เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาจำคุก 5 ปี “2 ลุงป้ากาฬสินธุ์” ข้อหาทำไม้-ครอบครองไม้สัก

Posted: 02 May 2017 05:52 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ศาลฎีกาพิพากษาแก้คดี 2 สามีภรรยาถูกจับคดีบุกรุกป่าสงวน ตัดไม้สัก ครอบครองไม้หวงห้าม ลดโทษจำคุกจาก 30 ปีศาลชั้นต้น เหลือจำคุก 5 ปี ผิดเฉพาะข้อหาทำไม้-ครอบครองไม้สัก ชี้ขณะเกิดเหตุมีไม้สัก ไม้กระยาเลย กินพื้นที่หลายแปลงถูกตัดโดยกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันเป็นขบวนการลักลอบตัดไม้ แบ่งหน้าที่กันเพื่อทำให้ที่ดินป่าสงวนกลายเป็นป่าไม่สมบูรณ์หวังผลให้ราชการนำที่ดินบุกรุกมาจัดสรรชาวบ้าน โดยจำเลยร่วมขบวนการด้วย

โดยศาลชี้ว่า พฤติการณ์ของจำเลยส่งผลกระทบต่อสภาพความสมดุลของระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยากแก่การฟื้นฟูให้กลับคืนดีดังเดิม ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรวม ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสอง ด้านทนายสงกรานต์เตรียมยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาคดีใหม่ หรือตรวจหลักเกณฑ์ของการยื่นขอพักโทษเนื่องจากจำเลยทั้ง 2 รับโทษมาเกิน 1 ใน 3 แล้ว

กรณีนายอุดม ศิริสอน อายุ 55 ปี และนางแดง ศิริสอน อายุ 53 ปี สองสามีภรรยาชาว จ.กาฬสินธุ์ จำเลยในคดีบุกรุกแผ้วถางป่าไม้ ซึ่งถูกจับในข้อหาบุกรุกแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ 72 ไร่ เมื่อ กรกฎาคม 2553 โดยมีหลักฐานตามฟ้องกล่าวหาว่าตัดไม้สักและกระยาเลย และยังครอบครองไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตเหตุเกิดวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 เวลากลางวัน และต่อมาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2554 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 30 ปี ผู้ต้องหารับสารภาพ ลดโทษเหลือ 15 ปีจากนั้นประกันตัวสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ปฏิเสธว่าไม่ได้ตัดไม้ อ้างว่าวันเกิดเหตุได้เข้าไปเก็บเห็ดในป่าสงวนเท่านั้น ขอให้ศาลลดโทษ ซึ่งศาลพิพากษาแก้เป็น จำคุก 14 ปี 12 เดือนนั้น

ล่าสุดวันนี้ (2 พ.ค.60) สองสามีภรรยาเดินทางมาฟังคำพิพากษาในชั้นฎีกา ที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยศาลฎีกาพิพากษาว่า ข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 อ้างว่าประสบอุบัติเหตุก่อนที่จะถูกดำเนินคดี ทำให้มีอาการลมออกหูและประสาทไม่ดี พูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างนั้น ส่อว่า “จำเลยทั้งสองพยายามปรุงแต่งข้ออ้างอาการป่วยเจ็บของจำเลยที่ 1 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยบิดเบือนไปให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพด้วยความไม่สมัครใจ แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่า เรื่องที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างมานั้นขัดแย้งกันเองทั้งสิ้น จึงเป็นพิรุธรับฟังเป็นความจริงไม่ได้”

นอกจากนี้คำพิพากษาระบุว่า “กระบวนพิจารณาและคำให้การของจำเลยทั้งสองที่ศาลชั้นต้นสอบและบันทึกไว้ลงวันที่ 26 กันยายน 2554 ได้กระทำโดยเปิดเผยปรากฏข้อความระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการและจำเลยทั้งสองก็ลงลายมือชื่อไว้ด้วย เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองไม่สมัครใจแต่อย่างใด และเป็นความเข้าใจผิดของจำเลยทั้งสองเอง ไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้ได้ ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้ออ้างของจำเลยทั้งสองเป็นพิรุธรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ คดีจึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองสมัครใจให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา ศาลย่อมพิพากษาโดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปได้”

ส่วนที่ฎีกาว่าการดำเนินการสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่ชอบเพราะไม่ได้แจ้งพฤติการณ์และรายละเอียดในการกระทำความผิดตามฟ้องให้จำเลยทั้งสองทราบ คำพิพากษาศาลชี้ว่า “ตามสำเนาบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารท้ายฎีกาของจำเลยทั้งสองก็ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาตามฟ้องให้จำเลยทั้งสองทราบโดยครบถ้วนและได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดแล้ว เพียงแต่ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำมากเท่ากับที่บรรยายในคำฟ้องเท่านั้น ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ให้การปฏิเสธอันแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อกล่าวหาเป็นอย่างดีแล้วนั่นเอง การบรรยายคำฟ้องเป็นหน้าที่ของโจทก์ไม่ใช่เรื่องของพนักงานสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทั้งสองทราบโดยชอบแล้ว การสอบสวนจึงชอบแล้ว โจทย์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

ส่วนปัญหาประการสุดท้ายที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น คำพิพากษาศาลฎีการะบุว่า “ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสอง สำนวนการสอบสวนที่ศาลฎีกาเรียกมาจากโจทก์เพื่อประกอบการพิจารณาได้ความว่า ในวันเกิดเหตุคณะเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าร่วมกันออกตรวจปราบปรามผู้กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ พบกลุ่มบุคคลประมาณ 3 ถึง 4 คน กำลังช่วยกันใช้มีดแผ้วถางไม้ขนาดเล็กและตัดโค่นไม้สักล้มลงเป็นจำนวนมาก เมื่อกลุ่มบุคคลนั้นมองเห็นเจ้าหน้าที่จึงพากันวิ่งหลบหนีเข้าป่าไป และมีพยานเห็นจำเลยทั้งสองวิ่งหนีออกจากที่เกิดเหตุ ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ให้การไว้ในชั้นสอบสวนยอมรับว่า ขณะนี้อยู่ในพื้นที่ป่าที่เกิดเหตุได้ยินเสียงคนร้องเอะอะโวยวาย หันไปมองดูพบเห็นชายไทย 2 ถึง 3 คน วิ่งเข้าไปในป่า ด้วยความตกใจกลัวจำเลยทั้งสองจึงได้วิ่งหนีเข้าป่าไป และได้ความว่าพื้นที่ที่เกิดเหตุเป็นแปลงปลูกสวนป่า ปี 2527, 2531, 2532 และ 2536 มีการตัดโค่นไม้สักกับไม้กระยาเลยขนาดโตประมาณ 30 ถึง 90 เซนติเมตร อายุประมาณ 15 ถึง 20 ปี ที่กำลังโตอยู่รอบๆ บริเวณแปลงที่ถูกตัดหลายแปลงโดยมีลักษณะเป็นการกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลหลายฝ่ายร่วมกันเป็นขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าโดยแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อให้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุกลายเป็นป่าไม้สมบูรณ์และหวังผลให้ทางราชการดำเนินการนำพื้นที่ที่ถูกบุกรุกดังกล่าวมาจัดสรรแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งมีกลุ่มบุคคลที่ร่วมขบวนการเดียวกันได้รับประโยชน์ด้วยอันเป็นการกระทำที่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง โดยจำเลยทั้งสองร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการดังกล่าวด้วย ตามพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่าบุคคลที่เป็นกลุ่มนายทุนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดตามฟ้องโดยตรงยังมิได้มีการขยายผลและติดตามจับกุมมาดำเนินคดีทั้งหมด คงมีแต่จำเลยทั้งสองเท่านั้นที่ยอมเข้ามอบตัวเพื่อให้ดำเนินคดีต่อไปและสมัครใจให้การรับสารภาพตามฟ้อง กรณีมีเหตุสมควรกำหนดโทษที่ลงแก่จำเลยทั้งสองให้น้อยลงเพื่อให้เหมาะสมแก่รูปคดี แต่ตามพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองส่งผลกระทบต่อสภาพความสมดุลของระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยากแก่การฟื้นฟูให้กลับคืนดีดังเดิม ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรวม ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสอง ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน”

“อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 106/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ข้อ 3 และข้อ 5 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 69 และมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดบังคับแก้จำเลยทั้งสอง”

โดยพิพากษาแก้ว่า “จำเลยทั้ง 2 มีความผิดฐานร่วมกันทำไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันมีไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองจำคุกคนละ 6 ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4”


แฟ้มภาพทนายสงกรานต์ อัจฉริยะทรัพย์

ด้านสงกรานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความระบุในสเตตัสเฟซบุ๊กว่า "เป็นไปตามคาดพิพากษา"แก้"จากจำคุกรวมคนละ 15 ปีศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยแก้ให้จำคุกรวมคนละ 5 ปี" ..แนวทางสู้ต่อไปตามกระบวนการยุติธรรมมีดังนี้ 1. ยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาคดีใหม่ 2. ตรวจหลักเกณฑ์ของการยื่นขอพักโทษเนื่องจาก นายอุดม จำเลยที่ 1 ติดมาแล้วประมาณ 1 ปี 8 เดือนแล้วส่วนนางแดง จำเลยที่ 2 ติดมาแล้วประมาณ 1 ปี 9 เดือน (ต้องไปตรวจหลักเกณฑ์การขอพักโทษกรณีรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 ของการลงโทษหรือไม่) .. กราบขอบพระคุณทุกๆ หน่วยงานของรัฐ, ผู้ใช้เฟซบุ๊ค facebook, และ สื่อสารมวลชนทุกแขนง ขอบพระคุณครับ"

โดยคำพิพากษาศาลฎีกาโดยสังเขปมีดังนี้













... ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง จำเลยทั้งสองหลงเชื่อบุคคลภายนอกว่ารับสารภาพแล้วศาลจะปรับจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 เคยประสบอุบัติเหตุโดยถูกรถยนต์ชนสลบไปประมาณ 2 ถึง 3 วัน โดยอุบัติเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยทั้งสองจะถูกดำเนินคดีนี้ หลังจากที่จำเลยที่ 1 ประสบอุบัติเหตุแล้ว จำเลยที่ 1 มีอาการลมออกหูและประสาทไม่ดี พูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง จำเลยที่ 1 ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ หลังจากนั้นได้มารักษาตัวที่คลินิกหมอเปตรง เขียนแม้น แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังอาการไม่ดีขึ้นมีอาการงงๆ พูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง การที่ศาลชั้นต้นถามจำเลยทั้งสองว่าได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่ค่อยจะได้ยิน ศาลถามหลายครั้งจำเลยที่ 1 ก็ก้มหัวเท่านั้น ศาลก็เลยบอกว่าจำเลยที่ 1 รับสารภาพ แล้วศาลถามคำให้การของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็บอกว่าให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ 1 ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่ได้สมัครใจให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณานั้น เห็นว่า ข้ออ้างอาการป่วยของจำเลยที่ 1 ตามฎีกา เป็นการกล่าวอ้างเพิ่มขึ้นในชั้นฎีกาแตกต่างกับข้ออ้างในชั้นศาลอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่กล่าวอ้างแต่เพียงว่า มีคนบอกจำเลยทั้งสองให้รับสารภาพเสียค่าปรับแล้วกลับบ้านได้ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จำเลยทั้งสองจึงให้การรับสารภาพ แต่ถึงอย่างไรจำเลยทั้งสองก็ยอมรับว่าจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของศาลขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ นอกจากนี้อาการป่วยของจำเลยที่ 1 ตามข้ออ้างในฎีกายังขัดแย้งกับใบรับรองแพทย์ โรงพยาบาลกาฬสินธุ์และใบสรุปการรักษาพยาบาลจำเลยที่ 1 ของนายแพทย์เปตรง ฉบับลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 เอกสารหมาย ล.1 เอกสารชั้นไต่สวนคำร้องตามคำสั่งศาลฎีกาที่ระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ป่วยในระหว่างวันที่ 3 ถึง 10 ตุลาคม 2554 ด้วยประวัติเกิดอุบัติเหตุขับรถจักรยานยนต์ชนกับรถจักรยานยนต์ประมาณ 1 วัน ก่อนมาโรงพยาบาล มีอาการสลบชั่วครู่ หลังจากฟื้นมีการอาการปวดศีรษะและเวียนศีรษะได้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองพบว่ามีเลือดออกในสมองกะโหลกศีรษะร้าว มีลมรั่วเข้าไปในสมอง ได้นอนรักษาพยาบาลจนอาการดีขึ้นพอควร จึงจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2554 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 มีอาการปวดและวิงเวียนศีรษะเป็นบางครั้ง ซึ่งอาการป่วยเจ็บดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ 26 กันยายน 2554 ที่โจทย์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นและได้ความว่า จำเลยทั้งสองเข้ามอบตัววันที่ 27 พฤศจิกายน 2553 ทั้งตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยที่ 1 ในชั้นฎีกาก็ไม่ปรากฏว่าก่อนที่จำเลยที่ 1 จะถูกดำเนินคดีนี้ในปี 2553 จำเลยที่ 1 เคยประสบอุบัติเหตุรถยนต์ชนจนสลบไป 2 ถึง 3 วัน แต่ประการใด คงมีแต่อุบัติเหตุช่วงเดือนตุลาคม 2554 เท่านั้น ดังนี้ ส่อแสดงว่าจำเลยทั้งสองพยายามปรุงแต่งข้ออ้างอาการป่วยเจ็บของจำเลยที่ 1 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยบิดเบือนไปให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพด้วยความไม่สมัครใจ แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่า เรื่องที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างมานั้นขัดแย้งกันเองทั้งสิ้น จึงเป็นพิรุธรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ ประกอบกับข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาและคำให้การของจำเลยทั้งสองที่ศาลชั้นต้นสอบและบันทึกไว้ลงวันที่ 26 กันยายน 2554 ได้กระทำโดยเปิดเผยปรากฏข้อความระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการและจำเลยทั้งสองก็ลงลายมือชื่อไว้ด้วย เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองไม่สมัครใจแต่อย่างใด และเป็นความเข้าใจผิดของจำเลยทั้งสองเอง ไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้ได้ ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้ออ้างของจำเลยทั้งสองเป็นพิรุธรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ คดีจึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองสมัครใจให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา ศาลย่อมพิพากษาโดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 176 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องจึงขัดกับคำให้การในชั้นพิจารณาของจำเลยทั้งสอง ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า การดำเนินการสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่ชอบเพราะไม่ได้แจ้งพฤติการณ์และรายละเอียดในการกระทำความผิดตามฟ้องให้จำเลยทั้งสองทราบ การสอบสวนจึงไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า ตามสำเนาบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารท้ายฎีกาของจำเลยทั้งสองก็ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาตามฟ้องให้จำเลยทั้งสองทราบโดยครบถ้วนและได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดแล้ว เพียงแต่ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำมากเท่ากับที่บรรยายในคำฟ้องเท่านั้น ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ให้การปฏิเสธอันแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อกล่าวหาเป็นอย่างดีแล้วนั่นเอง การบรรยายคำฟ้องเป็นหน้าที่ของโจทก์ไม่ใช่เรื่องของพนักงานสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทั้งสองทราบโดยชอบแล้ว การสอบสวนจึงชอบแล้ว โจทย์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

ส่วนปัญหาประการสุดท้ายที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสอง สำนวนการสอบสวนที่ศาลฎีกาเรียกมาจากโจทก์เพื่อประกอบการพิจารณาได้ความว่า ในวันเกิดเหตุคณะเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าร่วมกันออกตรวจปราบปรามผู้กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ พบกลุ่มบุคคลประมาณ 3 ถึง 4 คน กำลังช่วยกันใช้มีดแผ้วถางไม้ขนาดเล็กและตัดโค่นไม้สักล้มลงเป็นจำนวนมาก เมื่อกลุ่มบุคคลนั้นมองเห็นเจ้าหน้าที่จึงพากันวิ่งหลบหนีเข้าป่าไป และมีพยานเห็นจำเลยทั้งสองวิ่งหนีออกจากที่เกิดเหตุ ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ให้การไว้ในชั้นสอบสวนยอมรับว่า ขณะนี้อยู่ในพื้นที่ป่าที่เกิดเหตุได้ยินเสียงคนร้องเอะอะโวยวาย หันไปมองดูพบเห็นชายไทย 2 ถึง 3 คน วิ่งเข้าไปในป่า ด้วยความตกใจกลัวจำเลยทั้งสองจึงได้วิ่งหนีเข้าป่าไป และได้ความว่าพื้นที่ที่เกิดเหตุเป็นแปลงปลูกสวนป่า ปี 2527, 2531, 2532 และ 2536 มีการตัดโค่นไม้สักกับไม้กระยาเลยขนาดโตประมาณ 30 ถึง 90 เซนติเมตร อายุประมาณ 15 ถึง 20 ปี ที่กำลังโตอยู่รอบๆ บริเวณแปลงที่ถูกตัดหลายแปลงโดยมีลักษณะเป็นการกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลหลายฝ่ายร่วมกันเป็นขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าโดยแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อให้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุกลายเป็นป่าไม่สมบูรณ์และหวังผลให้ทางราชการดำเนินการนำพื้นที่ที่ถูกบุกรุกดังกล่าวมาจัดสรรแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งมีกลุ่มบุคคลที่ร่วมขบวนการเดียวกันได้รับประโยชน์ด้วยอันเป็นการกระทำที่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง โดยจำเลยทั้งสองร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการดังกล่าวด้วย ตามพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่าบุคคลที่เป็นกลุ่มนายทุนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดตามฟ้องโดยตรงยังมิได้มีการขยายผลและติดตามจับกุมมาดำเนินคดีทั้งหมด คงมีแต่จำเลยทั้งสองเท่านั้นที่ยอมเข้ามอบตัวเพื่อให้ดำเนินคดีต่อไปและสมัครใจให้การรับสารภาพตามฟ้อง กรณีมีเหตุสมควรกำหนดโทษที่ลงแก่จำเลยทั้งสองให้น้อยลงเพื่อให้เหมาะสมแก่รูปคดี แต่ตามพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองส่งผลกระทบต่อสภาพความสมดุลของระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยากแก่การฟื้นฟูให้กลับคืนดีดังเดิม ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรวม ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสอง ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน

อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 106/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ข้อ 3 และข้อ 5 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 69 และมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดบังคับแก้จำเลยทั้งสอง

พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันทำไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันมีไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองจำคุกคนละ 6 ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

นายแก้ว เวศอุไร

นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย

นายสรรทัศน์ เอี่ยมวรชัย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.