ชินโซ อาเบะ
Posted: 03 May 2017 05:21 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
70 ปี รัฐธรรมนูญฉบับหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่น ท่ามกลางภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจทางการทหารหรือไม่ ในขณะที่ประชาชนญี่ปุ่นจำนวนมากยังมอง รธน. ฉบับนี้ในแง่บวกว่าช่วยวางรากฐานเสรีประชาธิปไตยและให้อำนาจประชาชน
3 พ.ค. 2560 ในช่วงที่กำลังมีความตึงเครียดในแถบเอเชียตะวันออก ขณะที่วันนี้เป็นวันครบรอบ 70 ปี รัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าวันสำคัญในช่วงโลกสำคัญที่โลกจับตามองเนื่องจากว่ามีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ชินโซ อาเบะ ที่ดูจะเป็นการหนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมและเอื้อต่อการที่ญี่ปุ่นจะสามารถเน้นใช้กำลังทหารมากขึ้นจากที่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บทบาทของกองทัพญี่ปุ่นถูกจำกัดลง โดยที่บทบรรณาธิการของอีสต์เอเชียฟอรัมก็ระบุว่าการพยายามเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญของอาเบะมีแรงจูงใจจากอุดมคติของตนเองแต่ยากที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ทางการเมือง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในญี่ปุ่นปัจจุบันส่วนมากยังต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าจะมัวแต่ยุ่งกับรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีมาตั้งแต่ปี 2490 นั้น ถูกร่างขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของพลเอกดักลาส แมกอาร์เธอร์ ในช่วงที่ญี่ปุ่นยังอยู่ภายใต้การยึดครองโดยสหรัฐฯ ถึงแม้ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ชวนให้เกิดข้อถกเถียง แต่ชาวญี่ปุ่นในกระแสหลักต่างก็ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และชื่นชอบแนวคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยมที่ระบุในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการเคารพในอธิปไตยของประชาชน เคารพต่อสิทธิมนุษยชน และเรื่องการหลีกเลี่ยงสงคราม
อีสต์เอเชียฟอรัมระบุว่ารัฐธรรมนูญเก่าในยุคเมจิช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เน้นให้อำนาจจักรพรรดิ์ญี่ปุ่น รวมถึงพยายามกดให้ประชาชนอยู่ภายใต้แนวคิดเรื่องระเบียบและหน้าที่ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงการเมืองญี่ปุ่นจนนำมาซึ่งหายนะ แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2490 ของญี่ปุ่นเน้นให้อำนาจอธิปไตยประชาชนมากกว่า เช่นเรื่องการให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายโดยห้ามการเหยียด-กีดกันทางเชื้อชาติ ความเชื่อ เพศ สถานะทางสังคม หรือพื้นเพทางครอบครัว ในแง่ของกองทัพรัฐธรรมนูญปี 2490 ของญี่ปุ่นมีมาตรา 9 ที่สั่งห้ามไม่ให้ญี่ปุ่นใช้กำลังในการจัดการกับความขัดแย้งระดับนานาชาติ
ขบวนการฝ่ายขวาในพรรคแอลดีพีของอาเบะมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเป็นเวลานานตั้งแต่รุ่นตาของอาเบะแล้วโดยถึงขั้นบอกให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเป้าหมายของพรรคแอลดีพีโดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญ 2490 "ทำให้ประเทศอ่อนแอ" หลังจากที่ โนบุสุเกะ คิชิ ตาของอาเบะได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2500 เขาก็ตั้งคณะกรรมการศึกษารัฐธรรมนูญแต่สามปีหลังจากนั้นเขาก็ถูกบีบให้ลาออกก่อนที่จะทำอะไรได้ หลังจากนั้นมาพรรคแอลดีพีก็หันมาเน้นเรื่องการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วแทนขณะที่พักเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไว้เพราะกลัวเสียงจากประชาชน
จนกระทั่งสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2534 ก็มีเสียงตั้งคำถามต่อมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นปรากฏขึ้นอีกครั้งเนื่องจากมาตรานี้ทำให้ญี่ปุ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งไม่ได้มาก มาถึงในปี 2550 อาเบะก็เริ่มออกกฎหมายกระบวนการที่จะเอื้อให้เกิดการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ในปี 2559 การเลือกตั้งสภาบนของญี่ปุ่นก็ทำให้กลุ่ม ส.ส. จากพรรคที่หนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามามีเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ของสภาทั้งสภาบนและสภาล่าง ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นมีโอกาสที่ะจผลักดันให้เกิดการทำประชามติในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม ยูกิ ทัตสึมิ ผู้อำนวยการโครงการญี่ปุ่นที่ศูนย์สติมสันในสหรัฐฯ ระบุว่าถึงแม้มาตรา 9 จะสร้างข้อจำกัดในการปฏิบัติการทางทหารของญี่ปุ่นแต่ชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งมองว่ามาตรา 9 ในรัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์แทนเจตจำนงช่วงหลังสงครามโลกว่าญี่ปุ่นจะไม่เดินทางผิดพลาดไปสู่แนวทางทหารนิยมแบบเดียวกับช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อีก การพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้อาจจะถูกมองว่าเป็นการทำให้ญี่ปุ่นก้าวถอยหลัง
อย่างไรก็ตามอีสต์เอเชียฟอรัมยก 3 สาเหตุว่าการพยายามจะแก้ไขดังกล่าวก็อาจจะไม่สามารถทำได้ง่ายๆ ในช่วงนี้ สาเหตุแรกคือทัตสึมิบอกว่า อาเบะได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงไปแล้วในปี 2558 ทำให้รัฐบาลเสียความชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปชั่วคราว
สาเหตุที่ 2 เกี่ยวข้องกับความพยายามรักษาสัมพันธ์กับพรรคโคเมอิโตะซึ่งเป็นพรรคพันธมิตรกับแอลดีพี พรรคโคเมอิโตะมีฐานเสียงเป็นกลุ่มพุทธศาสนาแนวสันติชื่อ "สมาคมสร้างคุณค่า" หรือ "โซกะ กักไก" (Soga Gakkai) ซึ่งฐานเสียงกลุ่มนี้จะไม่พอใจแน่ถ้าหากมีการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 9 เพราะขัดหลักสันติภาพของพวกเขา
สาเหตุที่ 3 คือความที่ผู้คนไม่เชื่อใจในตัวอาเบะจากการที่รัฐบาลของเขาถูกมองว่ามีส่วนพัวพันกับกลุ่มฝ่ายขวาอย่างนิปปง ไคกิ จากที่เมื่อไม่นานมานี้เคยมีกรณีเรื่องอื้อฉาวโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งที่สอนชาตินิยมแบบสุดโต่งให้กับเด็ก
ถึงแม้จะไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่โทชิยะ ทากาฮาชิ ผู้ช่วยศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโชอิน เปิดเผยในบทความเขาว่ารัฐบาลอาเบะก็กำลังพยายามเปิดอภิปรายในเรื่องอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อเสรีภาพพลเมืองญี่ปุ่นเช่นกัน เช่น การปรับแก้เงื่อนไขการยุบสภา ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น และการระงับการใช้รัฐธรรมนูญในสถานการณ์ฉุกเฉินของประเทศ ซึ่งหมายความว่าในช่วงวิกฤตก็อาจจะมีการสั่งระงับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรืออนุญาตให้รัฐดำเนินการครอบครองทรัพย์สินเอกชนได้ ทากาฮาชิมองการถกเถียงเหล่านี้มีลักษณะที่พรรคแอลดีพีพายามเพิ่มอำนาจให้รัฐบาลตัวเองซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายซ้ายในญี่ปุ่นจะต่อต้านในเรื่องนี้
ทากาอาชิ ยังวิจารณ์รัฐบาลเอาไว้ในบทความของเขาอีกว่า "ในระบอบเสรีประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญควรคุ้มครองเสรีภาพพลเมืองก่อน ไม่ใช่เน้นเรื่องอำนาจของรัฐ กลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองในญี่ปุ่นคงจะกำลังสูญเสียวิสัยทัศน์ถึงสิ่งที่เป็นตัวตนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญตัวเองไป"
ในเรื่องที่ว่าฝ่ายค้านของญี่ปุ่นจะสามารถคัดง้างอะไรกับรัฐบาลได้หรือไม่ เจอราด เคอร์ติส ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยโคลอมเบียก็ประเมินว่าฝ่ายค้านพรรคดีพีในญี่ปุ่นดูอ่อนแอลงมาก ในตอนนี้พรรคดีพีที่เป็นพรรคอนุรักษ์นิยมสายกลางถูกบีบให้ต้องไปร่วมกับนักการเมืองที่มีพื้นเพมาจากพรรคสังคมนิยมรวมถึงต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากสหภาพแรงงานมากขึ้นด้วย แต่พรรคดีพีก็ตัดสินใจไม่ได้ว่าพวกเขาจะทำตัวเองให้เป็นพรรคก้าวหน้ามากขึ้นหรือทำตัวเป็นอนุรักษ์นิยมสายกลางแบบเดิม ตัวหัวหน้าพรรคเองก็ได้แต่บ่นโดยไม่ได้นำเสนอทางเลือกอะไรใหม่ๆ ที่เป็นไปได้ รวมถึงไม่มีแนวคิดนโยบายที่ชัดเจนเสนอต่อประชาชน ทำให้ในตอนนี้พรรคแอลดีพีดูเหมือนจะมีอำนาจนำอยู่พรรคเดียวซึ่งไม่ดีต่อระบอบประชาธิปไตย
อีสต์เอเชียฟอรัมสรุปในบทบรรณาธิการของพวกเขาว่าการที่พรรคแอลดีพียังมีอำนาจอยู่โดยที่ฝ่ายค้านอ่อนแอเช่นนี้ ทำให้ต้องจับตามองต่อไปว่าพวกเขาจะละทิ้งหลักการกฎหมายพื้นฐานที่มีมาตลอด 70 ปีที่ผ่านมา หรือจะละทิ้งสถาบันแบบเสรีประชาธิปไตยของญี่ปุ่นที่ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศในแบบทุกวันนี้หรือไม่
เรียบเรียงจาก
Questions about Japan’s constitution after 70 years, East Asia Forum, 01-05-2017
http://www.eastasiaforum.org/2017/05/01/questions-about-japans-constitution-after-70-years/
Spotlight on Japan’s seventy-year old constitution, Yuki Tatsumi, East Asia Forum, 29-04-2017
http://www.eastasiaforum.org/2017/04/29/spotlight-on-japans-seventy-year-old-constitution/
Japan’s constitutional revision debate masks silent state control, Toshiya Takahashi, East Asia Forum, 26-04-2017
http://www.eastasiaforum.org/2017/04/26/japans-constitutional-revision-debate-masks-silent-state-control/
แสดงความคิดเห็น