ศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ เปิดทางไต่สวนต่อกรณีวิกิมีเดียฟ้อง NSA สอดแนมประชาชน

Posted: 24 May 2017 11:47 AM PDT    (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ เปิดทางให้ไต่สวนต่อไปได้ในกรณีที่หลายองค์กรนำโดย "มูลนิธิวิกิมีเดีย" ฟ้องหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ "NSA" ละเมิดรัฐธรรมนูญเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับสิทธิความเป็นส่วนตัว โดยคำตัดสินล่าสุดของศาลอุทธรณ์เป็นการกลับคำตัดสินของศาลชั้นต้นที่เคยยกฟ้อง ด้านฝ่ายโจทก์ประกาศว่านี่เป็น "ชัยชนะครั้งสำคัญ"


ภาพถ่ายของอาคาร National Security Agency ในมลรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา (ที่มา: วิกิพีเดีย)

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ตัดสินให้มีการดำเนินการไต่สวนต่อไปได้ในกรณีที่มูลนิธิวิกิมีเดียฟ้องร้องสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) ว่าผิดหลักการรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการกลับคำตัดสินดั้งเดิมของศาลชั้นต้นที่ก่อนหน้านี้เคยสั่งยกฟ้องในกรณีนี้มาก่อน

วิกิมีเดียระบุว่าคำตัดสินในครั้งนี้ถือเป็น "ชัยชนะครั้งสำคัญของหลักนิติธรรม" โดยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ตัดสินเมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมาว่าฝ่ายโจกท์มีหลักฐานมากพอว่า NSA ทำการสอดแนมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Upstream โดยที่วิกิมีเดียฟ้องร้องว่า NSA ละเมิดบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ว่าด้วย่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมาตรา 4 ว่าด้วยสิทธิของประชาชนในพื้นที่ส่วนตัวที่จะไม่ถูกล่วงล้ำด้วยการตรวจค้นหรือยึดของกลางโดยไม่มีหมายค้น

แพทริค ทูมีย์ ทนายความของสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) ที่เป็นตัวแทนโจทย์ในคดีนี้บอกว่ามันเป็นชัยชนะที่สำคัญของหลักนิติธรรม NSA แอบสอดแนมการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตของประชาชนอเมริกันมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งศาลสหรัฐฯ ควรพิจารณาเรื่องการสอดแนมเช่นนี้ได้แล้ว และตัวพวกเขาเองก็พร้อมจะโต้เถียงในชั้นศาลในประเด็นนี้

ทูมีย์บอกอีกว่ารัฐบาลไม่ควรสืบค้นการสื่อสารอย่างเป็นส่วนตัวของประชาชนทั่วไปโดยการเก็บข้อมูลทีละมากๆ คอยตรวจดูอีเมลล์และแช็ตอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน การสอดแนมอินเทอร์เน็ตผู้คนเช่นนี้เป็นการคุกคามรากฐานของอินเทอร์เน็ตเสรี

จากความเห็นของผู้พิพากษาในกรณีนี้ระบุว่าวิกิมีเดียได้แสดงจุดยืนอย่างน่าเชื่อถือในการตอบโต้ว่า NSA ละเมิดบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มาตรา 1 และ 4 จากการที่ NSA ดักข้อมูลการสื่อสารผ่านเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับที่ศาลแขวงเคยตัดสินเมื่อเดือน ต.ค. 2558 ว่าฝ่ายโจทก์ไม่สามารถหาหลักฐานพิสูจน์ได้ว่ามีการสอดแนมข้อมูลประชาชนอยู่จริง

นอกจากวิกิมีเดียซึ่งเป็นองค์กรผู้ก่อตั้งเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์วิกิพีเดียและแหล่งความรู้อื่นๆ แล้ว ผู้ที่เป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ยังประกอบด้วยองค์กรอื่นๆ อย่างสื่อนิตยสารเดอะเนชันของสหรัฐฯ แอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนล สมาคมนักเขียนอเมริกา ฮิวแมนไรท์วอทช์ สถาบันรูเธอร์ฟอร์ด สมาคมทนายความคดีอาญาแห่งชาติสหรัฐฯ กองทุนโลกสำหรับสตรี และสำนักงานวอชิงตันในกิจการลาตินอเมริกา

จามีล จาฟเฟอร์ ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันไนท์เฟิร์สต์อเมนเมนต์ซึ่งเป็นองค์กรพิทักษ์มาตรา 1 ของบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าวว่า "การสอดแนมไม่เลือกหน้าเช่นนี้ส่อเค้าให้เห็นความย่ำแย่ในด้านสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุม" จาฟเฟอร์ยังพูดถึงการตัดสินครั้งล่าสุดว่ามันได้แสดงให้เห็นถึงการที่ศาลชั้นอุทธรณ์ไม่ยอมรับการที่รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามสกัดกั้นไม่ให้มีการพิจารณาทบทวนโครงการสอดแนมในเรื่องนี้โดยอาศัยหลักการรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.