Posted: 30 Apr 2017 01:01 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
สัมมนาสาธารณะถกปัญหาการศึกษาพลเมืองช่วงประชาธิปไตยขาลง ผอ.ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย ชี้ต้องสร้างพลเมืองที่ต้านเผด็จการเพื่ออนาคต ดันยากหน่อย ทุกวันนี้เรายังพูดถึงพลเมืองคนละคนกันอยู่เลย
เมื่อวันที่ 20-21 เม.ย.ที่ผ่านมา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย และมูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ท จัดสัมมนาสาธารณะ “บทบาทอุดมศึกษาในยุคประชาธิปไตยถดถอย การสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม” ที่ห้องประชุม 101 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ภายในงานมีการเชิญตัวแทนอาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัย นักวิชาการชาวไทยและต่างชาติ ตัวแทนจากฝ่ายธุรกิจ แรงงาน หน่วยงานระหว่างประเทศและนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมอภิปรายหลายประเด็น
ประชาไทเปิดบทที่ 1 ของสัมมนาสาธารณะด้วยบทสัมภาษณ์จาก ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย ว่าด้วยความลักลั่นของการตีความพลเมืองในไทย ความจำเป็นที่แท้จริงของการสร้างพลเมืองผ่านการศึกษา ปัญหาเรื้อรังเชิงโครงสร้างที่เป็นกับดักในการทำงานด้านการสร้างพลเมืองในประเทศไทยช่วงเปลี่ยนผ่าน
ผมว่ามหาวิทยาลัยจำนวนมากมองไม่เห็นบทบาทตัวเองในการเตรียมพลเมือง เพราะเขามองตัวเองเป็นสถาบันวิชาชีพ วิชาการ เตรียมสถาปนิก วิศวกร วิชาชีพต่างๆ เขามองไม่เห็นว่าทำไมคนที่มีอาชีพเหล่านี้ต้องเรียนรู้เรื่องพลเมือง แล้วก็จัดพอให้มันมีกิจกรรมที่ตอบโจทย์ตามเกณฑ์การประเมิน ค่อนข้างผิวเผิน พลเมืองที่มหาวิทยาลัยเตรียมอยู่ก็จะออกมาแบบผิวเผิน
ประชาไท : ในประเด็นการสร้างพลเมืองผ่านสถาบันอุดมศึกษา ยังมีปัญหาอะไรที่แก้ไม่ตกบ้าง
อรรถพล อนันตวรสกุล(ที่มา:exteen)
อรรถพล : ตอนนี้เวลาเราคุยเรื่องพลเมือง เราไม่ได้พูดถึงพลเมืองคนเดียวกัน รัฐก็ต้องการพลเมืองดีในความหมายคนที่เคารพกติกา เราจึงเห็นการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบนั้น วาทกรรมมันชัดมาก แต่เวลาเราพูดเกี่ยวกับการสร้างความเป็นพลเมือง เราไม่ได้พูดถึงแค่การเคารพกฎหมาย มันคือพลังของพลเมือง ให้เขารู้ว่าเขาเป็นคนของที่ไหน แล้วเขาต้องมีส่วนรับผิดชอบ มีบทบาทในการขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไร มันไกลกว่าเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมาย ตามกติกาสังคมแล้ว มันคือการสอนเรื่องการตระหนักในพลังตัวเองว่าสามารถต่อรองได้ มีบทบาทในการตั้งคำถาม รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มสร้างกลไกที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น ทำให้สังคมที่ตัวเองอยู่ดีขึ้น
นี่คือโจทย์ที่ท้าทายมากเพราะเรามองเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน โรงเรียนมองแบบหนึ่ง มหาลัยมองแบบหนึ่ง สังคมมองแบบหนึ่ง นักวิชาการที่ขับเคลื่อนการศึกษาความเป็นพลเมืองก็มองอีกแบบ คิดเสียว่าเป็นโอกาสเพราะตอนนี้ประเด็นพลเมืองกำลังเป็นโจทย์ใหญ่ เป็นโอกาสที่ทำให้เราแลกเปลี่ยนว่าพลเมืองที่เราต้องการเป็นยังไง ตอนนี้เห็นแล้วว่ามหาวิทยาลัยกำลังทำงานอยู่ แต่กระบวนทัศน์ของผู้ใหญ่ที่มองเรื่องพลเมือง ยังมองพลเมืองแค่ว่าต้องรับผิดชอบตัวเอง เคารพกติกา แค่เป็นคนบริจาคของบ้าง อาสาสมัครบ้าง แถมเป็นการอาสาแบบบังคับ นับชั่วโมงจิตอาสาอีก มันไม่ได้เกิดจากความเต็มใจ ถ้าพลเมืองทำด้วยการถูกบังคับก็ไม่ใช่พลังพลเมืองสิ เป็นแค่ประชาชนที่เป็นหมากที่รัฐใช้ทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าเป็นพลเมืองทำด้วยความมุ่งมั่นทางการเมือง มีความเต็มอกเต็มใจในการแก้ปัญหา ใช้พลังของตัวเอง ของกลุ่ม มีความเข้าใจสังคมในองค์รวมก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ตอนนี้มหาวิทยาลัยกำลังตื่นตัวในการเตรียมพลเมือง เพราะมีการกำหนดเป็นวาระของ สกอ.(สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) ขึ้นมา แต่รูปแบบการผลิตของมหาวิทยาลัยมีเพียงแค่กิจกรรมจิตอาสา
ผมว่ามหาวิทยาลัยจำนวนมากมองไม่เห็นบทบาทตัวเองในการเตรียมพลเมือง เพราะเขามองตัวเองเป็นสถาบันวิชาชีพ วิชาการ เตรียมสถาปนิก วิศวกร วิชาชีพต่างๆ เขามองไม่เห็นว่าทำไมคนที่มีอาชีพเหล่านี้ต้องเรียนรู้เรื่องพลเมือง แล้วก็จัดพอให้มันมีกิจกรรมที่ตอบโจทย์ตามเกณฑ์การประเมิน ค่อนข้างผิวเผิน พลเมืองที่มหาวิทยาลัยเตรียมอยู่ก็จะออกมาแบบผิวเผิน แค่รับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่เขากำหนดมาให้ทำอะไรก็ทำตามนั้น ไม่ได้เชื่อเรื่องของการทำให้นักศึกษาเห็นบทบาทของตัวเองที่จะจบไปเป็นบัณฑิตที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง ตอนนี้เวลาเขาจัดการเรื่องพลเมืองในมหาวิทยาลัยก็โบ้ยไปที่วิชาการศึกษาทั่วไป ถ้าคุณให้จัดด้วยอาจารย์รัฐศาสตร์ก็จะติดเนื้อหาของทางการเมืองหรือรัฐศาสตร์อยู่ แต่มันก็ไม่ใช่พลเมืองในความหมายที่เราบอก แต่พอไปให้อาจารย์ที่ไม่มีพื้นฐานเลยก็จะติดกับดักพลเมืองผิวเผิน ไปทำจิตอาสากัน ดังนั้นจึงไม่เห็นภาพของพลเมืองที่จะเข้าใจสังคมตัวเองจริงๆ โครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และมีกลไกการเมืองเชื่อมโยงในการตัดสินใจ มองไม่เห็นบทบาทตัวเองที่ต้องเรียนนอกห้องเรียน แล้วพอลงเรียนวิชาการศึกษาทั่วไป มันก็จัดการยาก ถ้าจะจัดให้เด็กทุกคน ขนาดงานมันใหญ่ ถ้าผลักทุกอย่างไปลงการศึกษาทั่วไปหมดก็หาคนมารับผิดชอบไม่ได้ อีกอย่างวิชาพวกนี้เป็นวิชาพัฒนาคุณลักษณะ ไม่ใช่วิชาความรู้ที่จะมาสอบ คุณจะไม่สามารถสอนด้วยการบรรยายได้ คุณต้องมีแนวทางบางอย่างในการพาผู้เรียนเข้าใจสังคมที่เขาอยู่ ซึ่งมันท้าทายครูมากเพราะต้องเปลี่ยนมุมมองต่อนักเรียนใหม่ เขาไม่ได้เป็นแค่คนรับความรู้จากเรา แต่เขาจะกลายเป็นหนุ่มสาวที่สร้างความเปลี่ยนแปลง เราต้องเป็นคนทำหน้าที่สนับสนุนเขา เราต้องเคารพความเป็นพลเมืองของเขา แล้วให้พลเมืองในตัวเขาทำงาน
ถ้ามหาวิทยาลัยคือช่วงที่ดีที่สุดของคนหนุ่มสาวในการแสดงพลังของตัวเองไม่ได้ให้โอกาสให้ทำอย่างนั้นเสียแล้ว แล้วเขาจะแสดงพลังได้ตอนไหน เหมือนที่ตัวแทนจากสหภาพแรงงานบอกว่า เมื่อเขาไม่เห็นว่าตัวเองเป็นอะไร มีสิทธิอะไรบ้าง เขาก็เป็นแรงงานสมยอม บริษัทดูแลไม่ดีก็ต้องจำยอมไป ไม่เห็นสิทธิในการต่อรองเพื่อตัวเองและเพื่อนร่วมงาน
ถ้าในมหาวิทยาลัย สภานักศึกษา คณะกรรมการต่างๆ ยังเป็นร่างทรงผู้ใหญ่อยู่ ความเป็นพลเมืองมันก็ไม่เกิด เพราะมันเป็นเพียงการเป็นมือเป็นไม้ผู้ใหญ่ในการทำงาน แต่ไม่ได้เป็นเสียงของหนุ่มสาวจริงๆ และมันไม่ใช่วิชาใดวิชาหนึ่งหรอกที่จะโบ้ยให้รับผิดชอบไป มันต้องอยู่ในเนื้อของทุกหลักสูตรในการเตรียม คุณจะเป็นนักวิชาการที่สายภาษาก็ดี สายรัฐศาสตร์ก็ดี หมวกหนึ่งของคุณคือการเป็นพลเมืองเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่า
เวลาเราพูดคำว่าพลเมืองมันจะจบเฉพาะตรงคำว่าพลเมือง “ดี” ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเมืองไทย ที่ต่างประเทศก็เป็น เพราะคอนเซปต์พลเมืองดีก็มาจากตะวันตก แล้วมันก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า เอ๊ะ แล้วพลเมืองดีคืออะไร ก็ถกเถียงกันเกิดเป็นพลเมือง 3 แบบ พลเมืองดีคือคนรับผิดชอบตัวเอง พลเมืองดีคือคนที่พยายามมีส่วนร่วม ไปอาสาสมัคร หรือพลเมืองดีคือคนที่เข้าใจว่าสังคมมีความไม่เป็นธรรม เราต้องช่วยเหลือให้เกิดกลไกที่เป็นธรรมมากขึ้น
ดูเหมือนความเป็นพลเมืองเชิงรุก (Active Citizen) เป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย
ผมว่ามันไม่เคยถูกตั้งคำถาม เวลาเราพูดคำว่าพลเมืองมันจะจบเฉพาะตรงคำว่าพลเมือง “ดี” ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเมืองไทย ที่ต่างประเทศก็เป็น เพราะคอนเซปต์พลเมืองดีก็มาจากตะวันตก แล้วมันก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า เอ๊ะ แล้วพลเมืองดีคืออะไร ก็ถกเถียงกันเกิดเป็นพลเมือง 3 แบบ พลเมืองดีคือคนรับผิดชอบตัวเอง พลเมืองดีคือคนที่พยายามมีส่วนร่วม ไปอาสาสมัคร หรือพลเมืองดีคือคนที่เข้าใจว่าสังคมมีความไม่เป็นธรรม เราต้องช่วยเหลือให้เกิดกลไกที่เป็นธรรมมากขึ้น มันมีการถกเถียงในเวทีนานาชาติ แล้วก็ส่งเสียงมาถึงเมืองไทย ทำให้วันนี้เราต้องมาคุยกันแล้วว่าพลเมืองของเราคือใคร ถ้ารัฐมองพลเมืองเป็นแค่คนที่รับผิดชอบ คุณก็เป็นแค่พลเมืองแบบ passive ทำทุกอย่างที่รัฐคาดหวัง ถ้าโรงเรียนมองอย่างนั้นโรงเรียนก็ต้องการแค่นักเรียนที่เคารพกติกา ไม่ต้องการให้เด็กส่งเสียง แต่ตอนนี้เราเริ่มพบแล้วว่าปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางสังคม การเมือง มันเรียกร้องพลเมืองที่ลุกขึ้นมาเอาบ้านเอาเมือง มีส่วนร่วมมากขึ้น แค่ก้มหน้าก้มตาทำดีในกลุ่มของเรามันไม่พอแล้ว มันปฏิเสธไม่ได้ว่ากลไกรัฐตอนนี้ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทำยังไงถึงจะทำให้เกิดกลไกที่เป็นธรรมมากขึ้น มันต้องการพลเมืองที่มีส่วนร่วม ที่มองสังคมเป็น ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนได้ เกิดผลประโยชน์เท่าเทียม เป็นธรรมได้ เรื่องนี้ท้าทายมาก
ตอนนี้เริ่มมีการทำงานเรื่องนี้ แต่พอทำแล้วทุกคนก็กระโดดไปที่จิตอาสาหมด แล้วเด็กก็สงสัยว่า ทำไมจิตอาสาต้องบังคับ ทำไมเขาถึงไม่สามารถอาสาในเรื่องที่เขาสนใจได้ มหาวิทยาลัยก็ยังแก้โจทย์ไม่ออก ต้องมาทำงานกับเด็กเป็นพัน มันไม่สามารถรวบอำนาจไว้กับสำนักการศึกษาทั่วไปได้ มหาวิทยาลัยมีหลายคณะวิชา เขาถูกติดตั้งคอนเซปต์เข้าไปว่าเขาต้องเตรียมพลเมืองภายใต้วิชาชีพเขา เขาไม่สามารถผลักภาระได้ เภสัชกรไม่ใช่ว่าจะแค่จ่ายยาเป็น เขาต้องรู้ด้วยว่ายาที่เขาจ่ายทำจากอะไร ใช้โรงงานยังไง ทำไมมีราคาแพงราคาถูก ทำไมคนเข้าถึงยาไม่เหมือนกัน ซึ่งมุมแบบนี้คุณเอาคนต่างคณะมาพูดก็ไม่ได้ มันต้องติดตั้งคอนเซปต์ของพลเมืองสามแบบให้กลุ่มวิชาชีพต่างๆ ได้ถกเถียง ให้เขารู้ว่าเวลาเตรียมนักวิชาการ นักวิชาชีพรุ่นใหม่ออกไป คนทำงานรุ่นใหม่เขาเข้าใจเรื่องพวกนี้ติดตัวไป อย่าไปติดกับดักแค่ว่า คุยเรื่องพลเมืองก็มาถกเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน คำพวกนี้พอหยิบขึ้นมาแล้วบางทีเป็นเรื่องเปราะบางในสังคม แต่ถ้าเรากลับมามองใหม่ว่าสิทธิมนุษยชนคือการเคารพกัน ประชาธิปไตยคือสังคมที่ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงในการอยู่ร่วมกันแล้วรับฟังกันได้ในสังคมที่หาทางออกร่วมกันได้ ถามว่าอันนี้คือสิ่งที่เราต้องการเตรียมคนรุ่นใหม่ให้เป็นหรือเปล่า เราไม่ได้พูดถึงพลเมืองประชาธิปไตยคือแค่ต้องไปเลือกตั้ง เพราะถ้าเราพูดแค่การเลือกตั้ง มันก็จะเกิดกิจกรรมอย่างที่ในมหาวิทยาลัยที่ไปโหวตกันแล้วก็คิดว่านี่คือการเลือกตั้งแล้ว แต่มันเป็นแค่ตราประทับ เป็นร่างทรงของผู้ใหญ่ ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งอยากให้เกิดกับพลเมืองของเรา
ความอยากทำให้กลุ่มหรือสังคมเราดีขึ้นมันติดตัวเรามา แต่ว่าถูกทำให้หายไปด้วยการศึกษา เพราะความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ผู้ใหญ่คิดว่าต้องคุมเด็กให้อยู่ หรือระหว่างนักศึกษาด้วยกันเอง เช่น กิจกรรมรับน้องที่พี่คุมน้อง ถ้าคุณจะปรับมุมมองเรื่องพลเมือง มันต้องไปทั้งองคาพยพ ไม่ใช่แค่ตั้งวิชามาหนึ่งวิชาแล้วแก้เข้าไปในกติกาของ สกอ.
การสร้างพลเมืองในมุมของรัฐคือการทำให้พลเมืองเป็นเครื่องมือของรัฐใช่ไหม
รัฐทุกรัฐก็อยากทำให้พลเมืองอยู่ภายใต้กรอบของรัฐ แต่คำถามคือ รัฐทุกรัฐก็มีจุดอ่อน มีการตัดสินใจที่ผิดพลาด ไม่คำนึงถึงทุกคนอย่างเท่าเทียม ถามว่าเป็นหน้าที่ใครที่ต้องแก้ไขมัน คำตอบก็คือพลังพลเมืองที่กล้าตั้งคำถาม มองรอบด้าน ถ้าเราเตรียมแค่พลเมืองที่เชื่อฟังก็จบเลย รัฐชอบอยู่แล้ว รัฐจะให้ทำอะไรก็ทำได้ แต่ในสังคมประชาธิปไตย สังคมที่เคารพสิทธิ มันคือสังคมที่เปิดโอกาสให้ตั้งคำถามออกมา มันคือโอกาสให้คนที่คิดต่างกันถกเถียงกัน เมื่อเรายอมฟังความต่างได้ ฝึกความอดทนอดกลั้นได้ มันคือการทำให้มีตัวเลือกใหม่ๆ ในการตัดสินใจ มีตัวเลือกที่ดีขึ้น ฉะนั้นมันไม่ต้องสอนเป็นตัววิชาโดยตรงก็ได้ แต่มันอยู่ในบรรยากาศการอยู่ร่วมกันในห้องเรียน มหาวิทยาลัย ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา หรือนักศึกษาด้วยกันเอง หรือบรรยากาศกิจกรรมในมหาวิทยาลัยที่มีหลากหลายโทนมากขึ้น ที่ไม่ได้มีแค่กิจกรรมประเพณีนิยมหรือกิจกรรมบันเทิง แต่หยิบโลกข้างนอกขึ้นมาคุยกัน ได้รับเสียงสะท้อนจากนักศึกษาที่อยากเอาประเด็นสังคมมาคุยกัน เอาข่าวมาคุยกัน ความเป็นหนุ่มสาวมันสนใจโลกภายนอกนะ แต่ถ้ามหาวิทยาลัยขังเขาให้อยู่แต่ในห้องเรียน ปั๊มเขาออกไปเป็นแรงงานตามวิชาชีพอย่างเดียว ไอ้พลังพลเมืองมันหายหมดเลย
ผมคุยกับคุณวิเชียร (วิเชียร พงศธร ประธานบริษัทพรีเมียร์กรุ๊ป ตัวแทนจากภาคธุรกิจผู้ร่วมเสวนา)นอกรอบ เขาบอกว่าจริงๆ ความเป็นพลเมือง ความอยากทำให้กลุ่มหรือสังคมเราดีขึ้นมันติดตัวเรามา แต่ว่าถูกทำให้หายไปด้วยการศึกษา เพราะความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ผู้ใหญ่คิดว่าต้องคุมเด็กให้อยู่ หรือระหว่างนักศึกษาด้วยกันเอง เช่น กิจกรรมรับน้องที่พี่คุมน้อง มันทำให้คนไม่ฟังกัน ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ Top down (บนลงล่าง) ไม่เกิดการต่อรองกัน ถ้าคุณจะปรับมุมมองเรื่องพลเมือง มันต้องไปทั้งองคาพยพ ไม่ใช่แค่ตั้งวิชามาหนึ่งวิชาแล้วแก้เข้าไปในกติกาของ สกอ. แต่มันคือต้องยอมให้เกิดความหลากหลายของมิติการเตรียมพลเมืองซึ่งไม่เหมือนกันในทุกวิชาชีพ อย่างผมเตรียมคนเป็นครู คุณก็ต้องเป็นพลเมืองด้วย คุณจะสอนอะไรก็ได้ตามที่รัฐบอกให้สอนโดยไม่ตั้งคำถามไม่ได้ เพราะสุดท้ายคือคุณกำลังรับผิดชอบต่ออนาคตสังคมไทยอยู่ ถ้าคุณไม่มีจิตสำนึกเรื่องพลเมืองแล้วคุณจะปั้นหนุ่มสาวในมือคุณให้เป็นพลเมืองแบบไหนล่ะ คุณเป็นหมอ แล้วไม่มีจิตสำนึกเรื่องพลเมือง ถ้าคุณเจอผู้ป่วยเป็นคนชายขอบ คนไร้รัฐ คุณจะไม่ช่วยเขาเหรอ จรรยาบรรณวิชาชีพคุณบอกต้องช่วยทุกคนนะ ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด ถ้าหมอไม่เข้าใจสิทธิมนุษยชนแล้วหมอจะเป็นหมอแบบไหน มันเป็นโจทย์ให้แต่ละคณะ แต่ละวิชาชีพสร้างความเป็นพลเมืองของตัวเอง
การแยกเป็นวิชาชีพนั้นอาจดูชัดเจน แต่ถ้าพูดในภาพรวมของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เช่น ระหว่างลูกกับพ่อแม่ นายจ้างกับลูกจ้าง ที่ต่างคนต่างโตมากับบริบทในสังคมไม่เหมือนกัน จะทำให้มันเกิดภาพของการตระหนักรู้ถึงความเป็นพลเมืองได้อย่างไร
สิ่งที่เปลี่ยนยากที่สุดคือค่านิยม ถูกมั้ย เราเคยอยู่ในสังคมที่ความอาวุโสมันแข็งมาก ห้ามเถียง ทุกวันนี้เราเห็นเด็กคุยกับผู้ใหญ่มากขึ้น ยังไม่นับรูปแบบแนวราบ เช่น โซเชียลมีเดียที่ทุกคนเท่ากัน ไม่เห็นอายุกัน ถกเถียงกันได้ แต่พอเจอหน้าเป็นผู้ใหญ่กว่าเราหงอละ หรือพอในห้องเรียน คนพูดเป็นครูเราก็ไม่กล้าเถียงแล้ว ค่านิยมอาวุโสใช่ว่ามันไม่ดี แต่มันมีอีกด้านที่ต้องถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกัน มันไม่มีการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือทีเดียว ต้องค่อยเป็นค่อยไป เป็นระลอกคลื่นของความเปลี่ยนแปลง ถามว่าสังคมไทยทุกวันนี้กับยี่สิบปีที่แล้วเหมือนกันหรือเปล่า ยี่สิบปีที่แล้วคุณจะเชื่อเหรอว่าชาวบ้านจะลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับรัฐบาล มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญในอดีตมันไม่พูดถึงสิทธิชุมชนด้วยซ้ำไป พอมารัฐธรรมนูญปี 2540 มันมาจากการต่อสู้เรื่องพลเมือง เราจึงมีเรื่อง EIA ขึ้นมา มีกลไกการต่อสู้ขึ้นมา มีการทำประชาพิจารณ์ขึ้นมา มันไม่ได้เปลี่ยนกันวันสองวัน ฉะนั้นเวลาเราเตรียมพลเมืองวันนี้ เราเตรียมเพื่ออนาคต ถ้าคุณเตรียมเด็กเพื่อวันนี้มันไม่ได้ เพราะเขาอยู่กับคุณตอนนี้ปี 1 อีก 5 ปีสังคมไทยเปลี่ยนหมดแล้ว อย่าลืมสิตอนนี้รัฐธรรมนูญใหม่กำลังมีผลบังคับใช้แล้ว อีกกี่ปีเราจะเปลี่ยนผ่านมีการเลือกตั้ง กลับไปสู่สังคมประชาธิปไตย ถ้าคุณเตรียมเด็กที่หงอๆ กับระบบที่เป็นเผด็จการทุกวันนี้มันไม่พอแล้ว คุณต้องคิดถึงอนาคต ถ้าเราพูดถึงเด็กประถมนี่ชัดเลย ถ้าเราสอนเด็ก ป.1 กว่าเขาจะเรียนจบมหาวิทยาลัยมันเป็น 10 ปี คุณต้องคิดถึงโลกอนาคตว่าพลังพลเมือง พลังประชาธิปไตยมันเปลี่ยนสังคมให้เป็นอีกแบบ เรากำลังเตรียมคนให้เป็นอนาคตของสังคม ไม่ใช่เป็นพลเมืองของอดีต
ในเชิงนโยบาย รัฐมีการกำหนดคุณลักษณะของเด็กเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 บ้าง ไทยแลนด์ 4.0 บ้าง การที่มีนโยบายซ้อนทับไปเรื่อยๆ แบบนั้น มีผลอย่างไรหรือไม่
มีผลสิ โครงสร้างอำนาจแบบบนลงล่างจากส่วนกลางมีผลกับการจัดการศึกษา เพราะเมื่อทุกคนเข้ามาด้วยผลประโยชน์ระยะสั้น นักการเมืองเข้ามาดันนโยบายเพื่อเอาผลงานเชิงประจักษ์ ไม่ได้คิดถึงสังคม ต่อให้ปฏิรูปการศึกษาแค่ไหน ถ้ามีนโยบายระยะสั้นอย่างนี้ มันส่งผลระยะยาวให้ไม่มีความต่อเนื่อง การจะพัฒนาเด็กคนหนึ่งคือการฟูมฟัก ไม่ใช่แค่สอนให้ท่องเลข ตอบโจทย์เท่านั้น การสร้างนิสัย สร้างความคิดคนเป็นเรื่องระยะยาว แล้วถ้าคนที่อยู่ภายใต้กลไกแบบนี้ไม่ตระหนัก ไม่ตั้งคำถามกับมัน เป็นครูแล้วไม่ตั้งคำถามกับนโยบายรัฐแล้วคุณทำอะไร คุณก็เป็นแค่เครื่องมือของรัฐไปกระทำต่อลูกศิษย์คุณ คำถามคือ เด็กจะโตไปเป็นแบบไหน มาเทอมหนึ่งเจอนโยบายหนึ่ง อีกเทอมเจอนโยบายหนึ่ง แล้วคนทำงานไม่ตั้งคำถาม คิดแบบข้าราชการ ไม่ใช่ครูไม่ใช่พลเมืองที่สร้างสังคมที่ดีกว่าผ่านห้องเรียนของตัวเอง ถ้าหากคนทำงานไม่มีจิตสำนึกแบบนี้มันก็จบแล้ว
วันนี้เราเห็นแล้วว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการทำอะไรตามใจตัวเอง คุณมีหน้าที่ตอบโจทย์สังคม เพราะหน่วยต่างๆ ที่จะรับบัณฑิตของคุณไปอยู่ด้วยไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจ วิชาชีพต่างๆ หรือกลุ่มที่จะเชื่อมโยงเด็กของเราไประดับนานาชาติ เขาเห็นนะว่าตอนนี้มหาวิทยาลัยไม่ได้เตรียมคนที่มีคุณภาพ ส่วนเสียงของเด็กคือ เด็กคาดหวังอะไรกับการมามหาวิทยาลัย และตัวเขาถูกมหาวิทยาลัยดูแลอย่างไร เสียงที่ได้ฟังมาตั้งแต่เสวนารอบเช้าคือ เด็กคิดว่าถูกมหาวิทยาลัยทำให้เป็นเด็ก ต้องฟังผู้ใหญ่อย่างเดียว เถียงไม่ได้
ถ้าไม่มีกิจกรรมพัฒนาอาจารย์ที่ต้องไปสอนเด็กให้เข้าใจเรื่องการศึกษาความเป็นพลเมือง แล้วเขาจะสร้างคนแบบไหนขึ้นมา นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะตอนนี้ไม่มีการพัฒนาศักยภาพของอาจารย์มหาวิทยาลัยให้สอนในอีกแบบ คือสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นประชาธิปไตย ให้เกิดการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น เข้าหาชุมชน เข้าหาโลก
หลักสูตรการศึกษาความเป็นพลเมืองที่มีทุกวันนี้ยังขาดเหลืออะไร
สกอ. มองไปที่ตัวเด็ก แต่มองไม่เห็นตัวแสดงที่เป็นอาจารย์ นโยบายเกณฑ์คุณภาพบัณฑิตมีว่าวิชาการศึกษาทั่วไปต้องสร้างเด็กแบบไหนขึ้นมา คำถามคือแล้วใครจะทำให้ตัวพวกนี้มันใช้งานได้ ถ้าไม่มีกิจกรรมพัฒนาอาจารย์ที่ต้องไปสอนเด็กให้เข้าใจเรื่องการศึกษาความเป็นพลเมือง แล้วเขาจะสร้างคนแบบไหนขึ้นมา นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะตอนนี้ไม่มีการพัฒนาศักยภาพของอาจารย์มหาวิทยาลัยให้สอนในอีกแบบ คือสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นประชาธิปไตย ให้เกิดการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น เข้าหาชุมชน เข้าหาโลก เอาประเด็นในชุมชน ในสังคมโลกมาถกเถียงกันได้ สร้างบรรยากาศของการเคารพกัน พูดคุยถกเถียงกันได้ ทักษะพวกนี้อาจารย์เองก็ดูเหมือนไม่มี เพราะทุกคนถูกเตรียมเป็นนักวิชาชีพหมด เอาความรู้ตัวเองมาส่งต่อให้ สกอ. มองข้ามตรงนี้ไป ตอนนี้จะเห็นบางมหาวิทยาลัยลุกขึ้นมาอบรมอาจารย์เอง เชิญวิทยากรข้างนอกมาอบรมอาจารย์ ส่งไปเรียนเกี่ยวกับการสอน
นี่เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยขาด เพราะนโยบายสั่งลงมาว่าต้องเตรียมพลเมือง วิชาการศึกษาทั่วไปต้องมีวิชาสอนความเป็นพลเมือง แต่คำถามคือจะให้เขาทำยังไง เขาไม่มี How to ไม่มีประสบการณ์ภาคปฏิบัติที่จะแลกเปลี่ยนกับคนอื่นได้ ดังนั้นต้องจัดรูปแบบของการเรียนรู้ ให้พวกเขา[อาจารย์] ได้แลกเปลี่ยนความเห็นหรือมีการกำหนดโปรแกรม พัฒนาอาจารย์ ส่งเสริมให้ทุกมหาวิทยาลัยมีการทำงานเรื่องนี้ สกอ. ไม่ต้องอบรมเอง แค่กำหนดนโยบายว่าทุกมหาวิทยาลัยจะต้องลุกขึ้นมาพัฒนาศักยภาพอาจารย์ในการสร้างบรรยากาศการเรียน ผมว่าแค่ไฟเขียวแค่นี้มหาวิทยาลัยก็ไปต่อได้ แต่ตอนนี้มันไม่มีแรงส่ง มหาวิทยาลัยก็ปรับไปๆ มาๆ
สกอ. เป็นฝ่ายวางนโยบายก็ต้องมีภาพที่ใหญ่มากๆ ต้องดูว่าในสังคมโลกมันเป็นยังไง แนวทางใหม่ๆ เป็นอย่างไรแล้วก็ดึงมาที่ไทย การไปดูงานมันได้แค่กลุ่มๆ เดียว แต่ถ้าไปดึงผู้เชี่ยวชาญจากข้างนอก แล้วมาเรียนรู้ร่วมกันในแต่ละมหาวิทยาลัย แต่ละวิชาชีพมีโอกาสไปพัฒนาต่อยอดในแบบของเขาเอง แต่มีคุณค่าหลักร่วมกัน
ถ้าคุณเปลี่ยนผู้ใหญ่ไม่ได้ คุณก็สร้างพลเมืองไม่ได้ ตอนนี้เราเห็นเด็กพร้อมแล้ว เด็กตั้งคำถามตลอด ผู้ใหญ่ต่างหากที่ปรับตัวไม่ทัน เพราะเขาเองก็ถูกหล่อหลอมมาอีกแบบหนึ่ง ตอนที่เขาเป็นหนุ่มสาว เขาก็โตมากับความคิดแบบบนลงล่าง อำนาจนิยม
เรื่องใหญ่ที่สุดอีกเรื่องหนึ่งคือ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย จากงานวิจัยที่งานเสวนานี้นำเสนอเห็นแล้วว่า ความเข้าใจของพลเมืองยังเป็นแบบเดิมอยู่เลย คือ ต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย ถูกระเบียบ เคารพกติกามหาวิทยาลัย เด็กถามมากผู้ใหญ่ไม่อยากตอบเพราะรู้สึกว่าถูกท้าทายอำนาจ ถ้าคุณเปลี่ยนผู้ใหญ่ไม่ได้ คุณก็สร้างพลเมืองไม่ได้ ตอนนี้เราเห็นเด็กพร้อมแล้ว เด็กตั้งคำถามตลอด ผู้ใหญ่ต่างหากที่ปรับตัวไม่ทัน เพราะเขาเองก็ถูกหล่อหลอมมาอีกแบบหนึ่ง ตอนที่เขาเป็นหนุ่มสาว เขาก็โตมากับความคิดแบบบนลงล่าง อำนาจนิยม เถียงไม่ได้ เขาก็สะท้อนออกมาผ่านตัวเขา แต่ทีนี้ยุคสมัยมันเปลี่ยน เด็กรุ่นนี้อีก 20-30 ปีสังคมไทยก็ไม่เหมือนเดิม คุณจะใช้วิธีแบบนั้นมาทำกับเด็กกลุ่มนี้ก็จะเห็นแรงต้าน จะมีเสียงสะท้อนว่าไม่ชอบ อยากให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ แสดงให้เห็นชัดว่าช่องว่างตรงนี้มันต้องการการเติมเต็ม จะเตรียมคนทำงานยังไงไม่ให้ติดกับดักอยู่ในห้องเรียน
แสดงความคิดเห็น