ดิอิโคโนมิสต์ชี้ อนาคตพลังงานทางเลือกยังตะกุกตะกัก ต้องปรับระบบตลาดใหม่
Posted: 26 Feb 2017 11:14 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

บทความในนิตยสารดิอิโคโนมิสต์ฉบับประจำวันที่ 25 ก.พ. 2560 ระบุถึงเรื่องพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนจำพวกพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม โดยถึงแม้ว่าพลังงานเหล่านี้จะถูกมองเป็นทางเลือกใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังมีปัญหาที่ต้องพูดถึงเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกเหล่านี้
ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าถึงแม้ว่าที่ผ่านมาเกือบ 150 ปี หลังจากที่มีการคิดค้นการใช้พลังงานโซลาร์เซลล์และพลังงานลม พลังงานเหล่านี้ก็ผลิตกระแสไฟฟ้าได้แค่ร้อยละ 7 ของการผลิตกระแสไฟฟ้าโลก แต่ปัจจุบันการหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเริ่มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและราคาก็ต่ำลงจนเริ่มแข่งขันในระดับเดียวกับพลังงานจากฟอสซิลหรือซากดึกดำบรรพ์ได้ ทำให้อนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้าคาดเดาได้ว่าอาจจะเป็นอนาคตของพลังงานหมุนเวียนที่ราคาถูกซึ่งสมควรจะเป็นเช่นนั้น
อย่างไรก็ตามดิอิโคโนมิสต์ก็ยังมองว่าพลังงานหมุนเวียนก็มีปัญหาของมันเองในทางเศรษฐกิจ เพราะยิ่งวางพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น ราคาของพลังงานจากแหล่งอื่นๆ ก็จะลดลงตามไปด้วย เรื่องนี้มีผลทำให้การเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคสมัยที่ปราศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นไปได้ยากขึ้น ในยุคสมัยที่ทั้งเทคโนโลยีพลังงานสะอาดหรือพลังงานไม่สะอาดทั้งหลายควรจะทำกำไรได้ต่อไปเรื่อยๆ ถ้าหากอยากให้การใช้ไฟฟ้าดำเนินต่อไปได้ รัฐมักจะจัดการแก้ไขจัดการตลาดด้วยวิธีให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีรัฐบาลของบางประเทศเริ่มเล็งเห็นความไม่สะดวกตรงนี้จนปรับลดงบประมาณในเรื่องนี้ลงก่อนเช่นบางประเทศในยุโรปและประเทศจีน
แต่ดิอิโคโนมิสต์ก็ระบุว่าวิธีการแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้หมายความว่าต้องถอยหลังเข้าคลองด้วยการลดพลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ลง แต่ควรจะปรับเปลี่ยนวิธีการตั้งราคาพลังงานสะอาดเพื่อจะเอามาทำประโยชน์ได้ ดิอิโคโนมิสต์มองว่าปัญหาคือการที่พลังงานสะอาดจากการสนับสนุนของรัฐบาลเป็นการออกแบบตลาดคนละยุคสมัย โดยที่ในปัจจุบันธุรกิจด้านพลังงานจะเริ่มถูกแปรรูปเป็นเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่ออาศัยอำนาจตลาดในการตัดสินใจว่าจะลงทุนที่ไหน แต่พอมีพลังงานสะอาดกลายเป็นประเด็นทำให้รัฐคืบเข้ามาควบคุมตลาดพลังงานอีกครั้ง
ดิอิโนโนมิสต์มีความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่าการที่รัฐเข้ามาควบคุมตลาดพลังงานจะทำให้เกิดปัญหา 3 ประการ ประการแรกคือตัวระบบการให้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลเอง ปัญหาประการต่อมาคือเรื่องธรรมชาติของพลังงานลมและแสงอาทิตย์ และประการที่สามคือความไม่ต่อเนื่องกับการดำเนินการด้วยราคาที่ต่ำมาก ทั้งหมดนี้ช่วยอธิบายว่าทำไมราคาพลังงานเหล่านี้ถึงมีราคาต่ำและทำไมการให้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลจึงทำให้เกิดการเสพติดการช่วยเหลือจากภาครัฐ

ในประการแรกเรื่องเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลที่มีการช่วยเหลือในเรื่องนี้นับหลายแสนล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2551 ทำให้เกิดการบิดเบือนตลาด ถึงแม้ว่าการให้เงินอุดหนุนเช่นนี้จะมีเจตนาในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนแต่การส่งเสริมเช่นนี้ก็เกิดขึ้นในยุคเดียวกับที่ผู้คนในประเทศร่ำรวยเริ่มใช้ไฟฟ้าลดลงรวมถึงเกิดวิกฤตการเงิน จนทำให้เกิดการผลิตพลังงานเกินจะใช้งานส่งผลให้ตัวทำรายได้จากตลาดค้าพลังงานลดลงและทำให้เกิดการลงทุนน้อยลง
ปัญหาประการที่สองคือความไม่ต่อเนื่องของพลังงานสีเขียวอย่างลมและแสงอาทิตย์โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่ได้มีสภาพอากาศที่เอื้อต่อพลังงานเหล่านี้ทำให้พวกเขาจะผลิตพลังงานได้เพียงแค่บางช่วง เพื่อที่จะทำให้เกิดการใช้พลังงานได้อย่างต่อเนื่องจึงยังต้องพึ่งพาระบบของโรงไฟฟ้าแบบเดิมอย่างถ่านหิน ก๊าซ หรือนิวเคลียร์ เอาไว้ เพื่อสำรองเวลาพลังงานสะอาดสะดุด แต่การสะดุดไปนานๆ ก็ทำให้ยากที่จะดึงดูดเอกชนมาลงทุน พวกเขาเลยต้องกันไปพึ่งพาเงินทุนจากงบประมาณรัฐแทน
การที่พลังงานลมและแสงอาทิตย์เป็นสิ่งที่ฟรีทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายประจำหรือมีน้อยมากนำมาสู่ปัญหาประกาศที่สามคือ ในตลาดที่ต้องการพลังงานที่ใช้ค่าใช้จ่ายระยะสั้นต่ำสุด ทำให้พลังงานลมและแสงอาทิตย์แย่งตลาดจากธุรกิจพลังงานที่ใช้ค่าใช้จ่ายสูงกว่าอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินทำให้เกิดการกดราคาพลังงานลงและทำให้รายได้ทั้งหมดลดลงไปด้วย
ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าในประเทศที่เน้นเรื่องพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะในที่ที่ตลาดอิ่มตัวปัญหานี้ยิ่งจะยิ่งแย่ลง ในยุโรปดูเหมือนจะเริ่มรับรู้ถึงผลกระทบนี้แล้วจากการที่รายได้ตอบแทนลดลง เกิดทรัพย์สินที่กลายเป็นภาระผูกพันและความวุ่นวายของบรรษัท เมื่อปีที่ผ่านมาผู้ให้บริการไฟฟ้ารายใหญ่สุดของเยอรมนีสองรายมีการแยกบริษัทใหม่ออกไปทำกิจการพลังงานแบบดั้งเดิมทั้งคู่ เช่น E.on มีการแยกบริษัท Uniper ออกไปทำพลังงานจากซากดึกดำบรรพ์โดยเฉพาะ ส่วนอีกบริษัทหนึ่งในเยอรมนีคือ RWE ก็มีบริษัทแยกออกไปเป็น Innogy SE ในส่วนที่มีพลังงานหมุนเวียนอยู่มากในสหรัฐฯ ผู้ให้บริการไฟฟ้าก็ต้องดิ้นรนอย่างมากในการแสวงหานักลงทุนเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ในจีนที่มีใช้ทรัพยากรจากลมได้มากก็ต้องจำกัดกังหันรับลมลงเพื่อให้โรงไฟฟ้าถ่านหินดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ในระบบที่การลงทุนมักจะมุ่งไปสู่ภาคส่วนที่คนสนับสนุนจนทำให้มีการกำกับดูแลในภาคส่วนของการไฟฟ้าอีกครั้งได้สร้างสิ่งที่ขัดแย้งในตัวเองขึ้นมาคือยิ่งภาครัฐส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเท่าใด พวกเขาก็ต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมมากขึ้นตามไปด้วยเพื่อกลบความไม่ต่อเนื่องของพลังงานหมุนเวียนที่จะทำให้ไฟฟ้าดับ ดังนั้นแทนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลับจะยิ่งสร้างก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ดังนั้นถ้าไม่มีวิธีการทำธุรกิจพลังงานหมุนเวียนแบบใหม่ก็จะทำให้พลังงานหมุนเวียนเองไปต่อไม่ได้
แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่จะมาช่วยปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเอาไว้คือเทคโนโลยีใหม่ๆ ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าการทำให้เป็นดิจิทัลเช่นสมาร์ทมิเตอร์และแบตเตอร์รี่เก็บไฟทำให้แต่ละครัวเรือนสามารถควบคุมความต้องการใช้ไฟได้ ถือเป็นการจัดการปัญหาความไม่ต่อเนื่องในการผลิตไฟฟ้าของพลังงานหมุนเวียน การทำเครื่องผลิตไฟขนาดย่อมที่เคลื่อนย้ายได้ก็กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น
ถึงกระนั้นดิอิโคโนมิสต์ก็แนะนำเพิ่มเติมว่าควรออกแบบตลาดพลังงานใหม่ที่จะสะท้อนอุปสงค์อุปทานของพลังงานในแบบที่มีความยืดหยุ่นด้วย พวกเขาควรปรับราคาอยู่อย่างสม่ำเสมอเพื่อสะท้อนภาวะการมีอยู่และความต้องการใช้พลังงานนั้นๆ เช่นในช่วงที่พลังงานขาดแคลนก็ควรปรับราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการให้รางวัลการใช้ไฟที่น้อยลงแบบเดียวกับที่ให้รางวัลผู้ผลิตไฟได้มากขึ้น มีการออกแบบบิลค่าไฟฟ้าหลายแบบทั้งแบบราคาสูงและต่ำแล้วแต่ว่าผู้ใช้ไฟฟ้าต้องการใช้พลังงานไฟตลอดเวลาหรือไม่ในลักษณะที่คล้ายๆ กับนโยบายประกันภัย พูดสั้นๆ คือปัญหาไม่ได้มาจากตัวพลังงานหมุนเวียนเองแต่มาจากระบบการตั้งราคาไฟฟ้าที่ล้าสมัยไปแล้วจนต้องมีการแก้ไข

เรียบเรียงจาก
Wind and solar power are disrupting electricity systems, The Economist, 25-02-2017
http://www.economist.com/news/leaders/21717371-thats-no-reason-governments-stop-supporting-them-wind-and-solar-power-are-disrupting
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/E.ON
https://en.wikipedia.org/wiki/RWE

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.