Posted: 03 May 2017 06:07 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
รายงานสัมมนาถกปัญหาการศึกษาพลเมืองช่วงประชาธิปไตยขาลง เปิดความต้องการภาคธุรกิจ โลกโลกาภิวัฒน์ เผยเด็กไทยยังสอบตกภาษา ความกล้าแสดงออก ภาคธุรกิจขอนายจ้างช่วยสร้างพลเมืองแก้ปัญหาเรื้อรังชาติ กูรูต่างชาติเผยหลักสูตรท่องจำพลเมืองทำอะไรบ้างล้าสมัยแล้ว แนะลงชุมชน มหา’ลัยเป็นหัวหอกวิจารณ์รัฐ
เมื่อวันที่ 20-21 เม.ย.ที่ผ่านมา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย และมูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ท จัดสัมมนาสาธารณะ “บทบาทอุดมศึกษาในยุคประชาธิปไตยถดถอย การสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม” ที่ห้องประชุม 101 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ประชาไท นำเสนอบทที่ 2 ของซีรีส์มหาวิทยาลัยกับการสร้างพลเมืองด้วยทัศนะของนักธุรกิจ องค์การระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติและตัวแทนผู้จัดทำหลักสูตรการสร้างความเป็นพลเมืองไทย เพื่อขยายความเข้าใจนิยามความเป็นพลเมืองที่แต่ละคนอยากมี อยากได้บนเงื่อนไขด้านการสร้างความเป็นพลเมืองผ่านระบบอุดมศึกษาในปัจจุบันที่ทำให้อุปสงค์ยังคงเป็นฝันค้างยามกลางวัน
อ่าน มหา'ลัยกับการสร้างพลเมือง บทที่ 1: เมื่อเราไม่ได้พูดถึง "พลเมือง" คนเดียวกัน
นศ.ไทยทักษะแสดงออก ภาษาอังกฤษยังด้อยเรื้อรัง ตลาดแรงงานอยากได้คนดี คนเก่ง นักธุรกิจชื่อดังระบุ นายจ้างก็ต้องร่วมสร้างพลเมืองด้วย
ในการอภิปรายหัวข้อ “ทัศนะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย: มืออาชีพและพลเมืองแบบไหนที่เราต้องการ” ร่วมอภิปรายโดยวิเชียร พงศธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ อดิศร เหล่าพิรุฬห์ จากโครงการ Young Southeast Asian Leaders Initiative (YSEALI) สถานทูตสหรัฐฯ และอัศริน แก้วประดับ จากสมาพันธ์แรงงานรัฐสัมพันธ์ มีอรรถพล อนันตวรสกุล เป็นพิธีกรดำเนินการอภิปราย
จากขวาไปซ้าย อรรถพล อนันตวรสกุล อัศริน แก้วประดับ อดิศร เหล่าพิรุฬห์ วิเชียร พงศธร
วิเชียร พงศธร ประธานบริษัทพรีเมียร์กรุ๊ป กล่าวว่า ในมุมนักธุรกิจ ตนอยากได้คนดี คนเก่ง คุณค่าสองอย่างควรมาด้วยกันเสมอ และภาคธุรกิจเองก็ต้องให้ความรู้เรื่องทักษะการทำงานต่างๆ ต่อยอดไม่จบสิ้น แต่ตั้งคำถามว่า ในแง่การสร้างคุณค่าความดี จะให้ภาคธุรกิจจะมารับช่วงต่อจากอุดมศึกษา สอนให้คนเป็นคนดีทันไหม ควรมานิยามว่าความดีที่เราอยากได้คืออะไร เช่น สำนึกที่ดี ซื่อสัตย์ ศีลธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณการปฏิบัติหน้าที่ที่ดี
“สถาบันการศึกษาต้องปูพื้นมาก่อน ภาคธุรกิจไม่สามารถเปลี่ยนความคิดคนอายุ ยี่สิบสามสิบกว่าได้ขนาดนั้น รัฐไทยจะปลูกฝังเด็กที่พบเจอเงื่อนไขภาระทางครอบครัว การเงินให้เป็นคนดีได้อย่างไร และโรงเรียน 3 หมื่นกว่าโรงเรียนมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ให้น้ำหนักการสร้างคนดีมากน้อยแค่ไหนในปัจจุบันเพื่อส่งทรัพยากรมนุษย์เข้าระดับอุดมศึกษา และสถาบันอุดมศึกษาก็มีส่วนในการสร้างคนไปพัฒนาคนที่จะพัฒนาเด็กด้วยเช่นกัน” วิเชียร กล่าว
วิเชียรกล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เรื้อรังในสังคม ไม่ว่าเศรษฐกิจจะโตขึ้น ขนาดของการถ่วงน้ำหนักเชิงเศรษฐกิจอาจจะมากกว่าเดิม จำนวนผู้ด้อยโอกาสเพิ่มขึ้นเยอะ สัดส่วนที่ลดลงเป็นเพราะว่าประชากรเติบโตขึ้น ในภาคธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกก็ด้อยลงเนื่องจากคุณภาพทางการศึกษา ในขณะที่สังคมกำลังเป็นคนชรามากขึ้น ปัญหาจะทวีคูณเพราะคนมีปัญหาทางการเงินชราภาพลงเยอะขึ้นเรื่อยๆ ส่วนคนพิการจำนวนที่มีศักยภาพในการทำงานมีประมาณ 7 แสนคน มีงานทำเพียงครึ่ง ที่เหลือตกงาน จะแก้ปัญหาอย่างไร ระดับทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่ในอันดับต้นๆของโลก สถาบันต่างๆทำสำรวจ วิจัยออกมามีมหาศาล ไม่ว่าจะเกิดจากระบบสินบนหรือความไม่โปร่งใสต่างๆ จึงเป็นภาระหน้าที่ของผู้ประกอบการด้วยเช่นกันที่จะสร้างมาตรฐานการจ้างงานและลงทุนบนเงื่อนไขธรรมาภิบาลที่ดี
“ชั่วชีวิตเรียนรู้มาแล้วว่าการแก้ปัญหาขนาดใหญ่ในสังคมต้องการพลเมืองที่รู้สึกว่าเป็นเจ้าของ มีส่วนได้ส่วนเสียกับสังคม อยากให้ได้พลเมืองที่รับผิดชอบและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ใช่เพียงแค่ตัวผู้นำ รัฐ หรือภาคประชาสังคมเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการเองก็สามารถสร้างพลเมืองได้ด้วยการวางเงื่อนไขธรรมาภิบาลทั้งด้านมาตรฐานการจ้างงานและการลงทุน”
อดิศร เหล่าพิรุฬห์ จากโครงการ Young Southeast Asian Leaders Initiative (YSEALI) และสถานทูตสหรัฐฯ กล่าวถึงตัวโครงการว่า เป็นโครงการตั้งโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมพลเมือง สิ่งแวดล้อม การศึกษา การใช้ธุรกิจพัฒนาสังคม โดยคัดเยาวชนและประชาชนอายุ 18-25 ปีทั่วอาเซียน
ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับทรัพยากรนักศึกษาที่เข้ามาสมัครนั้น เมื่อดูจากเวลาคัดเลือก ภาษาอังกฤษยังเป็นสิ่งที่เยาวชนไทยต้องพัฒนาต่อไปอีกมาก
สอง การพูด การนำเสนอ ส่วนใหญ่ค่อนข้างทำได้ดี แต่ว่าเวลาการแสดงความเห็นจริงในกิจกรรมต่างๆมักไม่ค่อยแสดงออก ในขณะที่เยาวชนจากเวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์กล้าแสดงออกมาก จึงสงสัยว่าเกิดอะไรกับการศึกษาของไทย ตนคิดว่าอาจเป็นเพราะสัดส่วนการสมัครน้อยกว่าประเทศอื่น
สาม ความเป็นผู้นำ นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์กิจกรรมช่วงเป็นนักศึกษาของผู้สมัครโคงรงการ สิ่งที่เห็นคือความแตกต่างของนักศึกษาในกรุงเทพฯ กับที่ต่างจังหวัดนั้น ในกรุงเทพฯ มีความกระตือรือร้นมากกว่าชัดเจน แต่การคัดเลือกก็พยายามกระจายโอกาสให้ทั่วถึง
อดิศร กล่าวว่า อยากให้นักศึกษามีกิจกรรมนอกห้องเรียนมากยิ่งขึ้น คิดว่าเยาวชนทั้งอาเซียนอายุ 18-25 มีสัดส่วนกว่า 60 เปอร์เซนต์ ถือเป็นสัดส่วนอนาคตของภูมิภาคที่ใหญ่ อยากให้เยาวชนทำกิจกรรม ได้ช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆมากขึ้น
อัศริน แก้วประดับ ผู้แทนจากสมาพันธ์แรงงานรัฐสัมพันธ์กล่าวว่า ในฐานะคนที่จะจบจากมหาวิทยาลัยไปทำงาน นักศึกษาพึงทราบถึงสิทธิในการชุมนุม สิทธิแรงงานต่างๆที่พึงมี ซึ่งแรงงานในระดับรากหญ้าเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดสิทธิแรงงาน แต่ปัจจุบันไทยยังไม่รับรองกฎบัตรแรงงาน เพราะกลัวแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติจะรวมตัวประท้วงหยุดงาน จะส่งผลต่อความมั่นคง แต่กฎหมายไทยก็ไม่สามารถใช้เสรีภาพแก่แรงงานได้ดีเช่นกัน ผู้แทนจากสมาพันธ์แรงงานกล่าวว่า ตอนนี้กำลังแรงงานมี 40 ล้าน เป็นสหภาพเพียงร้อยละ 1.5 เป็นสัดส่วนการรวมตัวกันต่ำที่สุดเป็นลำดับต้นๆของโลก ข้าราชการ แรงงานข้ามชาติ นอกระบบไม่สามารถรวมตัวได้ บทบาทของสหภาพฯ ลดลงเพราะใช้เสรีภาพไม่ได้
อัศริน กล่าวว่า หลักการขั้นต้นของสหภาพแรงงานคือการสร้างผลประโยชน์จากส่วนรวม ถือว่าเป็นหูตาให้นายจ้างและกลไกรัฐด้วยซ้ำ เพราะผู้ตรวจสอบแรงงานมีเพียง 600 คนจากกระทรวงแรงงาน ไม่พอกับคนทำงาน 40 ล้านคนแน่ จึงมีแต่แรงงานที่จะช่วยเหลือได้ การตรวจสอบคุณภาพ สวัสดิการชีวิตแรงงานทำให้นายจ้างดูแลคนงานดี คนงานทำงานมามีคุณภาพ นายจ้างได้กำไร ต่างคนต่างได้
“เราอาจถูกจ้างวันนี้ และอาจจะถูกเลิกจ้างพรุ่งนี้ก็ได้ ดังนั้นก็จะต้องมีกลไกที่คอยปกป้องน้องๆจากการถูกละเมิด แต่เราคนเดียวไม่สามารถเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขสภาพนั้นๆได้ การรวมตัวกันจะทำให้เราเรียกร้องไปยังฝั่งนายจ้างละรัฐบาลให้รับรู้ถึงความต้องการของเรา” อัศริน กล่าว
มุมมองพลเมืองศึกษาจากนานาชาติ: อาเซียนยังตั้งไข่ มหาวิทยาลัยควรเข้าหาชุมชน เป็นประชาธิปไตย ทุกวันนี้นั่งท่องจำหน้าที่พลเมืองล้าสมัย น่าเบื่อ
ในหัวข้อการอภิปราย “มุมมองจากนานาชาติ” มีศรีประภา เพชรมีศรี จากเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนว่าด้วยการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน (AUN-HRE Convener) เดวิด ซินเจอร์ อาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโมนาช ประเทศออสเตรเลีย และโจชัว ฟอร์สเทนเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านงานสาธารณประโยชน์ของสถาบันอุดมศึกษา จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ เป็นวิทยากร และวัชรฤทัย บุญธินันท์ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
จากขวาไปซ้าย โจชัว ฟอร์สเทนเซอร์ เดวิด ซินเจอร์ วัชรฤทัย บุญธินันท์ ศรีประภา เพชรมีศรี
โจชัว ยกแนวคิดของจอห์น ดิวอี้ นักการศึกษาชาวอเมริกันเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการศึกษากับประชาธิปไตยว่า ประชาธิปไตยเป็นมากกว่าการเมือง แต่มันอยู่ในอณูของวิถีชีวิต และกล่าวว่า ปฏิสัมพันธ์ในชุมชนนั้นมักเกิดจากการรวมตัวทางความคิดทั้งองคาพยพในสังคมว่าจะจัดระเบียบสังคมอย่างไร
ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์เสนอแนวทางสร้างพลเมืองที่ตื่นตัวในการมีส่วนร่วมสร้างเสริมประชาธิปไตย ดังนี้
- จัดการเรียนการสอนหรือกิจกรรมในเชิงการมีส่วนร่วมในสังคม (Service-based Learning) บนฐานที่พื้นที่ทางการศึกษาต้องมีเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในเชิงวิชาการ การจัดการศึกษาดังกล่าวควรร่วมมือกับโรงเรียนในชุมชนเพื่อหาวิธีที่จะลงไปตอบสนองความต้องการของชุมชนด้วย การจัดการเรียนการสอนหรือกิจกรรมดังกล่าวมุ่งพัฒนาพลเมืองที่มีความปรารถนาดี และไม่ได้เออออห่อหมกไปกับกฎอย่างเดียว
- มหาวิทยาลัยควรให้ทุนจัดตั้งสหภาพ/คณะกรรมการนักศึกษา (Student Union) ในหลายกลุ่มกิจกรรม โดยคณะกรรมการต้องมีความเป็นเอกเทศ เป็นประชาธิปไตย จัดเลือกตั้งอย่างเสรีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในแนวราบระหว่างนักศึกษาด้วยกัน
- มหาวิทยาลัยควรเป็นตัวแทนของนักศึกษา บุคลากร และชุมชนในการรณรงค์และโน้มน้าวรัฐบาลต่อประเด็นสำคัญที่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติ เช่น ภาวะโลกร้อน ยุทธศาสตร์ด้านงานอุตสาหกรรม การจัดการทรัพยากร บริการสาธารณสุข
- มหาวิทยาลัยไม่ควรยึดติดกับวัฒนธรรมการควบคุมจัดการ (Managerialism) แต่ควรให้สิทธิ์นักศึกษาให้แต่งตั้งผู้แทนนักศึกษาไปมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกสรรบุคลากรระดับผู้นำของมหาวิทยาลัยและคณะ โดยอาจจะไปได้ไกลถึงการอนุญาตให้มีตัวแทนนักศึกษาอย่างน้อยหนึ่งคนเข้าไปเป็นองค์ประชุมในที่ประชุมการแต่งตั้งหรือการเลื่อนตำแหน่ง
- ควรระบุให้มีพื้นที่พูดคุย แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยในหลักสูตรการศึกษา
- ควรใส่การศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ของปรัชญาความคิดมาอยู่ในหลักสูตร เพราะการศึกษาที่มาของความคิดในหลักปรัชญาและศาสนาต่างๆทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นเพลโต คัมภีร์อัลกุรอาน ฯลฯ มีความจำเป็นสำหรับการสร้างพลเมืองในฐานะเข็มทิศช่วยตัดสินใจวิถีพฤติกรรมและความโน้มเอียงทางการเมืองในโลกที่อะไรก็เปลี่ยนแปลงได้ตลอด
ศรีประภากล่าวว่า เสรีภาพสำคัญต่อความสำเร็จในเชิงวิชาการมาก ถ้าไม่มีเสรีภาพก็ไม่สามารถจัดรูปแบบการศึกษาได้ ในกฎบัตรด้านการศึกษาเพื่อการเป็นพลเมืองประชาธิปไตยและการศึกษาสิทธิมนุษยชนของสภายุโรป ขัดแย้งกับผู้เสวนาจาก มศว. ในรอบที่แล้วมากในกรณีการคงไว้ซึ่งอำนาจเดิม กฎบัตรดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อเสริมแรงให้กับสิทธิแห่งมนุษยชนและประชาธิปไตยในสังคม เพื่อให้พลเมืองเป็นตัวหลักในกระบวนการสร้างประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมแห่งกฎหมายในสังคม
ตัวแทนจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนกล่าวว่า การศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่เพียงการเรียนระหว่างนักเรียนกับครู แต่หมายรวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆในสังคม การจะทำให้เกิดพลเมืองประชาธิปไตยดังว่านั้น ต้องอาศัยหลักธรรมมาภิบาลว่าด้วยความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคม ทั้งยังต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนตื่นตัว เพื่อเรียนรู้ถึงประเด็นสิทธิจากแง่มุมอื่นของสังคม
การศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับคุณค่าหลักของสภายุโรป ได้แก่ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม รวมไปถึงการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้น การศึกษาค่อยๆถูกมองให้เป็นเครื่องมือในการลดการก่อความรุนแรง การเหยียดเชื้อชาติ แนวคิดสุดโต่ง การเกลียดกลัวคนต่างเชื้อชาติ การเลือกปฏิบัติและความไม่มีน้ำอดน้ำทน…
คัดลอกและแปลจากบทนำของกฎบัตรด้านการศึกษาเพื่อการเป็นพลเมืองประชาธิปไตยและการศึกษาสิทธิมนุษยชนของสภายุโรป (อ่านต้นฉบับ ที่นี่)
ศรีประภากล่าวว่า ในที่ประชุมของอาเซียนได้กล่าวถึงสิทธิมนุษยชนศึกษาและสันติศึกษา แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในทางปฏิบัติ เพราะในขณะนี้มหาวิทยาลัยสมาชิกของ AUN ยังไม่ให้ความสำคัญ ไม่อยู่ในนโยบายของมหาวิทยาลัย
เดวิด ซินเจอร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยควรเป็นสถาบันที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างสาธารณะ และการศึกษาวิชาพลเมืองคือการมองสังคมผ่านสายตาของคนที่ไม่มีแต้มต่อทางสังคม ไม่ใช่จากมุมมองคนที่ได้เปรียบอยู่แล้ว
เดวิดให้ภาพการศึกษาในออสเตรเลียว่า ออสเตรเลียเน้นให้การศึกษาสร้างพลเมืองที่มีส่วนร่วม โดยมุ่งให้เกิดพลเมืองที่ตื่นตัว ได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอทั้งในบริบทท้องถิ่น ภูมิภาคและโลก โดยพัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทวิถีชีวิตปัจจุบันและการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต ทุกวันนี้ การศึกษาหน้าที่พลเมืองแบบดั้งเดิม ที่มุ่งให้ผู้เรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างระบบการเมืองและประชาธิปไตยในหนังสือไม่ใช่คำตอบ เพราะเป็นการผลิตซ้ำชุดความคิดเชิงอำนาจนิยม ทำให้ผู้เรียนไม่รู้สึกว่าตัวเองเชื่อมโยงกับเนื้อหา ไม่มีความจำเป็น ทำให้ผู้เรียนเบื่อ
อาจารย์จากคณะศึกษาศาสตร์กล่าวว่า ลักษณะพลเมืองที่จำแนกได้เป็น 3 ประเภทได้แก่
- พลเมืองที่มีความรับผิดชอบ (Responsible Citizen) คือพลเมืองที่ใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความรับผิดชอบ
- พลเมืองที่มีส่วนร่วม (Participatory Citizen) คือพลเมืองที่มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในสังคม
- พลเมืองที่ใฝ่หาความยุติธรรม (Justice Oriented Citizen) คือพลเมืองที่มีความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างแห่งความอยุติธรรมและบทบาทของมันในสังคม เศรษฐกิจ การเมือง
เดวิดกล่าวว่า ในยุคสมัยนี้ พลเมืองสองประเภทแรกไม่เพียงพอในสังคม การศึกษาควรทำให้เกิดพลเมืองประเภทที่สามด้วย
ผู้แทนยูเนสโกชี้ ความเป็นพลเมืองโลกสำคัญในยุคโลกาภิวัฒน์ ผู้แทน สกอ. ระบุโครงสร้างหลักสูตรสอดคล้องแผนปรองดองชาติ
ในหัวข้อ “อุดมศึกษาและการเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นพลเมือง” มีจุน โมโรฮาชิ ผู้แทนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ชฎารัตน์ สิงหเดชากุล ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และวัชรฤทัย บุญธินันท์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนศึกษาเป็นวิทยากร และอรรถพล อนันตวรสกุล เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
จากขวาไปซ้าย อรรถพล อนันตวรสกุล จุน โมโรฮาชิ ชฎารัตน์ สิงหเดชากุล วัชรฤทัย บุญธินันท์
จุน กล่าวว่า โลกทุกวันนี้อยู่บนเงื่อนไขของการพึ่งพาและเชื่อมต่อซึ่งกันและกัน ทำให้แนวคิดการศึกษาเองก็เปลี่ยนตาม ทุกวันนี้มีการเน้นวิธีการสื่อสาร ทักษะที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งยังมีการกล่าวถึงสันติภาพ สิทธิ ความเท่าเทียม ความหลากหลายและความยั่งยืนบ่อยขึ้น
ผู้แทนจากยูเนสโก กล่าวว่า ทุกวันนี้โลกมีข้อท้าทายจากความสัมพันธ์ของมนุษย์ข้ามเขตแดนรัฐ และสังคมพหุวัฒนธรรมจากพื้นที่เสมือนจริงหรือโซเชียลเนตเวิร์ค จึงมีการพูดถึงการเป็นพลเมืองของโลก (Global Citizenship) ที่หมายถึงการเป็นคนที่เคารพมนุษย์ผู้อื่น คำนึงถึงสิทธิ ประชาธิปไตย ความเท่าเทียม สันติและความหลากหลาย รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก ที่สำคัญคือตระหนักถึงชนรุ่นหลังและคนที่อยู่ไกลออกไปทั่วโลก การพัฒนาอุดมศึกษาอย่างยั่งยืน ต้องประกอบด้วยการให้คนทุกคนเข้าถึงทรัพยากรความรู้ทางเทคนิคและวิชาชีพ ถ้าอยู่ในสังคมที่มีกำลังสนับสนุนทุนการศึกษาได้ก็ต้องมีทุนการศึกษาให้
ทั้งนี้ จุน ยังให้ภาพตัวอย่างการศึกษาในญี่ปุ่น ที่หลักสูตรในบางมหาวิทยาลัยที่อาจารย์เป็นตัวกลางให้นักเรียนถกเถียง เลือกประเด็นปัญหา ทำแค่เป็นตัวกลางในการพูดคุย ติดต่อกับภาครัฐ หาทุน เด็กเป็นคนวางแผน ลงพื้นที่ คิดแผนการพัฒนา แก้ไขปัญหา และในฝรั่งเศสมีโรงเรียนที่ตั้งในพื้นที่อุตสาหกรรม มีความตึงเครียดในสังคมมากเนื่องจากผู้อยู่อาศัยมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมสูง ครูใหญ่จึงให้นักเรียนคิดโจทย์ว่าจะแก้ไขปัญหาสังคมอย่างไร เด็กคิดว่าควรให้ผู้ปกครองมามีกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งเป็นตัวอย่างของการมีค่านิยมการยอมรับความหลากหลาย เคารพซึ่งกันและกันและรูปแบบการจัดการเรียนการสอน
ชฎารัตน์ สิงหเดชากุล ผู้แทนจากสำนักงานการอุดมศึกษา กล่าวว่า หลักสูตรหน้าที่พลเมืองมีความสำคัญ เพราะจะทำให้ตัวนักศึกษาเข้าใจว่าจะใช้สิทธิและตระหนักถึงความรับผิดชอบในสังคมได้อย่างไร จะนำไปสู่สภาวะสังคมเสรีผ่านตัวพลเมืองที่ผ่านการศึกษามาแล้ว โดยการศึกษาต้องทำให้นักศึกษาเข้าใจกระบวนการออกนโยบาย กฎหมายของภาครัฐ ทั้งนี้ การศึกษาควรประกอบไปด้วยการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการฝึกฝนด้านการสื่อสาร การเก็บข้อมูลรวมถึงการฝึกคิดในเชิงการเมือง
ผู้แทนจาก สกอ. กล่าวว่า วิชาหน้าที่พลเมืองนั้นมีความจำเป็น เพราะสังคมทุกวันนี้มีประชาธิปไตยแค่ในห้องเรียนและคูหาเลือกตั้ง การศึกษาในแผนพัฒนาปี 2553-2561 มุ่งเน้นให้การศึกษาหน้าที่พลเมืองในหลายด้าน ทั้งยังมีการจัดกิจกรรมนอกหลักสูตรให้สอดคล้องกับแผนพัฒนา โดยยุทธศาสตร์ปรองดองชาติ มีแผนระยะสั้นระยะยาว มีหนึ่งโครงการโดย สกอ. ให้สร้างพลเมืองดี คือต้องให้นักศึกษาปรองดองต่อความเห็นที่ต่างกัน มีการทำกิจกรรมขึ้นมา มีการอบรมเทคนิคการสอนให้ครู กระตุ้นนักศึกษาให้มีการคิด ตัดสินใจ นำโครงการไปใช้จริง
แสดงความคิดเห็น