ระเบิดบิ๊กซีปัตตานี แอมเนสตี้ฯ ร้องรัฐเร่งสอบสวนตามมาตรฐานสากล ประยุทธ์สั่งเร่งล่าตัวคนร้าย

Posted: 09 May 2017 01:11 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 

แอมเนสตี้ชี้ระเบิดปัตตานีเป็นเหตุสะเทือนขวัญ วอนรัฐเร่งสอบสวนตามมาตรฐานสากล ประยุทธ์ ห่วงใยผู้บาดเจ็บ สั่งเร่งล่าตัวคนร้าย บีบีซีไทยเผยนักวิเคราะห์ชี้บีอาร์เอ็นส่งสัญญาณให้รัฐฟังข้อเรียกร้อง

9 พ.ค. 2560 จากเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิดในห้างบิ๊กซี อ.เมือง จ.ปัตตานี วันนี้ (9 พ.ค.60) ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 50 คน โดยมีผู้บาดเจ็บสาหัส 4 คน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุด พาเทล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า การโจมตีที่ศูนย์การค้าในปัตตานีนับเป็นการกระทำที่จงใจสร้างความสะเทือนขวัญต่อพลเรือน และยังแสดงให้เห็นว่าผู้ก่อเหตุไม่คำนึงถึงชีวิตของผู้คนแต่อย่างใด

"ทางการไทยต้องสั่งการให้มีการสอบสวนอย่างอิสระและมีประสิทธิภาพทันที โดยรัฐมีหน้าที่ในการนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ให้มีการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และไม่บังคับใช้การลงโทษด้วยการประหารชีวิต ทุกขั้นตอนที่ทางการไทยดำเนินการเพื่อยุติและป้องกันการโจมตีกรณีดังกล่าวต้องเคารพพันธกรณีที่ไทยมีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” แชมพา พาเทล กล่าวเสริม

โดย องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ระบุว่ามีเด็กรวมอยู่ด้วยและได้ออกแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์ดังกล่าว เช่นเดียวกับองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ อีกหลายแห่ง
ประยุทธ์ ห่วงใยผู้บาดเจ็บ สั่งเร่งล่าตัวคนร้าย

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความห่วงใยผู้บาดเจ็บซึ่งมีมากกว่า 40 ราย รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทั้งครอบครัว ผู้ประกอบการ ห้างร้านบริเวณใกล้เคียง และเจ้าของทรัพย์สินที่เสียหาย โดยได้สั่งการผ่านรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและผู้บัญชาการทหารบกให้เร่งติดตามตัวคนร้ายมาลงโทษโดยเร็ว พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอย่างเต็มที่

ส่วนปฏิบัติการนับจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ฝากให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกนาย เพราะแม้จะมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดแล้ว แต่คนร้ายมักอาศัยโอกาสที่เจ้าหน้าที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่อื่นลงมือก่อเหตุความไม่สงบขึ้น จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนร่วมกันเฝ้าระวัง และช่วยให้ข้อมูลข่าวสารแก่เจ้าหน้าที่ทั้งเบาะแสของเหตุการณ์ในครั้งนี้ หรือเบาะแสในกรณีเหตุการณ์ อื่นๆ เพื่อประโยชน์ในการหยุดยั้งพฤติกรรมรุนแรงของคนร้าย ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่อาจมีความจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลรักษาความปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก พี่น้องประชาชนจึงอาจจะไม่ได้รับความสะดวกบ้าง

ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันที่จะเดินหน้าพูดคุยสันติสุขอย่างต่อเนื่อง เพราะมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะกระทำทุกวิถีทางเพื่อคืนความสงบสุขสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และขอประณามการกระทำของคนร้ายที่รุนแรงและโหดเหี้ยมในครั้งนี้
ผบ.ตร.สั่งล่าคนร้าย

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผบช.ศชต. เร่งดำเนินการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุอย่างละเอียด พร้อมทั้งเก็บรวบรวมพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุทั้งหมด เพื่อที่จะขยายผลและจับกุมคนร้ายที่ลงมือก่อเหตุในครั้งนี้
นักวิเคราะห์ชี้บีอาร์เอ็นส่งสัญญาณให้รัฐฟังข้อเรียกร้อง

บีบีซีไทย รายงานด้วยว่า รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิชาการอิสระด้านการจัดการความขัดแย้ง กล่าวกับบีบีซีไทย โดยมองแนวโน้มเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในวันนี้ว่าเป็นปฏิบัติการ ของกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะเป็นการส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งให้รับฟังข้อเรียกร้องเรื่องการขอให้มีผู้สังเกตการณ์/สักขีพยานในการพูดคุยสันติภาพ

รุ่งรวี ระบุว่าบีอาร์เอ็นจะยังคงใช้ปฏิบัติการทางการทหารเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองต่อไปและพลเรือนก็มักจะตกเป็นเหยื่อของการปะทะต่อรองกันของทั้งสองฝ่าย ไม่มีใครทราบว่าเราจะไปถึงจุดที่เรียกว่า "ภาวะชะงักงันอันเจ็บปวด" (hurting stalemate) เมื่อใด ซึ่งในทางทฤษฎีบอกว่าคู่ขัดแย้งจะเริ่มต้องการพูดคุยกัน และไม่มีใครทราบว่าเมื่อใดรัฐบาลไทยจะพร้อมให้องค์กรระหว่างประเทศและประเทศที่สามเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ ที่มากกว่าการให้มาเลเซีย ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งหากดูในหลายประเทศที่มีความขัดแย้งด้วยอาวุธในลักษณะนี้ กระบวนการสันติภาพมักจะต้องมีองค์กรที่หลากหลายเข้ามาให้การสนับสนุน

รุ่งรวี เห็นว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา การปฏิบัติการของฝ่ายขบวนการดูมีลักษณะที่จำกัดเป้าหมายที่ผู้ถืออาวุธมากขึ้นซึ่งนับเป็นแนวโน้มที่ดี แต่หากครั้งนี้ เป็นปฏิบัติการของบีอาร์เอ็น พวกเขาจะต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากในและต่างประเทศ หากบีอาร์เอ็นต้องการจะขอให้นานาชาติเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ ตัวแทนเหล่านี้ย่อมต้องหยิบยกเอาเรื่องการโจมตีพลเรือนขึ้นเป็นประเด็นหารือ แม้ในภาวะสงคราม การทำร้ายพลเรือนด้วยการโจมตีโดยไม่จำกัดเป้าหมายเช่นนี้นับเป็นสิ่งที่ ผิดหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.