กทม.ยันป้อมมหากาฬต้องจบใน 2 เดือน รองแม่ทัพภาค 1 ย้ำต้องคิดถึงความรู้สึกชาวบ้าน

Posted: 05 May 2017 09:50 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

รองแม่ทัพภาค 1 คุยป้อมมหากาฬ ย้ำต้องคิดถึงความรู้สึกชาวบ้าน ด้าน กทม.ยันต้องจบภายใน 2 เดือน นัดถกเรื่องคุณค่า 20 พ.ค.นี้ หากไม่เข้าเกณฑ์ต้องรื้อถอนทันที

5 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (5 พ.ค.60) เวลา 14.30 น. ที่ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พล.ต.ธรรมนูญ วิถี รองแม่ทัพภาคที่ 1 พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามปัญหาการรื้อถอนบ้านเรือนและพูดคุยกับชุมชนป้อมมหากาฬถึงสถานการณ์ปัจจุบันและการพัฒนาพื้นที่สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร โดยมี พ.ท.โชคดี อัมพรดิษฐ ผู้บังคับการกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ เป็นผู้บรรยายสรุปความเป็นมาของปัญหาและสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีตัวแทนจาก กทม. เข้าร่วมด้วย

พ.ท.โชคดี บรรยายสรุปว่า ที่ผ่านมามีการตรวจสอบงานภายในพื้นที่ทั้งเรื่องขยะและการรื้อถอนบ้านเรือน ซึ่งในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมามีการรื้อถอนทั้งหมด 9 หลัง และมี 1 หลังยอมย้ายออกแต่บ้านยังไม่รื้อถอนเนื่องจากอยู่ในโครงการอนุรักษ์ของสมาคมสถาปนิกสยามฯ โดยการดำเนินงานขั้นต่อไปคือการประเมินและพิสูจน์คุณค่าของบ้านที่เหลืออยู่ทั้ง 33 หลัง ต้องพิสูจน์ได้ว่ามีครบทั้ง 5 คุณค่า ซึ่งสิ่งที่จะทำร่วมกันในขณะนี้คือการพัฒนาพื้นที่ทิศใต้ คือ การทำความสะอาด ซ่อมแซมกำแพงที่ชำรุดรวมถึงท่าเรือและทำการคืนพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน

ยุทธภัณฑ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิสูจน์คุณค่าของบ้านแต่ละหลัง โดยบ้านที่จะได้รับการอนุรักษ์ต้องมีการพิสูจน์ให้ครบถ้วนทั้ง 5 ด้านด้วยกัน คือ 1) ด้านคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ 2) ด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรมและผังเมือง 3) สังคมและวิถีชีวิต 4) โบราณคดีและการตั้งถิ่นฐาน และ 5) คุณค่าในด้านวิชาการ ซึ่งจะมีการประชุมสรุปกันในวันที่ 20 พ.ค. นี้

“20 พ.ค. นี้ต้องนำเสนอว่าบ้านแต่ละหลังมีคุณค่าอย่างไร โดยให้ระยะเวลา 1 เดือน และหากไม่ได้ข้อสรุปจะขยายเวลาให้อีก 1 เดือน ดังนั้นภายใน 2 เดือนนี้ต้องแล้วเสร็จ ต้องให้คำตอบต่อสาธารณะและผู้บริหารได้ว่าบ้านแต่ละหลังมีความสำคัญอย่างไร มีความสำคัญอย่างไรกับประเทศ กับกทม. กับย่านและชุมชนอย่างไร และต้องเข้าหลักเกณฑ์ครบทั้ง 5 ด้าน หากไม่เข้าหลักเกณฑ์ก็จำเป็นต้องรื้อถอนและย้ายออกไป ” ยุทธภัณฑ์ กล่าว

ในส่วนของตัวป้อมที่มีความชำรุดและได้รับความเสียหายจากต้นไม้ รวมถึงในส่วนของตัวอาคารที่ได้รับความเสียหายจากคลื่นในคลองแสนแสบ กทม.ก็มีแผนในการบูรณะ โดยให้ทางสำนักงานผังเมืองประเมินงบประมาณในการซ่อมแซมเบื้องต้นและขอความเห็นชอบจากกรมศิลปากร ถ้ากรมศิลป์เห็นชอบก็ใช้เวลาในการบูรณะไม่เกิน 1 เดือน จะสามารถปรับปรุงให้แล้วเสร็จได้

สมชัย ถนอมวาจามั่น นายช่างผู้ชำนาญงาน กทม.(ผู้ออกแบบสวนสาธารณะ) กล่าวว่า การออกแบบพื้นที่ด้านทิศใต้ขนาด 300 ตารางวานั้นจะจัดทำสวนสาธารณะขนาดเล็กและเปิดพื้นที่โล่งถึงริมคลอง มีการเก็บต้นไม้ใหญ่ไว้ และจะเน้นการปลูกต้นไม้ไทยเป็นหลัก เช่น พิกุล แก้ว ลำดวน และมีการจัดที่นั่งพักผ่อนสำหรับคนในชุมชนและประชาชนทั่วไป

โดยในส่วนพื้นที่ว่างอีกด้านของชุมชนนั้นทาง กทม. สำนักงานผังเมืองและสำนักสิ่งแวดล้อมได้มีการประชุมสรุปเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าจะเตรียมพื้นที่ไว้สำหรับงานพระราชพิธีต่อไป โดยจะทำความสะอาดและปูพื้นยาง


สมพร อาปะนนท์ หรือ ป้าเฮง อายุ 76 ปี เจ้าของบ้านเลขที่ 169 ได้นำช่อดอกไม้มามอบให้ พล.ต.ธรรมนูญ พร้อมขอร้องให้ช่วยเหลือให้ได้อยู่อาศัยต่อไป

จากนั้น พล.ต.ธรรมนูญ และคณะได้เดินชมบริเวณพื้นที่ที่จะปรับภูมิทัศน์ รวมถึงบ้านในชุมชน โดยมี ธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชน นำชมและอธิบายถึงความสำคัญของบ้านแต่ละหลัง ระหว่างนั้น สมพร อาปะนนท์ หรือ ป้าเฮง อายุ 76 ปี เจ้าของบ้านเลขที่ 169 ได้นำช่อดอกไม้มามอบให้ พล.ต.ธรรมนูญ พร้อมขอร้องให้ช่วยเหลือให้ได้อยู่อาศัยต่อไป นอกจากนี้ กลุ่มแม่บ้านและเด็กในชุมชนได้นำของที่ระลึกมามอบให้ด้วย


พล.ต.ธรรมนูญ กล่าวว่า รัฐบาลมอบหมายให้ตนมาดูแลเรื่องนี้ ต้องหาทางออกและช่วยชาวบ้านที่มีรายได้น้อย จึงต้องมีความชัดเจนในการพูดคุยประเด็นต่างๆ ซึ่งตนก็อยากให้บ้านทั้ง 33 หลังที่เหลืออยู่นั้นอยู่ครบทุกหลัง แต่ก็ต้องอยู่บนหลักเกณฑ์ที่ทุกฝ่ายยอมรับ หากผลการพิสูจน์คุณค่าและการเจรจาออกมาอย่างไร ก็อยากให้ทางชุมชนยอมรับ และยังย้ำกับทหารที่เข้าประสานงานในพื้นที่และตัวแทน กทม. ว่าการดำเนินการใดๆ ให้คิดเสมอว่าหากเราเป็นชาวบ้านจะรู้สึกอย่างไร

ทั้งนี้ ปัญหาที่ชุมชนป้อมมหากาฬได้รับผลกระทบอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นผลมาจากโครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติตั้งแต่ปีพ.ศ.2502 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ต้องมีการรื้อถอนบ้านและย้ายชุมชนที่อยู่ในแนวกำแพงป้อมมหากาฬออกทั้งหมด เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และทำเป็นสวนสาธารณะแต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ ต่อมา กทม.ทำการเวนคืนที่ดินในปี พ.ศ.2535 ตั้งแต่นั้นก็มีปัญหาไล่รื้อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยในปีนี้มีการรื้อถอนบ้านเรือนไปแล้ว 19 หลัง อย่างไรก็ตาม ชาวชุมชนป้อมมหากาฬก็มีการต่อสู้เพื่อสิทธิในการอยู่อาศัยโดยใช้แนวคิดการพัฒนาสวนสาธารณะป้อมมหากาฬด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน ตามกระบวนการ co - creation ที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของชุมชนและการออกแบบจากทุกภาคส่วน (ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.