Posted: 24 May 2017 12:01 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
บทสัมภาษณ์ 9 นักวิชาการในชุด ‘แผ่นดินจึงดาล’ นี้ ประชาไทตัดทอนมาจากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มในหนังสือ ‘แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ’ เพื่อมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามันจะนำพาเราไปสู่อะไร
นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นนักวิชาการอิสระที่ถอดรื้อมายาคติภาพชนบทในจินตนาการของชนชั้นกลาง ทำให้เห็นว่าชนบทไทยเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างและลึก รัฐธรรมนูญ 2540 และทักษิณ ชินวัตร คือตัวเร่งหนึ่งที่ทำให้คนชนบทตระหนักถึงพลังอำนาจของตนเองผ่านการเลือกตั้ง
ถ้าพูดตามภาษาของนิธิในเนื้อหาบทสัมภาษณ์ สิ่งนี้ทำให้ ‘สมดุลแห่งอำนาจ’ เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทว่า ชนชั้นนำไทย (อาจหมายรวมถึงชนชั้นกลาง) ไม่พึงพอใจกับความเปลี่ยนแปลงนี้ วิตก หวาดกลัว หงุดหงิด และยอมรับไม่ได้ แปรรูปออกมาเป็นการรัฐประหาร 2 ครั้งในห้วงเวลา 1 ทศวรรษ กับรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือปี 2550 ที่ชนชั้นนำเรียนรู้ว่ายังเข้มไม่พอ จึงฉีกทิ้งและเขียนใหม่เป็นรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เราทุกคนกำลังอยู่กับมัน รัฐธรรมนูญที่ถูกใส่กลไกมากมายเพื่อควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ความพยายามหน่วงเหนี่ยวสมดุลแห่งอำนาจที่เปลี่ยนไปแล้วให้กลับมาเหมือนเดิมรอบนี้ด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 ที่นิธิบอกว่าพิกลพิการและไม่เคารพความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิงนั้น เขาไม่เชื่อว่ามันจะมีอายุอยู่ได้นาน ตัวละครทางการเมืองต่างๆ ก็รู้ดีแก่ใจถึงความจริงข้อนี้ เพียงแต่ ณ จุดสุดท้ายแล้ว รัฐธรรมนูญ 2560 จะหมดอายุการใช้งานด้วยวิธีใด เป็นสิ่งที่เขาตอบไม่ได้
เสียงของชนชั้นกลางล่าง
สรุปเร็วเกินไปถ้าจะบอกว่า ระบบการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2560 จะทำให้พลังเสียงของชนชั้นกลางล่างกำหนดอะไรในสภาไม่ได้ เมื่อตอนร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ผู้ร่างคงไม่คิดว่าคนระดับล่างจะเลือก ส.ส. จากพรรคการเมืองเป็นกลุ่มก้อนแบบนี้ อย่าลืมว่าในช่วงนั้นจะมีการเลือกตั้งใกล้ๆ ปี 2540 ที่ทำให้คุณชวน หลีกภัยได้เป็นนายกฯ จริงอยู่ว่าคุณชวนเข้ามาก่อนจะมีรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่เขาหวังว่า ผลการเลือกตั้งจะออกมาแบบที่มีเบี้ยหัวแตก ซึ่งมันคือหัวใจสำคัญของการถืออำนาจของชนชั้นกลางในเมืองตลอดมา
ถ้าคุณดูวิถีชีวิตชนชั้นกลางระดับล่าง มันยากมากที่เขาจะมีโอกาสมีอำนาจในทางการเมืองอย่างเต็มที่ การจะมีอำนาจทางการเมืองคุณต้องมีองค์กรบางอย่างเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าคุณจะเป็นชนชั้นกลางระดับในเมือง ระดับล่าง เศรษฐีใหญ่ขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้าคุณเป็นคนๆ เดียว มันเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะมีอำนาจทางการเมือง เสียงของคุณจะไม่ถูกรับฟัง แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณทำให้คนเปล่งเสียงเป็นเสียงเดียวกันได้ เมื่อนั้นคนจะต้องเริ่มฟังคุณ
คุณไปดูวิถีชีวิตของคนชั้นกลางระดับล่าง แล้วถามว่าเขาสามารถทำอย่างนี้ได้ไหม มันทำได้แค่ในช่วงวิกฤติ เช่น เวลาเสื้อแดงแข่งกับอะไรต่างๆ เท่านั้น แล้วคุณดูดีๆ นะว่ากลุ่มเสื้อแดงมีเสียงที่ตรงกันเสียงเดียวเท่านั้นคือเอาทักษิณกลับมา นอกนั้นความเห็นต่างกันมาก เพราะสภาพความเป็นองค์กรมันไม่มี การเข้าถึงสื่อก็น้อย สร้างความเห็นร่วมกันไม่ได้ ตราบเท่าที่คนกลุ่มนี้ยังเป็นชนชั้นกลางระดับล่างอยู่ โอกาสที่เขาจะสร้างผลกระทบทางการเมืองโดยตัวเขาเองโดยไม่มีเครื่องมือเลยผมว่าเป็นไปไม่ได้
ถ้ามีการเลือกตั้ง อย่างไรคุณหนีไม่พ้นว่าคนชนบทตั้งรัฐบาล แล้วคุณจะล้มไม่ได้ด้วย เพราะต่อไปนี้มันจะไม่ใช่เบี้ยหัวแตกแล้ว จะกลายเป็นก้อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือไม่ก็ตามแต่ เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีคนมองเห็น ถ้าเขาเป็นพรรคใหม่เขาก็ปรับตัวได้ แต่ถ้าเป็นพรรคเก่าก็ปรับลำบาก อย่างพรรคประชาธิปัตย์ มันลำบากเพราะฐานเสียงคุณแน่นแล้ว ฐานเสียงอยู่ในเมือง คุณจะปรับได้อย่างไรโดยไม่ให้เสียฐานเสียงเก่า
รัฐธรรมนูญ 2560 คือรัฐธรรมนูญที่ไม่เคารพความเป็นจริง
ผมเชื่อว่าทุกอย่างเป็นเรื่องชั่วคราวหมด ใครจะคิดว่ารัฐประหารครั้งนี้จะเป็นเรื่องที่มีผลถาวร ใครจะมองไปถึง 20 ปี ผมไม่รู้ แต่ผมมองว่ามันเป็นการพักรบชั่วคราว หมายความว่าชนชั้นกลางในเมืองคิดว่าเอาทหารมาหยุดทุกอย่างไว้ก่อน แล้วหวังว่าจะทำให้มันไม่เปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนในลักษณะที่ตนพอใจ ผมไม่ได้คิดจะให้คนอย่างประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มาปฏิรูปอะไร คุณก็รู้อยู่ว่าคนพวกนี้ปฏิรูปอะไรได้ที่ไหน แม้แต่คณะรัฐประหารเอง ถ้าไม่นับประยุทธ์ ก็คงมีอีกไม่น้อยที่เข้ามาด้วยบทบาทของการพักรบชั่วคราว
กติกาในรัฐธรรมนูญไทย ฉบับอื่นจะบ้าบอแค่ไหนก็ตามแต่ แต่ว่ามันเคารพความเป็นจริงระดับหนึ่ง แต่ฉบับ 2560 นี่ไม่เลย ตอนรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ผมก็ไม่ชอบ แต่ผมว่าอย่างน้อยมันยังให้มี ส.ว.จากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งวุฒิสภาไม่มาจากการเลือกตั้งเลย ซึ่งในสังคมที่เป็นแบบนี้แล้ว มันเป็นไปไม่ได้ คือคุณเขียนแบบไม่ได้ตั้งใจให้มันมีอายุต่อไปได้เลย ผมไม่เชื่อหรอกว่ารัฐธรรมนูญนี้จะอยู่ 20 ปี ผมว่าคนเขียนจำนวนหนึ่งก็ไม่เชื่อ
สมดุลแห่งอำนาจ
ถามว่าจะจบลงด้วยความรุนแรงหรือไม่ก็ได้ทั้งสองอย่าง ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญจะดำรงอยู่ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า คุณจัดวางสมดุลแห่งอำนาจของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทยไว้ให้ลงตัวได้แค่ไหน ระหว่างคณาธิปัตย์ คนชั้นกลางในเมือง ปัญญาชน นักวิชาชีพ กองกำลังติดอาวุธ ประชาชนระดับล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ฯลฯ ถ้าลงตัวดีอยู่ ก็จะมีอายุใช้งานไปช่วงหนึ่ง
ผมเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ร่างขึ้นด้วยความคิดจะหาสมดุลแห่งอำนาจที่ลงตัว แต่คิดจะสร้างระบบที่ถาวรมั่นคงด้วยการจัดสมดุลแห่งอำนาจตามใจชอบของตน ทำให้ต้องใช้อำนาจดิบของกองทัพในการรักษาสมดุลที่เบี้ยวๆ นี้ตลอดไป ตรงนี้แหละที่เสี่ยงกับการที่จะจบลงด้วยความรุนแรง
แต่เนื่องจากความพิกลพิการของรัฐธรรมนูญ มันจะมีความเครียดอย่างสูงมาแต่แรก จนตัวเล่นทางการเมืองซึ่งต้องรวมกองทัพด้วย มองเห็นความเป็นไปไม่ได้และจะผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนโดยสงบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องปรับเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยนะครับ ปรับเปลี่ยนให้เกิดสมดุลแห่งอำนาจที่ลงตัวขึ้นเท่านั้น
แสดงความคิดเห็น