รอมา 3 ปีและต้องรอต่อ ศาลฎีกาให้รื้อคดีค้างจ่ายสวัสดิการ ‘คนงานสันกำแพง’ ใหม่

Posted: 23 May 2017 03:47 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซท์ประชาไท)

ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาแรงงานภาค 5 และพิจารณาพิพากษาใหม่ กรณีนายจ้าง ‘บริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด’ ไม่จ่ายเงิน ‘กองทุนชื่นชม’ อันเป็นสวัสดิการของพนักงานตั้งแต่ปี 2557 คนงานหวั่นตอนนี้บริษัทเปลี่ยนชื่อใหม่แล้วยังมีกรณีฟ้อร้อง-ค้างจ่ายอีกเพียบ


23 พ.ค. 2560 สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ ได้แจ้งข่าวว่าวันนี้ (23 พ.ค. 2560) ที่ศาลแรงงานภาค 5 จ.เชียงใหม่ ได้มีการนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกากรณีบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด จ.สันกำแพง ค้างจ่ายเงินกองทุนชื่นชมอันเป็นกองทุนสวัสดิการและจูงใจลูกจ้างทำงานให้กับนายจ้างตั้งแต่ปี 2557 ที่มีการเลิกจ้างพนักงาน และศาลแรงงานภาค 5 เคยพิพากษาให้บริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด จ่ายเงินค้างจ่ายนี้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่อดีตพนักงาน แต่ต่อมาบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ได้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา และศาลฎีกาได้มีคำพิพากศาลฎีกาที่ 10940-10963/2559 พิพากษายกคำพิพากษาแรงงานภาค 5 ให้ศาลแรงงานภาค 5 พิจารณาพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดี (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบคำพิพากษา)


คำพิพากศาลฎีกาที่ 10940-10963/2559

ระหว่างโจทย์ 24 คนกับ บริษัท จอร์จี้ แอนด์ลู จำกัด (จำเลย)

คดีทั้ง 24 สำนวนนี้ ศาลฎีกามีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 24


โจทย์ทั้ง 24 ฟ้องว่าทั้งหมดเป็นลูกจ้างของจำเลย มีตำแหน่งและได้รับค่าจ้างตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคนจำเลยจัดตั้งกองทุนชื่นชมเพื่อเป็นสวัสดิการและจูงใจลูกจ้างให้ทำงานแก่จำเลยโดยจะสะสมและจ่ายเงินกองทุนให้แก่ลูกจ้างเมื่อสิ้นสุดการเป็นลูกจ้าง ไม่ว่าจะลาออกหรือถูกเลิกจ้าง ต่อมาโจทก์ทั้ง 24 สิ้นสุดการเป็นลูกจ้างด้วยเหตุตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคนแต่จำเลยไม่จ่ายเงินกองทุนดังกล่าวให้โจทก์ทั้ง 24 ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินกองทุนชื่นชมพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน

จำเลยทั้ง 24 สำนวนให้การว่าเดือนกันยายน 2553 จำเลยจัดตั้งกองทุนชื่นชมขึ้นเพื่อสร้างความสุขและความปรองดองระหว่างลูกจ้างกับจำเลยโดยมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการจ่ายเงินกองทุนที่สำคัญว่าจำเลยจะจ่ายเงินกองทุนให้ ในกรณีที่ลูกจ้างลาออก เท่านั้น โดยต้องแจ้งการลาออกล่วงหน้าตามสัดส่วนจำนวนปีของการจ้างงาน และมีเอกสารอนุมัติการลาออกที่มีลายมือชื่อรับรองถูกต้องสมบูรณ์เพื่อแสดงว่าลูกจ้างไม่มีภาระผูกพันใดใดซึ่งจำเลยจะไม่จ่ายให้ในกรณีที่มีการจ่ายค่าชดเชยหรือได้รับใบเตือนมากกว่า 2 ครั้งในช่วง 6 เดือนย้อนหลัง โจทย์ทั้ง 24 สิ้นสุดการเป็นลูกจ้างโดยไม่เข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังที่จำเลยหยุดจ่ายกองทุนชื่นชมจึงไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานภาค 5 พิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้ง 24 ตามคำพิพากษาแรงงานภาค 5

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา


ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วศาลแรงงานภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยจัดตั้งกองทุนชื่นชมเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ลูกจ้างโดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินกองทุนดังกล่าวเมื่อพ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ปลายเดือนมิถุนายน 2556 จำเลยจ่ายเงินเข้ากองทุนเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นไม่มีการจ่ายเงินเข้ากองทุนอีกอันเป็นการยกเลิกกองทุนดังกล่าว หลักเกณฑ์เงื่อนไขการปฏิเสธไม่จ่ายเงินกองทุนต้องยกเลิกไปด้วย โจทย์ทั้ง 24 จะมีสิทธิได้รับเงินกองทุนชื่นชมหรือไม่ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์เงื่อนไข ณ วันที่มีการยกเลิกกองทุนเมื่อโจทก์ทั้ง 24 ถูกตักเตือน หรือลาออก หรือถูกจำเลยเลิกจ้าง ภายหลังจากที่มีการยกเลิกกองทุนชื่นชมแล้ว จำเลยไม่อาจนำหลักเกณฑ์เงื่อนไขการปฏิเสธไม่จ่ายเงินกองทุนฯ มาปฏิเสธความรับผิดชอบได้จึงต้องจ่ายเงินกองทุนชื่นชมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้ง 24

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าคำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 5 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โดยจำเลยอุทธรณ์ว่าแม้จำเลยปฏิเสธไม่จ่ายเงินกองทุนชื่นชมให้แก่โจทก์ทั้ง 24 เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็ตามเมื่อศาลแรงงานภาค 5 วินิจฉัยว่าจำเลยยกเลิกกองทุนชื่นชมแล้วหลักเกณฑ์เงื่อนไขการปฏิเสธไม่จ่ายเงินกองทุนชื่นชมยกเลิกไปเท่ากับนิติกรรมดังกล่าวระงับสิ้นไปย่อมถือได้ว่าโจทก์ทั้ง 24 กับจำเลยตกลงเลิกสัญญาต่อกัน แต่กลับให้จำเลยจ่ายเงินกองทุนชื่นชมให้แก่โจทก์ทั้ง 24 อีกจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 386 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เห็นว่า จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนชื่นชม นับแต่เดือนตุลาคม 2553 ซึ่งตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของกองทุนชื่นชมนั้นในส่วนเงินกองทุนที่จำเลยจ่ายให้ลูกจ้างแต่ละคนกำหนดไว้ว่า (1) คำนวณจาก 10% ขอเงินเดือนขั้นต้นต่อเดือน (2) มีผลต่อพนักงานทุกคน (3) เงินกองทุนไม่สามารถสะสมได้ ในเดือนที่พนักงานลากิจ ลาป่วย หรือไม่รับค่าจ้าง (4) ยอดเงินที่ได้รับการปรับปรุงแล้วจะถูกแสดงอยู่ในสลิปเงินเดือนในแต่ละเดือน ซึ่งตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเห็นว่าในสลิปเงินเดือนของลูกจ้างจำเลยแต่ละคนจะปรากฏจำนวนเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับหากลูกจ้างลาออกและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ดังนั้น แม้จะปรากฏว่าจำเลยไม่ส่งเงินเข้ากองทุนตั้งแต่สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 ก็ตาม ก็หาใช่จำเลยตกลงเลิกสัญญากับลูกจ้างดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่เพราะในสลิปเงินเดือนของลูกจ้างแต่ละคนอย่างปรากฏจำนวนเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิจะได้รับอยู่เพียงแต่จำนวนเงินนี้คงที่ไม่เพิ่มขึ้นเนื่องจากจำเลยไม่ได้ส่งเงินเข้ากองทุนต่อไปนั่นเอง ส่วนการจ่ายเงินจากกองทุนชื่นชมเมื่อไม่ได้มีบทบัญญัติของกฎหมายบังคับไว้ สิทธิการรับเงินจากกองทุนดังกล่าวจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของกองทุนเป็นสำคัญ โดยตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของกองทุนฯ ข้อ 3 กำหนดว่า เงินกองทุนจะจ่ายในกรณีพนักงานลาออกเท่านั้น ดังนั้นสิทธิของโจทก์ทั้ง 24 จะเกิดขึ้นเมื่อโจทก์ทั้ง 24 ลาออก และเข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขตามที่กำหนด และแม้ปรากฏว่าจำเลยไม่ส่งเงินเข้ากองทุนชื่นชมตั้งแต่สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 ก็ตาม แต่สิทธิของโจทก์ทั้ง 24 ที่จะได้รับเงินกองทุนหรือไม่ ยังต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขการจ่ายและปฏิเสธการจ่ายเงินจากกองทุนดังกล่าว หาใช่ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์เงื่อนไขการปฏิเสธไม่จ่ายเงินจากกองทุนฯ ณ วันที่จำเลย ไม่ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ดังที่ศาลแรงงานภาค 5 วินิจฉัยไม่ ทั้งโจทก์ทั้ง 24 ฟ้องว่าจำเลยต้องจ่ายเงินสะสมจากกองทุนชื่นชมให้แก่โจทก์ทั้ง 24 เมื่อสิ้นสุดการเป็นลูกจ้างไม่ว่าจะลาออกหรือถูกเลิกจ้าง โดยจำเลยให้การต่อสู้ว่าจะจ่ายเงินกองทุนดังกล่าว เฉพาะกรณีที่ลูกจ้างลาออกโดยแจ้งล่วงหน้าตามสัดส่วนจำนวนปีของการจ้างงานและมีเอกสารอนุมัติการลาออกที่มีลายมือชื่อรับรองถูกต้องสมบูรณ์ โดยจำเลยจะไม่จ่ายเงินกองทุนดังกล่าว ในกรณีมีการจ่ายค่าชดเชย หรือได้รับใบเตือนมากกว่า 2 ครั้งในช่วง 6 เดือนย้อนหลัง ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่าจำเลยต้องจ่ายเงินสะสมกองทุนชื่นชมให้แก่โจทก์ทั้ง 24 หรือไม่ เพียงใดขึ้นศาลแรงงานภาค 5 ต้องรับฟังข้อเท็จจริง ถึงหลักเกณฑ์การจ่าย และปฏิเสธการจ่ายเงินสะสมจากกองทุนชื่นชมว่ามีหลักเกณฑ์เช่นใด และโจทก์ทั้ง 24 เข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่จะได้รับเงินสะสมจากกองทุนชื่นชมตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขดังกล่าวหรือไม่ เมื่อศาลแรงงานภาค 5 ยังไม่ได้รับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 5 รับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ครบถ้วนแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

พิพากษายกคำพิพากษาแรงงานภาค 5 ให้ศาลแรงงานภาค 5 พิจารณาพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดี

อนึ่งปัจจุบันบริษัท จอร์จี้ แอนด์ลู จำกัด ซึ่งมีนายเซบาสเตียน ซาโรอิ เป็นเจ้าของได้ยุติการดำเนินกิจการ และจดทะเบียนบริษัทใหม่ในนาม “บริษัท สนุก การ์เม้นท์ จำกัด” ในวันที่ 3 มิถุนายน 2558 ซึ่งโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ที่ อ.แม่สอด จ.ตากและผลิตสินค้าให้กับ Pure & Co Ltd. (เจ้าของแบรนด์ Neon Buddha และ Pure Handknit มีสำนักงานและร้านจำหน่ายในประเทศแคนาดา) และหลังจากนั้นไม่กี่วันผู้จัดการทั่วไปของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ได้จดทะเบียนเปิดบริษัทใหม่โดยมีชื่อว่า “บริษัท น่ารัก โฮลดิ้ง จำกัด” ในวันที่ 5 มิถุนายน 2558 โดยบริษัทดังกล่าวใช้บ้านเลขที่เดียวกับบริษัทจอร์จี้แอนด์ลู จำกัด ที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

นอกจากนี้สหภาพแรงงานฯ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่ามีพฤติกรรมน่าสงสัยในการยักย้ายทรัพย์สินของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลูให้กับบริษัทน่ารัก โฮลดิ้ง จำกัด เนื่องจากสหภาพแรงงานฯ ตรวจพบว่าบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ได้ขายที่ดินที่เป็นที่ตั้งโรงงานให้กับบริษัทน่ารัก โฮลดิ้ง เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 โดยทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเป็นบุคคลคนเดียวกันซึ่งเป็นทั้งตัวแทนบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทน่ารัก โฮลดิ้ง จำกัด ในการขายที่ดินของจอร์จี้ แอนด์ ลู ไม่มีความโปรงใสแสดงเจตนาให้เห็นว่าพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่จ่ายหนี้สินให้กับอดีตแรงงานของบริษัทฯ ที่มีคดีความค้างอยู่หลายคดี โดยสหภาพแรงงานฯ ระบุว่ารายการสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายที่นายเซบาสเตียน ซาโรอิ และ Pure & Co Ltd. ต้องจ่ายให้อดีตพนักงานมีดังนี้

1. ค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง 51 คน จำนวน 3,924,114.75 บาท
2. เงินจากกองทุนชื่นชมให้แก่ลูกจ้าง 59 คน จำนวน 930,955.77 บาท
3. ค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน ถึง 7 กันยายน 2558 จำนวนให้แก่ลูกจ้าง 37 คน 1,008,973 บาท
4. ค่าจ้างค้างจ่ายของพนักงานรายเดือนที่ยังจ่ายไม่ครบตามกฎหมายกำหนด จำนวน ให้แก่ลูกจ้าง 43 คน 333,850 บาท
5. โบนัสปี 2556 จำนวนให้แก่ลูกจ้าง 46 คน 425,896.88 บาท และในปี 2557 ให้แก่ลูกจ้าง 41 คนจำนวน 334,280 บาท
6. ค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมทั้งกลุ่มแกนนำ 10 คน จำนวน 460,260 บาท และกรรมการสหภาพแรงงาน 4 คน จำนวน 848,000 บาท
7. ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้กับกลุ่มคนลูกจ้าง 37 คนที่ถูกลอยแพ จำนวน 2,644,700 บาท
8. วันลาพักผ่อนประจำปีที่เหลือให้แก่ลูกจ้าง 27 คน 43,456 บาท



เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

อ่านประเด็นระหว่างพนักงานและ บริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.