แรงงานได้เปล่าชื่อ ‘นักศึกษาฝึกงาน’: สวัสดิการไม่ต้องมี โอทีไม่ปรากฏ บาดเจ็บ-ตายรันทดจบง่าย

Posted: 30 Apr 2017 12:34 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

รู้จัก “นักศึกษาฝึกงาน” กันแค่ไหน เปิดปัญหาสารพัดการเอาเปรียบและประสบการณ์ “เสียว” ของนักศึกษาฝึกงานที่คุณ (น่าจะ) ไม่เคยรู้


ปี 2556 ปรากฏข่าวว่ามีกลุ่มนักศึกษาฝึกงานรวมกลุ่มกันในนาม “แฟร์ เพลย์” รณรงค์ให้มีการจ่ายค่าตอบแทนนักศึกษาฝึกงาน เพื่อปรับทัศนคติการฝึกงานแลกประสบการณ์แบบเดิมๆ รวมถึงมีแผนร่วมมือกับเครือข่ายแรงงานต่างๆ เหตุการณ์ที่ช่วยขับเคลื่อนพลังของกลุ่มนี้ก็คือ คำตัดสินของศาลในนิวยอร์กที่ตัดสินว่า บริษัท ฟ็อกซ์ เสิร์ชไลต์ พิกเจอร์ ผิดจริงตามกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำและล่วงเวลา ฐานไม่จ่ายค่าแรงนักศึกษาฝึกงานที่ช่วยทำหนังเรื่องแบล็ก สวอน ในปี 2010

ในประเทศไทย ประเด็นเรื่องนักศึกษา/นักเรียนฝึกงาน ยังไม่ถูกพูดถึงในวงกว้างนัก ทั้งเรื่องค่าแรง สิทธิประโยชน์ต่างๆ ทำให้นักศึกษาไม่รู้ถึงสิทธิที่พึงจะได้รับ ไปจนถึงการเผชิญกับปัญหามากมายที่นักศึกษาจะต้องพบเจออย่างยากลำบากระหว่างฝึกงาน 

ที่มาของการฝึกงาน “สหกิจศึกษา” ตามแบบ สกอ.

จากคู่มือการขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสถานประกอบการ จากการดำเนินงานสหกิจศึกษา หน้า 11 ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาสหกิจศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาโดยนำร่องจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในปี 2545

หลังจากนั้น สกอ. ได้เริ่มโครงการ "สหกิจศึกษา" ดำเนินการในลักษณะเดียวกันในปี 2547 มีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วม 60 แห่ง สถานประกอบการเข้าร่วม 2,000 แห่ง มีนักศึกษากระจายไปฝึกงานทั้งหมด 10,444 คน

มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อพัฒนาบัณฑิตในด้านต่างๆ และเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาได้​สัมพันธ์กับองค์กรผู้ใช้บัณฑิต เพื่อให้องค์กรผู้ใช้​บัณฑิตได้​รับประโยชน์จากโครงงานหรืองานที่นักศึกษาปฏิบัติ ไปจนถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

นักศึกษาฝึกงานในโรงงาน ทำงานเหมือนลูกจ้าง บาดเจ็บ-ตายไร้สวัสดิการ

สำหรับประเภทของนักศึกษาฝึกงานนั้น บุญยืน สุขใหม่ นักสิทธิแรงงานผู้คร่ำหวอดกับการให้คำปรึกษาเรื่องสิทธิแรงานกับคนงานในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย กล่าวว่า อันที่จริงแล้วการฝึกงานมีหลายประเภทกว่าที่เราเข้าใจ แบบแรกคือ แบบทวิภาคี มหาวิทยาลัยร่วมมือกับสถานประกอบการดังที่เราจะเห็นได้ทั่วไป แบบที่สองคือ แบบที่นักศึกษามาแสดงความจำนงขอฝึกงานด้วยตัวเอง

“คือเขาอายุไม่ถึงถ้าจะมาสมัครเป็นลูกจ้างมันก็จะเข้าข่ายการใช้แรงงานเด็ก ต้องแจ้งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เขาก็เลี่ยงมาใช้ช่องว่างตรงนี้แล้วเรีกว่า นักศึกษาฝึกงานแทน ซึ่งจะมีทั้ง ปวช. และ ปวส.” บุญยืนกล่าว

บุญยืน เล่าว่า ปัญหาสำคัญที่นักศึกษาฝึกงานต้องเผชิญนั้นเผลอๆ จะหนักกว่าแรงงานโดยทั่วไป นั่นก็คือ การไม่ได้รับสิทธิในการลาป่วย การรักษาพยาบาล และเงินชดเชยกรณีอุบัติเหตุ

โรงงานเอานักศึกษามาใส่กระบวนการผลิตแทนพนักงาน หากนักศึกษาหยุด หัวหน้างานก็ต้องลงมาทำงานแทน และมักเกิดการโต้เถียงกัน เมื่อเกิดปัญหาเขาก็ส่งตัวนักศึกษากลับ ทำให้ต้องดร็อปหรือหยุดเรียนไป 1 เทอม ทำให้นักศึกษาไม่สู้จะอยากลาป่วยกัน

บุญยืน กล่าวว่า ยังมีเรื่องของการทำงานล่วงเวลา อย่างนักเรียนนักศึกษาในช่วงอายุ 15-18 ปีอันที่จริงแล้วเป็นการใช้แรงงานเด็ก ตามกฎหมายโรงงานจะต้องแจ้งถึงกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แต่ในส่วนของนักศึกษาฝึกงานจะไม่มีหลักเกณฑ์นี้ พวก ปวช. โดยปกติเขาจะห้ามทำงานล่วงเวลา แต่บริษัทก็บังคับให้ทำงานล่วงเวลาทุกวัน โดยปกติต้องห้ามเข้ากะ แต่ก็ต้อง เข้ากะทุกวันเหมือนพนักงานปกติ ขณะเดียวกันพวกนี้กลับไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ เลย

“คนพวกนี้จะใช้สิทธิลาป่วยตามปกติของพนักงานไม่ได้ เพราะไม่ได้ครอบคลุมประกันสังคม และเวลาเกิดอุบัติเหตุ เช่น แขนขาดกองทุนเงินทดแทนก็จะไม่เข้ามาดูแล เพราะไม่เข้านิยามคำว่า “ลูกจ้าง” กรณีตายก็มี ยกตัวอย่าง เครนยกน๊อตที่โรงงานหนัก 12 ตัน พอยกมันก็เกิดแรงเหวี่ยง นักศึกษาไม่เคยเข้าโรงงานก็ไม่รู้ว่าแรงเหวี่ยงมันช้าแต่มันกระแทกแรง กระทบหน้าอกยุบเสียชีวิต ถ้าเป็นพนักงานปกติกองทุนเงินทดแทนต้องให้ค่าจ้างทดแทน 8 ปี แต่สิทธินี้จะหายไปถ้าเขาเป็นนักศึกษาฝึกงาน” บุญยืน กล่าว


แจ๊ค อดีตนักศึกษา ปวส.ที่ฝึกงานในบริษัทแห่งหนึ่งแล้วประสบอุบัติเหตุแขนขาด เนื่องจากโดนเครื่องทับแผ่นเหล็กทับแขนขณะปฎิบัติงาน “เครื่องปั้มเหล็กพัง เขาเลยปิดซ่อม เสร็จแล้วเขาก็ไม่ทดสอบ แล้วให้เด็กเข้าไปทำงาน จังหวะที่เราเข้าไปใส่งานสายไฮโดรลิคแตก เครื่องเลยร่วงลงมาทับแขนขาด” เขากล่าวด้วยว่า รักษาตัวในรพ.ราว 1 ปี ตอนแรกบริษัทจ่ายค่ารักษาที่เกินกว่าประกันสังคมจะสำรองจ่ายเท่านั้น แต่ไม่ได้ให้ค่าแรงหรือค่าสูญเสียรายได้ จนต้องไปฟ้องร้องจนกระทั่งได้ค่าแรง 50% ได้รับเงินทดแทน 1 แสนบาทแล้วรับกลับเข้าทำงานด้วย คดีจบที่ชั้นไกล่เกลี่ยในศาล เมื่อปี 2552 มีกรณีคล้ายกัน มีคนนิ้วขาดทั้งมือแต่รับเงิน 4 แสน โดยไม่ขอกลับมาทำงานอีก 
 
นักศึกษาฝึกงานสายโปรดักชั่น ทำงานล่วงเวลา ไร้ค่าตอบแทน

มุฑิตา (นามสมมุติ) อาจารย์จากมหาลัยชื่อดังในจังหวัดปทุมธานี กล่าวถึงปัญหาการฝึกงานของนักศึกษาที่เธอดูแลว่า เวลาทำงานปกติคือ 8 ชั่วโมงต่อวัน บางที่นักศึกษาทำงานโปรดักชัน เข้างาน 16.00 น. เลิกกอง 02.00 น. แต่นักศึกษาก็ไม่ได้ค่าตอบแทน กลับดึกๆ รถก็ไม่มีกลับ

“เราก็ต้องคอยถามนักศึกษาว่าไหวหรือเปล่า เด็กก็ชอบตอบว่าไหวๆ แต่ว่าถ้าเป็นเด็กผู้หญิงเราก็จะห่วงมาก เราก็เข้าไปคุยกับที่ทำงานขอให้เด็นทำงานเวลาปกติได้ไหม เขาก็บอกว่าปกติก็เข้างานกันเวลานี้ ก็เป็นปัญหาที่ต้องแก้กันไป ถ้าจะบอกว่าเป็นการขูดรีดแรงงาน เขาก็จะบอกว่าการทำงานมันก็อย่างนี้แหละ เด็กก็ต้องทำได้” มุฑิตา กล่าว

เรียนดีไซน์ จงไปเชื่อมเหล็ก

มุฑิตา กล่าวอีกว่า ปัญหาที่เจอมากอีกประการหนึ่งก็คือบริษัทไม่รู้ว่า “สหกิจศึกษา” คืออะไร เขาก็เข้าใจว่าเมื่อนักศึกษามาฝึกงานจะให้ทำอะไรก็ได้ อาจจะทำให้นักศึกษาทำงานได้ไม่ตรงกับที่เรียนมาก็ได้เป็นเรื่องปกติ เช่น นักศึกษาเรียนออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์มา แต่บริษัทให้ถ่ายเอกสาร ซื้อของ แบกของ โดยอ้างว่างานออกแบบที่เขาทำกันอยู่มันสำคัญและยากเกินกว่าที่นักศึกษาจะทำ

“มีนักศึกษาเรียนดีไซน์ แต่ถูกมอบหมายให้ไปเชื่อมเหล็กก็มี” มุฑิตาเล่า

บุญยืน นักสิทธิแรงงาน ผมเคยสัมภาษณ์นักศึกษาเกือบทุกกลุ่ม ว่าเขาสามารถเอาที่สิ่งเขาฝึกงานไปต่อยอดให้ห้องเรียนได้ไหมส่วนใหญ่ก็ตอบว่าไม่ได้ เพราะไม่ตรงกับที่เขาเรียนมา บางคนเรียนบัญชี แต่ต้องมาทำในสายงานผลิต มาตีอุปกรณ์มาประกอบอุปกรณ์ โรงงานก็จะคิดพวกหน้าตาดีดี แต่สัดส่วนน้อย คือความไว้วางใจเขาก็จะไม่มี เพราะโอกาสที่จะผิดพลาดมันสูง ส่วนใหญ่ให้เดินเอกสารบ้าง พนักงานต้อนรับบ้าง ซึ่งมันไม่ได้เพิ่มทักษะอะไร 

ค่าแรง - ได้บ้าง ไม่ได้เพียบ 

สำหรับค่าแรงหรือค่าตอบแทนของนักศึกษาฝึกงานนั้น มุฑิตากล่าวว่า นักศึกษาที่ฝึกงานบางส่วนได้ค่าตอบแทนบ้างแต่ได้ไม่เยอะ สถานประกอบการบางแห่งให้วันละ 200 – 500 บาท บางแห่งให้เป็นก้อน 4 เดือน 4,000 บาท

“แต่ที่ให้ค่าตอบแทนนี่เป็นส่วนน้อยจริงๆ สมมุติว่าไปกัน 40 คน ก็จะมีไม่ถึง 10 คนที่ได้เงิน หน่วยงานราชการนี่ไม่ได้เลย เราคิดว่า ถ้าบริษัทจ้างฟรีแลนซ์เขาต้องจ่ายเงิน แต่ให้เด็กฝึกงานทำนี่ได้เป็นเกรดและข้าวกล่องตอนออกกองถ่าย ไม่ได้ค่าขนม บางบริษัทเขาจัดการอีกแบบ รู้ว่าเด็กฝึกงานมีฝีมือระดับเท่านี้ก็จะให้งานทำในส่วนหนึ่ง พอถึงเวลาเลิกงานปกติก็กลับบ้านได้เพราะเป็นเด็กฝึกงาน อันนี้เป็นเรื่องของเมตตาธรรมของบริษัทด้วย” มุฑิตา กล่าว

กลับไปที่สายโรงงานอีกครั้ง บุญยืนเล่าถึงเรื่องค่าตอบแทนว่า มี 2 ส่วน ส่วนแรกคือในออฟฟิศ อีกส่วนคืองานการผลิต เรื่องนี้ไม่แน่นอนสถานประอบการบางแห่งจ่ายบางก็ไม่จ่าย จ่ายให้เป็นเงินก้อนบ้างก็มี แต่นักเรียนอาชีวะส่วนใหญ่ที่อยู่ในสายงานการผลิตมักจะได้ค่าจ้างขั้นต่ำ สวัสดิการก็ไม่ได้

“เช่น เข้ากะกลางคืนพนักงานปกติได้ 200 บาท คนพวกนี้อาจจะได้ 100 บาทหรือไม่ได้เลย ส่วนงานในออฟฟิศส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้ค่าตอบแทน ในความเห็นผมคิดว่า มันควรที่จะได้ค่าตอบแทน เพราะก็เป็นการใช้แรงงานเป็นกรรมมาชีพเหมือนกัน การฝึกงานก็คือการสนับสนุนกระบวนการผลิต แม้กระทั่งคนส่งเอกสารยังได้ค่าแรงเลย นักศึกษาก็ควรได้เพราะเขาต้องกินต้องใช้ บางคนมาจากต่างจังหวัดต้องมาเช่าที่พัก ต้องเดินทางมาเอง ถ้าไม่มีค่าตอบแทนให้ก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุน นอกจากจ่ายค่าเทอมแล้วต้องมาจ่ายสิ่งเหล่านี้อีก มันก็หนักมากสำหรับผู้ปกครอง” บุญยืน ให้ความเห็น

บุญยืน ยกตัวอย่างอีกว่า ถ้าพนักงานปกติทำล่วงเวลาก็จะได้ประมาณ 50 ชั่วโมงต่อเดือน ค่าตอบแทนตกประมาณ 20,000 บาทแต่ถ้าเป็นนักศึกษาฝึกงานทำงานล่วงเวลาไม่ได้หยุดทั้งเดือน ไม่หยุดเสาร์อาทิตย์ ได้ค่าตอบแทนเต็มที่เพียง 13,000-14,000 บาทและไม่มีสวัสดิการด้วย

“ถามว่าเหมือนทาสไหม มันก็ดูไม่ได้ต่าง ผมเคยถามเขา ทำแบบสอบถามเลย เขาก็อยากจะหยุด แต่รายจ่ายก็จะรออยู่ ไม่ว่าค่าเทอม ค่าที่พัก” บุญยืน กล่าว

ค่ากินอยู่ ค่ามัดจำห้อง ค่าเดินทาง ค่า....

มุฑิตา กล่าวว่า เรื่องการฝึกงานในโครงการสหกิจศึกษานั้นเป็นสิ่งที่นักศึกษาสามารถเลือกไม่ไปก็ได้ แต่ต้องเรียนหรือทำโปรเจ็คต์วิชาอื่นแทน อย่างไรก็ตาม โดยนโยบายมหาวิทยาลัยนั้นอยากผลักดันให้นักศึกษาไปออกสหกิจมากกว่า แต่มหาวิทยาลัยไม่ได้ดูแลค่าใช้จ่ายเช่นการเช่าห้อง เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่เด็กเลือก

“เด็กมหาวิทยาลัยพี่บางคนก็ไปกลับ กรุงเทพ-ปทุมธานี เพราะไม่อยากจะเสียค่ามัดจำหอใหม่เพิ่ม และก็จะต้องจ่ายค่าจองหอเดิมไว้อีกเดี๋ยวกลับมาไม่มีหออยู่ เอาเข้าจริงๆ เด็กที่ไม่มีเงินก็อาจไม่มีโอกาสเท่าที่ควร แต่เด็กก็มีโอกาสเลือกเอง หลายบริษัทเช่นพวกโรงงานใหญ่ที่เด็กวิศวะไป เขามีที่พักให้เรียบร้อย เขานับเป็นพนักงานคนหนึ่งเลย บางที่เขาก็ให้นอนสำนักงานเลย”

บุญยืน ยกตัวอย่างกรณีการเช่าห้องของพวกนักศึกษาฝึกงานด้วยว่า มีกรณีที่บริษัทใหญ่แห่งหนึ่งจ่ายค่าเช่าห้องให้นักศึกษาฝึกงานด้วย คนละ 2,500 บาท พร้อมทั้งจ่ายค่าแรงวันละ 300 บาท แต่ไม่รู้ว่าทางอาจารย์จัดการอย่างไร สุดท้ายเช่าบ้านให้นักศึกษาอยู่รวมกันห้อง 5 คนใน 1 ห้อง

“กรณีนี้อาจารย์รับจากบริษัทเลย บริษัทจะจ่ายผ่านอาจารย์ แต่ออกมาเป็นแบบนี้”

“อีกกรณีหนึ่งโรงงานอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี มีพนักงานประมาณ 3,500 คน ใช้นักศึกษาประมาณ 40% หมุนเวียนกันไปทั้ง ปวช. ปวส. ใช้นักศึกษาเยอะมาก ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพราะเขาต้องการลดค่าแรง” บุญยืนกล่าว

บริษัทตั้งขึ้นเพื่อจ้างนักศึกษาฝึกงานโดยเฉพาะ

สำหรับบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจ้างนักศึกษาฝึกงานโดยเฉพาะ มุฑิตากล่าวว่า เคยเจอ แต่ไม่บ่อยนัก มักเป็นบริษัทที่มีคอนเนคชั่นกับมหาวิทยาลัย โดยบริษัทที่ทำงานไม่ทันต้องใช้คนปิดงานเพิ่ม ต้องการคนช่วย เขาก็จะขออาจารย์ให้ส่งเด็กมา เด็กไปทำงานเสมือนพนักงานจริงแต่ไม่ได้เงิน ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม เด็กได้ฝึกงานจริงแต่บริษัทก็ได้เงินโดยที่ให้พวกเขาเป็นแรงงานฟรี ตรงนี้อาจารย์ต้องติดตามว่าเขาให้ทำงานอย่างไรบ้าง บริษัทเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าอาจารย์เห็นว่าไม่ไหวต้องเข้าไปคุยแทน
ปัญหาชู้สาว ท้องส่งกลับวิทยาลัย
บุญยืนยังเล่าถึงอีกปัญหาสำคัญของนักศึกษาฝึกงานโดยเฉพาะเพศหญิง โดยหยิบยกกรณีที่นักศึกษาหญิงท้องกับพนักงานชาย หรือกับนักศึกษาด้วยกันเอง กรณีแบบนี้ทางบริษัทจะส่งตัวกลับ

“พนักงานชายเวลาเห็นนักศึกษาฝึกงานสาวๆ มา เขาก็จะมองเป็นเนื้ออ่อนประมาณนั้น ก็จะชวนไปโน่นมานี่ ก็จะมีปัญหาชู้สาว พอตั้งครรภ์ขึ้นมาก็หมดอนาคต ผมมองว่ากรณีนี้การส่งตัวกลับไม่เหมาะสมเพราะผมคิดว่ามันเป็นการตัดอนาคต เรื่องของศีลธรรมก็ต้องตักเตือนกัน แต่แบบนี้เขาจะต้องสูญเสียโอกาส เสียเวลา และอับอายด้วย การเรียนเขาจะเสียไปเลย ถ้าเป็นกรณีพนักงานหญิงท้องไม่เป็นไร เลิกจ้างไม่ได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าห้ามเลิกจ้างเพราะเหตุมีครรภ์ แต่ถ้านักศึกษาท้องส่งตัวคืนทันที” บุญยืนกล่าว

บุญยืน ยังกล่าวอีกว่า อีกแบบหนึ่งซึ่งมักเป็นส่วนใหญ่ของปัญหาชู้สาวก็คือ ผู้ชายมีภรรยาอยู่แล้ว ทำให้ภรรยาตามมาตบตีกันที่โรงงาน กระทบงาน กรณีแบบนี้โรงงานไม่ไล่พนักงานออก เพราะไม่ชัดว่าจะยกเหตุอะไรเนื่องจากเป็นเรื่องส่วนตัว และถ้าจะไล่พนักงานออกต้องจ่ายชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม แต่กรณีของนักศึกษา การส่งตัวนักศึกษากลับ บริษัทไม่ต้องเสียอะไรเลยเพราะคำนิยามคำว่า “ลูกจ้าง” ไม่มีแต่ต้น

กฎหมายรับรองสิทธินักศึกษาฝึกงาน...ยังไม่มี

บุญยืน กล่าวว่ากฎหมายที่จะรองรับสิทธิหรือคุ้มครองสิทธินักศึกษาฝึกงานนั้นถึงวันนี้ยังไม่มี เขาเคยผลักดันเรื่องนี้หลายครั้งในยุคที่เป็นบอร์ดประกันสังคม โดยเคยเสนอในบอร์ดว่าควรแก้บทนิยามคำว่า “ลูกจ้าง” ในส่วนของประกันสังคมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิรักษาพยาบาล และในส่วนของกฎหมายเงินทดแทนที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุของการทำงาน เพราะเคยมีนักศึกษาแขนขาดนิ้วขาด นิ้วหัก พาไปรักษาที่โรงพยาบาลต้องจ่ายค่ารักษาเอง มหาวิทยาลัยไม่ได้รับผิดชอบอะไร กรณีของน้องที่แขนขาดเขาช่วยไปฟ้องแพ่งกับบริษัทให้ ทำให้ได้เงินมาหลายบาท โดยใช้มาตรา 420 ตามประมวลประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะส่วนใหญ่เวลาเกิดอุบัติเหตุเขาก็จะเลิกจ้าง นักศึกษาก็ถูกส่งตัวกลับ ต้องเข้าใจว่าเขามาฝึกงานเพื่อศึกษาต่อ ไม่ใช่ฝึกงานเพื่อที่จะทำงาน เขาก็หมดอนาคต เราก็ต้องให้เขาอยู่ในสังคมนี้ให้ได้



บุญยืน ย้ำด้วยว่า จริงๆ แล้วควรแก้บทนิยาม คำว่า “ลูกจ้าง” ในกฎหมายแรงงานทุกฉบับ ไม่อย่างนั้นเรื่องนี้ก็จะไม่ได้รับการแก้ไข เพราะสิทธิแรงงานขึ้นอยู่กับคำว่าลูกจ้างนี้เอง ลูกจ้างคือผู้ที่นายจ้างตกลงว่าจ้างที่จะทำงานให้นายจ้าง แต่นักศึกษาฝึกงานไม่ได้ใช้คำว่า ค่าจ้าง เวลาไปร้องประกันสังคม เขาก็บอกว่าไม่ใช่ลูกจ้าง ไม่ได้รับการคุ้มครอง ไปร้องกองทุนเงินทดแทนหากเสียชีวิตให้จ่ายเงินทดแทน 15 ปีของค่าจ้าง เขาก็ไม่บอกว่าเข้าบทนิยาม

ในส่วนของ ประกาศกระทรวงแรงงาน บุญยืนกล่าวว่า มันเป็นการทำประกันภัยกลุ่มทั่วไป ในทางปฏิบัติบริษัทประกันภัยจะปฏิเสธสิทธิ และทำวงเงินคุ้มครองน้อยมาก เพราะนักศึกษากระจายกันออกทำงาน การประเมินความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยทำได้ยากจึงทำแค่วงเงินจำกัดหรือเฉพาะกรณีเสียชีวิตเท่านั้นและนักศึกษาก็ไม่ได้ทราบระเบียบหรือข้อกำหนดการประกันเลยว่าเขามีสิทธิอะไรบ้าง


ประกาศกระทรวงแรงงาน กรณีการให้ค่าตอบแทนที่มีลักษณะเป็นเบี้ยเลี้ยง ไม่ใช่ค่าจ้าง ซึ่งกำหนดว่าบริษัทต้องให้ค่าเบี้ยเลี้ยงแก่ผู้ฝึกงาน


หมวด 3 ข้อที่17 ระบุว่า บริษัทดำเนินการจัดทำประกันอุบัติเหตุจากการฝึก


อาจารย์มุฑิตากล่าวว่า การฝึกสหกิจศึกษาเป็นการฝึกในระยะเวลา 4 เดือน ถ้ามหาวิทยาลัยทำ MOU ความร่วมมือกับองค์กรก็จะสามารถขอลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ถ้าไม่ได้ให้รายได้แก่นักศึกษาก็จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีนี้ไม่ได้ แต่ละมหาวิทยาลัยก็มีหน่วยงานสหกิจอยู่ มหาวิทยาลัยต้องให้ความรู้กับทางบริษัท และนักศึกษาจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานอยู่แล้ว

ในหนังสือคู่มือขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสถานประกอบการจากการดำเนินงานสหกิจศึกษา ระบุว่า สำหรับสถานประกอบการที่รับนักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้าปฏิบัติงานในลักษณะที่เป็นการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Work Intergrated Learning :WIL) ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ได้แก่ ระบบฝึกงาน Apprentice หรือระบบทวิภาคี (Dual Training) หรือระบบสหกิจศึกษา (Cooperative Education) หรือระบบฝึกหัด (Internship) สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และสิทธิประโยชน์จากการนับจำนวนผู้รับการฝึกตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ได้ทั้งหมด โดยต้องมีระยะเวลาการฝึกในแต่ละหลักสูตรต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมง
ที่มา แผนภูมิ : คู่มือขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสถานประกอบการจากการดำเนินงานสหกิจศึกษา หน้า 41-42

มหาวิทยาลัยต่อรองสิทธิ-สวัสดิการให้นักศึกษา...ลำบาก?!

เพ็ญนภา (นามสมมุติ) อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคเหนือ กล่าวว่า ในสถานประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้เซ็น MOU ตามที่ สกอ.ที่กำหนด และหลายๆ มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ทำ แต่ความจริงแล้วต้องทำ การละเลยอาจเป็นความผิดพลาดของหน่วยงานสหกิจ หรือเป็นความต้องการของตลาดด้วย เพราะการที่องค์กรจะมาเซ็นสัญญาด้วยจะต้องเห็นผลประโยชน์ ไม่อย่างนั้นจะเป็นการเพิ่มภาระให้เขา มหาวิทยาลัยต้องชี้ให้เห็นว่าเขาได้ได้รับผลประโยชน์ ฉะนั้นสถานประกอบการส่วนใหญ่เขาจะไม่ค่อยเซ็นกับมหาวิทยาลัยที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียง

เพ็ญนภา กล่าวอีกว่า การเรียกร้องค่าสวัสดิการต่างๆ ตามที่คุ้มครองลูกจ้างตามกฎหมายเป็นเรื่องลำบาก เพราะมันจะบีบให้ตลาดของการฝึกงานปิดตัวทันที

“ตรงนี้บอกในฐานะของคนที่ส่งเด็กออกไป เพราะไม่มีหน่วยงานไหนที่จะมารัดคอตัวเองให้เสียผลประโยชน์ เพราะทั้งหมดขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ไม่ใช่การกุศล ถ้าจะทำอย่างนั้นได้ นักศึกษาฝึกงานทุกคนต้องมีคุณภาพสูงสุด มหาลัยทำได้ไหม ไม่ได้ และบอกได้เลยว่าเขารับลูกจ้างชั่วคราวดีกว่า รับรองว่าไม่มีใครรับนักศึกษาฝึกงาน และการจะทำตามเกณฑ์สหกิจตามที่ สกอ.กำหนดจะต้องนัดพบองค์กร ให้พบกันเพื่อสัมภาษณ์ ยื่นใบสมัคร หรือหน่วยงานจะต้องมาหาถึงที่ หรือจัดประชุมต่างๆ รายสถานที่ประกอบการ และอาจารย์นิเทศน์งานก็จะต้องนิเทศถึงสองครั้ง ซึ่งทั้งหมดใช้งบประมาณมหาศาล ที่เป็นข้อจำกัดของมหาวิทยาลัย” อาจารย์เพ็ญนภา กล่าว

เพ็ญนภา กล่าวถึงประเด็นการฝึกงานไม่ตรงกับที่เรียนว่า อันที่จริงแล้วการฝึกงานมีหน้าที่หลักและหน้าที่รอง ตอนเข้าไปเราก็ต้องให้นักศึกษาระบุว่าตัวเองเข้าไปทำงานในตำแหน่งอะไรก่อน และงานถ่ายเอกสาร งานประสานงานเป็นหน้าที่รอง ซึ่งสถานประกอบการหลายที่ไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่ได้สนใจ อาจารย์ก็ทำอะไรไม่ได้ ทำได้แค่เลิกส่งเด็กรุ่นหลังไป หรือทำได้เพียงเข้าไปอธิบายหลักเกณฑ์หรือขอให้ช่วยปรับการทำงาน

“ถ้าเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่เขาเลือกไม่ฟังแล้วปฏิเสธก็ได้ มันก็ว่าด้วยข้อตกลง ถ้ามหาลัยต้องง้อก็ต้องง้อต่อ เราจะเรียกร้องอะไรเขาได้ เขาก็ไปสนใจคนที่ไม่เรียกร้อง มหาวิทยาลัยก็เสียผลประโยชน์ ในวัฒนธรรมบางวัฒนธรรมความสัมพันธ์สำคัญกว่ากฎเกณฑ์ เพื่อให้งานมันดำเนินไปได้”
เพ็ญนภา กล่าว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.