Posted: 24 May 2017 04:41 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ สนทนากับ ‘ประชาไท’ แบบยาวๆ ทบทวนเหตุการณ์ในชีวิต บทเรียน ความผิดพลาด ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 การร่วมชุมนุมกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ถึง 3 ปีรัฐประหาร
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ สนทนากับ ‘ประชาไท’ แบบยาวๆ ทบทวนเหตุการณ์ในชีวิต บทเรียน ความผิดพลาด ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 การร่วมชุมนุมกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ถึง 3 ปีรัฐประหาร
หลายคำถาม นพ.สุภัทร ยอมรับว่า เขาก็ไม่เคยถามหรือสรุปบทเรียนกับตัวเองและเครือข่ายในพื้นที่ โดยเฉพาะกับการที่เขาและภาคประชาชนภาคใต้จำนวนหนึ่งถูกต่อว่าว่าเป็นนั่งร้านเผด็จการ บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เขามีคำตอบและคำอธิบาย
นพ.สุภัทร เปิดเผยมุมมองการทำงานขับเคลื่อนอย่างชัดเจนว่าคิดและทำอย่างไร เขามองไปในอนาคตว่า ความแตกแยกทางความคิดที่เกิดขึ้นในหมู่เอ็นจีโอและภาคประชาชนที่เอา-ไม่เอารัฐประหารจะมีผลต่อการขับเคลื่อนประชาธิปไตยฐานรากอย่างไร
ช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อ 25 ปีที่แล้ว คุณหมอทำอะไรอยู่
ตอนนั้นผมเป็นนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬา (อบจ.) ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การตั้งแต่ช่วงรัฐประหารโดย รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ตอนนั้นก็มีนักศึกษารามฯ 15 คนออกไปประท้วง รสช. แล้วโดนจับ พวกเราซึ่งตอนนั้นเป็นพรรคที่ลงสมัคร อบจ. ชื่อว่า จุฬาฯ ฟ้าใหม่ ก็รวมตัวกันออกแถลงการณ์ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกกับให้ปล่อยนักศึกษาทั้ง 15 คน พอหลังจากรัฐประหารได้สัก 4-5 วันก็ได้รับการปล่อยตัว แต่คงไม่ได้ปล่อยเพราะหรอก หลังจากนั้นผมก็เป็นนายก อบจ. จนถึงช่วงพฤษภาทมิฬ และตอนนั้นก็ไม่ได้เป็นนายก อบจ. แล้วเพราะหมดวาระ แต่ยังเป็นนิสิตแพทย์ปี 5 อยู่
ช่วงที่อยู่ อบจ. ก็ทำงานร่วมกับสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เป็นหลัก ทำกิจกรรมต่อต้าน รสช. กันตามสมควร พอมาถึงช่วงพฤษภาทมิฬ ก่อนที่ทหารจะบุกสลาย ผมอยู่ราชดำเนิน แต่ราวๆ เที่ยงคืนผมกลับก่อน ตอนที่เดินกลับหอก็ยังรู้สึกว่า ทำไมคืนนี้ทหารเยอะผิดปกติ แต่ก็ไม่ได้เอะใจอะไรมาก เพราะคิดว่าทหารก็มาเยอะกันอยู่แล้ว แต่เห็นอาวุธครบมือ พอรุ่งเช้าก็ได้ข่าวว่าเขายิงกัน เราก็ไปดูเหตุการณ์ แต่พอไปถึงมันเข้าไม่ได้ เจอเพื่อน เพื่อนก็ชวนกันไปอยู่เซฟเฮาส์ เพราะตอนนั้นอะไรมันยังไม่แน่นอน อยู่ที่นั่นได้ 2-3 วันพอเหตุการณ์สงบ สุจินดา (คราประยูร) ประกาศยอมแพ้ เราก็กลับไปเรียนหนังสือ
ตอนนั้นคุณหมอมีบทบาทอะไรในการเคลื่อนไหว
ตอนนั้นก็เป็นผู้ร่วมชุมนุมในนาม สนนท. ช่วงหลังๆ พี่เอก ปริญญา (เทวานฤมิตรกุล) ก็เป็นคนนำ นอกนั้นก็มีผม กับสมเกียรติ จันทรสีมา นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพื่อนจากรามฯ เป็น 3 ทีมหลักที่ช่วยกัน แต่วันนั้นผมก็แค่ไปร่วมชุมนุม ไม่ได้มีบทบาทอะไรมาก มีขึ้นปราศรัยบ้าง แต่ช่วงหลังก็ไม่ได้ขึ้นแล้วเพราะคนขึ้นกันเยอะกระแสเริ่มสูง
จากเหตุการณ์การชุมนุมของคนเรือนแสนจนนำไปสู่การล้อมปราบ ชีวิตของคุณหมอหลังจากนั้นดำเนินไปอย่างไร กลับมาครุ่นคิดกับเหตุการณ์นี้อย่างไร
หลังพฤษภาทมิฬ มันมีปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งขององค์การนักศึกษาของขบวนนักศึกษาก็คือ ต้องมีการเลือกตั้งเลขาธิการ สนนท. คนใหม่ นี่เป็นโจทย์ยากมากโจทย์หนึ่ง ดูเหมือนขบวนการนักศึกษาจะมีความโดดเด่น แต่ข้างในอ่อนแอมาก เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีกิจกรรมที่ไม่ได้เสริมสร้างบทบาทของนักศึกษาต่อสังคมเท่าไหร่ ตอนนั้นเราก็เลยจับผลัดจับผลูมาเป็นเลขาธิการ สนนท. หลังจากนั้นเราก็มาทำเรื่องติดตามคนหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม ร่วมกับคณะกรรมการญาติวีรชน และทำเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งสุดท้ายก็ผ่าน มีการนิรโทษผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ล้อมปราบด้วย คือตอนนั้นเขาตั้งใจนิรโทษให้กับทหาร ไม่ได้ตั้งใจนิรโทษให้ประชาชน กระแสสังคมก็ไม่ยอมรับอยู่ช่วงหนึ่งแต่สุดท้าย พ.ร.บ. ก็ผ่านการพิจารณา
ถ้าถามว่าผมคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร คือผมเติบโตมากับสายชมรมค่ายชนบท ออกไปหมู่บ้าน เราออกไปเรียนรู้หมู่บ้านที่สวยงาม เรียนรู้ความยากจน ความลำบาก ยิ่งเรียนหมอก็อยากไปอยู่ชนบท อยากไปอยู่กับชาวบ้าน ผมเติบโตมาอย่างนั้น ไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองมาก แต่พอออกค่ายมากขึ้นก็เริ่มรู้สึกว่าโครงสร้างสังคมมันมีปัญหา และมันก็เริ่มเห็นชัดขึ้น พอมาถึงเดือนพฤษภาคม มันก็ชัดเจนว่าปัญหาของสังคมไทยต้องไปแก้ที่โครงสร้าง แก้ที่ปัญหาประชาธิปไตย เราไม่สามารถกลับไปทำกิจกรรมส่งเสริมอาชีพทำให้ชาวบ้านหายจนได้ละ เพราะวิธีคิดมันเปลี่ยนไป มุมมองต่อการพัฒนาชนบทก็เปลี่ยนไป แต่เราก็ไม่คิดว่ามันเปลี่ยนได้นะ ตอนนั้นก็เห็นแล้วว่า ส.ส. ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้เป็นความหวัง แต่ด้วยความที่ตอนนั้นเรียนหมอก็ต้องเรียนให้จบ แล้วไปอยู่บ้านนอกตามความตั้งใจ
หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็นำไปสู่ความพยายามปฏิรูปการเมือง ช่วงเวลานั้นคุณหมอมีส่วนร่วมอย่างไร
ตอนนั้นผมเรียนจบกลับไปอยู่บ้านนอกแล้ว ไปอยู่โรงพยาบาลอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ไปเป็นหมอทำงานพื้นฐานดูแลผู้ป่วย ฝึกวิทยายุทธรักษาโรค ไม่ค่อยได้ข้องเกี่ยวกับการเมืองเลยในช่วงปี 2537-2539 แต่พอมาช่วงกระแสรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ช่วยบ้าง ช่วยทำขบวนในสงขลาซึ่งเขาก็มีการรวมตัวกันของเอ็นจีโอ สงขลาตอนนั้นกลายเป็นเมืองหลวงของ NGOs ภาคใต้ เราก็ช่วยๆ กัน แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นมาก
หลังจากผมอยู่ที่สะบ้าย้อย 4 ปี ช่วงนั้นน่าจะมีงานเดียวที่เป็นงานการเมืองหน่อยๆ คือการคัดค้านการสร้างถนนที่ตัดผ่านป่าในเทือกเขาสันกาลาคีรีไปเชื่อมกับประเทศมาเลเซีย เราก็ไปช่วยชาวบ้านคัดค้าน ไปเดินป่ากับชาวบ้าน แล้วก็ออกแถลงการณ์บ้าง จากนั้นก็ย้ายมาจะนะ ช่วงนี้แหละที่น่าสนใจ ตอนนั้นปี 2542 โครงการโรงแยกแก๊สซึ่งทางมาเลเซียเป็นคนเริ่มต้น มีการประชาสัมพันธ์ มีการทำขบวนในชุมชนแล้ว พอเราย้ายมาก็มาเจอชาวบ้านพูดกันเรื่องท่อแก๊ส ก็ไปฟังชาวบ้านคุย และให้ความเห็นในมิติการพัฒนาในแบบที่เราอยากให้เป็น ก็อินกับชาวบ้านไปเรื่อย ชาวบ้านเขาก็ไปเอาอีไอเอฉบับภาษาอังกฤษมาให้อ่าน ผมก็อ่านแล้วก็เอามาเล่าให้ชาวบ้านฟัง เริ่มสนิทกับชาวบ้านตั้งแต่นั้นและเข้าสู่กระบวนการคัดค้านท่อแก๊ส
เรียกว่าค่อยๆ พาตัวเองเข้าสู่ภาคประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ
ใช่ กระบวนการคัดค้านท่อแก๊สเรียกได้ว่าเป็นการหล่อหลอมใหม่ของผมเลย เพราะว่าเราเข้าหมู่บ้านเยอะมาก เขาไปคุยชาวบ้าน 5 คน 10 คน ไปทำกระบวนแบบบ้านๆ เลย เรียกว่าจัดตั้งมวลชนเลย จัดตั้งที่ละหมู่บ้าน ทีละกลุ่ม ไปกินข้าวบ้านเขาคุยกัน แต่เวลาชาวบ้านทำม็อบผมจะไม่ค่อยไป เพราะมันเป็นเวลาราชการ ผมไม่อยากมีปัญหา
แต่สุดท้ายแล้วโรงแยกแก๊สก็เกิดขึ้น
ใช่ เพราะอำนาจรัฐตอนนั้นมหาศาลที่ไปกระทำกับชาวบ้าน ทุบชาวบ้านก่อนเลยที่เจดี 2545 ทุบเสร็จก็ฟ้องระนาว ชาวบ้านโดนคดีสี่สิบห้าสิบคน แล้วจากนั้นก็ส่งทหารตำรวจมาเฝ้าสถานที่ก่อสร้างกันเป็นพันคน
แล้วการที่คุณหมอเข้าไปมีส่วนร่วมในการคัดค้านการโรงแยกก๊าซจะนะ มีผลต่อเนื่องในทางความคิด หรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเวลาต่อมาอย่างไร
ตอนที่ผมอยู่จุฬาฯ อยู่กับ สนนท. ผมก็ฟังนักวิชาการเยอะนะ สุดท้ายผมก็อินกับแนวทางประมาณว่า ต้องยึดอำนาจส่วนบน เพื่อแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบาย สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เพราะตอนนั้นเราอยู่ใกล้ศูนย์กลางอำนาจ แต่พอไปทำงานกับชาวบ้านเยอะและอยู่ไกลจากศูนย์กลาง เราก็ไม่ค่อยมีบทบาทในเชิงนโยบาย มันก็กลับมาสู่คำตอบเดิมว่า หรือว่าคำตอบอยู่ที่ชุมชน หมู่บ้าน เหมือนอย่างตอนที่เราออกค่าย คือตอนออกค่ายทฤษฎีหลักคือคำตอบอยู่ที่หมูบ้าน พอมาเป็น อบจ. เป็น สนนท. คำตอบมันกลายเป็นว่าการแก้ปัญหาต้องแก้ไขที่โครงสร้างส่วนบน พอกลับไปสู่เรื่องท่อแก๊ส เรากลับมารู้สึกว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนข้างล่างนี่แหละมีความสำคัญ ฉะนั้น คำตอบมันก็อยู่ที่หมูบ้าน ส่วนการแก้ส่วนบนให้พวกกรุงเทพฯ เขาทำกันเยอะๆ ส่วนเราวางบทของตัวเองว่าช่วยกันทำงานจัดตั้งชาวบ้าน จัดตั้งทางความคิด จัดตั้งกองกำลัง เพราะตอนนี้ชาวบ้านเข้มแข็งมาก เข้มแข็งขนาดว่าปิดถนน ตั้งด่านตรวจกัน และผลัดเปลี่ยนเวรยามกัน ตำรวจจะผ่านเข้าไปก็ต้องขออนุญาต และตรวจอาวุธก่อน แต่งานนี้ไม่ใช่งานผมเป็นงานของเอ็นจีโอ ผมเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น
รัฐธรรมนูญ 2540 มีการรับรองสิทธิมากมาย ขณะเดียวกันก็เกิดรัฐบาลที่มีอำนาจเข้มแข็งมาก
ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ดีนะ รัฐบาลข้างบนเขาก็ฉวยโอกาสรวมกันตั้งรัฐกับทุน และก็เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมกับโครงสร้างรัฐธรรมนูญใหม่มากขึ้น กับองค์กรใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ผมว่ารัฐและทุนมันก็คงพัฒนาไปสู่ทิศทางที่ร่วมกันอยู่แล้ว มันเป็นเทรนด์ของโลก ไม่ใช่เทรนด์ของประเทศเราอย่างเดียว ประชาธิปไตยต้องเป็นอิสระจากรัฐและทุน อาจารย์เกษียร (เตชะพีระ) แกเขียนไว้นานแล้วเป็นบทความชิ้นสำคัญที่ชี้นำทางความคิดเมื่อช่วงหลังพฤษภาทมิฬ ช่วงรัฐธรรมนูญ 2540 ชาวบ้านทางภาคใต้ก็อินกับงานชิ้นนี้ ชาวบ้านต้องเข้มแข็ง เราก็กลับไปทำให้ชาวบ้านเข้มแข็ง
คุณหมอกำลังพูดเรื่องการรักษาฐานทรัพยากรเป็นหลัก
ใช่ หลังๆ เราเคลื่อนเรื่องฐานทรัพยากร ประชาธิปไตยเป็นเรื่องรอง เวลาคุยกับชาวบ้านก็คุยเรื่องจะทำอย่างไรให้พื้นที่เรารักษาความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้ ซึ่งแบบนี้น่าสนใจมาก ถ้ามีเผด็จการเข้ามารักษาความอุดมสมบูรณ์ไว้ รักษาฐานชีวิตของชาวบ้านไว้ เรารับได้ไหม คำตอบแนวโน้มของชุมชนคือ รับได้ ก็ไม่มีอะไรแนวคิดเขาคือการปกป้องบ้านเกิด ฉะนั้น ใครเขามาแล้วช่วยเขาปกป้องบ้านเกิดปกป้องฐานทรัพยากรเขาก็ยินดี อย่างกรณีทักษิณ เราก็ให้เวลาเขานะ ตอนที่เราต่อสู้เรื่องท่อแก๊ส ทักษิณก็มาเยี่ยมชาวบ้านที่ลานหอยเสียบ ชาวบ้านก็ให้การดูแลต้อนรับอย่างดี ด้วยความหวังว่าจะฟังชาวบ้าน เข้าใจ และกลับไปยุติโครงการ แต่กลับไปได้ไม่กี่สัปดาห์ก็ประกาศเดินหน้าต่อ จากนั้นก็เลิกคบกันไป คสช. ก็เหมือนกัน แรกๆ ก็ดูจะมีความหวังแต่สุดท้ายก็เหมือนกัน
แล้วตัวคุณหมอเองคิดเหมือนชาวบ้านหรือเปล่า จะปกครองระบอบอะไรก็ได้ ขอแค่รักษาฐานทรัพยากรไว้
ใช่ ผมก็คิดเหมือนชาวบ้าน แต่มันก็ได้พิสูจน์แล้วว่า การปกครองแบบเผด็จการมันไม่มีหรอกที่จะมาคิดเรื่องการรักษาฐานทรัพยากรในพื้นที่ ผมคิดว่าการปกครองแบบไหนก็เลวทั้งนั้น ไม่เคยเห็นหัวชาวบ้านสักแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเผด็จการรัฐสภาหรือเผด็จการทหาร
แต่อย่างน้อยรัฐบาลที่มาจากการเรื่องตั้งอาจจะคุยได้ง่ายกว่า ล็อบบี้ได้ง่ายกว่า
เห็นด้วยโดยหลักการ แต่ถ้าชาวบ้านเข้มแข็งเผด็จการแบบไหนเราก็สามารถต่อรองได้ เผด็จการโดยทุนมันก็เลวไม่แพ้อำนาจปืนเพราะเงินมันหนา เผด็จการโดยปืนมันเห็นชัด สู้กับมันก็ไม่ยาก เพราะมันแบกปืนมาสู้กับเรา มันก็ไม่มีความชอบธรรม แต่เผด็จการโดยทุนมันแอบแจกเงิน ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ทุกวันนี้ก็เป็นเผด็จการโดยทุน เขาก็ทำเหมือนกัน เอาเงินแจกชาวบ้านกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้าเพื่อสลายอำนาจของชาวบ้าน ซึ่งมันจัดการยาก
ในมุมมองของคุณหมอที่ทำงานกับภาคประชาชน ช่วงสมัชชาคนจนเกิดขึ้นเรียกได้ว่าช่วงนั้นเป็นยุคเฟื่องฟูสูงสุดของเอ็นจีโอ แต่พอผ่าน 2549 มาบทบาทของเอ็นจีโอกลับตกลง คุณหมอคิดว่าเป็นเพราะอะไร
ช่วงที่บทบาทของภาคประชาชนและเอ็นจีโอจะลดลง ขบวนการของชาวบ้านถูกทำลายจากหลายขบวนนะ ไม่เฉพาะอำนาจรัฐเท่านั้น เมื่อก่อนชาวบ้านสู้กับอำนาจรัฐด้วยวิธีเดียวคือชุมนุมประท้วง รวมตีนกัน เพราะช่องทางอื่นมีน้อย แต่พอรัฐธรรมนูญ 2540 ช่องทางการต่อสู้เพิ่มขึ้น ช่องทางในเชิงวิชาการ สมัชชา เวทีต่อรองมากขึ้น หรือแนวคิดนโยบายสาธารณะ เหล่านี้ผมว่ามีส่วนที่ทำให้แนวทางของชาวบ้านเปลี่ยนไป ไปใช้ช่องทางพวกนี้มากขึ้น พลังที่เคยมีก็ถูกผ่าออกไป
ช่องลอบบี้ ช่องเจรจาพวกนี้ สุดท้ายอาจจะชนะก็ได้ ชนะในเชิงประเด็น แต่ว่าในเชิงความเข้มแข็ง มันไม่ชนะ เอ็นจีโอเกินครึ่งรวมทั้งภาคประชาชนที่เข้มแข็งที่เดิมเคยทำงานมวลชนก็หันไปทำงานเชิงนโยบาย ทำงานประชุม ประชุมกันสารพัด สมัชชาเยอะแยะ มั่วไปหมด ซึ่งผมคิดว่าในมุมหนึ่งมันก็โอเค แต่ในมุมที่สำคัญมันกลับทำให้ชาวบ้านอ่อนแอลง งานรากฐานอ่อนแอลง เพราะงานแบบนั้นไม่ใช่งานชาวบ้าน มันเป็นบทของนักวิชาการผู้รู้ ชาวบ้านเป็นได้แค่ตัวประกอบ เช่น เวลาที่จำเป็นต้องมีม็อบ ชาวบ้านมา 300-500 คนเป็นม็อบตัวประกอบ การฝึกฝนชาวบ้านให้คิด ให้วิเคราะห์มันลดลง อันนี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้ภาคประชาชนอ่อนแอลง ยังไม่นับอำนาจมืดต่างๆ ที่กระทำกับชาวบ้าน ทั้งซื้อ ทั้งแจกเงิน ทั้งข่มขู่
การที่เอ็นจีโอจำนวนหนึ่งเข้าไปมีส่วนเรียกร้องให้เกิดการรัฐประหารเมือปี 2549 นั่นคือสิ่งที่ทำให้ภาคลักษณ์ของเอ็นจีโอตกต่ำด้วยหรือเปล่า
มันทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิดของขบวนภาคประชาชน ซึ่งมีสองฝ่าย สายเหลือง สายแดง มันทำให้แตกแยกกันชัดเจน เอ็นจีโอเองก็ไม่ได้เป็นเอกภาพอยู่แล้ว ก็มีสองสายวิธีคิดอยู่แล้ว วิธีคิดที่พึงพาอำนาจรัฐกับอีกวิธีคิดที่ไม่เอาอำนาจรัฐเลย
ฝ่ายที่ไม่เอาอำนาจรัฐคือฝ่ายที่ไม่สนับสนุนรัฐประหาร?
ไม่สนับสนุนรัฐประหาร แต่อาจจะรวมถึงไม่สนับสนุนทุกรัฐบาลที่มากระทำกับชุมนุมและชาวบ้าน ผมอยู่สายนี้ ผมคิดว่าคงเป็นเพราะผมเติบโตกับชาวบ้านจนอินกับชาวบ้านไปแล้ว ผมก็อยู่ในสายที่ถือว่าคำตอบของชาวบ้านคือคำตอบสูงสุด หากชาวบ้านเลิกค้านท่อแก๊ส เลิกค้านถ่านหิน ผมก็เลิกเหมือนกัน
หลังๆ มาฝ่ายเรามีข้อสรุปว่าค้านทุกรัฐบาล คือยังเอาระบอบการเลือกตั้งอยู่ ถ้ารัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลที่ดี ฟังเสียงชาวบ้านเยอะๆ ซึ่งฟังเสียงชาวบ้านกับตามใจชาวบ้านไม่เหมือนกันนะ มันต้องมีการจัดกระบวนเพื่อให้ได้คำตอบที่ชาวบ้านรับได้ ฟังเสียงชาวบ้านแล้วก็มุ่งหน้าไปเป็นความหวังที่ดี
รัฐบาลที่ดีของคุณหมอไม่ใช่ดีในเชิงศีลธรรม แต่ดีในเชิงกระบวนการที่จะทำให้ชาวบ้านเข้มแข็ง
ใช่ เพราะรัฐบาลเชิงศีลธรรมมันไม่มีอยู่แล้ว แต่รัฐบาลที่จะฟังเสียงชาวบ้านจริงๆ ไม่มีหรอก มั่นใจว่าไม่มี อันนี้เป็นข้อสรุปของเอ็นจีโอใต้ว่า ต้องรบนายถึงจะหายจน รบเพื่อสถาปนาอำนาจชาวบ้านขึ้นมา ไม่ใช่รบเพื่อชนะรายประเด็น แต่ว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านสถาปนาอำนาจที่เป็นประชาธิปไตยทางตรง ในการดูแลชุมชนและท้องถิ่นต่อไป ตอนหลังทัศนะมันก็ไหลมาทางอนาคิสต์ แต่มันก็เป็นรูปแบบประชาธิปไตยทางตรงอย่างหนึ่งถ้าไม่สามารถหวังกับผู้แทนได้ แต่เผด็จการไม่ต้องหวังอยู่แล้ว
"ถ้าชาวบ้านเข้มแข็งเผด็จการแบบไหนเราก็สามารถต่อรองได้ เผด็จการโดยทุนมันก็เลวไม่แพ้อำนาจปืนเพราะเงินมันหนา เผด็จการโดยปืนมันเห็นชัด สู้กับมันก็ไม่ยาก เพราะมันแบกปืนมาสู้กับเรา มันก็ไม่มีความชอบธรรม"
แต่คนอีกจำนวนมากมองว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหวังได้ อย่างการเข้ามาของทักษิณก็ทำให้เกิดประชาธิปไตยที่กินได้จริงๆ ขึ้นมา
เราไม่เถียงว่ากินได้ แต่มันยังล้างผลาญทรัพยากรและไม่ฟังเสียงชาวบ้าน เพราะภาคใต้ยังถูกกระทำด้วยโครงการขนาดใหญ่ที่ทำลายล้าง คือมันเอาหมู่บ้านเราออกทั้งหมู่บ้านเลยนะ ให้ไปอยู่ที่อื่นเลย ทะเลมันก็ยึดเพราะจะสร้างท่าเรือ แทนที่จะทำประมงพื้นบ้าน กรณีถ่านหินเทพา มันไล่ชาวบ้านออกเป็นพันคน แต่ก็ยังที่ดีที่ให้เงินชดเชยตามสมควร มันคือการยึดเอาดื้อๆ เป็นอาณานิคมแบบใหม่ ถามว่าอีสานโดนไหมแบบนี้ ก็คงโดนบ้าง แต่ว่าทางใต้มันหนักกว่าอันนี้ก็เป็นความสับสนในผมนะ ผมไม่มีจุดยืนอะไรมากมาย คนเที่ยวหาว่าผมมีจุดยืนเยอะแยะ ผมก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ช่วงที่ไป กปปส. มันก็โอเคนะ ชาวบ้านมีความสุขที่ได้ไปรบนาย
คุณหมอคิดว่าการที่ไปร่วมกับ กปปส. แล้วไปดึง คสช. ออกมาเป็นความผิดพลาดไหม
เราไปตอนแรก เราก็ไม่ได้อยากให้ คสช. ออกมา พอไปสักพักใหญ่ เราก็พอจะเดาได้แล้วว่ามันแย่แล้ว แย่มากด้วย แต่ว่าจะยังไงล่ะ จะทิ้งชาวบ้าน ก็ชาวบ้านเขาไม่ถอย เราจะถอย แล้วทิ้งชาวบ้านก็กระไรอยู่ ก็ร่วมไป แต่เราเห็นแล้วว่ามันไม่เวิร์ค
คุณหมอเอาชาวบ้านมาอ้างหรือเปล่า
ก็แล้วแต่จะคิด แต่เราเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับสุเทพ (เทือกสุบรรณ) ทุกเรื่อง อันนี้ชัดเจน เราไม่เห็นด้วยกับเผด็จการรัฐสภา และเราก็ไม่อยากได้รัฐประหาร แต่พอมันรัฐประหารแล้ว เราจะมาด่ามันเลย ชีวิตก็จะอยู่ลำบาก เห็นด้วยกับมันมั้ย เราไม่เห็นด้วย ด่ามั้ย ด่า แล้วทำยังไงกับมัน เราคิดและเราทำ แต่เราคิดและทำแบบคนใต้
สรุปว่าไม่เอาเผด็จการรัฐสภา ไม่เอาเผด็จการทหาร แล้วก็ไม่เชื่อในระบอบผู้แทน สรุปแล้วจะเอาอะไร จะเอาอนาคิสต์? หรือประชาธิปไตยทางตรง?
ไม่รู้ เราไม่รู้คำตอบสุดท้าย แต่เรารู้ว่าสามอย่างนั้นพึ่งไม่ได้ ผู้แทนอาจจะพึ่งได้ แต่พึ่งได้เป็นครั้งคราว จุดยืนของเราคือปกป้องฐานทรัพยากรให้ปลอดจากการรุกรานจากรัฐและทุน พูดง่ายๆ คือคนในพื้นที่ขอกำหนดอนาคตตัวเอง เพราะที่ผ่านมาคนข้างบนกำหนดให้เราตลอด ทีนี้จะกำหนดอย่างไร มันก็ต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นไม่ใช่เพียงแค่มารับฟังความคิดเห็น แต่ต้องมีอำนาจตัดสินด้วย ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ต้องสร้างฐานมวลชนให้เข้มแข็งเพื่อสร้างดุลอำนาจในการต่อรอง แต่ต้องอยู่ในกรอบที่สังคมรับได้คือไม่ใช้ความรุนแรง ใช้แนวทางสันติวิธีส่งเสียงออกมา ประท้วงบ้าง ปิดถนนบ้าง มันดูเป็นกึ่งอนาคิสต์นั่นแหละ แต่ว่าเราจะพัฒนารูปแบบประชาธิปไตยแบบไหนล่ะ
ความพยายามในการรักษาฐานทรัพยากรแบบนี้ ความพยายามรักษาวิถีชีวิตที่เคยเป็นมา ด้านหนึ่งมันเป็นฐานคิดแบบอนุรักษนิยมหรือเปล่า ซึ่งเป็นฐานคิดหลักที่ปะทะกับประชาธิปไตยทุกวันนี้
ผมว่าเป็นคำถามที่วิชาการเกินไป ไม่รู้จะแยกกันไปทำไม คือคำว่ารักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติ มันไม่ได้แปลว่าปล่อยให้อยู่แบบเดิมนะ มันแปลว่าเราขอกำหนดอนาคตของพื้นที่เราเอง มันก็เป็นประชาธิปไตยแบบหนึ่ง มันใช่ประชาธิปไตยแบบที่เสียงส่วนมากบอกให้เราเป็นอุตสาหกรรมแล้วเราก็ต้องเป็น แบบนั้นมันไม่ถามอะไรเราเลย ถึงถามก็ไม่เคารพเสียงชาวบ้านเลย แล้วเราก็ทำงานพัฒนาแบบเรา ปะการังเทียมแบบที่เอารถถังเก่ามาทิ้ง แบบนั้นไม่ต้อง เราทำกันเอง ชาวบ้านดูแลชายหาดเอง ไม่ต้องพึ่งพารัฐ มันก็มีความพยายามในการทำงานพัฒนา ไม่ได้ทำแต่งานร้อนหรืองานสู้รบอย่างเดียว เราสร้างรูปแบบการพัฒนาที่ใช่ สวนยางเราก็ทำสวนผสมผสาน ไม่ได้มีแต่การปลูกแต่พืชเชิงเดียวมีการสร้างรูปธรรมขึ้นมา นาข้าวก็เป็นนาอินทรีย์ ซึ่งผมว่านี่เป็นประชาธิปไตยแบบหนึ่งที่อาจจะไม่ใช่เรื่องของโครงสร้างส่วนบน ไม่สนใจจำนวน ส.ส. จะมีกี่คน ส.ว.จะมาอย่างไร เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่ามาจากไหนก็จะถูกระบบกลืน
ตอนพฤษภา 2535 พลังหลักที่ไล่ทหารกลับไปคือ ชนชั้นกลาง ในขณะที่ 2549 และ 2557 พลังที่เรียกทหารกลับมาก็คือชนชั้นกลาง ทำไมชนชั้นกลางในช่วง 25 ปีนี้ถึงเหวี่ยงได้สุดขั้วขนาดนี้
ไม่รู้เหมือนกันนะกับชนชั้นกลาง ผมว่ามันเป็นเรื่องกระแส
คุณหมอกับชาวบ้านที่เคลื่อนไหวเป็นชนชั้นกลางไหม?
ผมน่ะเป็นชนชั้นกลางแน่ แต่ชาวบ้านไม่ใช่ เขาเป็นเกษตรกรรม เป็นชาวประมง ฐานหลักเขาเป็นฐานเกษตรไม่ได้มีฐานอาชีพบริการอย่างเราๆ
แต่รายได้ที่มันเพิ่มขึ้น แรงปรารถนา ไลฟสไตล์ที่เปลี่ยนไปไม่ทำให้เขาเป็นชนชั้นกลางเหรอ?
ไม่นะ ทุกวันนี้เขาก็ยังลำบากอยู่ ไม่เหมือเรา วิธีคิดก็ยังไม่ใช่ เขายังคิดแบบเกษตรกร ไม่ได้โลภมาก คือถ้าเป็นชาวบ้านจริงๆ เขาจะไม่โลภมาก จะไม่จับบปลาให้หมดทะเล เขาจะใช้อวนตาใหญ่ ปลาเล็กก็ปล่อยไป ยังมีวิธีคิดแบบชาวบ้านอยู่ไม่ได้คิดถึงกำไรสูงสุดหรือเรื่องผลประโยชน์เป็นหลัก ซึ่งต่างจากชนชั้นกลางที่เป็นเรื่องของกระแสซะเยอะ ชนชั้นกลางไม่มีจุดยืนอยู่แล้ว ก็ตามกระแสกันไป กระแสไล่ทักษิณเด่นก็ตามกระแสกันไป
ชนชั้นกลางรู้สึกไม่มั่นคงเพราะชนชั้นล่างมีอำนาจผ่านการเลือกตั้ง เลยคิดว่าอยากจะให้ทุกอย่างถูกหยุดไว้แบบเดิม
ชนชั้นกลางคือคนที่ไม่คิดอะไรมาก คนที่คิดคือนักวิชาการหรือไม่ก็ชนชั้นกลางที่ใกล้ชิดนักวิชาการที่คิดมาก ชนชั้นกลางแค่มีความสุขกับการบริโภคนิยม และเล่นไปตามกระแสไม่ได้คิดอะไรมากขนาดนี้ ชาวบ้านต่างหากที่คิดเพราะเขาถูกกระทำจากอำนาจรัฐ อันนี้เขาคิดเยอะ แต่เขาจะแสดงออกอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ตอนที่มีการล้มการเลือกตั้งคุณทำอะไรอยู่
ตอนนั้นก็มาบ่อยอยู่ เอารถพยายามขึ้นมาด้วย แต่ไม่ได้ไปล้มการเลือกตั้งกับเขา แต่ก็โอเคว่าอันนี้มันเป็นยุทธศาสตร์ แต่ก็ไม่ถูกอยู่แล้วที่ไปจำกัดสิทธิของคนอื่น คือมันยากนะเมื่อเราเอาตัวเข้าไปอยู่ในขบวน มันมีแค่ขาวกับดำในการต่อสู้ มันเป็นสีเทาไม่ได้ ถ้าเราอยู่ในขบวนการต่อสู้ ประสบการณ์ส่วนตัวมันเป็นอย่างนั้น ยกตัวอย่างเช่นกรณีค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน มันก็มีแค่สองทางคือสร้างกับไม่สร้าง รัฐบาลบอกว่าถ้าอย่างนั้นขอสร้าง แต่ลดขนาดลง 4 เท่า จาก 2,000 เมกะวัตต์เหลือ 500 เมกะวัตต์ มันก็อาจจะพอถูไถ แต่ว่าในกระบวนการต่อสู้มีแค่เอากับไม่เอา ถูกต้องมันเป็นข้อจำกัด คือจริงๆ เราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับ กปปส. ในทุกเรื่อง แต่กระบวนการต่อสู้มันก็ต่อไปด้วยกัน ตกกระไดพลอยโจนเปล่าไม่รู้ แต่รู้ว่ามันต้องสู้ไปด้วยกัน และจะโดนหักหลังอีกทีค่อยมาว่ากัน
ทำไมรอบนี้ คสช. ถึงอยู่ได้นานถึง 3 ปี
ต้องโทษคนกรุงเทพนี่แหละ จริงๆ การล้มรัฐบาลหรือการสถาปนารัฐบาลมันอยู่ที่กรุงเทพ ไม่ได้อยู่ที่ต่างจังหวัด
แต่ว่าคุณหมอก็มา ชาวบ้านที่จะนะก็ขึ้นมาเรียก คสช.
คือขึ้นมาก็ได้เท่านั้นแหละ คสช. เก่งกว่าสุจินดา เก่งกว่า คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) เยอะ คมช. นี่ก็เลอะเทอะอยู่แล้ว ส่วน รสช. เราออกมาประท้วงอะไรก็ไม่ห้าม ประท้วงปิดโปสต์เตอร์ที่ป้ายรถเมล์ก็ติดกันเข้าไป พอตอนค่ำหรือตอนเช้าทหารก็มาแกะออก แต่เขาไม่ได้ห้ามเราติด ประท้วงก็ประท้วงไป แต่ คสช. คงสรุปบทเรียนแล้วว่าถ้าปล่อยให้เป็นแบบนั้นต่อไปคงขยายตัว เขาเลยบล็อคทุกทางและทำการประชาสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพพอสมควร
มันก็จะกดการเคลื่อนไหวของชาวบ้านด้วย แล้วอย่างนี้คนจะนะ คนในพื้นที่ที่คุณหมอใกล้ชิดด้วย เขาคิดว่าฉันทำพลาดไปหรือเปล่า
ไม่รู้เหมือนกัน เพราะมันไม่มีวงคุยเรื่องพวกนี้
ทำไม? กลัวความแตกแยก?
อาจจะเพราะไม่มีใครไปชวนคุยมั้ง เพราะปกติเราคุยเรื่องไปข้างหน้า ไม่ได้สรุปบทเรียนในอดีตเท่าที่ควร
ถ้าอย่างนั้นบทเรียนประการหนึ่งคือควรมีการสรุปบทเรียน?
ควร โดยทฤษฎีควรต้องทำอยู่แล้ว เมื่อถึงจังหวะที่ใช่ เพราะการสรุปบทเรียนต้องยอมแก้ผ้า ถอดตัวเอง
ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่
ตอนนี้น่าจะยัง น่าจะยังไม่ถึงอารมณ์นั้น สำหรับพื้นที่ผมนะ พื้นที่อื่นผมไม่รู้
คุณหมอมองว่าการที่ คสช. กำลังกดปราบมันเป็นการกดพลังของชาวบ้านด้วย
แน่นอน แต่มันก็สะท้อนให้เห็นถึงพลังของพี่น้องด้วยนะว่าไม่แกร่งจริง พี่น้องภาคเหนือ ภาคอีสาน แกร่งน้อยกว่าที่ควรจะเป็น พี่น้องภาคใต้ผมยังแกร่งกว่าอีก แต่โอเคละภาคใต้มีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้เขาเคลื่อนไหวได้ อย่างกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เขาคงไม่ได้เกรงใจเรื่องด้วยเรื่องที่เชิญเขามาหรอก เรื่องนี้มันจบไปแล้ว ตอนนี้เราก็ด่าเขาชาวเย็น ตอนนี้ชาวบ้านเขาชัดนะและขบวนการเคลื่อนไหวในภาคใต้ก็ชัดว่า สิ่งที่เราทำคือการสถาปนาอำนาจภาคประชาชน ฉะนั้น เรามีหน้าที่แซะอำนาจรัฐ แซะไปเรื่อยในทุกโอกาสที่ทำได้ ภายใต้เงื่อนไขที่เราทำได้ เพราะก็ต้องเซฟชาวบ้าน เซฟตัวเอง เพราะมันเอาจริง
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพไปเยอะมาก ถ้าคุณหมอเชื่อเรื่องการสร้างความเข้มแข็งจากข้างล่าง อย่างไรก็แล้วแต่รัฐธรรมนูญย่อมมีผล เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นอย่างนี้แล้ว ขบวนชางบ้านจะทำอย่างไร
ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต้องช่วยถล่มกันต่อไป ตามเงื่อนไขที่มี แต่ว่าความอินของชาวบ้านต่อประเด็นรัฐธรรมนูญที่แย่ มันมีน้อย แต่เราเองก็เห็นว่ามันแย่ ชาวบ้านอินกับเรื่องฐานทรัพยากร เพราะมันเป็นเรื่องใกล้ตัว ใกล้บ้าน แต่ผมว่าสุดท้าย เราก็ต้องช่วยกันทำงาน อย่างคนกรุงเทพฯ ก็ต้องจัดการเรื่องการเมืองโครงสร้างเยอะๆ ชาวบ้านก็ต้องปกป้องฐานทรัพยากรให้เต็มที่ ถ้าสองสายมาช่วยกันจะมีความหมายในการเปลี่ยน เรียกร้องให้ชาวบ้านมาทำเรื่องรัฐธรรมนูญมันผิดฝาผิดตัวไปหน่อย
อย่างนี้วิจารณ์ได้ไหมว่าการทำงานของภาคประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ อาจจะมุ่งเน้นเรื่องฐานทรัพยากรจนกระทั่งมองไม่เห็นการเชื่อมโยงกับกติกาที่เป็นโครงสร้างใหญ่ของประเทศ
เห็นบ้าง แต่ทำไม่ไหวมากกว่า ไม่ได้เห็นถึงขนาดอินมากหรือปวารณาตัวเข้ามาลุยอย่างเต็มที่
คุณหมอเรียกร้องให้ส่วนกลางที่อยู่ใกล้อำนาจทำในส่วนข้างบน
คือคนกรุงเทพฯ ไม่มีฐานมวลชน ไม่มีฐานชาวบ้าน ถ้าคุณอยากมีฐานชาวบ้านคุณต้องลงไปทำงานกับชาวบ้าน ซึ่งมันอยาก มันเหนื่อย มันเรียกร้องชีวิตเยอะ ฉะนั้น ผมคิดว่าชนชั้นกลางที่อยู่กรุงเทพฯ นี่แหละที่ต้องมาตาม มาดู ทักท้วง โวยวายเรื่องโครงสร้างให้มากขึ้น และมันก็สอดคล้องกับบทบาทของคนเมืองด้วย สัมมนา ชูป้าย โพสต์เฟซบุ๊กเยอะๆ ซึ่งไม่ใช่วิธีชาวบ้านหรอก
ความแตกแยกทางความคิดจากสถานการณ์การเมืองจะทำให้การทำงานประสานกันแบบที่คุณหมอพูดเกิดขึ้นได้หรือไม่ คนฝั่งหนึ่งไม่เอาทหาร ขณะที่อีกฝั่งบอกไม่เป็นไร กลุ่มที่ไม่เอารัฐประหารอาจจะบอกว่า ถ้าคุณยังไม่สำนึกผิด....
ถ้าคิดอย่างนี้ก็สมควรแล้วที่จะให้ คสช. เจริญรุ่งเรืองต่อไปชั่วกาลนานแสนนาน พูดง่ายๆ ว่าดันแตกกันเองทั้งๆ ที่มีศัตรูร่วมอยู่ ผมถูกกระแนะกระแหนเยอะมากว่าเป็นนั่งร้านเผด็จการ ไปเรียกเขามาบ้าง แต่เราก็ได้ข้อสรุปว่า อย่าไปสนใจมันเลย ไม่เห็นมันจะสู้อะไรกับเผด็จการเลย เอาแต่ด่าเรา แล้วสู้จริงเปล่าก็ไม่รู้ไอ้ที่โพสต์อยู่ แต่เราสู้จริง
เขาสู้ไม่ได้หรือเปล่า เพราะโดนกดปราบอย่างที่คุณหมอบอก
คือถ้าตั้งใจทำมันก็พอฟัดพอเหวี่ยง แต่ต้องค่อยๆ จัดตั้งและสามัคคีกัน หรืออย่างน้อย...นี่มันก็ 3 ปีแล้ว เลิกกระแนะกระแหนกันได้แล้ว แล้วมาดูกันว่าจะลุยกับมันอย่างไร เพราะมันเอาแน่ มันยึดประเทศต่อแน่ เหมาเจ๋อตุงกับเจียงไคเช็กยังรวมกันไล่ญี่ปุ่นก่อนได้เลย ไล่ศัตรูก่อน แล้วมารบกันใหม่
แต่ก็ยังมีฝั่งที่ไม่เอารัฐประหารบอกว่า ถ้าคุณยังไม่ขอโทษและไม่สำนึกผิด...
ก็ตามสบาย คือมันไม่ใช่เรื่องเรียกร้องเพื่อนนะ มันเป็นเรื่องเรียกร้องตัวเราว่าเราจะมีบทบาทอย่างไรกับการสถาปนาประชาธิปไตยใหม่ มันไม่ใช่เรื่องเรียกร้องเพื่อนหรือไปสร้างเงื่อนไข ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นมันไม่ถึงไหน ผมว่าสายพวกผมก็ชัดแล้ว จะสำนึกผิดหรือไม่สำนึกผิดเราไม่คุยมาก เพราะมันมีความหลากหลายในขบวน ไม่เอาทักษิณก็มี ไม่เอาทหารก็มี หรือสำนึกก็มี ไม่สำนึกก็มี แต่สิ่งที่เราคุยกันคือจะสร้างประชาธิปไตยใหม่อย่างไร บทเรียนอันหนึ่งคือไปทำชุมชนให้เข้มแข็งแล้วค่อยต่อรองอำนาจรัฐ
คือถ้าคิดอย่างนี้มันน่าให้เขาอยู่นานๆ นะ ขอโทษแล้วมันจะดีขึ้นเหรอ มันไม่ได้หรอก เพราะมันเป็นการเรียกร้องเพื่อน ซึ่งเพื่อนมีความคิดอันหลากหลาย คุณไม่มีวันจะสถาปนาคนที่จะมาสถาปนาประชาธิปไตยได้หรอก ถ้ายังเรียกร้องเรื่องจุกจิก ความสำนึกผิดจะเกิดทีหลังเองเมื่อถึงเวลา มันจะเกิดเอง ไม่ต้องรีบ ไม่ใช่เรื่องเรียกร้อง ผมมั่นใจว่าคนจะได้บทเรียนเพียงแค่ว่าเขาจะพูดไหม
หมายถึงว่าอาจจะสำนึกผิดแล้ว แต่โดยสภาพการณ์ยังพูดไม่ได้
อาจจะประมาณนั้นก็ได้ หรืออาจจะไม่สำนึกผิดอย่างจริงจัง หรือยังสำนึกถูกอยู่เพราะคิดว่าระบอบทักษิณมันเลวจริงๆ คือเรียกว่าระบอบทักษิณยังไม่ถูกนะ คือระบอบรัฐและทุนที่รวมกันทำกับชุมชนและชาวบ้าน
แล้วตัวคุณหมออยู่ตรงจุดไหน
ผมไม่รู้สึกว่าถูกหรือผิด แต่มันเป็นพัฒนาการทางความคิด และพัฒนาการของตัวเราที่มีบทบาททางสังคม มันเป็นเพียงแค่บริบทตอนนั้นของเรา ซึ่งไม่สามารถชี้ถูก ชี้ผิด และผมก็เลิกตัดสินถูกผิดกับเรื่องนี้ไปแล้ว ผมก็ไม่ได้รู้สึกมีปัญหากับคนเผาศาลากลางนะ เพราะมันเป็นจังหวะ แต่โอเคคุณทำอะไรคุณต้องรับ รับสิ่งที่คุณทำ มันเป็นจังหวะของอารมณ์และชีวิต ไม่เกี่ยวกับสำนึกถูกและผิด มันไม่มีอยู่จริง แท้จริงคือคุณจะทำอะไรให้ดีขึ้น
แต่ในการเคลื่อนไหวของชาวบ้านต้องมีขาวกับดำ?
ในการเคลื่อนไหวมันมีจุดยืนเพื่อการเกาะเกี่ยวกันที่ชัดเจน ถ้าไม่มี มันสร้างขบวนไม่ได้ จะทำได้ยาก การทำขบวนต้องการความชัดถึงจะระดมความร่วมมือได้ แต่กับปัจเจกมันไม่มีถูกผิด มันมีทั้งถูกและผิด แล้วแต่มุมมอง แล้วแต่อารมณ์
ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อนาคตการเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอ NGOs ภาคประชาชนในวันข้างอย่างไร จะต้องเผชิญความท้าทายอะไรบ้าง และจะสู้อย่างไร
บอกยาก ถ้ายังสู้กันแค่นี้แบบนี้ประเทศนี้ก็คงถูกเขางาบไปหมด คือสู้กันแบบรบกันแค่ฐาน ปกป้องบ้านเกิด ปกป้องฐานมวลชน อันนี้พูดถึงสายใต้นะ อาจจะมีบางส่วนที่แตะเรื่องนโยบายหรือไปช่วย คสช. ทำนั่นทำนี่ ก็โดนข้อหานั่งร้านเผด็จการ เข้าไปร่างให้มันดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก็โดนข้อหานั่งร้านเผด็จการ ทำฐานมวลชนอยู่ข้างล่างก็โดนข้อหาไม่สนใจส่วนบน คือถ้ายังเป็นอยู่แบบนี้มันก็ลำบาก และคงไม่ชนะ ก็รอทุนและรัฐรวมหัวกันงาบ อันนี้เป็นโจทย์ยาก ในพื้นที่ก็คุยกันบ้างว่าเราจะค้านโครงการทีละโครงการแบบนี้หรือ มันก็ชัดว่าคงไม่ใช่
"มันไม่ใช่เรื่องเรียกร้องเพื่อนนะ มันเป็นเรื่องเรียกร้องตัวเราว่าเราจะมีบทบาทอย่างไรกับการสถาปนาประชาธิปไตยใหม่... ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นมันไม่ถึงไหน ผมว่าสายพวกผมก็ชัดแล้ว จะสำนึกผิดหรือไม่สำนึกผิดเราไม่คุยมาก เพราะมันมีความหลากหลายในขบวน... แต่สิ่งที่เราคุยกันคือจะสร้างประชาธิปไตยใหม่อย่างไร บทเรียนอันหนึ่งคือไปทำชุมชนให้เข้มแข็งแล้วค่อยต่อรองอำนาจรัฐ"
แต่ที่นี้จะทำอย่างไร ด้วยบริบทที่เราอยู่คืออยู่ไกล ทำงานชุมชนเยอะ อยู่กับชาวบ้านเยอะ เอ็นจีโอเป็นสายคำตอบอยู่ที่หมู่บ้านเยอะ อันนี้ยังคิดกันไม่ทะลุว่าจะไปอย่างไร ก็มีความพยายามจะรวมหลายเครือข่ายเข้ามาช่วยกัน แต่มันก็ได้แค่เรื่องปกป้องบ้านเกิด ยังไปไม่ถึงเรื่องเชิงโครงสร้าง จัดตั้งกองกำลังเหรอ ปืนเหรอ เลียนแบบบีอาร์เอ็น (ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี) ของสามจังหวัดเหรอ มันก็เป็นไปไม่ได้
แต่คุณหมอบอกเองว่าการทำงานของคุณหมอคือเน้นที่ตัวชาวบ้าน ไม่พยายามไปแตะที่โครงสร้าง
แตะได้ถ้ามีจังหวะ แต่ว่าการแตะโครงสร้าง เราไม่เชื่อกระบวนการล็อบบี้ ไม่เชื่อกระบวนการทำนโยบายแบบปัจจุบันแล้ว แบบที่พวกตระกูล ส. ชอบทำ เพราะทำแบบนั้นก็จะได้กระดาษมาแผ่นหนึ่งหรือได้กฎหมายดีๆ มาบางมาตรา ท่ามกลางมาตราแย่ๆ อีกเยอะในกฎหมายฉบับเดียวกัน
โดยสรุปก็คือตอนนี้ยังไม่มีการคุยว่าจะเอาอย่างไรต่อกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในวันข้างหน้า
สรุปก็คือไปไม่ถูก
คุณหมอยังมีความหวังกับประเทศนี้มั้ย
หวังสิ ผมเชื่อว่าอย่างไรเผด็จการมันก็กลืนกินตัวเอง จะเร็วจะช้า โอเคตอนนี้ เขาทำเป็นทำเก่งก็กลืนกินช้าหน่อย ชนชั้นกลางตื่นน้อยก็ใช้เวลาหน่อย แต่ว่ามันอยู่ไม่นานหรอก คสช. เองไม่น่ากลัวหรอก ที่น่ากลัวคือทุนที่อยู่เบื้องหลัง คสช. มากกว่า ผมว่าทุนเป็นของแท้และยั่งยืน อำนาจปืนเป็นเครื่องมือของทุน อำนาจปืนเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำเท่านั้นเอง ถ้า คสช. ตั้งพรรคการเมืองก็จะจบเร็วขึ้น จะได้เห็นกันชัดๆ
แล้วคุณหมอมองการเมืองข้างหน้าอย่างไร เพราะมันต้องมาเกี่ยวพันกับภาคประชาชนอย่างเลี่ยงไม่ได้
ตอนนี้ไม่ค่อยสนใจภาพใหญ่ มันเป็นอารมณ์ช่วงนี้ มันเป็นวิธีคิดและจังหวะชีวิตในช่วงนี้ การเมืองในอนาคตประชาธิปไตยก็คงน้อยลงมาก น้อยลงไปเยอะ อำนาจทุนกับอำนาจรัฐจะผนวกกันเหมือนเดิมแบบช่วงทักษิณ อาจจะหนักกว่าด้วย ชาวบ้านก็อาจจะได้เศษเนื้อมากินบ้างตามสมควร
คุณหมอบอกว่าต้องการส่งเสริมความเข้มแข็งจากฐานราก โดยกลไกแล้วมันมีการเลือกตั้งท้องถิ่น มันใกล้ชาวบ้านมาก มันอาจจะควบคุมนักการเมืองได้มากกว่า
โดยอุดมคติก็ควรเป็นเช่นนั้น แต่ปัจจุบันการต่อสู้ของชาวบ้านไปไม่ถึง อำนาจทุนก็ควบคุมอำนาจท้องถิ่นอันนี้ที่ชาวบ้านพบเห็น ก่อนเลือกเขาไปตอนลงสมัครก็เป็นคนของชาวบ้าน ประสบการณ์ของเราคือสักครึ่งปีหรือปีหนึ่งเขาเปลี่ยนเป็นฝ่ายทุน จำนนด้วยหลายปัจจัยไม่ใช่ทุนอย่างเดียว ปัจจัยอำนาจ ปัจจัยระเบิด ทำให้ต้องจำนนไม่สามารถซ่าได้ ไม่สามารถยืนข้างชาวบ้านได้ พัฒนาการของการสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นปากเป็นเสียงแทนชาวบ้านได้จริงก็ยังต้องใช้เวลาอีกนาน
มันเป็นสิ่งที่ต้องหวังให้ได้ในอนาคตอันยาวไกล แต่ระหว่างที่ยังหวังไม่ได้จะทำยังไง อำนาจทุนมันรุนแรง อีกอย่างคือการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นอยู่นี้ มันยังไม่พอ เพราะมันทำแต่เรื่องขยะ ถนน ส่งเสริมอาชีพเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้เป็นองค์กรที่จะเป็นปากเป็นเสียงแทนชาวบ้านในภาพใหญ่ของการพัฒนา ซึ่งตรงนี้ยังไม่เห็นแววที่จะไป
ฉะนั้นนี่จึงเป็นเรื่องที่เราต้องไปแตะเรื่องรัฐธรรมนูญไม่ใช่หรือ?
อามรณ์ความรู้สึกของผมและเพื่อนๆ คือ เขียนไปเถอะ เพราะความเป็นจริงมันไม่ค่อยตรงกันเท่าไหร่ เราเบื่อแล้วงานเขียนกระดาษสวยๆ ดีๆ เบื่อจริงๆ แถลงการณ์ก็เขียนเบื่อแล้ว หลังๆ คำถามคือทำไมคนใต้ต้องล้มมันทุกเวที เวทีมีส่วนร่วมเราไม่ร่วม ล้มอย่างเดียว อันนี้น่าสนใจมากนะ และคนล้มไม่ใช่เอ็นจีโอ พวกเขาจะมาสั่งล้มไม่ได้นะ ถ้าชาวบ้านไม่เอา เพราะชาวบ้านรู้ว่าตัวเองมีโอกาสติดคุก แต่ตอนนี้ชาวบ้านต่างหากที่สั่งให้เอ็นจีโอล้มเวที สนับสนุนในการล้ม มันเป็นความคิดชาวบ้าน เขากล้า ทำไมเราต้องล้มทุกเวที อาจจะเพราะเราอยู่ข้างล่างมากเกินจนรู้สึกว่ากระดาษ กฎหมาย มันมีประโยชน์น้อยกับการจัดการข้างล่าง ฉะนั้น ไม่เอาก็บอกให้รู้ว่าไม่เอา
ผมว่าคนใต้รู้สึกนะว่า จะทำอย่างไรที่เราจะร่วมวงไพบูลย์กันไม่เอาเผด็จการระหว่างคนเหนือ คนอีสาน คนใต้ แต่ไม่รู้ว่าใครจะทำ คือมันต้องเลิกคิดเล็กคิดน้อยกันก่อน เพราะนี่เป็นปัญหาจริง เป็นปัญหาของสังคมไทยจริง ปัจจุบันผมว่าเราเห็นปัญหาร่วมแล้ว แต่ไม่รู้ว่าใครจะสร้างกลไกการทำงานร่วมกัน ส่วนกลไกในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมันเริ่มรวมกันแล้ว ส่วนกลไกในประเด็นเรื่องประชาธิปไตยมันยังไม่เกิด
แสดงความคิดเห็น