นิธิ เอียวศรีวงศ์: หมุดหาย อะไรโผล่
Posted: 02 May 2017 06:03 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
ความอุกอาจของการลักลอบขโมยหมุดคณะราษฎร เพื่อแทนที่ด้วยหมุดใหม่ ทำให้เข้าใจว่า เรื่องนี้เป็นการกระทำอย่างเป็นระบบของ"อำนาจ" มากกว่าการกระทำของคนมือบอน (ซึ่งควรแค่ลักลอบขุดทำลายหมุดเดิม) ดังนั้นจึงมีผู้แสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะว่า
หมุดอันเดิมเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นประชาธิปไตยไทย หมุดอันใหม่คือสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ผมกลับคิดว่า โอกาสที่จะเกิดเช่นนั้น เป็นไปได้ยากมากหรือเป็นไปไม่ได้เอาเลย เหตุผลก็เพราะว่า เมื่อระบอบสมบูรณา-ญาสิทธิราชย์ถูกโค่นล้มไปแล้ว ก็ไม่พบในสังคมใดเลยว่า ระบอบนี้จะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ใหม่ แต่ไม่จำเป็นว่าการโค่นล้มของระบอบนี้จะนำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตย ในหลายต่อหลายครั้งมักนำมาซึ่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์มากกว่า
สมบูรณาญาสิทธิ์ (absolutism) และสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchism) ต่างกันอย่างไร
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์คือระบอบปกครองที่ผู้มีอำนาจเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว สามารถรวบรวมอำนาจทั้งหมดในรัฐไว้ในมือได้อย่างสมบูรณ์เด็ดขาด ในแง่นี้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เป็นประเภทหนึ่งของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ เพียงแต่คนหรือกลุ่มที่ถืออำนาจสมบูรณ์เด็ดขาดเป็นกษัตริย์และ/หรือพระญาติพระวงศ์และข้าราชบริพารใกล้ชิด แต่ความต่างที่สำคัญกว่านั้นอยู่ที่ว่า กษัตริย์ได้รับความชอบธรรมจากจารีตประเพณี, ลัทธิความเชื่อต่างๆ รวมทั้ง"ความศักดิ์สิทธิ์"ที่แฝงอยู่ในสถาบันและบุคคล ซึ่งฝังลึกในใจคนได้ แม้ในยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์แย่งชิงคำอธิบายทุกด้านไปหมดแล้ว
ฐานอำนาจของสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงอยู่ที่วัฒนธรรมประเพณีซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณ และสิ่งละอันพรรณละน้อยที่ประกอบกันขึ้นเป็นความศักดิ์สิทธิ์และบารมีของกษัตริย์ ในขณะที่ผู้นำสมบูรณาญาสิทธิ์ไม่สนใจสิ่งเหล่านี้ เพราะไม่ให้ความชอบธรรมใดๆ แก่อำนาจของตน
คนที่ถืออำนาจสมบูรณ์เด็ดขาดในรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์คือคนธรรมดา อาจเป็น ผบ.ทบ. หรือนายพันที่ยึดอำนาจจากนายพลที่แวดล้อมกษัตริย์หรือสุลต่านหรือพระเจ้าซาร์ได้สำเร็จ อาจเป็นนักปฏิวัติที่สามารถปลุกระดมผู้คนให้เข้ามาเป็นกำลังในการยึดอำนาจ ฯลฯ พวกเขาจำเป็นต้องสร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจสมบูรณ์เด็ดขาดของเขาอย่างเต็มที่ ความชอบธรรมเช่นนั้นอาจมาจากความสำเร็จที่ทำความปราชัยให้แก่ศัตรูของรัฐ, ทำให้รัฐหลุดพ้นจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ, การเมือง, หรือสังคม, กอบกู้ศาสนาที่กำลังจะล้มละลายให้กลับมีพลังขึ้นใหม่ ฯลฯ หากทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง ก็มีแนวโน้มที่จะใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจ
สมบูรณาญาสิทธิ์และสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกิดขึ้นได้ในรัฐสมัยใหม่ หรือในรัฐที่ได้พัฒนาขึ้นมาใกล้กับความเป็นรัฐสมัยใหม่มากแล้วเท่านั้น เพราะต้องมี"กลไกรัฐ"ที่มีประสิทธิภาพพอจะรองรับการรวมศูนย์อำนาจได้เท่านั้น จึงสามารถสถาปนาอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ขึ้นได้ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการแบบใหม่, กองทัพประจำการหรือกองทัพที่แข็งแกร่งมากล้นกว่ากองทัพท้องถิ่น, ระบบกฎหมายที่บังคับใช้ได้ทั่วถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันพอสมควร, ระบบการศึกษาที่อยู่ในกำกับควบคุมของรัฐ, ระบบที่ทำให้สามารถดึงรายได้ของรัฐเข้ามาอยู่ในการควบคุมของตนเอง, ฯลฯ ล้วนขาดไม่ได้ในรัฐสมัยใหม่
กษัตริย์ในรัฐโบราณอาจเป็นสมมติเทพ, หรือบุคคลที่ได้รับอุปภิเษกจากพระเจ้า แต่พระราชอำนาจจริงๆ มีจำกัด (ส่วนใหญ่ไม่เกินเขตราชธานีไปกี่มากน้อย) เพราะไม่มี"กลไกรัฐ"ดังกล่าว จึงต้องต่อรองและประนีประนอมกับอำนาจอื่นๆ ที่มีในรัฐด้วยวิธีต่างๆ พระราชอำนาจจึงไม่สมบูรณ์เด็ดขาด และไม่พึงจัดรัฐโบราณเหล่านั้นว่าเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทุกแห่งในโลกนี้ เกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้เป็นธรรมชาติของระบอบกษัตริย์ว่า จะต้องกลายเป็นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อเข้าสู่สมัยใหม่เสมอไป ขอให้สังเกตว่าทั่วทั้งเอเชียตะวันออก (จากอินเดียไปถึงญี่ปุ่น) ยุคสมัยใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ไม่ได้นำระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาแก่รัฐใดเลย นอกจากสยาม ส่วนหนึ่งก็เพราะส่วนใหญ่ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก ซึ่งย่อมไม่ยอมให้เกิดขึ้นแน่ แต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ไม่ได้เกิดในจีนและญี่ปุ่น ซึ่งไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก และไม่ได้เกิดใน Princely states ของบริติชราชในอินเดีย, ในกัมพูชา, หรือในรัฐมลายูนอกสหพันธรัฐ ซึ่งเจ้าอาณานิคมค่อนข้างจะให้อิสรภาพในการปกครองตนเอง (ยกเว้นเนปาล, สิกขิม และภูฏาน ซึ่งมีเงื่อนไขเฉพาะบางอย่างของตน)
เงื่อนไขเฉพาะที่ทำให้เกิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่างๆ มีร่วมกันอยู่บ้าง เช่นมีระบบการค้าที่ขยายตัวไปกว้างขวางทั่วทั้งทวีปหรือครึ่งค่อนโลก ทำให้รัฐนั้นๆ มีบทบาทเฉพาะในระบบการค้าที่กว้างขวาง เช่นผลิตวัตถุดิบหรืออาหารให้แก่ส่วนอื่นของโลก หรือเป็นผู้นำกระบวนการปฏิวัติอุตสาหกรรม, ผู้คนในรัฐมีหรือถูกปลูกฝังให้มีสำนึกร่วมว่าเป็นพวกเดียวกัน (อาจโดยนโยบายของรัฐส่วนกลางเช่นในสยาม หรือโดยพัฒนาการทางเศรษฐกิจ-สังคม-เทคโนโลยีซึ่งไม่มีใครเจตนาให้เกิดขึ้นเช่นในยุโรป), มีเหตุให้อำนาจอื่นๆ ที่เคยคะคานกับพระราชอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของศาสนจักร, ของผู้นำท้องถิ่น, ของขุนนางส่วนกลาง หรือของ"ซ่อง"ไพร่หนีนาย (ซึ่ง Hobsbawm เรียกว่า Bandits) ตกต่ำลง ฯลฯ
แม้กระนั้นเงื่อนไขเฉพาะเหล่านี้ก็ทำให้เกิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในแต่ละรัฐแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทที่แวดล้อมรัฐหนึ่งๆ จึงทำให้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งเกิดขึ้นในรัฐต่างๆ ไม่เหมือนกันทีเดียวนัก (แม้พยายามก๊อปปี้กันและกันอยู่บ้าง) มีอายุสั้น-ยาวต่างกัน และตกตะกอนอยู่ในรัฐชาติซึ่งเกิดตามมามากน้อยต่างกัน
แต่เงื่อนไขร่วมมีความสำคัญน้อยกว่าเงื่อนไขเฉพาะ เพราะถึงมีเงื่อนไขร่วมกัน หากขาดเงื่อนไขเฉพาะบางอย่าง ก็อาจไม่เกิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นได้ ดังที่ได้ยกตัวอย่างรัฐในเอเชียตะวันออกมาแล้ว
ดังนั้นเมื่อเงื่อนไขเฉพาะหมดลง หรือเงื่อนไขร่วมไม่ทำงานเหมือนเก่าอีกแล้ว ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องสลายตัวลง หรือถูกโค่นล้มลง นับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้แต่รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ซึ่งเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจ ก็ตั้งอยู่ไม่ได้เช่นกัน ต่างได้รับการปลดปล่อยจนกลายเป็นรัฐเอกราชหมด
รัฐสมัยใหม่หรือรัฐที่มีลักษณะใกล้เคียงรัฐสมัยใหม่ซึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์สถาปนาขึ้น อาจตามมาด้วยรัฐชาติซึ่งเป็นสมบัติของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม และเป็นประชาธิปไตย หรืออาจตามมาด้วยรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ที่มีคนส่วนน้อยเท่านั้นเป็นเจ้าของรัฐอย่างสมบูรณ์เด็ดขาดก็ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในแต่ละรัฐ และรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์อาจคลี่คลายไปเป็นรัฐชาติ-ประชาธิปไตยก็ได้ ดังเช่นอินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และในทางตรงข้าม รัฐชาติ-ประชาธิปไตยอาจคลี่คลายกลับไปเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ก็ได้ ดังเช่นไทย, อินโดนีเซีย, กัมพูชา, พม่า, ฯลฯ
แต่ไม่มีวันคลี่คลายกลับไปเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกเลย เพราะบัดนี้ เงื่อนไขที่ทำให้เกิดและผดุงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้ ไม่มีในโลกปัจจุบันเสียแล้ว
ในประเทศไทย สมบูรณาญาสิทธิราชย์เกิดขึ้นภายใต้การอุปถัมภ์ของมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษ มาตั้งแต่ต้น เศรษฐกิจทุนนิยมเสรีต้องการค้าขายและลงทุนในรัฐรวมศูนย์ ซึ่งต้องมีรัฐบาลที่สามารถรับผิดชอบต่อสนธิสัญญาที่ทำขึ้นได้จริง อันที่จริง หลังจากทำสัญญาเบาริงแล้ว ก็ดูจะไม่มีสถาบันทางการเมืองใดๆ ในประเทศไทยที่มีศักยภาพจะสร้างรัฐรวมศูนย์ขึ้นได้ เพียงแต่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ดูจะมีแนวโน้มในการเข้าใจและเข้าถึงอารยธรรมตะวันตกมากกว่าสถาบันอื่น (เช่นขุนนาง, เจ้าเมือง หรือพระสงฆ์) จึงน่าจะมีสมรรถภาพในการตอบรับความเปลี่ยนแปลงที่ตะวันตกนำมาได้อย่างดีที่สุด
แม้กระนั้น ก็ไม่มีท่าทีว่าสถาบันกษัตริย์ใน ร.4 จะสามารถสร้างราชอาณาจักรที่รวมศูนย์ รักษาระเบียบและความสงบได้ในระยะยาว และเอื้อให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยและมั่นคงแก่การแสวงหากำไรของคู่สัญญาในสนธิสัญญาได้
ในการแย่งชิงอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับขุนนางในเครือข่ายตระกูลบุนนากในรัชกาลต่อมา ความเข้าใจ-เข้าถึงตะวันตกของสถาบันกษัตริย์ ทำให้อังกฤษฝากความหวังไว้กับสถาบันกษัตริย์มากกว่าขุนนาง ซึ่งยังคงใช้การแบ่งปันราชอาณาจักรเป็นเขตผลประโยชน์ของตระกูลสาขาต่างๆ มากกว่ารวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางในเชิงสถาบัน อำนาจที่กระจัดกระจายเช่นนี้มีแต่จะก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย และการละเมิดสนธิสัญญาที่หาใครรับผิดชอบไม่ได้ จนอังกฤษจำเป็นต้องเข้ามายึดไปเป็นอาณานิคม ซึ่งสิ้นเปลืองมาก และอาจไม่คุ้มกับผลประโยชน์ที่สยามจะมีตอบแทนให้ได้
พระมหากษัตริย์ที่ชาญฉลาดอย่าง ร.5 จึงสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นได้ในที่สุด
ในปัจจุบัน เงื่อนไขเหล่านั้นได้สูญสิ้นไปแล้ว ประเทศไทยเป็นรัฐรวมศูนย์ที่มีระบบราชการแบบใหม่รองรับ จักรวรรดินิยมปรับเปลี่ยนตัวเองไปแสวงหากำไรในลักษณะอื่น เพราะกระบวนการผลิตได้เปลี่ยนไปแล้ว สมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ให้ประโยชน์แก่ใครอีกทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอก การรื้อฟื้นสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาใหม่ กลับจะทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย จนทำลายประโยชน์ของทุกฝ่าย – ทั้งภายในและภายนอก – ยิ่งเสียกว่าปล่อยให้เป็นประเทศที่ไร้ทิศทางและอ่อนแอดังที่เป็นอยู่
ระบอบที่เข้ามาแทนที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเมืองไทยคือระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ของนายพล ซึ่งเข้ามาครองอำนาจอย่างตรงไปตรงมาบ้าง แฝงมาในระบอบรัฐสภาบ้าง ยืนทะมึนอยู่เบื้องหลังระบอบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งล้วนๆ บ้าง เพราะสมบูรณาญาสิทธิ์ตอบสนองผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มภายใน และตอบสนองผลประโยชน์ของมหาอำนาจภายนอก
เช่นระหว่างที่สหรัฐต้องทำสงครามอินโดจีน สหรัฐทำให้ประเทศไทยกลายเป็นกองเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใหญ่สุดในโลก เพื่อปฏิบัติการและสนับสนุนการรบในแนวหน้า ประเทศไทยจะปกครองด้วยระบอบอะไรก็ได้ แต่ต้องสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวให้แก่กองทัพสหรัฐได้ สมบูรณาญาสิทธิ์นายพลเลือกจังหวะนี้ขึ้นเถลิงอำนาจต่อเนื่องกันนาน 16 ปี ภายใต้การอุดหนุนอย่างเต็มที่จากสหรัฐ
แม้กระนั้นก็น่าสังเกตด้วยว่า สมบูรณาญาสิทธิ์ที่เกิดในเมืองไทยมีอายุสั้นและไม่ได้ครองอำนาจอย่างราบรื่นเท่ากับสมบูรณาญาสิทธิ์ของประเทศเพื่อนบ้าน ซูฮาร์โตครองอำนาจ 33 ปี, มารโกส 14 ปี แต่หากนับตั้งแต่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีก็รวมถึง 21 ปี, กองทัพพม่า 48 ปี และหากนับถึงปัจจุบันซึ่งยังมีอำนาจกำกับการเมืองตามรัฐธรรมนูญก็เป็นเวลาถึง 55 ปี
เหตุผลอย่างหนึ่งก็เพราะกองทัพไทยไม่มีความชอบธรรมในตัวเอง และไม่สามารถสร้างความชอบธรรมในการเถลิงอำนาจได้สักครั้งเดียว เทียบกับพม่า ไม่ว่าเนวินจะโหดร้ายและไร้วุฒิภาวะเพียงไร เขาคือผู้นำกองทหารที่ป้องกันย่างกุ้งจากการยึดครองของกองทัพกะเหรี่ยงได้ใน ค.ศ.1948 (2491) ไม่ต่างจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายทหารไทยคนเดียวซึ่งมีเกียรติประวัติการรบรับรองความน่าเชื่อถือ (ทำให้ระบอบของเขาไม่ต้องอาศัยความชอบธรรมจากแหล่งอื่นมากกว่าตัวเขาเอง) ในระหว่าง 1958-60 (2501-3) เนวินนำรัฐบาลชั่วคราวกอบกู้พม่าจากความเสื่อมโทรมได้หลายประการ จนเป็นที่นิยมของประชาชน การรัฐประหารของเขาใน 1962 (2505) ได้รับการต้อนรับจากประชาชนชาวพม่าพอสมควรทีเดียว
ด้วยเหตุดังนั้น กองทัพไทยจึงต้องอาศัยความชอบธรรมจากสถาบันการเมืองอื่นในการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ขึ้น นั่นคือแสวงหาความชอบธรรมจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ซึ่งในปัจจุบันไม่มีอยู่จริงอีกแล้ว เหลืออยู่แต่ในความใฝ่ฝันหลงยุคของคนชั้นกลางไทย ซึ่งได้รับการศึกษาประวัติศาสตร์ที่บิดเบี้ยวมาแต่เด็ก
ความจริงแล้ว คนไทยหลงยุคที่ยังคิดว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือคำตอบเดียวของสังคมไทย น่าจะตระหนักมานานแล้วว่า ไม่มีที่ไหนทั่วทั้งโลกนี้ ที่กองทัพสมัยใหม่จะนำสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับคืนมา มีแต่การสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์นายพลขึ้นเท่านั้น สถาบันกษัตริย์อาจดำรงอยู่เพื่อให้ความชอบธรรมแก่สมบูรณาญาสิทธิ์นายพล และในหลายประเทศทั่วโลก เมื่อสมบูรณาญาสิทธิ์นายพลไม่ต้องพึ่งความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์แล้ว ก็มักล้มเลิกระบอบกษัตริย์ไปโดยสิ้นเชิง
สถาบันกษัตริย์ในโลกปัจจุบัน มีความมั่นคงปลอดภัยที่สุดภายใต้ระบอบประชาธิปไตย-นิติรัฐเท่านั้น เพราะเป็นครั้งแรกที่ประชาชนพร้อมใจกันสถาปนาสถาบันนี้ไว้อย่างแน่นอนมั่นคงในรัฐธรรมนูญ
หมุดคณะราษฎรเป็นสัญลักษณ์การสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ไม่ใช่การสิ้นสุดของสถาบันกษัตริย์ เมื่อเอาหมุดนั้นออกไป ก็ไม่ทำให้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ฟื้นคืนชีพขึ้นได้ ตรงกันข้าม เพื่อให้หมุดนั้นสูญหายไปชั่วนิรันดรอย่างไม่มีวันหวนคืนกลับมาได้อีก กลับทำให้ต้องพึ่งพิงสมบูรณาญาสิทธิ์นายพลมากขึ้น จนทำให้สมบูรณาญาสิทธิ์นายพลเริ่มมีความชอบธรรมในตัวเอง
อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น สมบูรณาญาสิทธิราชย์เต็มรูปแบบ หรือสมบูรณาญาสิทธิ์นายพลเต็มรูปแบบ
แสดงความคิดเห็น