แฟ้มภาพ
วิษณุ ชี้ 'หลักนิติธรรม' เป็นอาวุธสำคัญ สร้างความปรองดอง-ปราบโกง
Posted: 03 May 2017 07:19 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
วิษณุ เครืองาม ปาฐกถา 'หลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่' ระบุ อาวุธชนิดหนึ่งที่ใช้ปราบโกง สร้างความปรองดอง และจัดระเบียบประเทศ คือ 'หลักนิติธรรม'
3 พ.ค.2560 สื่อหลายสำนักรายงานว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “หลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่” เนื่องในวาระศาลรัฐธรรมนูญครบรอบ 19 ปี ตอนหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอายุ 19 ปี กำลังจะก้าวสู่ปีที่ 20 ถือว่ายังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องเรียนรู้อะไรอีกหลายเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องปกติของผู้มีปัญญา ที่ต้องเรียนรู้ และรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างอดทนอดกลั้น โดยที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญ ถูกกล่าวถึงว่า เป็นหน่วยงานที่สงบเงียบ ด้วยความอดทนอดกลั้น
วิษณุ กล่าวถึง หลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า หลักนิติธรรมได้ปรากฎมาก่อนหน้านี้ และรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่ใช้ในปัจจุบัน ไม่ได้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ หากจะมีก็คงเป็นเรื่องความเข้มข้น ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญบอกเสมอว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้ยาแรง เพื่อปราบโกง ดังนั้น อาวุธชนิดหนึ่งที่ใช้ปราบโกง คือ หลักนิติธรรม ซึ่งในรัฐธรรมนูญได้เพิ่มดีกรีความเข้มข้นขึ้น
“หลักนิติธรรมนี้เอง ถือเป็นอาวุธสำคัญ ที่เป็นรากแก้วของการสร้างความปรองดอง และจัดระเบียบประเทศ ที่จะทำให้บ้านเมืองเกิดความสามัคคีปรองดอง เดินต่อไปข้างหน้า และตอนนี้ประเทศกำลังเดินทางสู่ 3 หลัก คือ การปฏิรูป การเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ และ การสร้างความสามัคคีปรองดอง” วิษณุ กล่าว
วิษณุ กล่าวว่า คำว่า "หลักนิติธรรม" นั้น ปรากฎใน รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 อยู่ 2 แห่ง คือ ในมาตรา 3 วรรค 2 ที่บัญญัติไว้ว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ต้องปฏิบัติตามกฏหมายและหลักนิติธรรม และในมาตรา 26 บัญญัติไว้ว่า กฎหมายที่ตราขึ้นมาเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพ ต้องถูกต้องตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ส่วนในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุ ต้องตรากฎหมายตามหลักนิติธรรม ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจของผู้ปกครอง ตามหลักนิติบริหารยุติธรรม
วิษณุ กล่าวว่า ขณะที่ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มี 3 สถานการณ์ ที่สามารถใช้หลักนิติธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย คือ 1. สถานการณ์ ที่ในกฎหมายระบุถึงหลักนิติธรรม ตรงๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้กับทุกเรื่อง 2. สถานการณ์ที่รัฐธรรมนูญในหลายมาตราระบุถึงคำว่า ธรรมาภิบาล หรือหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และ 3 สถานการณ์ที่รัฐธรรมนูญระบุถึงคำว่า เที่ยงธรรม ยุติธรรม แต่ต้องอาศัยการตีความตามบริบทของกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ คำว่า "หลักนิติธรรม" นั้น วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยกล่าวถึงตั้งแต่ 16 พ.ย. 2552 ในฐานะองค์ปาฐก ในเรื่อง “นิติรัฐกับความยุติธรรมทางสังคม” ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า
จริงๆ แล้วในรัฐธรรมนูญของเรามีการพูดถึงการปกครองโดย “หลักนิติธรรม” คำนี้ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2550 มีคำถามเกิดขึ้นเสมอว่านิติธรรมคืออะไร และแตกต่างจากนิติรัฐอย่างไร นิติธรรมพัฒนามาในยุโรปเหมือนกัน แต่ในเกาะอังกฤษไม่ใช่ภาคพื้นทวีป ความสำคัญของนิติธรรมในอังกฤษอยู่ตรงที่การปฏิบัติตามกฎหมายของฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการที่ผูกพันตนเองอยู่กับการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้าถามต่อไปว่าแล้วองค์กรนิติบัญญัติผูกพันอยู่กับอะไร คำตอบก็คือไม่มี เนื่องจากอังกฤษประสบความสำเร็จเร็วกว่าที่อื่นในการจำกัดอำนาจพระมหา กษัตริย์ ศูนย์กลางแห่งอำนาจได้เคลื่อนย้ายจากพระมหากษัตริย์ไปสู่รัฐสภา โดยเหตุนี้เขาจึงถือหลักความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภา สภาอังกฤษจึงสามารถตรากฎหมายอย่างไรก็ได้ทั้งสิ้น ไม่เหมือนรัฐที่ยอมรับการเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ กระนั้น เราก็พบว่าในอังกฤษแทบจะไม่ปรากฏว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะตรากฎหมายล่วงละเมิด สิทธิเสรีภาพของราษฎร อาจเพราะคนอังกฤษมีจิตสำนึกในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอยู่มาก เป็นจิตวิญญาณประชาชาติของเขา ในทางระบบจึงไม่เกิดปัญหาอะไร
ในขณะที่ในภาคพื้นยุโรปเรียก ร้องต่อไปอีกว่า การตรากฎหมายของรัฐสภานั้นต้องผูกพันอยู่กับคุณค่าพื้นฐานในทางรัฐธรรมนูญ อีกด้วย หมายความว่า สภาจะตรากฎหมายต้องผูกพันสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ
นี่เป็นความแตกต่างที่สำคัญของ หลักนิติรัฐที่ปรากฏในภาคพื้นยุโรป และหลักนิติธรรมที่พัฒนามาในอังกฤษ ซึ่งเมื่อนำมาวิเคราะห์กับระบบในบ้านเราแล้ว อาจกล่าวได้ว่า คำว่านิติธรรมในรัฐธรรมนูญ ถ้ามุ่งหมายแบบที่ใช้อังกฤษอาจไม่สอดรับกับระบบเท่าใดนัก เนื่องจากอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร และไม่มีการประกันความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญแบบในบ้านเรานั่นเอง
เมื่อเราทราบแล้วว่า นิติรัฐ มีลักษณะเช่นนี้ ในทางรูปแบบก็เรียกร้องความชอบด้วยกฎหมาย ความผูกพันทางกฎหมายขององค์กรของรัฐ ในทางเนื้อหาก็เรียกร้องการประกันสิทธิเสรีภาพของราษฎร ประเด็นก็คือ นิติรัฐสัมพันธ์กับความยุติธรรมอย่างไร
แสดงความคิดเห็น