ก.แรงงาน เข้ม สอบชาวแอฟริกาเข้ามาทำธุรกิจค้าพลอยเมืองจันท์

Posted: 12 May 2017 06:14 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

กระทรวงแรงงาน เผยมีมาตรการเข้มตรวจสอบคนต่างด้าวชาวแอฟริกาลักลอบทำงานค้าพลอยที่จันทบุรี เผยยอดออกใบอนุญาตทำงานธุรกิจค้าพลอยแล้วกว่า 500 ราย พบส่วนใหญ่เป็นสัญชาติ กินี มาลี แกมเบียและโกตดิวัวร์ ขณะที่มีการจัดตั้งจดทะเบียนบริษัทค้าพลอยจำนวน 306 แห่ง

12 พ.ค.2560 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงานน แจ้งว่า วรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมตรวจสอบจับกุมดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานผิดกฎหมาย ตามนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามคนต่างชาติกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งจากกรณีที่มีชาวแอฟริกาใช้ VISA TOURISM เป็นนักท่องเที่ยวเข้ามาประกอบธุรกิจค้าขายพลอยโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานในจังหวัดจันทบุรี นั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมการจัดหางานได้มีมาตรการในการตรวจสอบจับกุมอย่างต่อเนื่อง และตรวจสอบความถูกต้องเรื่องการจดทะเบียนบริษัท ความจำเป็นในการขออนุญาตทำงานการทำงานของคนต่างด้าว โดยให้มีสัดส่วนการจ้างตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งมีการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจที่ถูกต้องอีกด้วย ทั้งนี้ กรมการจัดหางาน โดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดจันทบุรีจะได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานอื่นในจังหวัดเพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป

วรานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดจันทบุรีพบว่าชาวแอฟริกาเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรจำนวนประมาณ 700 คน ส่วนใหญ่ได้ VISA TOURISM หรือ VISA Non immigrant O ปัจจุบันมีการจัดตั้งจดทะเบียนบริษัทค้าพลอยจำนวน 306 แห่ง ออกใบอนุญาตทำงานเกี่ยวกับธุรกิจดังกล่าว จำนวน 562 คน โดยส่วนใหญ่เป็นสัญชาติกินี 442 คน มาลี 72 คน แกมเบีย 12 คน โกตดิวัวร์ 11 คน และอื่น ๆ 537 คน (มาลากาซี แซมเบีย กาน่า ไนจีเรีย เคนยา เซียร์ราลีโอน แคเมอรูน) นอกจากนี้ยังมีชาวแอฟริกาเข้ามาทำงานในตำแหน่งครูสอนภาษาอังกฤษอีกจำนวน 14 คน เป็นสัญชาติแคเมอรูน 12 คน กาน่า 1 คน และแซมเบีย 1 คน ทั้งนี้ หากคนต่างด้าวประสงค์จะทำงานในประเทศไทยจะต้องมีใบอนุญาตทำงาน และเดินทางเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยสามารถติดต่อขอใบอนุญาตทำงานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดหรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานที่ทำงานของคนต่างด้าว สอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.