กรณีโลกโซเชียลและเพจข่าวออนไลน์บางสำนัก นำเสนอข่าวและบทความวิจารณ์ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ว่าที่ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนล่าสุด ว่าเคยมีแนวคิดเสนอยกเลิกประเพณีหมอบกราบ ในพิธีถวายสัตย์ของนิสิต จนถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง อาทิ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า ทำให้เสียชื่อเสียงสถาบันการศึกษา รวมถึง นางนุสบา ปุณณกันต์ ภรรยาของนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นการลบหลู่ ไม่เคยเห็นใครลบหลู่แล้วมีจุดจบที่ดี

ล่าสุด รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก ถึงข้อมูลรายละเอียดของพิธีถวายสัตย์ โดย ระบุว่า พิธีถวายสัตย์ของนิสิตใหม่จุฬานี่ พึ่งเริ่มมีปี 2540 นี้เองครับ สมัยอาจารย์ ศ.ดร. เทียนฉาย กีระนันท์ (สามีท่านนายกสภามหาวิทยาลัย) เป็นอธิการบดี ไม่ได้มีมาเป็น 100 ปีแบบบางคนไปกล่าวอ้างกัน สมัยผมกับคุณนุสบาเรียนอยู่ งานรับน้องก็มีแต่งานร่าเริง เจิมหน้าผาก ลอดซุ้ม ผูกข้อมือ ไม่ได้มีพิธีกรรมอะไรทำนองนี้

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว เป็นกิจกรรมจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศภาคม โดยเหล่านิสิตใหม่ เมื่อสอบเข้าไปได้ ก็จะเข้าร่วมพิธีถวายสัตย์ปฎิญาณตนเป็นนิสิตใหม่ เพื่อสร้างความภูมิใจในตัวนิสิต ณ สนามหน้าลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5 และ ร.6 โดยพิธีดังกล่าว เกิดขึ้นในปี 2540 ผนวกเข้ากับพิธีปฐมนิเทศและรับน้องใหม่ เพื่อเป็นการรื้อฟื้นประเพณีการถวายตัวของนักเรียนมหาดเล็กหลวงต่อพระเจ้าแผ่นดิน มาเป็นแนวคิดในการจัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตใหม่รั้วจามจุรี ก่อนเริ่มต้นชีวิตการศึกษาในรั้วจามจุรีอย่างสมบูรณ์ และเพื่อหล่อหลอมความสมัครสมานสามัคคีระหว่างนิสิตใหม่และรุ่นพี่ ปลูกฝังความผูกพันเป็นอันหนึ่งเป็นอันเดียวกันระหว่างน้องพี่ชาวจุฬาฯ


source :- http://www.matichon.co.th/news/552997


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.