สื่อไร้พรมแดน ประณามรัฐบาล คสช. 3 ปี ปิดเสรีภาพสื่อ ปราบนักกิจกรรม
สื่อไร้พรมแดน ประณามรัฐบาล คสช. 3 ปี ปิดเสรีภาพสื่อ ปราบนักกิจกรรม
Posted: 24 May 2017 10:19 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
จดหมายจากสือไร้พรมแดน ชี้ คสช. อยู่ 3 ปีมีแต่แย่ลง ร้องขอให้รัฐบาลทหารยกเลิกลิดรอนสิทธิ เสรีภาพสื่อและการแสดงออก ปล่อยสื่อมวลชนที่ถูกขังคุก แจงยับ พ.ร.บ. คอมฯ คดีหมิ่นประมาท มาตรา112 ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือเชือดสื่อตลอด อัด พล.อ.ประยุทธ์ "นักล่าเสรีภาพสื่อ"
24 พ.ค. 2560 เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา เบนจามิน อิสมาอิล หัวหน้าโต๊ะเอเชีย - แปซิฟิค แห่งสื่อไร้พรมแดน (Reporter Without Borders - RSF) องค์กรที่ทำหน้าที่ส่งเสริม และปกป้องเสรีภาพสื่อทั่วโลก ได้ออกจดหมายประณามประยุทธ์ จันทร์โอชาและรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากรัฐบาลทหารมีพฤติกรรมการละเมิดสิทธิ เสรีภาพการแสดงออก การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร การจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ และการใช้มาตรการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเป็นระบบ ที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 มีใจความ ดังนี้
ประเทศไทย
เสรีภาพสื่อน้อยที่สุดเท่าที่เคยพบมาหลังรัฐประหาร 3 ปี
สื่อไร้พรมแดน (Reporter Without Borders - RSF) ประณามการปราบปรามข่าวสาร ข้อมูลโดยรัฐบาลทหารของไทย ตั้งแต่ยึดอำนาจจนครบรอบ 3 ปีการยึดอำนาจเมื่อวาน (22 พ.ค. 2560) และขอเรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติมีมาตรการที่เด็ดขาดกับรัฐบาลทหารไทย ซึ่งได้ทำการยกระดับการปิดกั้นสื่อออนไลน์และฟ้องร้องสื่อมวลชนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
เมื่อวาน (22 พ.ค. 2560) เป็นวันครบรอบ 3 ปีการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้นำคณะรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะฟื้นฟูประชาธิปไตย ทว่า จำนวนการละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานได้เพิ่มขึ้นวันต่อวัน
RSF ได้ตอกย้ำข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย ให้หยุดนำผู้เสนอข่าวสารและข้อมูลที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ภาครัฐมาลงโทษ
ในส่วนของรายละเอียด RSF ขอให้ทางการไทยกระทำดังต่อไปนี้
ยกเลิกกฎหมายที่ขัดขวางการเคลื่อนที่ของข้อมูล และสนับสนุนการกำกับกันเอง รวมถึงยกเลิก กฎหมายอาญาหมิ่นประมาทตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และกฎหมายอาญามาตรา 112
ปล่อยตัว สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ สมศักดิ์ ภักดีเดช รวมไปถึงนักข่าวพลเมือง ผู้เขียนบล็อกและนักเคลื่อนไหวบนพื้นที่ไซเบอร์ที่ถูกจองจำด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาอื่นที่เกี่ยวพันกับสิทธิในการให้ข้อมูลและวิพากษ์วิจารณ์อย่างอิสระ
หยุดเซ็นเซอร์สื่อและเว็บไซต์ข่าว
หยุดกระทำการละเมิดผู้ให้บริการข่าวสารและข้อมูลที่หนีออกจากประเทศหรือที่พำนักอยู่ในประเทศอื่น
หยุดพฤติกรรมใส่ร้ายป้ายสี และการข่มขู่จากกลุ่มการเมืองที่มีต่อสื่อมวลชนและสำนักข่าวต่างประเทศ
“ผู้นำประเทศไทยจำเป็นต้องเข้าใจว่า ความมั่นคงและการพัฒนา ที่พวกเขาพูดอยู่บ่อยครั้งว่าเป็นเป้าหมายของประเทศนั้น ต้องการเสรีภาพของชาวไทยในด้านข้อมูลและการแสดงออก” เบนจามิน อิสมาอิล หัวหน้าโต๊ะเอเชีย - แปซิฟิคของ RSF กล่าว
“ถ้าไม่มีเสรีภาพสื่อและข้อมูลอย่างแท้จริง โครงการปรองดองทั้งหมดของรัฐบาลประยุทธ์นั้นมีแต่จะล้มเหลว มีเพียงแต่การยอมรับความหลากหลายทางการเมืองและเสรีภาพการเคลื่อนที่ของข้อมูล แม้ว่าจะฟังแล้วไม่เห็นด้วยเท่าใดก็ตาม แต่สิ่งนี้จะทำให้ไทยก้าวขึ้นจากวังวนของวิกฤติการณ์ทางการเมืองและภาวะประชาธิปไตยถดถอย”
ในขณะเดียวกัน RSF ขอให้ประชาคมนานาชาติกระทำดังต่อไปนี้
ประณามรัฐบาลเผด็จการของประยุทธ์และเรียกร้องให้คืนประชาธิปไตย การันตีสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพแห่งพลเมือง
ประณามการละเมิดเสรีภาพสื่อและข้อมูลโดยรัฐบาลไทย เรียกร้องให้เลิกลงโทษผู้ให้บริการข่าวและการเซ็นเซอร์ข่าวสาร
สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงช่วยกำหนดเงื่อนไขการปรับปรุงในเรืองการเคารพเสรีภาพในข้อมูล
ช่วยองค์กรสื่อของไทย (สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กสทช. และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ) ให้เป็นองค์กรอิสระและสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำหน้าที่ปกป้องเสรีภาพการแสดงออกและการนำเสนอข้อมูลในไทย เช่น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, มีเดีย อินไซด์ เอาท์, โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), เครือข่ายพลเมืองเนต (Thai Netizen) และ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT)
3 ปีที่ประชาธิปไตยถดถอย
หลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ในฐานะเครื่องมือการป้องปรามเหล่าสื่อมวลชน นักเขียนบล็อกและนักเคลื่อนไหวบนพื้นที่ออนไลน์ก็ยังคงมีอยู่
ในเดือนเมษายน รัฐบาลไทยได้ห้ามการติดต่อหรือการมีปฏิสัมพันธ์กับนักวิจารณ์ที่มีชื่อเสียงสามราย ที่ได้ลี้ภัยออกจากไทยไปแล้วหลายปีก่อน ได้แก่ สื่อมวลชนนามว่า แอนดรูว์ แมคเกรเกอร์ มาร์แชล อาจารย์มหาวิทยาลัย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ ปวิน ชัชวาลพงษ์พันธ์
ด้วยการสนับสนุนจาก พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ทำให้ทางภาครัฐมีอำนาจการสอดส่องและการเซ็นเซอร์มากขึ้นยิ่งกว่าเดิม การล่วงละเมิดสื่อมวลชนต่างชาติได้เพิ่มจำนวนขึ้นในสามปีที่ผ่านมาเช่นกัน ในเดือนกุมภาพันธ์ โจนาธาน เฮด นักข่าวของ BBC ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทและละเมิด พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์สืบเนื่องจากการทำข่าวประเด็นการฉ้อโกงอสังหาริมทรัพย์
ข้อหาหมิ่นประมาทมักถูกนำมาใช้กับสื่อมวลชนที่ทำข่าวสืบสวนสอบสวนในประเด็นสิ่งแวดล้อม สำนักข่าวไทยพีบีเอสและลูกจ้าง 4 คน ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทบริษัทเหมืองในปี 2558-2559 มีอีกกรณีหนึ่งที่มีบริษัทฟ้องหมิ่นประมาท ปรัชญ์ รุจิวนารมย์ ในเดือนมีนาคมสืบเนื่องจากการทำข่าวเรื่องมลพิษทางน้ำ
“ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรม นักศึกษา ถูกจับกุมในวันที่ 2 ธันวาคม 2559 หลังแชร์ข่าวของ BBC ที่มีเนื้อหาไม่เยินยอกษัตริย์พระองค์ใหม่บนเฟซบุ๊ก สัปดาห์ที่แล้วจัตุภัทร์เพิ่งได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน จากประเทศเกาหลีใต้
ประยุทธ์ จันทร์โอชา: นักล่าเสรีภาพสื่อ
วิสัยทัศน์ต่อสื่อที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ตั้งตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีแสดงออกมานั้นมักเป็นเรื่องเลวร้าย เขาบอกให้สื่อมวลชนควรจะ “เป็นตัวหลักในการสนับสนุนรัฐบาล คือการทำให้สาธารณชนเข้าใจนโยบายของรัฐบาลและลดความขัดแย้งในสังคม”
พิสัยของหัวข้อที่มีแนวโน้มจะถูกเซนเซอร์ค่อยๆกินอาณาบริเวณกว้างขึ้นตั้งแต่รัฐบาลทหารยึดอำนาจ ในขณะที่การล่วงละเมิดสื่อมวลชน นักเขียนบล็อก ศิลปินและนักวิชาการกระทำกันอย่างเป็นระบบ สิ่งนี้สะท้อนออกมาจากการปิดเว็บไซต์จำนวน 400 เว็บตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีจึงเป็นคนทำให้มั่นใจเองว่าใครก็ตามที่วิพากษ์วิจารณ์เขาหรือรัฐบาลจะถูกปิดปาก
RSF ได้จัดทำรายงานเพื่อเตือนถึงสถานการณ์ของประเทศไทยหลังการยึดอำนาจได้ 1 ปีครึ่งภายใต้ชื่อ “สื่อถูกไล่ล่าจากรัฐบาลทหารตั้งแต่รัฐประหารปี 2557” และจากดัชนีเสรีภาพสื่อโลกประจำปี 2560 จัดขึ้นโดย RSF ประเทศไทยยังถูกจัดอันดับให้อยู่ที่ 142 จาก 180 ประเทศอีกด้วย
เบนจามิน อิสมาอิล
หัวหน้าโต๊ะเอเชีย
สื่อไร้พรมแดน
แสดงความคิดเห็น