กรณี คสช.ใช้มาตรา 44 หนุนโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ อีอีซี โดยไม่ต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

นายเดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวมีใจความว่า
นั่นไง ระบอบธนรัฐสามานย์ อะไรก็ตามที่รัฐไม่ต้องการให้ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ 60 (เช่น การเร่งรัดการทำ EIA หรือการร่วมลงทุนกับเอกชน) รัฐบาลก็จะรีบใช้อำนาจตามมาตรา 44 แม้ว่าตนเองกำลังร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอยู่ก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญครับ
แล้วเราจะมีรัฐธรรมนูญไว้ทำไมครับ ท่านนายกฯ กรุณาอย่าสงสัยและโวยวาย ถ้าคะแนนความเป็นนิติรัฐของไทยในปีนี้จะลดลง

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบออกคำสั่งหัวหน้า คสช. โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ส่งเสริมโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ อีอีซี 3. ประเด็น ได้แก่
1.การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( EIA) โดยอนุมัติให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ดำเนินการได้ทันที โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการขึ้นมาพิจารณา โดยไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนเดิม พร้อมกันนี้ยังกำหนดให้พิจารณา EIA แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
2.ให้คณะกรรมการนโยบายโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ อนุมัติการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยไม่ต้องเป็นไปตามกฎหมายร่วมทุนปกติ ซึ่งจะช่วยให้สามารถลดเวลาลงได้
3.ยกเว้นบริษัทต่างชาติให้สามารถทำกิจการซ่อมบำรุงอากาศยานได้ โดยไม่ต้องยึดถือกฎหมายเดิม
พล.ท.สรรเสริญ ยังระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มีข้อสั่งการถึงการดำเนินโครงการของรัฐบาลที่สำคัญๆ ซึ่งเป็นนโยบายที่ต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย สู่ยุค 4.0 แต่หากติดขัดข้อกฎหมายหรือติดขัดอะไรก็ตามต้องปลดล็อกให้ได้
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโครงการนั้นๆต้องติดตามประสานงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ปัญหาหรือเสนอให้ใช้มาตรา 44 ต่อหัวหน้า คสช.เพื่อปลดล็อกในเรื่องที่เห็นสมควร


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.