เผยหลักการในการลบโพสต์ของเฟซบุ๊ก หลังเกิดข้อวิจารณ์สองขั้ว ไม่จัดการ-เซนเซอร์มากเกินไป
Posted: 23 May 2017 07:01 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซท์ประชาไท)
เดอะการ์เดียนเผยเอกสารแนวทางปฏิบัติการลบโพสต์ของเฟซบุ๊ก หลังจากถูกวิจารณ์จากทั้งสองทาง ด้านหนึ่งมองว่าพวกเขาจัดการกับเนื้อหาที่มีความรุนแรงไม่มากพอ แต่อีกด้านหนึ่งก็มองว่าพวกเขาเซนเซอร์มากเกินไป ขณะที่เอกสารแนวทางของพวกเขาก็เผยให้เห็นปัญหาความซับซ้อนในการพิจารณา และเห็นว่าพวกเขามีหลักการของตัวเองอย่างไรในการตัดสินว่าจะลบโพสต์ไหน
23 พ.ค. 2560 ทีมข่าวสืบสวนสอบสวนของเดอะการ์เดียนรายงานว่าพวกเขาสามารถเข้าถึงเอกสารที่รั่วไหลของเฟซบุ๊กเกี่ยวกับกฎและแนวทางปฏิบัติที่เฟซบุ๊กใช้ในการตัดสินใจว่าผู้ใช้งาน 2,000 ล้านคน สามารถโพสต์อะไรได้บ้าง เอกสารที่รั่วไหลดังกล่าวประกอบด้วย คู่มือการอบรมภายใน 100 ฉบับ ตารางจัดการ ผังงาน ที่ทำให้เห็นพื้นฐานแนวคิดการตัดสินใจจัดการกับโพสต์ต่างๆ ของเฟซบุ๊ก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องความรุนแรง, เฮทสปีช, การก่อการร้าย, ภาพโป๊เปลือย, การเหยียดเชื้อชาติ และการทำร้ายตัวเอง พวกเขามีแนวทางปฏิบัติแม้กระทั่งกับกรณี "การล้มบอล" และ "การกินเนื้อมนุษย์"
เดอะการ์เดียนระบุอีกว่าข้อมูลจากเฟซบุ๊กเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าฝ่ายบริหารของเฟซบุ๊กพยายามหาวิธีโต้ตอบกับปัญหาใหม่ๆ อย่าง "การใช้ภาพโป๊เปลือยเพื่อแก้แค้น" ส่วนฝ่ายผู้ดูแลจัดการเฟซบุ๊กก็เผชิญปัญหาจำนวนงานที่ล้นหลาม ต้องตัดสินใจภายในเวลาแค่ 10 วินาที จนมีแหล่งข้อมูลผู้หนึ่งบอกว่าเฟซบุ๊กเริ่มใหญ่เกินไป โตเร็วเกินไป เฟซบุ๊กไม่สามารถควบคุมเนื้อหาได้ตลอด นอกจากนี้ยังมีผู้ดูแลเว็บเฟซบุ๊กหลายคนกังวลเรื่องความไม่ต่อเนื่องและความแปลกประหลาดของนโยบายบางส่วนของเฟซบุ๊ก เช่น นโยบายเกี่ยวกับภาพโป๊เปลือยที่มีความซับซ้อนและชวนให้สับสน
เอกสารฉบับหนึ่งยังระบุอีกว่าเฟซบุ๊กต้องพิจารณาการรายงานเกี่ยวกับบัญชีปลอมจำนวนมากกว่า 6.5 ล้านกรณีต่อสัปดาห์
เมื่อไม่นานมานี้เฟซบุ๊กถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องที่ไม่จัดการกับเนื้อหาที่รุนแรงหรือสร้างความเกลียดชัง ขณะเดียวกันก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์เฟซบุ๊กในเรื่องที่เฟซบุ๊กเป็นตัวกลางใหญ่ในการเซนเซอร์เนื้อหา ทั้งสองกลุ่มนี้ต่างก็เรียกร้องให้เฟซบุ๊กมีความโปร่งใสมากขึ้น
การพิจารณานำเนื้อหาออก
โดยในรายงานข่าวของเดอะการ์เดียนยังเผยแพร่ให้เห็นการอ้างสาเหตุที่เฟซบุ๊กใช้เซนเซอร์โพสต์ต่างๆ ด้วย เช่น กรณีที่เฟซบุ๊กมองว่าข้อความ "ใครก็ได้ยิงทรัมป์หน่อย" ควรจะถูกลบ โดยอ้างเหตุผลว่าที่ฐานะที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประมุขรัฐเขาจึงอยู่ในจำพวกคนที่ได้รับการคุ้มครอง แต่เฟซบุ๊กกลับปล่อยให้ข้อความเกี่ยวกับการหักคอและข้อความด่าอย่าง "ไปตายซะ" คงอยู่ได้โดยอ้างว่าข้อความเหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่คุกคาม
เดอะการ์เดียนเผยแพร่เอกสารของเฟซบุ๊กต่อไปว่า กรณีของวิดีโอการเสียชีวิตอย่างรุนแรงแม้ว่าจะถูกจัดเป็นเนื้อหาชวนให้รบกวนจิตใจแต่จะไม่มีการลบเนื้อหาเหล่านี้เสมอไปเพราะมันสามารถใช้สร้างความตระหนักรู้ในเรื่องต่างๆ ได้ เช่นเรื่องความเจ็บป่วยทางจิตใจ รูปเกี่ยวกับการทารุณสัตว์ก็เช่นกันจะไม่มีการลบแต่จะจัดไว้ในหมวดเนื้อหาที่รบกวนจิตใจ อีกหนึ่งในสาเหตุที่พวกเขาไม่ลบโพสต์เพราะต้องการสร้างการรับรู้และให้ผู้คนสามารถเข้าไปประณามการกระทำทารุณกรรมเหล่านี้ได้
กรณีอื่นๆ อย่างรูปการทำร้ายร่างกายหรือข่มเหงรังแกเด็กโดยไม่ได้เป็นการกระทำทางเพศไม่จำเป็นที่เฟซบุ๊กต้องลบทิ้งหรือต้องทำอะไรกับมันเว้นแต่จะมีคอมเมนต์ในเชิงชื่นชอบความเจ็บปวดของคนอื่นหรือมีลักษณะส่งเสริมให้เกิดการกระทำเช่นนี้ตามมาด้วย ในกรณีของการไลฟ์สดนั้น เฟซบุ๊กระบุว่าจะไม่มีการเซนเซอร์ผู้ที่ไลฟ์สดแสดงการทำร้ายตนเองด้วยเหตุผลว่าพวกเขา "ไม่อยากเซนเซอร์หรือลงโทษผู้ที่กำลังทุกข์ตรม"
ในเรื่องรูปโป๊เปลือยหรือนู้ดกลายเป็นประเด็นที่เฟซบุ๊กเคยถูกวิจารณ์เรื่องการเซนเซอร์หลังจากที่มีการนำภาพชื่อดังของ "ฟาน ที คิม ฟุก" เด็กผู้หญิงเปลือยเปล่ากำลังหนีตายในสงครามเวียดนามออก ทำให้เฟซบุ๊กมีการกำหนดข้อแม้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพเปลือยว่าสามารถนำเสนอได้หาก "มีความเป็นข่าว" ที่แสดงถึง "ความโหดร้ายของสงคราม" เพื่อให้มีการหารือถกเถียงกันได้ นอกจากนี้ในประเด็นเรื่องโป๊เปลือยเฟซบุ๊กยังระบุให้รูปศิลปะ "ทำมือ" ที่เกี่ยวกับการโป๊เปลือยหรือนู้ดและการร่วมเพศจะสามารถนำเสนอได้แต่รูปศิลปะที่สร้างขึ้นแบบดิจิทัลและมีการแสดงออกเชิงร่วมเพศจะไม่ได้รับอนุญาต วิดีโอเกี่ยวกับการทำแท้งจะได้รับการอนุญาตตราบใดที่ไม่มีภาพโป๊เปลือย
เอกสารอีกหนึ่งชิ้นของเฟซบุ๊กระบุว่า "ผู้คนใช้ภาษารุนแรงในการแสดงความคับข้องใจทางออนไลน์" และมักจะรู้สึก "ปลอดภัยที่จะทำ" พวกเขาจะรู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้จะไม่ย้อนกลับมาหาพวกเขาและพวกเขาเฉยชาต่อคนที่พวกเขาข่มขู่เพราะขาดการรับรู้ความรู้สึกคนอื่นจากการสื่อสารแบบที่ไม่ได้เจอกันต่อหน้า อย่างไรก็ตามถ้อยคำรุนแรงเหล่านี้เฟซบุ๊กจะไม่มองว่าเป็นการข่มขู่คุกคามอย่างแท้จริง แต่เป็นเรื่องการใช้ภาษาแสดงอารมณ์อย่าง "ฉันจะฆ่าแก" หรือ "ไปตายซะ" เพื่อแสดงอารมณ์ไม่พอใจ โดยต้องดูสาเหตุแวดล้อมประกอบด้วย
ในเรื่องนี้ทำให้เฟซบุ๊กสรุปว่า "ไม่จำเป็นที่เนื้อหาที่รบกวนจิตใจและชวนให้แสลงใจทั้งหมดจะเป็นเนื้อหาที่ละเมิดมาตรฐานชุมชนของพวกเราเสมอไป"
เฟซบุ๊กเผยพวกเขาไม่ใช่สื่อแบบดั้งเดิม
โมนิกา บิกเกิร์ต หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการนโยบายระดับนานาชาติของเฟซบุ๊กยอมรับว่าการที่ผู้ใช้ 2,000 ล้านคนจากทั่วโลกมาจากสังคมที่ต่างกันก็ทำให้การจัดการเรื่องนี้ซับซ้อนขึ้นเพราะพวกเขามีมุมมองแตกต่างกันว่าอะไรที่แชร์ได้ อะไรที่ควรขีดเส้นกั้น ทำให้หลายครั้งสิ่งที่จะแยกว่าอะไรเป็นอารมณ์ขันอะไรเป็นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกลายเป็นเรื่องสีเทาๆ ที่ระบุไม่ได้ชัดเจน อย่างไรก็ตามบิกเกิร์ตกล่าวว่าเฟซบุ๊กจะพยายามดำเนินการให้เป็นพื้นที่ๆ ปลอดภัยต่อไป
นอกจากนี้บิกเกิร์ตยังกล่าวโต้ตอบเมื่อมีนักวิจารณ์ในสหรัฐฯ และยุโรปเรียกร้องให้บริษัทเฟซบุ๊กมีการวางระเบียบแบบเดียวกับสื่อกระแสหลักทั่วไป บิกเกิร์ตแย้งในเรื่องนี้ว่าพวกเขาเป็น "บริษัทแบบใหม่ ไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยีแบบดั้งเดิม ไม่ใช่บริษัทสื่อแบบดั้งเดิม" นั่นเพราะพวกเขาเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีเพื่อให้คนใช้เป็นพื้นที่และมีส่วนรับผิดชอบต่อการถูกนำไปใช้ต่อแต่พวกเขาไม่ได้เขียนข่าวขึ้นมาให้อ่านเอง
เดอะการ์เดียนระบุว่าเฟซบุ๊กพยายามประเมินในเรื่องภาพความรุนแรงอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นข่าวหรือการสร้างความตระหนักรู้หรือไม่ เฟซบุ๊กเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเรื่องที่เฟซบุ๊กนำวิดีโอการสังหารเหยื่อชาวสหรัฐฯ รายหนึ่งแบบไลฟ์สด รวมถึงกรณีที่ปล่อยให้มีการเผยแพร่วิดีโอพ่อสังหารลูกตัวเองผ่านเฟซบุ๊ก อย่างไรก็ตามเฟซบุ๊กก็เป็นพื้นที่ที่มีการเผยแพร่วิดีโอตำรวจสังหารประชาชนหรือการใช้อำนาจในทางที่ผิดอื่นๆ ของรัฐบาลได้ด้วย
เรียบเรียงจาก
Revealed: Facebook's internal rulebook on sex, terrorism and violence, The Guardian, 21-05-2016
https://www.theguardian.com/news/2017/may/21/revealed-facebook-internal-rulebook-sex-terrorism-violence
แสดงความคิดเห็น