วันกรรมกรสากล คนงานรังสิต แนะ 'เศรษฐกิจแย่ ต้องแก้ด้วยเลือกตั้งภายในปี 60'


Posted: 01 May 2017 09:40 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)  

กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ ร้องค่าจ้างที่เป็นธรรม เพียงพอเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวได้รวม 3 คน ยุติขึ้นค่าไฟฟ้า ส่งเสริมประชาธิปไตย เลือกตั้งภายในปี 60 ขณะที่ แรงงานเหนือ เสนอจัดสวัสดิการ-ค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บ./วัน



ภาพกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง จัดกิจกรรมวันกรรมกรสากล

1 พ.ค. 2560 วันกรรมกรสากล (May Day) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่าเมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) เดินทางเข้ายื่นข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานสากลต่อผู้ว่าราชการจังหวัดฯ โดยมี มนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ รองผู้ว่าฯ รับข้อเรียกร้องแทน


สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ ระบุว่า ทางกลุ่มเคยมีข้อเรียกร้องแล้วเมื่อปีก่อน เช่น การสร้างรัฐสวัสดิการ ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองเพื่อสร้างหลักประกันและเป็นกลไก ให้ลูกจ้างและสหภาพแรงงานได้เข้าถึงสิทธิ ยกเลิกการจ้างงานแบบเหมาค่าแรง เรียกร้องให้มีค่าจ้างที่เป็นธรรม เป็นต้น

เอกสารข้อเรียกร้องระบุต่อว่า ในปีนี้ทางกลุ่มเลือกติดตามปัญหาขอคนงานในพื้นที่กับผู้ว่าฯ ทั้งจากเรื่องที่เคยยื่นไว้เมื่อวันกรรมกรสากลปีที่แล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบจากผู้ว่าฯ ดังนั้นวันนี้ทางกลุ่มจึงขอแจ้งปัญหาให้ผู้ว่าฯ รับทราบ เพื่อติดตามการแก้ปัญหา ประกอบด้วย รัฐสวัสดิการ ให้รัฐบาลจัดสวัสดิการให้กับประชาชนในรูปแบบรัฐสวัสดิการ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ สาธารณสุขมีคุณภาพ ไม่มีค่าใช้จ่ายและเข้าถึงได้โดยไม่เลือกปฏิบัติ ค่าจ้างที่เป็นธรรม เพียงพอต่อค่าครองชีพและเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวได้รวม 3 คน
รัฐลงนามรับรอง อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ดังกล่าว ขอให้เข้มงวดตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยในการทำงานอย่างจริงจัง ปฏิรูปการศึกษา รัฐสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาภาคบังคับถึงระดับปริญญาตรี ส่งเสริมประชาธิปไตย ตั้งแต่ระดับพื้นฐานถึงระดับประเทศ พร้อมให้มีการเลือกตั้งภายในปี 60 ยุติการขึ้นค่าไฟฟ้า และตรวจสอบการจ่ายน้ำประปารังสิต ประกาคลองหลวง เนื่องจากแรงดันน้ำมีปัญหา

ภาพกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง จัดกิจกรรมวันกรรมกรสากล และแถลงการณ์ของกลุ่มดังกล่าว

แรงงานเหนือ เสนอจัดสวัสดิการ-ค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บ./วัน
วันเดียวกัน ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ประชาธรรม รายงานด้วยว่า เครือข่ายแรงงานภาคเหนือกว่า 160 คน เคลื่อนขบวนไปที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมออกแถลงการณ์ยื่นข้อเรียกร้อง ซึ่งข้อเรียกร้องทั้งหมดนั้นได้มาจากการระดมความเห็นของแรงในงานภาคเหนือทั้ง แรงงานข้ามชาติ แรงงานนอกระบบ แรงงานในโรงงาน และแรงงานภาคบริการ

สำหรับข้อเรียกร้องของเครือข่าวนี้ต่อหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย


1.เพื่อเป็นการลดอคติและสร้างทัศนคติที่ดีต่อแรงงานข้ามชาติในสังคมไทย ขอให้รัฐบาลแก้ไขคำว่า “แรงงานต่างด้าว” ในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เป็น “แรงงานข้ามชาติ”

2.ขอให้รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นค่าจ้างเพื่อชีวิต (living wage) ในอัตรา 450 บาทต่อวัน เพื่อให้เกิดค่าจ้างที่เป็นธรรม คุ้มครองคนทำงาน และสมาชิกครอบครัว

3.ขอให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ภายในปี 2560

4.ขอให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน ภายในปี 2560 เพื่อส่งเสริมสิทธิของคนงานทำงานบ้าน

5.ขอให้รัฐบาลกำหนดให้แรงงานทุกคนทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ

6.ขอให้รัฐบาลกำหนดให้พนักงานบริการ ผู้ทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีการจ้างงานกันตลอดทั้งปี เป็นอาชีพที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทุกฉบับ

7.ขอให้รัฐบาลมีมติครม. ขยายพื้นที่การทำงานของแรงงานข้ามชาติได้ทั่วจังหวัด โดยไม่ต้องขอเพิ่มสถานที่ทำงาน

8.ขอให้รัฐบาลไทยแก้ไขพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ให้แรงงานข้ามชาติทำงานได้ทุกอาชีพตามความสามารถของตน ขยายอายุของแรงงานข้ามชาติให้สามารถทำงานได้ถึงอายุ 60 ปี

ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงมหาดไทย


1.ขอให้กระทรวงมหาดไทยแก้ไขกฎระเบียบในการเดินทางของแรงงานข้ามชาติ รวมถึงกลุ่มผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน กลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูง ให้มีเสรีภาพในการเดินทาง

ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน

1.ให้กระทรวงแรงงานกำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพของคนทำงาน ในประเด็นสิทธิการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรอง โดยไม่เลือกปฏิบัติ

2.แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงสิทธิการพัฒนาฝีมือแรงงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีสิทธิได้รับประกาศนียบัตร และนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้อย่างแท้จริง

ข้อเรียงร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

1.เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ให้จังหวัดเชียงใหม่ จัดระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมและราคาถูกสำหรับคนทำงานทุกคน

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

1.ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาดูแลให้แรงงานที่กลับไปยังประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาได้เข้าถึงสิทธิในด้านต่างๆ เช่นทางทะเบียนราษฎร์ ทางการศึกษา สุขภาพและอาชีวอนามัย และสิทธิพลเมือง

2.ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเปิดให้จดทะเบียนสมรสและทำบัตรประชาชนได้ในสถานฑูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย

3.ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาดำเนินการให้มีระบบประกันสังคมโดยเร่งด่วน

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลประเทศไทย และรัฐบาลสาธารณะรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

1.ขอให้รัฐบาลประเทศไทยและรัฐบาลสาธารณะรัฐแห่งสหภาพเมียนมาปฏิบัติตามอนุสัญญา ILO 181 ว่าด้วยบริษัทจัดหางานเอกชน ตามมาตรา 7 บริษัทนายหน้าต้องไม่คิดค่าบริการใดๆ จากคนงานไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

ประชาธรรม รายงานด้วยว่า ประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นตัวแทนสำนักงานจังหวัดฯ ออกมารับข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ พร้อมกับกล่าวว่า ที่ผ่านมาทางจังหวัดฯ พยายามดูแลกลุ่มแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติอย่างเต็มที่ โดยเปิดให้มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ถ้ามีปัญหากับนายจ้างสามารถมาร้องเรียนได้ทุกเมื่อ ส่วนข้อเรียกร้องในปีนี้ทางจังหวัดจะรับไปพิจารณาว่าเรื่องใดที่ทางจังหวัดเชียงใหม่สามารถแก้ไขได้ จะดำเนินการพิจารณา ส่วนเรื่องที่อยู่นอกเหนืออำนาจจะส่งต่อไปให้รัฐบาลส่วนกลาง

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.