Posted: 22 May 2017 11:22 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซท์ประชาไท)
บทสัมภาษณ์ 9 นักวิชาการในชุด ‘แผ่นดินจึงดาล’ นี้ ประชาไทตัดทอนมาจากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มในหนังสือ ‘แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ’ เพื่อมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามันจะนำพาเราไปสู่อะไร
กล่าวได้ว่าบทสนทนาต่อไปนี้คือการสรุปความอย่างย่นย่องานมาสเตอร์พีซเรื่อง The Rise and Decline of Thai Absolutism และงานศึกษาวิจัยที่ทำต่อเนื่องมาของ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด นักวิชาการอิสระ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย
กุลลดากำลังให้ภูมิหลังการเมืองไทยนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน ผ่านมิติทุนนิยมที่เดินทางเข้าสู่ภูมิภาคนี้ ทำให้ชนชั้นนำไทยมองเห็นโอกาสแสวงหาประโยชน์จากมัน เป็นมุมมองที่แตกต่างจากการวิเคราะห์ที่มักพบเห็น ซึ่งช่วยให้เห็นการก่อตัวของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อทุนนิยมโลกเปลี่ยนขั้วจากอังกฤษสู่อเมริกา มันก็ยังคงส่งผลต่อการเมืองไทยอย่างมีนัยสำคัญเฉกเช่นอดีต
ครั้นเมื่อกลุ่มทุนสองฝ่ายไม่อาจประสานผลประโยชน์ให้ลงรอยกันได้ มันจึงลากพาสังคมไทยเข้าสู่วังวนความขัดแย้งทางการเมือง
แม้บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะอิงอยู่กับการวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ในตอนท้าย กุลลดาแสดงทัศนะต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าเป็นความพยายามรักษาอำนาจของระบบฟิวดัล (Feudalism) และหากความไม่พอใจสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ นี่อาจเป็นเชื้อมูลที่ไปสู่ความเปลี่ยนแปลง
เมื่อทุนนิยมเข้ามา
เรากำลังพูดถึงการเปลี่ยนแปลงและคำถามสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงเกิดจากอะไร เอกสารที่ระบุหลักการและเหตุผลในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ระบุทำนองว่า ‘กรุงเทพฯ สมัยนี้การค้าขายเจริญ มีเรือมาจอดมากมาย มีความจำเป็นที่จะต้องมีตะแล็บแก็บ (Telegraph หรือ โทรเลข) มีท่าเรือ และต้องมีการทำสำมะโนประชากร’ นี่คือการตอบรับกระบวนการที่เรียกว่า Internationalization of States ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นการตอบรับข้อเรียกร้องของอังกฤษที่ว่าเราจะต้องเปิดการค้าให้เขาเข้ามาเอาสินค้าเราออกไป แล้วนำสินค้าเขาเข้ามาขายเรา จริงๆ มีคนพูดเรื่องสนธิสัญญาเบาว์ริงไว้มากมาย ประเด็นที่สำคัญที่สุดของสนธิสัญญาคือ ตอนนั้นเขาอยากมาซื้อข้าวจากเราและอยากขายฝิ่นให้เรา แต่เรายังมีเงื่อนไขเรื่องโครงสร้างภาษีที่ขัดขวางต่อการค้า สนธิสัญญาเบาว์ริง คือ การวางมาตรฐาน เรื่องภาษีอากร ไม่ใช่เรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตอย่างที่พูดกัน เรื่องนั้นไม่สำคัญเลย
จากการศึกษาเปรียบเทียบทั้งภูมิภาค เมื่อดีมานด์ของระบบทุนนิยมเข้ามานั้น ไม่ใช่เพียงอังกฤษ ในกรณีของอินโดจีนคือฝรั่งเศส เมื่อเข้ามาแล้วมีการปรับตัวหรือทำการผลิตเพื่อตอบสนองกับดีมานด์ที่เข้ามาแตกต่างกันและมีผลต่อพัฒนาการรัฐของแต่ละประเทศในภูมิภาคที่ต่างกัน ดังนั้น หากเราต้องการดูการทำงานของทุนนิยมคงจะดูเพียงเฉพาะส่วนที่เข้ามาในประเทศไทยไม่ได้
ระบบทุนนิยมโลกนั้นมีการแบ่งแต่ละยุค คือศูนย์กลางมันเลื่อน เริ่มต้นที่เวนิส ต่อมาอยู่ที่เจนัว และมาอยู่ที่แอนต์เวิร์ป แล้วก็มาลอนดอน และดิฉันเติมต่อไปให้ว่าคือนิวยอร์ก นั่นทำให้เข้าใจว่ามันมีโครงสร้างภายนอกที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับรัฐไทย และในกระบวนการปฏิสัมพันธ์นั้นมันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงข้างในด้วย ย้อนกลับไปที่เอกสารเหตุผลและหลักการในการปรับโครงสร้างรัฐของรัชกาลที่ 5 มันแสดงให้เห็นว่า พระองค์ท่านเห็นเป็นโอกาสที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์มีความเข้มแข็งขึ้น แต่ประเด็นก็คือท่านก็จะต้องโน้มน้าวคนที่มีอำนาจด้วย เพราะตอนนั้นท่านไม่มีอำนาจ เมื่อรัฐไทยเข้าไปสู่สนธิสัญญาเบาว์ริง รายได้สำคัญที่เกิดขึ้นคือภาษีอากร มีการตกลงแบ่งเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากภาษีเข้าพระคลังข้างที่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4
ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่าตอนที่สถาบันกษัตริย์เข้าไปเชื่อมกับระบบทุนนิยมนั้น สถาบันกษัตริย์ไม่มีอำนาจ แต่การเข้าไปเชื่อมกับระบบทุนนิยมทำให้รัชกาลที่ 5 มองเห็นโอกาส เห็นถึงการขยายตัวของฐานทรัพยากรของรัฐ หากเข้าไปคุมได้ ท่านจะสามารถรวบรวมอำนาจให้สถาบันกษัตริย์ได้ มันจึงเป็นการต่อสู้กันทางการเมืองที่สำคัญมากที่จะต้องแย่งชิงอำนาจในการคุมทรัพยากรจากขุนนางมาอยู่ที่สถาบันกษัตริย์
รัฐธรรมนูญ 40 ในบริบททุนนิยมโลก
การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ 2540 ยังคงสอดคล้องกับวาระของ Neoliberalism คือ ให้มีผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งผู้นำจากการเลือกตั้งในทัศนะของความคิดนี้คือตัวแทนของทุนภายในด้วย จะได้มีฐานสนับสนุนที่มั่นคง ทำให้เขาสามารถดำเนินนโยบายที่จะตอบรับกับทุนนิยมข้างนอกได้ดี แต่หลังได้รับการเลือกตั้งแล้วก็ไม่จำเป็นต้องตอบสนองความต้องการภายใน เพียงแต่ตอบสนองความต้องการของทุนนิยมโลก นี่คือแนวคิดของอเมริกา
เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาจากผลของรัฐธรรมนูญ 2540 เขาก็ดำเนินนโยบายประชานิยมทันที จะเห็นว่า วอลล์สตรีท เจอร์นัล นิวยอร์กไทมส์ โจมตีทักษิณตั้งแต่วันแรก เพราะดูแล้วไม่ใช่คนที่ดำเนินการตามวาระของอเมริกา แต่เมื่อเวลาผ่านไปทักษิณก็ลุกขึ้นตอบสนองผลประโยชน์ทุนนิยมข้างนอก เขาเป็นคนที่เกือบจะทำให้เกิดการแปรการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และทำการแปรรูป ปตท. นี่คือวาระของ Neoliberalism
สิ่งที่ทักษิณทำให้เกิดขึ้นคือการส่งเสริมผลประโยชน์ระดับสูงของทุนจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ในกระบวนการช่วงแรกก็เกิดกลุ่มทุนกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมา และที่สำคัญคือเป็นนโยบายที่ให้ประโยชน์กับคนระดับล่าง ซึ่งไม่สอดคล้องกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ จึงมีเพียงชนชั้นกลางกับทุนส่วนหนึ่งที่มองทักษิณเป็นศัตรู ถามว่าตอนที่ทักษิณขัดแย้งกับทุนส่วนหนึ่งนั้น อเมริกาซึ่งเข้ามามีบทบาทสูงกับรัฐไทยในอดีตเข้าข้างใคร ตรงนี้ต้องยอมรับว่าเห็นภาพไม่ชัด แต่สิ่งที่เห็นอย่างหนึ่งคือ ทักษิณทำคล้ายกับสิ่งที่รัชกาลที่ 5 ทำ นั่นคือทำให้ชนชั้นล่างสามารถเป็นผู้ผลิตที่จะมาเป็นฐานภาษีของรัฐได้ เรียกว่าสร้างผู้ผลิตขึ้นมาและเชื่อมทรัพยากรของชาวบ้านกับตลาดโลก
รัฐธรรมนูญ 2560 ไปทางไหนไม่รู้ แต่ ‘ฉัน’ ขอคุม
ถามว่ามาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560) ตอบรับกับทุนนิยมโลกหรือไม่ เพียงใด หากดูเนื้อหาแล้วในทางเศรษฐกิจไม่ได้มีปัญหาอะไรกับทุนนิยมโลก เพียงแต่บอกว่า ‘ฉัน’ เป็นคนกำหนดการอยู่กับทุนนิยมโลก ถามว่ารู้ไหมว่า ‘ฉัน’ จะพาไปทางไหนคำตอบคือไม่รู้ แต่ ‘ฉัน’ ต้องเป็นคนกำหนด
ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ ดิฉันเน้นการศึกษาการเมืองไทยในคริสต์ทศวรรษ 1970 ไม่เคยเห็นบทบาทของคนข้างล่าง เคยเขียนบทความไว้ครั้งหนึ่งว่า ความเป็นประชาธิปไตยของเรายังอยู่ในกระบวนการและยังเป็นจุดเริ่มต้นอยู่ เพราะไม่ได้ดึงชนชั้นล่างให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองได้จริง ในแง่นี้อาจต้องขอบคุณทักษิณและนโยบายประชานิยม แน่นอนมันก็เกิดแรงปะทะ แต่พลังที่จะมาต่อต้านอำนาจเชิงโครงสร้างคือชนชั้นกลางที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและคนชั้นล่าง
ในส่วนของการเมือง คงตอบได้เพียงสั้นๆ ว่าเป็นความพยายามของระบบฟิวดัลที่จะรักษาอำนาจไว้ แต่จากประเด็นที่สรุปไว้ข้างต้นคือการเมืองมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจ การที่คนรากหญ้าจำนวนมากประสบความลำบากจนไม่สามารถทำมาหากินภายใต้รัฐบาลทหาร อาจจะเป็นเชื้ออย่างหนึ่งที่ไปร่วมกับพลังอื่นๆ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญได้
แสดงความคิดเห็น