(ยัง) ไม่มีสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัย ในประเทศไทย

Posted: 30 Apr 2017 11:14 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

1. สถิติแรงงานในมหาวิทยาลัย

ข้อมูลจากเว็บไซต์สารสนเทศอุดมศึกษา เดือนตุลาคม 2559 สถาบันอุดมศึกษา 116 แห่ง จาก 155 แห่ง[1] มีสถิติจำนวนแรงงานในสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนี้

ตารางที่ 1 จำนวนบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ตุลาคม 2559


ตัวเลขดังกล่าวทั้งหมดรวมทั้งแรงงานอาจารย์และแรงงานประเภทอื่นมีจำนวนกว่า 1.8 แสนคน จำนวนนี้เทียบเคียงได้กับจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานในภาคเหนือเมื่อปลายปี 2558 ที่มีจำนวน 182,328 คน[2] แต่แรงงานจำนวนมากขนาดนี้ กลับเป็นแรงงานที่ถูกละเลยความสำคัญในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นสภาพการจ้างงาน สวัสดิการ และอื่นๆในความมั่นคงของวิชาชีพ ในบทความนี้ผู้เขียนขอขยายประเด็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการเกิดขึ้นของสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัยเพื่อการต่อรองและต่อสู้ร่วมกันเพื่อสวัสดิการของตนและมิตรสหายแรงงานในวิชาชีพอื่นๆ


2. เหตุผลที่ควรมีสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัย

กรณีปัญหาของแรงงานมหาวิทยาลัยนั้น มีทั้งส่วนของแรงงานที่เป็นอาจารย์ และแรงงานมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้ทำหน้าที่การสอนซึ่งมักถูกเรียกว่าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน ซึ่งส่วนหลังคือ แรงงานส่วนใหญ่ในสถาบันอุดมศึกษา แต่ตัวละครที่มักถูกฉายออกมาคือ อาจารย์มหาวิทยาลัย เรื่องราวของพวกเขาปรากฏอยู่ตามสื่ออย่างสม่ำเสมอ ดังที่ผู้เขียนได้เสนอไปแล้วว่า ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ การไม่ตระหนักถึงความเป็นแรงงานของตนในหมู่อาจารย์มหาวิทยาลัย[3] ทั้งด้วยการถูกสั่งสอนอบรมมา หรือการถูกมัดตรึงด้วยกฎหมายแรงงาน ในกรณีแรกนั้นอาจเป็นมรดกตกทอดมาจากความเป็นครู และความเป็นข้าราชการมาแต่เดิมที่นอกจากจะเป็นการสร้างพื้นที่แห่งเกียรติยศของตนแล้ว ในทางกลับกันมันได้แยกความเป็นแรงงานออกจากมิตรสหายแรงงานทั้งหลายไปด้วย ที่ผ่านมาการต่อสู้เคลื่อนไหวเรื่องแรงงานหรือสวัสดิการทั้งหลายในสังคมไทย แทบไม่ได้อยู่ในกระแสสำนึกของอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วไปด้วยซ้ำ จนกระทั่งสภาพการจ้างงานที่ไม่มั่นคง อันเนื่องมาจากว่าอาจารย์มิได้เป็นข้าราชการที่มีอายุจ้างงานตลอดชีวิต มีสวัสดิการชั้นดีเลิศเผื่อแผ่ครอบครัวอีกต่อไปถึงได้ทำให้อาจารย์ส่วนหนึ่งเริ่มตั้งคำถามกับสภาพการจ้างงานที่เป็นอยู่มากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่แรงงานที่ไม่ใช่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยกลับถูกละเลย[4] ทั้งที่มีจำนวนมากกว่า จากตารางที่หนึ่งสัดส่วนต่อแรงงานทั้งหมดนับเป็น 64.31% เสียงของพวกเขายิ่งน้อยกว่าน้อย การดำรงชีวิตอยู่ของพวกเขาคล้ายกับเป็นเพียงผู้สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ใช่แรงงานที่มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ในทางอุดมคติการรวมตัวกันได้จะสามารถสร้างอำนาจต่อรองต่อผู้ว่าจ้าง ซึ่งในที่นี้ก็คือ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย การรวมตัวกันที่ผ่านมานั้นอาจจะมีในรูปของสมาคมวิชาชีพและเกิดเฉพาะกับผู้ที่มีสถานะที่ดีอยู่แล้วเช่นอาจารย์ แต่กระนั้นหมู่อาจารย์มักนิยมตั้งสมาคมวิชาชีพของตนเองมากกว่า เนื่องมาจากการรวมกลุ่มดังกล่าวนำไปสู่การสร้างเครือข่ายในวิชาชีพ และการเข้าถึงแหล่งทุน แต่มักจะไม่ได้มีบทบาทต่อรองเกี่ยวกับปัญหาสภาพการจ้างงาน ทั้งยังไม่มีที่ทางในโครงสร้างกฎหมายแรงงานใดๆ แต่ความคิดในเชิงอุดมคติใดที่จะตอบโจทย์ในการสร้างอำนาจต่อรองร่วมกันระหว่างแรงงานในมหาวิทยาลัย?

คำตอบหนึ่งก็คือ สหภาพแรงงาน

สหภาพแรงงานคืออะไร? สหภาพแรงงาน[5] คือ องค์กรของเหล่าแรงงานที่พวกเขาจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับผู้ว่าจ้าง กลุ่มทุน หรือรัฐบาล โดยมีความเป็นอิสระจากกลุ่มดังกล่าว ยิ่งเมื่อมีสมาชิกสหภาพจำนวนมากขึ้นก็ยิ่งมีอำนาจต่อรองขึ้นได้ด้วย อนึ่งโดยแนวคิดแล้วสหภาพแรงงานนั้นต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตยที่สมาชิกมีส่วนในการกำหนดและควบคุมนโยบายของสหภาพ อย่างไรก็ตามการเพิ่มจำนวนสมาชิกนั้นตามกฎหมายแล้วจะต้องเป็นความสมัครใจ ไม่ใช่เป็นการบังคับ[6] สหภาพแรงงานนั้นสามารถจัดตั้งได้ในสถานประกอบการเดียวกัน และข้ามสถานประกอบการกัน[7] นอกจากนั้นสหภาพแรงงานสามารถรวมตัวกันตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไปรวมเป็นสหพันธ์แรงงาน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหภาพ แรงงาน และคุ้มครองผลประโยชน์ของสหภาพแรงงานและลูกจ้าง[8] ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งของสหภาพมากขึ้น แต่กระนั้นสหภาพแรงงานไม่ได้ถือว่าผู้บริหารสถานประกอบการเป็นศัตรู แต่เป็นมิตรสหายที่มีความเท่าเทียมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่สามารถเจรจาและต่อรองกันได้

อย่างไรก็ตาม ไม่เคยมีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ในสถาบันอุดมศึกษามาก่อนจะด้วยเหตุผลใดนั้น จะได้กล่าวต่อไป

3. ปัญหาการตั้งสหภาพแรงงานในมหาวิทยาลัย และการเชื่อมต่อกับแรงงานนอกมหาวิทยาลัย

ในเชิงเทคนิคแล้ว การจัดตั้งสหภาพแรงงานในประเทศไทย สัมพันธ์โดยตรงกับกฎหมายพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ด่านแรกที่คาดว่าทำให้หลายคนในมหาวิทยาลัยต้องถอยหลังหากต้องการจะตั้งสหภาพแรงงาน ก็คือ การไม่ให้บังคับใช้กฎหมายนี้กับราชการส่วนกลาง, ราชการส่วนภูมิภาค, ราชการส่วนท้องถิ่น รวมทั้งราชการของกรุงเทพมหานคร และ เมืองพัทยา, กิจการรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และกิจการอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เนื่องจากว่า แต่เริ่มนั้น มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นหน่วยงานราชการมาก่อน กฎหมายนี้จึงเป็นเสมือนกรงขังมิให้เกิดการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นในมหาวิทยาลัยในเชิงโครงสร้าง

ขณะที่อาจารย์เอง นอกจากปัญหาของความมั่นคงของระบบราชการมาแต่เดิมและการดำรงสถานภาพที่สูงส่งที่เป็นอุปสรรคในการรวมตัวแล้ว อาจารย์มหาวิทยาลัยเองยังมีปัญหาที่ไม่สามารถรวมตัวกันได้ไม่ว่าจะด้วยทัศนคติ สาขาวิชาที่ถูกแบ่งแยกกันไปตามศาสตร์ต่างๆ นอกจากนั้นสัญญาจ้างงานที่ต่างกันที่ทำให้สถานภาพที่ต่างกันไปด้วยไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ, พนักงานราชการ, พนักงานมหาวิทยาลัย, ลูกจ้างประจำ, ลูกจ้างชั่วคราว ส่วนแรงงานที่ไม่ใช่อาจารย์ก็ตกอยู่ในโครงสร้างกฎหมายเดียวกันที่นอกจากจะไม่มีสวัสดิการที่มั่นคงให้แล้ว ยังตัดสิทธิพื้นฐานของแรงงานอีกด้วย ทั้งที่ในทางปฏิบัติแล้วพวกเขาเป็นผู้ใช้แรงงานอย่างเข้มข้นในกรณีอย่างแม่บ้าน ภารโรง คนสวน ฯลฯ

การจัดตั้งสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัยนอกจากจะเป็นการรักษาผลประโยชน์ของตนนั่นคือสิทธิแรงงานพื้นฐานในสถานที่ทำงานแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า จะเป็นพื้นที่แห่งการเชื่อมต่อกับแรงงานอื่นๆที่อยู่ภายนอกมหาวิทยาลัยด้วย ดังที่กล่าวไปแล้วว่าการจัดตั้งสหภาพแรงงานนั้นอาจจัดตั้งเป็นสหพันธ์ เมื่อมีสหภาพแรงงานสองแห่งขึ้นไป การรวมตัวกันเช่นนี้ระหว่างมหาวิทยาลัยยิ่งจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งจนอาจกลายเป็นเครือข่ายระดับชาติได้ การรวมตัวกันเช่นนี้จะนำไปสู่การต่อรองเพื่อให้ผู้บริหารแก้ไขปัญหาสภาพการจ้างงานที่ย่ำแย่ต่างๆ เช่น ความไม่เป็นธรรมของการจ้างงาน อย่างการให้ออกอย่างไม่เป็นธรรม หรือการปรับปรุงสวัสดิการของมหาวิทยาลัยให้ดีขึ้น ฯลฯ หรือการเรียกร้องต่อรัฐบาลในประเด็นสาธารณะร่วมกับแรงงานภาคอื่นๆ ในประเด็นที่ใหญ่ขึ้น เช่น การเรียกร้องสวัสดิการทางสังคมที่ดีขึ้น การปรับระบบการให้บริการในนามประกันสังคมจะต้องไม่ใช่เป็นการให้บริการชั้นสอง หรือการให้เบิกที่ไม่สมเหตุสมผล และปกป้องผลประโยชน์กองทุนไม่ให้รัฐนำเงินไปใช้โดยไม่ได้รับการยินยอมจากผู้จ่ายเงินสมทบ ไม่เพียงเท่านั้นการตระหนักถึงปัญหา และผลประโยชน์ร่วมกันอาจนำไปซึ่งการสร้างพรรคการเมืองให้เป็นปากเป็นเสียงของเหล่าแรงงานที่จะไปทำงานทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น


4. ข้อเสนอระยะสั้น กลุ่มศึกษาปัญหาแรงงานในมหาวิทยาลัย

การไปถึงสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัยได้นั้น คงต้องเดินทางทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการจัดการเกี่ยวกับกฎหมาย ผู้เขียนมีข้อเสนอระยะสั้น นั่นคือ การรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายกันระหว่างอาจารย์และแรงงานในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทราบกันดีว่า มหาวิทยาลัยได้กระจายตัวอยู่ตามจังหวัดต่างๆ แม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด แต่ก็มีฐานอยู่ทั้งในมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ 15 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ฯลฯ ภายในมหาวิทยาลัยเหล่านี้สามารถที่จะตั้งกลุ่มศึกษาปัญหาแรงงานขึ้น เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสภาพการจ้างงานและการแก้ไขปัญหาต่างๆในพื้นที่ของตนเอง โดยมีเรื่องสหภาพแรงงานเป็นประเด็นหนึ่งที่ควรศึกษา คู่ไปกับการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน เช่น พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551, พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 (ปรับปรุง), พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528, พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545, พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551, พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518, พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541, พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543, พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น การตั้งกลุ่มเช่นนี้ยังอาจนำไปสู่การร่วมเรียนรู้กับแรงงานในเขตจังหวัดหรือพื้นที่ใกล้เคียงของตน ในสถานประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะแรงงานที่มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นในเขตจังหวัดของตนเอง ทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรือรวมกลุ่มช่วยเหลือในสิ่งที่กลุ่มแรงงานมหาวิทยาลัยที่ช่วยได้ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า แรงงานในเขตต่างจังหวัดที่ไม่ใช่ย่านโรงงานขนาดใหญ่อาจขาดพลังที่เชื่อมต่อกับแรงงานอื่นๆ หากสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยจะเป็นพื้นที่กลาง หรือกระทั่งสะพานเชื่อมต่อแรงงาน น่าจะทำให้รากฐานความเคลื่อนไหวด้านแรงงานมีความเข้มแข็งขึ้น จนนำไปสู่จัดตั้งสหภาพแรงงานได้ในอนาคต.



เชิงอรรถ


[1] เว็บไซต์สารสนเทศอุดมศึกษา. "บุคลากรอุดมศึกษา". สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2560 จาก http://www.info.mua.go.th/information/show_all_statdata_table.php?data_show=4 อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลอีก 39 แห่ง เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ฯลฯ


[2] กระทรวงแรงงาน. "วารสารสถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนญุาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักรประจำปี 2558". สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2560 จาก https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/alien_th/cea979ea00fbb2f2ad2b6d5e53d5dde8.pdf


[3] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ และ อัคจร แม๊ะบ้าน. "ความเป็น ‘แรงงาน’ ที่หายไป: บุคลากรในมหาวิทยาลัยกับความคำนึงหาสหภาพแรงงาน". สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2560 จาก https://prachatai.com/journal/2016/10/68440


[4] ตัวอย่างการยกประเด็นดังกล่าว ได้แก่ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. "แรงงานผี: สภาวะไม่ใช่คนในพื้นที่ทำงาน กรณีศึกษาแม่บ้านและภารโรง". สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2560 จาก https://prachatai.com/journal/2016/09/68107 (28 กันยายน 2559)


[5] อ่านเพิ่มเติมใน ฐานข้อมูลสหภาพแรงงานไทย. "สหภาพแรงงานคืออะไร ". สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2560 จาก http://www.thailabordatabase.org/th/union.php?c=about


[6] “พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 92, ตอนที่ 47, 26 กุมภาพันธ์ 2518, น.ฉบับพิเศษ 67


[7] ฐานข้อมูลสหภาพแรงงานไทย. "สหภาพแรงงานคืออะไร ". สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2560 จาก http://www.thailabordatabase.org/th/union.php?c=about


[8] “พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 92, ตอนที่ 47, 26 กุมภาพันธ์ 2518, น.ฉบับพิเศษ 63

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.