ไอลอว์ เปิดเรื่องราว ทนายสิทธิแรงงาน ที่ต้องถูกจำคุกฐาน 'ละเมิดอำนาจศาล'
Posted: 03 May 2017 12:06 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
เปิดเรื่องราวของ ทนายสิทธิแรงงาน ที่ต้องถูกจำคุกฐาน 'ละเมิดอำนาจศาล' จากเขาพร้อมแรงงานไม่พอใจศาลจำหน่ายคดี เหตุเขาไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาคดีจากการสื่อสารที่เข้าใจผิดกับจนท.ศาลโทรแจ้งเลื่อนคดี ปัจจุบันเขายังมีคดีที่ต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นทนายประมาณ 3-4 คดี และมีภรรยาที่มีอายุครรภ์ประมาณ 5 เดือนต้องดูแล
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดย ไอลอว์ รายงานเรื่องราวของ ทนายความด้านสิทธิแรงงานคนหนึ่ง โดย ไอลอว์ ใช้ชื่อสมมติ ว่า "สหรัถ" เขากำลังถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำจังหวัดสระบุรีตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีละเมิดอำนาจศาล ตามกำหนดโทษจำคุก 3 เดือน ตั้งแต่ 20 เม.ย. 2560
ข้อมูล ของ ไอลอว์ ระบุวาา “สหรัถ” เรียนจบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ปัจจุบัน อายุ 37 ปี ระหว่างที่เขาอยู่ในเรือนจำ เขาไม่สามารถดูแลภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ได้ประมาณ 5 เดือน ภรรยาของ ”สหรัถ” จึงต้องดูแลตัวเองและลูกในครรภ์เพียงลำพัง นอกจากนี้”สหรัถ”ยังมีคดีแรงงานที่ต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นทนายความอยู่ด้วย ซึ่งต้องมีนัดพิจารณาคดีในระหว่างที่ “สหรัถ” ถูกจำคุกอยู่
ก่อนหน้านี้ "สหรัถ" เคยเป็นอาสานักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรุ่น 3 ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เป็นเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายให้กับกลุ่มแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ที่ จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรสาคร และเป็นเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายที่ ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤติแรงงาน ตามลำดับ
19 พ.ค. 2558 "สหรัถ" พร้อมผู้ใช้แรงงาน 51 คน รวมตัวกันแสดงความไม่พอใจที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีของพวกเขาออกจากสารบบความ เพราะ ฝ่ายโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาคดี โดย "สหรัถ" ให้เหตุผลว่า เจ้าหน้าที่ศาลโทรศัพท์ไปแจ้งเลื่อนคดี แต่เจ้าหน้าที่ศาลปฏิเสธว่าไม่ได้โทรแจ้งเลื่อนนัดคดี เพียงแค่แจ้งให้นำคดีที่จะมาฟ้องใหม่มาฟ้องในวันอื่นแทน เมื่อ "สหรัถ" และแรงงาน 51 คนที่เป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวมาถึงศาลแล้วพบว่า คดีถูกจำหน่ายออกไปแล้ว จึงแสดงคงามไม่พอใจ โดยการพูดว่า “ต้องมีการเลื่อนคดี ท่านต้องรับผิดชอบ เรื่องนี้ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ต้องมีคนรับผิดชอบ ผมจะร้องเรียน เดี๋ยวผมจะร้องเรียนเจ้าหน้าที่ทุกคน พวกเราไม่ยอมใช่ไหม”
จากนั้น "สหรัถ" และพวกทั้ง 51 คนก็พูดว่า “เราไม่ยอม เราไม่ยอม”แล้ว “สหรัถ”ก็โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ประมาณว่า “วันนี้รู้แล้วว่าศาลแรงงานรับใช้นายทุน...”
เหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ ”สหรัถ” ถูกอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาฟ้องร้องการกระทำผิดดังกล่าวว่าเป็นความผิดฐานดูหมิ่นศาลและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยวันที่ 16 มีนาคม 2560 ศาลชั้นต้น จังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิพากษารอการกำหนดโทษไว้มีกำหนดสองปีและให้คุมประพฤติจำเลย โดยให้จำเลยรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติทุกสามเดือนเป็นเวลาสองปี ขณะเดียวกัน การกระทำผิดดังกล่าวยังถูกดำเนินคดีแยกต่างหากเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล โดยวันที่ 20 เมษายน 2560 ศาลฎีกา พิพากษาลงโทษจำคุกสามเดือน
สหรัถเป็นคนนิ่ง ใจเย็น ตั้งแต่ใช้ชีวิตคู่มา สหรัภเป็นเหมือนน้ำเย็น ส่วนพี่นั้นเป็นคนใจร้อน ก็เหมือนน้ำร้อน แต่พี่กับสหรัถก็อยู่ด้วยกันได้ คนรอบตัวสหรัถจะรับรู้เองว่า สหรัภเป็นคนอย่างไร - ประโยคหนึ่งที่สะท้อนอุปนิสัยของ “สหรัถ” จากภรรยา
จริงๆ แล้วสหรัถไม่ค่อยพูด ส่วนมากภรรยาสหรัถจะพูดแทนหมดแต่วันที่เกิดเหตุ พี่คิดว่า สหรัถคงอินกับคดีจริงๆ จึงใจร้อน - ประโยคหนึ่งที่สะท้อนอุปนิสัยของ “สหรัถ” จากทนายความที่เป็นเพื่อนของเขา
จากการสังเกตการณ์ในคดีความผิดฐานดูหมิ่นศาล ของ “สหรัถ” ที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำเลยยอมรับว่า ได้กระทำการดังกล่าวรวมทั้งโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กจริง แต่ “สหรัถ” ต่อสู้คดีละเมิดอำนาจศาล ด้วยข้อต่อสู้อย่างน้อยสองประการสำคัญ คือ
1. การกระทำความผิดที่ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดกรรมเดียว ไม่ควรต้องรับโทษสองครั้ง อันเป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไป “สหรัถ” ควรเลือกบทลงโทษที่หนักที่สุดให้แก่ผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่บัญญัติว่า “เมื่อการกระทําใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อ กฏหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทําความผิด”
2. “สหรัถ”มีหน้าที่ต้องดูแลมารดาที่มีความพิการทางการได้ยิน มีภรรยาที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ประมาณ 5 เดือน และในฐานะทนายความ “สหรัถ” ยังมีคดีที่ต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นทนายความประมาณ 3-4 คดี ซึ่งต้องมีการดำเนินการต่อในระหว่างที่สหรัภถูกจำคุก และที่สำคัญ “สหรัถ” ไม่เคยต้องต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงมีเหตุให้ศาลกำหนดบทลงโทษสถานเบา หรือรอการลงโทษ
จากข้อต่อสู้ดังกล่าว ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาคงเห็นด้วยกับข้อต่อสู้เพียงข้อที่ 2. และพิพากษาให้ “สหรัถ” มีความผิด แต่รอการกำหนดโทษไว้ ซึ่งในทางกลับกัน ก็เท่ากับศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เห็นว่า การกระทำ 1 ครั้งของ “สหรัถ” ที่ถูกลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลไปแล้ว ก็อาจถูกลงโทษฐาน “ดูหมิ่นศาล” ซ้ำอีกก็ได้
ถ้าต่อสู้คดีละเมิดอำนาจศาล ก็ไม่มีทางชนะ อย่างเช่น เคสอาจารย์ตุ้มก็ยังถูกจำคุกมาเลย ยังไงศาลก็ต้องคุ้มครองสถาบันศาลอยู่แล้ว - ทนายความของ “สหรัถ” กล่าว
ข้อสังเกตเกี่ยวกับคดีเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพิจารณาของศาลแสดงออกที่บริเวณหน้าศาลจนถูกดำเนินคดีในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล โดยศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพของไอลอว์(iLaw) บันทึกข้อมูลพบอย่างน้อยสามคดีที่ศาลพิพากษาจำคุก รอการลงโทษ และอยู่ระหว่างการไต่สวนตามลำดับ ได้แก่ คดีสุดสงวน ประท้วงหน้าศาลแพ่ง หรือ "อาจารย์ตุ้ม" อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดชุมนุมวางพวงหรีดที่หน้าป้ายศาลแพ่ง หลังศาลมีคำสั่งห้ามรัฐบาลยิ่งลักษณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มกปปส. จนถูกพิพากษาจำคุกหนึ่งเดือนโดยไม่รอลงอาญา ถัดมาคดีณัฐพล พ่นสีป้ายศาลอาญา เป็นตัวอักษรเอในวงกลมรวมสองจุดบนป้ายศาลอาญา จนถูกพิพากษาว่ารอการลงโทษไว้มีกำหนดหนึ่งปี และล่าสุด คดีนักกิจกรรมเจ็ดคนละเมิดอำนาจศาลจังหวัดขอนแก่น จากการทำกิจกรรม อ่านแถลงการณ์ แสดงท่าทาง ร้องเพลง พร้อมนำอุปกรณ์มาตั้งบริเวณหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น กรณีที่ศาลไม่ให้ประกัน 'ไผ่ดาวดิน' จนถูกศาลเรียกไปไต่สวนความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ปัจจุบันคดีมีนัดไต่ส่วนวันที่ 19 พฤษภาคม 2560
นักวิชาการชี้กฎหมายละเมิดอำนาจศาล ยังไม่ชัดเจน
โดยคดีทั้งสี่ (สหรัถ สุดสงวน ณัฐพล และนักกิจกรรมเจ็ดคน) ยังไม่มีคดีไหนที่ศาลพิพากษายกฟ้อง อีกทั้งศาลพิจารณาว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่คดีประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล จึงเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31 (1) ซึ่งคำว่า “ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล” ยังไม่มีนิยามการกระทำความผิดที่ชัดเจน
ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ อึ้งจะนิล คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหนึ่งในผู้ทำงานวิจัยเรื่อง "หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในกรณีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล"กล่าวถึง ปัญหาการใช้กฎหมายละเมิดอำนาจศาลวไว้อย่างน้อยสองประเด็นคือ
1. การกำหนดขอบเขตการกระทำความผิด การละเมิดอำนาจศาล ไม่ชัดเจน
2. ผู้พิพากษาหรือศาลมีอำนาจพิเศษตัดสินลงโทษผู้ที่ถูกกล่าวหาได้โดยตรง โดยไม่ต้องมีกระบวนการสอบสวนโดยตำรวจ และอัยการเช่นเดียวกับความผิดอื่น
อีกทั้งกฎหมายละเมิดอำนาจศาลมีโทษทางอาญาคือ โทษปรับไม่เกิน 500 บาท โทษจำคุกไม่เกินหกเดือน แต่ถูกนำไปเขียนไว้ในกฎหมายแพ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการนำคดีเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายอาญา ซึ่งอาจก่อให้เกิดความล่าช้าในการระงับเหตุและอำนวยความยุติธรรม ผศ.ดร.เอื้ออารีย์กล่าวเสริม
ตามความเข้าใจทั่วไปแล้ว หลักกฎหมายอาญา ต้องตีความโดยเคร่งครัด ไม่มีความผิดและไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมาย เพราะโทษของกฎหมายอาญากระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนกฎหมายแพ่งไม่มีหลักต้องตีความโดยเคร่งครัด ตีความตามตัวอักษรหรือเจตนารมณ์ของบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อให้ปรับใช้กับข้อเท็จจริงในแต่ละคนและไม่มีบทกำหนดโทษ เพราะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินเสียส่วนใหญ่
เมื่อกลับมาพิจารณาคดี “สหรัถ” และคดีอื่นที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นจะเห็นว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมาตรา 31(1) และบทลงโทษบุคคลที่กระทำตวามผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมาตรา 33 ได้ปรากฎที่ประมวลกฎหมายพิจารณาความเพ่ง เท่ากับว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีความพิเศษ เพราะถูกบัญญัติที่กฎหมายแพ่งที่ส่วนใหญ่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ทางทรัพย์สิน แต่ไม่ถูกบัญญัติที่กฎหมายอาญาที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับข้อห้ามและบทลงโทษของประชาชน
สำหรับ บทสรุป ครั้งหนึ่งในชีวิตของ “สหรัถ” ทนายความด้านสิทธิแรงงานที่ครั้งหนึ่งต้องเป็นจำเลยและติดคุกจากการแสดงความไม่พอใจต่อศาล ต้องรับโทษในเรือนจำเป็นเวลา 3 เดือนในฐานของคดีละเมิดอำนาจศาลซึ่งได้สิ้นสุดไปแล้ว เหลือเพียงแต่คดีความผิดฐานดูหมิ่นศาลที่ยังรอคำพิพากษาจากศาลอุทธรณ์อยู่
ด้านทนายความของ "สหรัถ" ก็มองว่า ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีจิตใจที่จะช่วยจำเลยแล้ว เนื่องจากว่าเป็นคดีหมิ่นประมาทศาล โอกาสที่จะต่อสู้แล้วชนะคดีมีน้อยและรูปพยานแวดล้อมฝ่ายโจทก์มีน้ำหนักมาก
ในส่วนของคดีดูหมิ่นศาลของ “สหรัถ” จึงยังต้องรอลุ้นต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาคดีอย่างไร เนื่องจากว่า ปากกาอยู่ที่มือศาลหรือผู้พิพากษา
แสดงความคิดเห็น