เปิดนิทรรศการภาพ 'แด่นักสู้ผู้จากไปสัญจรภาคอีสาน' พบถูกสังหาร-อุ้มหายเป็นอันดับ 2 ของประเทศ
Posted: 24 Feb 2017 05:21 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 

เปิดนิทรรศการภาพถ่าย 'แด่นักสู้ผู้จากไปสัญจรภาคอีสาน' ถกการต่อสู้นักสิทธิฯอีสาน พบถูกสังหาร-อุ้มหายเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากใต้ พร้อมร้องรัฐให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างสงบ ไม่ใช้กระบวนการข่มขู่คุกคามให้เกิดความหวาดกลัว กสม.วอนรัฐวางตัวเป็นกลางปกป้องชาวบ้าน  ยอมรับสิทธิประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร-ตรวจสอบรัฐ

เจ้าหน้าที่ทหารเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ ภาพถ่าย “For Those Who Died Trying แด่นักสู้ผู้จากไปสัญจรภาคอีสาน 

รายงานข่าวแจ้งว่า ระหว่างวันที่ 21-25 ก.พ. นี้ ที่ห้องประชุม 415 มหาวิทาลัยมหาสารคาม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทาลัยมหาสารคาม องค์กร Protection international สถานทูตแคนาดา ร่วมกับโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน อีสาน (กป.อพช.) สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมและวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดงานเปิดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย “For Those Who Died Trying แด่นักสู้ผู้จากไปสัญจรภาคอีสาน โดยได้มีการจัดเสวนาวิเคราะห์สถานการณ์การต่อสู้ของนักสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน

ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนองค์กร Protection international 

ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนองค์กร Protection international กล่าวว่า นิทรรศการภาพถ่ายแด่นักสู้ผู้จากไปได้จัดแสดงมาแล้วหลายที่ และสิ้นสุดที่ภาคสุดท้ายคือจังหวัดมหาสารคามภาคอีสาน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่านักสิทธิมนุษยชนภาคอีสานที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อรักษาทรัพยากรในบ้านเกิดของตนเองนั้นต่างก็ถูกสังหารและบังคับให้สูญหายกันไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของ Protection international พบว่าภาคอีสานเป็นภาคที่นักต่อสู้ถูกสังหารและบังคับให้สูญหายมากถึง 7  คน เป็นอันดับที่ 2 รองจากภาคใต้ และมีกรณีของพ่อเด่น คำแหล่ แกนนำนักต่อสู้ชุมชนโคกยาวจังหวัดชัยภูมิที่สูญหายเป็นระยะเวลาเกือบหนึ่งปีโดยที่กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถให้คำตอบและให้ความเป็นธรรมกับครอบครัวของนายเด่นได้  ทั้งนี้ตนมองว่าการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของนักสิทธิมนุษยชนที่เขาจะต้องมีเสรีภาพในการรวมตัวเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบ ซึ่งเสรีภาพต่างๆ เหล่านี้เป็นองค์ประกอบขั้นพื้นฐานในการที่จะทำให้ประชาชนสามารถมี สิทธิในการกำหนดใจตนเอง (มาตรา 1 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง [ICCPR], กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม [IECSCR])และนำไปสู่ความสามารถในการปกป้องสิทธิมนุษยชนได้
ตัวแทนองค์กร Protection international กล่าวว่าเพิ่มเติมอีกว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ที่เราได้มีการเก็บข้อมูลนักต่อสู้ที่ถูกสังหารและบังคับให้สูญหายไม่มีคนไหนเลยได้รับความเป็นธรรม และนอกจากจะไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้วคนที่อยู่ข้างหลังที่ยังต้องต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินและทรัพยากรของตนเองนั้นก็ยังคงถูกปิดกั้นการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย จะเห็นได้อย่างชัดเจนในกรณีที่ล่าสุดจากสถานการณ์ของกลุ่มคนรักบ้านเกิดจังหวัดเลยที่ยังต่อสู้กับบริษัทเหมืองทองเพียงลำพัง ทั้งที่มีคำสั่งอย่างชัดเจนให้ปิดเหมืองทองทั่วประเทศแต่บริษัทก็ยังมีการดำเนินการขนแร่โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐล่าช้าในการตรวจสอบ ตนเชื่อว่าหลังจากนี้สถานการณ์นักต่อสู่ภาคอีสานจะยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ หากรัฐยังปิดกั้นการแสดงออกอย่างสงบของชาวบ้านและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน  ซึ่งสถานการณ์แบบนี้จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับใครเลยไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือว่ารัฐ และเราก็จะถูกจัดอันดับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนให้ต่ำลงไปอีกเรื่อยๆ นั่นเอง

นักศึกษาจากม.มหาสารคามสนใจเข้าเยี่บมชมนิทรรศการเป็นจำนวนมาก

ยุทธณา ลูนสำโรง นักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ภาคอีสานกล่าวว่า ภาคอีสานเป็นภาคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลาทั้งจากคนในพื้นที่เองและจากคนภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องเขื่อนเรื่องป่าไม่ก็ถูกเอารัดเอาเปรียบเสมอ ซึ่งก่อนหน้านี้ชาวบ้านก็ได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในการรักษาทรัพยากรของตนเองอยู่ตลอด ซึ่งท่านมาไม่ว่าจะรัฐบาลชุดไหนชาวบ้านก็ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ตอลดเวลา แต่ในการละเมิดนั้นชาวบ้านก็ยังเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นหรือมีพื้นที่ให้แสดงออกได้ก็ แต่หลังจากวันที่ 22 พ.ค.ปี 57 ที่มีการทำรัฐประหารการละเมิดสิทธิของนักต่อสู้ก็รุนแรงมากยิ่งขึ้น และชาวบ้านก็ไม่มีพื้นที่ให้แสดงออกอะไรได้เลย ตัวอย่างในพื้นที่ของจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งหลังจากรัฐประหารมีนักศึกษาจำนวนมากโดนหมายเรียกให้ไปรายงานตัวเป็นอันดับต้นๆ และมีการควบคุมสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก นอกจากนี้หน่วยงานหลายภาคส่วนที่ควรจะเข้ามาดูแลในเรื่องนี้อาทิคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็ต้องทำงานให้หนักเพื่อที่จะช่วยเหลือนักต่อสู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ และในส่วนนักต่อสู้เองก็ควรจะพิจารณาถึงแนวทางในการเคลื่อนไหวที่จะทำให้ตนเองปลอดภัยและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงกว้างได้ และหากรัฐบาลชุดนี้หมดวาระในการดำเนินงานแล้วนักต่อสู้ก็ควรมองแนวทางในการเคลื่อนไหวระยะยาวที่ยั่งยืนและควรหาแนวร่วมเพิ่มขึ้นผ่านกิจกรรมใหม่ๆ อาทิภาพยนตร์ ดนตรี หรือเพลง
ขณะที่ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษากล่าวว่า เวลาพูดถึงความรุนแรงแล้วนับเพียงจำนวนศพ มันอธิบายปัญหาเกี่ยวกับความรุนแรงไม่หมดเพราะความตายมันคือความรุนแรงแนวดิ่งที่ปักทิ่มลงมาพื้นผิวของสังคมที่ดูสงบนิ่งจนทำให้เกิดระลอกคลื่นบนพื้นผิวแผ่กระจายออกไป เหมือนระลอกน้ำกระเพื่อมออกไปจากหินที่เราโยนลงไป ไอ้ระลอกน้ำกระเพื่อมในส่วนนี้แหละที่คือความรุนแรงแนวราบและมันมีทั้งเรื่องข่มขู่คุกคาม ทำร้ายร่างกาย บาดเจ็บพิกลพิการ และโดนฟ้องคดี ดังนั้น คำถามสำคัญของความรุนแรงก็คือ “อำนาจรัฐแบบใดที่กระทำให้เกิด ส่งเสริม สนับสนุน เป็นใจ เข้าข้างหลีกทางให้ หรือเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับความรุนแรงเพราะว่าอำนาจรัฐแบบใดกฎหมายก็เป็นแบบนั้นซึ่งกฎหมาย ระเบียบหรือคำสั่งของบ้านเมืองมันจะสะท้อนให้เห็นว่ารัฐกระทำ ส่งเสริมหรือสนับสนุนความรุนแรงหรือเปล่า
ทั้งนี้เวลาที่เราพูดถึงความรุนแรงมันไม่อาจพูดเพียงแค่กรณีความโหดเหี้ยมของมือปืนหรือนักฆ่า เพราะความรุนแรงในสังคมไทยมันมากกว่าที่เห็น 37 ศพ ที่มาแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็น พี่น้องที่ต่อสู้คัดค้านเหมืองทองเลยโดนฟ้องคดีเกือบ 30  คดีจากบริษัทเหมืองทอง ม ถึงแม้นักสิทธิมนุษยชนจะไม่ถูกสังหารจนตาย แต่มันเป็นความรุนแรงแนวระนาบที่ถูกกดขี่ข่มเหง กลั่นแกล้งและทำร้ายร่างกายจากอำนาจรัฐและทุน และที่ตนพูดมาทั้งหมด ไม่ได้ตั้งใจโจมตีเพียงแค่รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารแต่ตนหมายถึงทุกรัฐบาลที่ผ่านมา หากแต่รัฐบาลยุคนี้มีลักษณะเด่นและพิเศษแตกต่างออกไปจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐบาลอื่น คือที่ผ่านมาเราจะเห็นความรุนแรงจากข้าราชการ นักการเมืองและทุน แต่ในรัฐบาลนี้เราเห็นความรุนแรงจากคนที่ใส่เครื่องแบบทหารแทรกตัวเข้ามาในสังคม นำหน้าความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นจากข้าราชการ นักการเมืองและทุนและก็ไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงแต่อย่างใด มีแต่เพิ่มขึ้น ซึ่งโครงสร้างความรุนแรงในสังคมไทยมันเปลี่ยนไปมาก เปลี่ยนจากคนที่ใส่ชุดเครื่องแบบสีน้ำตาลเป็นสีเขียว และใช้อำนาจแทรกซึมและสอดส่องไปทั่วในทุกอณูของสังคม อย่างกรณีไผ่ดาวดิน เหตุใดกันเพียงแค่การแชร์ข้อความที่มีผู้คนแชร์เกือบสามพันคน แต่โดนเล่นงานอยู่เพียงคนเดียว และสิทธิประกันตัวในการสู้คดีก็ทำไม่ได้ในประเทศนี้ คือมันไม่เหลือกฎหมายอะไรให้ยึดเหนี่ยว 'จิตใจของสังคม' เอาไว้อีกแล้ว


อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายแด่นักสู้ผู้จากไปสัญจรภาคอีสาน เป็นการจัดงานครั้งที่ 4 ในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความตระหนักในการหากลไกที่จะปกป้องนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยถูกเรียกร้องจากองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติ ให้หามาตรการในการดูแล ปกป้องนักสิทธิมนุษยชน โดยหลายคนในรูปที่ปรากฏอยู่ในนิทรรศการนี้ก็ได้ถูกเอ่ยถึงด้วย นอกจากนั้นในการประชุมทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ICCPR ในวันที่ 13-14 มีนาคมนี้ จะมีการหารือกันเกี่ยวกับเรื่องปกป้องนักสิทธิมนุษยชนด้วย  ทั้งนี้บทบาทหน้าที่ของนักสิทธิมนุษยชนคือการตรวจสอบ การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อปกป้องสิทธิชุมชน หรือสิทธิมนุษยชน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำงานตรวจสอบ เราจึงอยากให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าใจว่าจริงๆ แล้วการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการเข้าถึงสิทธินั้นเป็นสิทธิของประชาชนอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีปฏิญญาว่าด้วยนักสิทธิมนุษยชนอยู่ด้วย จึงถือว่าคนที่มาทำงานด้านปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นคนที่สังคมต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากว่าถ้าเราปกป้องคนๆ เดียวนี้ได้ เท่ากับสามารถปกป้องคนอีกนับพันคนได้ เพราะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะทำหน้าที่ปกป้องคนอื่นๆ ต่อไป
อังคณา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในต่างประเทศมีการให้ความสำคัญกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมาก แต่ในบ้านเราดูจะละเลย เห็นได้ชัดจากภาพถ่ายในนิทรรศการภาพถ่ายแด่นักสู้ผู้จากไป ที่ยืนยันได้ว่าคนเหล่านี้มีตัวตนจริงๆ ไม่ได้เป็นการอ้างอิงลอยๆ และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ไม่มีความก้าวหน้าและไม่สามารถหาตัวคนผิดมาลงโทษได้   นอกจากนี้ หน่วยงานความมั่นคงต้องไม่คิดว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นศัตรู  ซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปตรวจสอบเรื่องของการคุกคามนักสิทธิมนุษยชน ได้เห็นว่าในบางเรื่อง เช่น กรณีการคัดค้านการทำเหมือง คนที่ชาวบ้านต่อสู่คัดค้านด้วยเป็นบริษัททุน ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐทีควรวางตัวเป็นกลาง กลับกลายเป็นว่าเป็นมาทะเลาะกับชาวบ้าน ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าเรื่องนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับบริษัททุน แต่ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐที่ควรจะเป็นกลาง จึงกลายมาเป็นคู่กรณีกับชาวบ้านแทนบริษัททุนซะเอง แล้วยังมีการอ้างว่าจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 มาควบคุม ซึ่งต้องถามว่าอำนาจ ม.44 นี้เป็นของนายกรัฐมนตรีคนเดียวใช่หรือไม่ แล้วเจ้าหน้าที่จะนำมาอ้างกับประชาชนได้อย่างไร   ทั้งนี้ในกรณีที่ชาวบ้านหรือนักสิทธิมนุษยชนมีปัญหากับบริษัททุน ภาครัฐจะต้องวางตัวเป็นกลาง และต้องปกป้องชาวบ้าน  อีกทั้งต้องยอมรับสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ที่สำคัญคือการตรวจสอบอำนาจรัฐ ที่ภาครัฐมักจะบอกว่า มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) กับ คณะกรรมการป้องกนและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ทำหน้าที่ตรวจสอบอยู่แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เพราะฉะนั้นประชาชนก็สามารถใช้อำนาจนี้
ในฐานะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ได้ให้ความสำคัญเรื่องของการปกป้องนักสิทธิมนุษยชนเป็น 1 ใน 3 เรื่องสำคัญที่จะขับเคลื่อนกันในปีนี้ และตอนนี้มีการตรวจสอบในการละเมิดและคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และหลังจากนี้คงจะมีการเปิดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นรวมถึงการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องและรวบรวมเป็นข้อเสนอแนะส่งให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.