วงเสวนาเสรีภาพสื่อกับสังคมไทย ระบุรัฐคุมสื่อก็เหมือนคุมการรับรู้ของประชาชน

Posted: 04 May 2017 07:21 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

วงเสวนาวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซัดร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อ อาจมีเจตนาปกป้องรัฐ เพราะทีผ่านมาประชาชนถูกสื่อละเมิด รัฐกลับไม่แสดงท่าที แต่เมื่อสื่อเสนอข้อมูลที่กระทบเสถียรภาพของรัฐ กลับมีปฏิกิริยโดยทันที ด้านสุทธิชัย หยุ่น ชี้หากต้องการให้คอร์ชั่นน้อย ต้องมีสื่อเสรี


เมื่อวันที่ 3 พ.ค. เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดเสวนา "เสรีภาพสื่อกับอนาคตสังคมไทย" โดยมี มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นคณะผู้บรรยาย โดยมีสื่อมวลชนร่วม นักวิชาการ ประชาชนร่วมงานกว่า 100 คน


มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ถ้าเราดูปรากฎการณ์ที่มีความเห็นเกี่ยวกับการนำเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ กระแสหนึ่งได้สนับสนุนให้สื่อเข้ารูปเข้ารอย ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยเป็นจุดสำคัญที่คนทำงานสื่อต้องพิจารณาว่า 5-10 ปีที่ผานมาได้ทำไปเพื่อสังคมแค่ไหน เมื่อ 20 ปีก่อน เสรีภาพสื่อผูกกับประชาชน แต่เมื่อประชาชนถูกลิดรอนจึงเรียกร้องให้รัฐคุ้มครองเสรีภาพ แต่คนที่เคยออกมาเรียกร้องเสรีภาพของสื่อที่ผ่านมา กลับสนับสนุนให้มีการควบคุม ปัญหาคือสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยใช้เสรีภาพละเมิดสิทธิคนอื่น หรือใช้เสรีภาพก่อให้เกิดปัญหาในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อทีวี สื่อออนไลน์ ไม่ได้นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนควรรู้ แต่วันนี้มีเทคโนโลยีประชาชนมีสื่อในมือ ถ้าสื่อมวลชนทำอะไรไม่ถูกต้อง ประชาชนอาจจะตั้งคำถาม ล้อเลียน หรือถูกตำหนิ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยขานรับกฎหมายฉบับนี้ ขณะที่รากฐานของการแก้จริยธรรมสื่อในกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้พูดถึง ส่วนใหญ่จะเป็นการควบคุมเนื้อหา และเมื่อรัฐผู้ที่อภิปรายอ้างประชาชนถูกละเมิดสิทธิ แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐไม่เคยแสดงท่าทีเรื่องนี้ แต่เมื่อไหร่ที่สื่อได้นำเสนอข้อมูลกระทบข้อมูลเสถียรภาพของรัฐ รัฐจะออกมาทันที เพราะรัฐต้องการให้สื่อเป็นเด็กดีว่านอนสอนง่าย ต้องการให้เป็นหมาเชื่องๆ มากกว่า ไม่ใช่หมาเฝ้าบ้าน

"การออกใบอนุญาต เข้าควบคุมเนื้อหา ทุกอย่างเป็นเพียงข้ออ้าง สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐพูดไว้มองไปที่สิงค์โปร์ ในประเทศที่ทำให้ทุกฝ่ายนิ่งหมด แต่ฝ่ายรัฐทำได้ทุกอย่าง ไม่มีใครคอยดึงคอยรั้งไว้ ใครที่ตั้งคำถามรัฐหลายๆ แห่งในโลก ก็ไม่ยินยอมพร้อมใจอยากให้สื่อมาตั้งคำถามหรือเห็นต่าง"มานะ กล่าว


มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้มีประเด็นกวนใจหลายอย่าง ซึ่งจากการสำรวจของหอการค้าไทย โดยเฉพาะเรื่องการต่อคอร์รัปชั่นพบว่า 3 ครั้งแรกตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา ประชาชนมีความความเชื่อมั่นและความหวังว่าสื่อจะช่วยแก้ไขปัญหาประเทศได้ แต่ปีครึ่งที่ผ่านมาจากการสำรวจ ประชาชนมีความหวังน้อยลง ทั้งนี้ ความพยายามออกกฎหมายนี้ ต้องทำความเข้าใจว่าเรื่องการคอร์รัปชั่นหลักการแก้ปัญหา ไม่ใช่ไล่จับ แต่ต้องแก้ระยะยาวด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ทำลายปัจจัยคอร์รัปชั่น เพราะการออกฎหมายมากๆเป็นปัญหา การมีกฎหมายแบบนี้ มันทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นหรือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางอย่าง ทำให้การนำเสนอข้อมูลไปในทางที่รัฐต้องการ

"สื่อเสรีนำเสนอข้อมูลหลากหลายไปสู่ประชาชนทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสังคม ถ้าเราจะแก้คอร์รัปชั่นให้ได้ ทุกคนต้องร่วมกันบอกผู้อำนาจในรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สิ่งที่อยากเห็น คือ ข่าวสารผ่านสื่อมีคุณภาพรวมถึงในโซเชียล เพื่อให้เกิดการตรวจสอบกันและกัน เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความหวังกับการต่อสู้คอร์รัปชั่น และทำให้ประชาชนเข้าร่วมปราบปรามและต่อต้านคอร์รัปชั่น"


ด้านสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่าการที่มีผู้มีอำนาจใจใช้เฮชสปีช สร้างความเกลียดชังด้วยการอภิปรายในสภาว่าจับสื่อไปยิงเป้าอยากถามว่าขัดกับจริยธรรมหรือไม่ ซึ่งคำพูดดังกล่าวเข้าข่ายเฮชสปีชอย่างไรก็ดี ร่างดังกล่าวมีชื่อไม่ตรงกับหลักการซึ่งสะท้อนถึงความต้องการขยายอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชนกับสถานการณ์ที่ขณะนี้ไม่มีฝ่ายค้านในสภาทำหน้าที่ตรวจสอบ ดังนั้นจึงมีเพียงสื่อทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงและถ้าไม่มีสื่อประเทศไทยเป็นอย่างไร มีเพียงมุมมองเดียวจากภาครัฐซึ่งตอนนี้รัฐสกัดอำนาจฝ่ายค้านไม่มี พรรคการเมืองอ่อนแอกฎหมายเข้มงวด ทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้ อำนาจสุดท้ายถ่วงดุลรัฐคือ สื่อมวลชนและออนไลน์ จนทำให้ผู้มีอำนาจรัฐไม่วางใจจำเป็นต้องมีเครื่องมือเข้ามาและคำว่าเสรีภาพกับความรับผิดชอบเป็นของมาคู่กันถ้าเมื่อไหร่สื่อไม่มีเสรีภาพ ความรับผิดชอบก็จะไม่เกิดและไม่เรียกว่าสื่อมวลชนได้อีกต่อไปต้องกลับมาตั้งหลักด้วยการเพิ่มความรับผิดชอบมากขึ้นแต่ไม่ใช่ลิดรอนเสรีภาพหากความรับผิดชอบไม่เพียงพอทั้งสื่อหลักหรือสื่อออนไลน์ก็สามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่มาดำเนินการ

“จึงอยากเสนอสปท.คุ้มครองผู้เสียหายโดยใช้หลักนิติธรรมรัฐช่วยประชาชนฟ้องง่ายกว่าและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนกับสื่อเองก็รับได้ถ้ารัฐใช้ทางลัดปัญหาไม่สิ้นสุด และเดือนนี้จะครบ 25 ปี เหตุการณ์ปี 35พฤษภา ซึ่งจากบทเรียนในอดีต รัฐคงไม่อยากซ้ำรอยควรให้เสรีภาพกับสื่อ” สุภิญญา กล่าว


ด้านอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระบุว่า สิทธิเสรีภาพของสื่อ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน และเป็นสิทธิเสรีภาพที่ถูกรับรองไว้โดยกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยร่วมภาคีของสนธิสัญญาดังกล่าวด้วย โดยในข้อที่ 19 ได้ระบุชัดเจนว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และบุคคลทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงออก ซึ่งเสรีภาพดังรวมถึงเสรีภาพที่จะรับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้วย แต่การใช้เสรีภาพดังกล่าวมีข้อจำกัดอยู่ 2 ประการคือ การเคารพสิทธิและชื่อเสียงของบุคคลอื่น และต้องรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของชาติ แต่หลักการคือ จะต้องเปิดให้ทุกคนมีเสรีภาพ ขณะที่ข้อจำกัดจะใช้เฉพาะเรื่องที่จำเป็น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเรื่องความมั่นคงของชาตินั้น กลับไม่มีนิยามที่ชัดเจนว่าอะไรคือความั่นคงของชาติ คำนี้จึงกลายเป็นคำที่ทุกคนต่างหวาดกลัว

อังคณา กล่าวต่อไปถึงบทบาทหน้าที่ของสื่อว่า นอกจากเป็นผู้ที่ช่วยทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารแล้ว สื่อยังทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจ และการใช้งบประมาณต่างๆ ของรัฐด้วย ฉะนั้นประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่เธอต้องการให้รัฐบาลกลับไปดูข้อเสนอแนะจากนานาประเทศในเวที UPR ซึ่งประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะในหลายเรื่องรวมทั้งเรื่องการให้สิทธิและเสรีภาพกับสื่อมวลชน โดยข้อเสนอแนะต่างๆ เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องนำมาปฏิบัติ อย่างไรก็ตามอังคณา เห็นว่า สื่อมวลชนเองก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย โดยเฉพาะเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

อังคณากล่าวต่อไปว่า แม้ว่าสื่อมวลเองจะยังคงมีปัญหาอยู่ แต่สิ่งที่รัฐบาลความทำมากกว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนคือ การสร้างให้ประชาชนมีความเป็นพลเมือง และมีสิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบ และเคารพสิทธิของผู้อื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นกลไกที่จะทำให้การตรวจสอบสื่อมวลชนเอง อีกทั้งในเวลานี้ประเทศไทยก็มีกลไกที่จะตรวจสอบการทำหน้าที่ของสื่ออย่างเพียงพออยู่แล้ว

“สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องพัฒนาองค์กรอิสระ และกลไกการตรวจสอบให้มีความเป็นอิสระมีความโปร่งใส ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม และไม่หวั้นเกรงต่ออิทธิพลใดๆ” อังคณาล่าว

เธอระบุต่อไปว่า สิ่งที่น่ากังวัลสำหรับสถานการณ์เสรีภาพสื่อในเวลานี้คือ วิธีคิดของผู้ร่างกฎหมาย ซึ่งเธอมองว่าบางครั้งผู้ร่างกฎหมายเองก็มีความกลัว เช่นกลัวว่าอีก 20 ปีข้างหน้าจะอยู่กันอย่างไร และก็พยายามออกกฎหมายเพื่อควบคุมทิศทางให้คนในอนาคต

“คือคิดกันไปไกลว่า เราจะต้องอยู่กันอย่างไรในอนาคต จริงๆ แล้วท่านผู้สูงอายุทั้งหลายที่อยู่ใน สนช. หรือ สปท. ถ้าไว้วางใจลูกหลานเรา ฉันคิดว่าเราต้องปล่อยให้คนรุ่นใหม่ต้องรู้จักที่จะคิดเอง เลือกเองและตั้งรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองได้กระทำไปด้วย อันนี้แหละคือการสร้างความเป็นพลเมือง” อังคณา กล่าว

อังคณา ระบุด้วยว่า เธอไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดจึงมีการนำเอากรรมการสิทธิมนุษยชนเข้าไปนั่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการวิชาชีพสื่อมวลชน ตามที่ระบุไว้ในร่างกฎหมาย เพราะในความเป็นจริงแล้วคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีหน้าที่ต้องเรื่องราวที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และทุกวันนี้หากสื่อมวลชนไปละเมิดใครกรรมการสิทธิก็มีหน้าที่ตรวจสอบอยู่แล้ว และในอนาคตสื่อก็อาจจะถูกละเมิดสิทธิเอง สื่อก็ควรจะมาร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิฯ ได้เช่นกัน แต่ถ้ากรรมการสิทธิไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการวิชาชีพสื่อมวล แล้วกรรมการสิทธิจะอยู่ในฐานะที่เป็นกลางเป็นธรรมได้อย่างไร

“แทนที่รัฐจะมาคุม รัฐควรจะคิดว่าเมื่อสื่อปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต เพื่อที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว สื่อจะต้องไม่ถูกคุกคาม จะต้องไม่ถูกละเมิดสิทธิทั้งร่างกาย และชีวิต และหากเกิดการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นก็จะต้องไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล”อังคณา กล่าว

สมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า นักการมือง ตำรวจ สื่อมวลชน คือกลุ่มที่ประชาชนต้องการให้ปฏิรูป ตนไม่เห็นด้วยกับร่างของสปท. แต่สนับสนุนให้มีร่างวิชาชีพของสื่อที่สื่อเข้าไปยกร่างด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันความคาดหวังว่า กรณีสื่อเทียม สื่อเสี้ยมที่เข้ามาจำนนำนวนมากจะหมดไป ดังนั้นกฎหมายจะต้องส่งเสริมไม่ใช่ควบคุมสิทธิเสรีภาพ ซึ่งจากนี้ยังมีหลายขั้นตอนอีกไกลมากกว่ากฎหมายฉบับนี้จะออกมา ส่วนการควบคุมกันเองจะทำอย่างไร แต่ที่ผ่านมายังไปไม่ได้ จึงควรมีสภาวิชาชีพเกิดขึ้น เพื่อสร้างหลักประกันให้กับสื่อด้วย


สุทธิชัย หยุ่น ระบุว่าจากร่างกฎหมายคุมสื่อฉบับที่ผ่านมติเห็นชอบจาก สปท. นั้นเป็นความพยายามที่จะคุมสือแบบหยาบๆ เพียวแค่ต้องการจะควบคุมจึงได้กำหนดให้คนเป็นสื่อมาขอใบอนุญาติประกอบวิชาชีพ เขาเห็นความอันตรายของความคิดนี้คือ หากมีการควบคุมผู้ที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ก็จะสามารถควบคุมการไหลเทของข่าวสารตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ

“เขาคงลืมไปว่าเทคโนโลยีได้ก้าวหน้าไปจนถึงขั้นที่ใครก็ไม่สามารถควบคุมการไหลเวียนของข่าวสารในสังคมได้อีกต่อไป แต่ผมเชื่อว่าความล่าสมัยของความคิดของคนที่อยู่ในอำนาจ หากคุมหนังสือพิมพ์ได้ เพราะตอนนี้ของคุมทีวีเกือบจะได้ทั้งหมด สิ่งที่เขาห่วงก็คือ คนในอำนาจตื่นเช้ามาอ่านหนังสือพิมพ์ไม่กี่ฉบับ ก็จะไม่ชอบที่เห็นความคิดความอ่านต่างๆ จริงๆ เขาไม่ชอบคอลัมนิสหนังสือพิมพ์บางฉบับเท่านั้นแหละครับ เขาเลยคิดว่าอยากจะควบคุมได้ แต่เขาลืมไปว่าร่างกฎหมายนี้ออกมามันจะคุมทุกคนในสังคมไทย ไม่ใช่เฉพาะคนมีอาชีพสื่อสารมวลชนกระแสหลักเท่านั้น” สุทธิชัย กล่าว

สุทธิชัย กล่าวอีกว่า ทั้งหมดจึงเป็นปรากฎการณ์ให้สังคมได้ตระหนัก เพราะการปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่อมีมากอยู่แล้ว เสรีภาพก็สึกกร่อนไปด้วยทุนนิยม ดังนั้นความเข้มข้นคนทำสื่อก็แผ่วลงไป ดังนั้นคนแก่จึงต้องมาวันนี้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เดินหน้าต่อไป และต้องตระหนักว่าการปกป้องเสรีภาพ เพราะเสรีภาพของสื่อ คือเสรีภาพประขาชน ไม่มีอาชีพไหนปกป้องกันเองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีอาชีพไหนที่ไม่มีคอร์รัปชั่น นักการเมืองก็มี หมอก็มี วิชาสื่อไม่ว่าตั้งกฎอะไรก็ต้องมีคนผิดกฎ แต่สุดท้ายสังคมจะตัดสินเอง ไม่ใช่รัฐบาลตัดสิน ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหน่ึงตัดสิน ที่นายกฯบอกว่า ต้องให้สื่อต้องเชื่อมโยงกับรัฐ แต่สื่อไม่มีความจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับรัฐ เพราะสื่อมีความจำเป็นต้องเชื่อมโยงกกับประชาชนเท่านั้น รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมให้สื่อสามารถปกครองดูแลตัวเอง โดยผ่านการดูแลจากประชาชน

"วันนี้คือจุดเริ่มต้นของสังคมไทย ในเสรีภาพของข่าวสารจะให้สังคมนี้ดีขึ้น ไม่ใช่มาควบคุมและมากำกับ ซึ่งปัจจัยที่การปราบคอร์รัปชั่นในประเทศที่คอร์รัปชั่นน้อยที่สุดโลก ที่ผมเคยสัมภาษณ์มานั้นคำตอบที่ได้คือ ต้องมีสื่อที่เสรี" สุทธิชัย กล่าว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.