทูล ร.ศ.103 นำโดยพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เจ้านาย และข้าราชการด้วย


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.