สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศชวนจับตาคดี 'โจนาธาน เฮด' ถูกฟ้องหมิ่นประมาท วัดเสรีภาพสื่
Posted: 24 Feb 2017 12:33 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 

สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศชี้คดีนักข่าวบีบีซีถูกฟ้องหมิ่นประมาท หลังรายงานเคสฉ้อโกงที่ดินชายชาวอังกฤษ เป็นบททดสอบข้อจำกัดทางกฎหมายว่าสื่อจะรายงานสิ่งที่ตนเชื่อว่าเป็นประโยชน์สาธารณะได้แค่ไหน
24 ก.พ. 2560 กรณีโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี ถูกดำเนินคดีอาญาฐานหมิ่นประมาท ที่ศาลภูเก็ต จากการนำเสนอรายงานเรื่องการปลอมแปลงเอกสารและฉ้อโกงที่ดินของชายชาวอังกฤษ (อ่านข่าว) สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ออกแถลงการณ์ชี้ว่า นี่เป็นคดีสำคัญที่ควรได้รับความสนใจในวงกว้าง และจะเป็นการทดสอบข้อจำกัดทางกฎหมายว่าผู้สื่อข่าวจะสามารถรายงานในสิ่งที่เขาหรือเธอเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สาธารณะโดยปราศจากความกลัวหรือการชดเชยทางกฎหมายได้เพียงใด
แถลงการณ์ระบุว่า ยิ่งไปกว่านั้น คดีนี้จะชี้ให้เห็นว่า ในประเทศไทย บางครั้ง มีการใช้เพียงลายเซ็นในการรับรองเอกสารสำคัญ เช่น โฉนด หุ้น พินัยกรรม ความเป็นเจ้าของบริษัท ดังนั้น นี่จึงเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับทุกคนที่อาศัยในประเทศนี้ ไม่ใช่เพียงผู้อาศัยและนักลงทุนชาวต่างชาติเท่านั้น
"เราหวังว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่บทสรุปที่ยุติธรรม ชัดเจนและรวดเร็ว เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง" แถลงการณ์ระบุและทิ้งท้ายว่า แม้ว่าโจนาธาน เฮดจะเป็นประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฯ แต่เขาไม่เกี่ยวข้องกับการออกแถลงการณ์นี้
สำหรับคดีนี้ โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาคเอเชียของบีบีซี ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม, มาตรา 328 หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา, และมาตรา 332 ซึ่งระบุว่าหากถูกตัดสินว่าผิดจริงอาจให้จำเลยทำลายข้อความหรือโฆษณาคำพิพากษา และมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังเสนอข่าวกรณีชายชาวอังกฤษซึ่งแต่งงานกับผู้หญิงไทยถูกปลอมแปลงเอกสารและฉ้อโกงที่ดินที่ภูเก็ต ผ่านเว็บไซต์บีบีซี โจทก์คดีนี้คือ ประทวน ธนารักษ์ ทนายความซึ่งถูกกล่าวหาในการดำเนินการดังกล่าว นอกจากนี้โจทก์ยังฟ้องจำเลยอีกคนหนึ่ง เป็นชายชาวอังกฤษ คือ เอียน มาร์แชล แรนซ์ ในความผิดฐานหมิ่นประมาท มาตรา 326
หากถูกตัดสินว่ามีความผิด ทั้งคู่อาจถูกลงโทษสูงสุดในฐานหมิ่นประมาท จำคุกไม่เกิน 2 ปีและปรับไม่เกิน 200,000 บาท ขณะที่เฮด ซึ่งถูกฟ้องด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย อาจได้รับโทษจำคุกตามพ.ร.บ.ดังกล่าวไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
เมื่อปลายปีที่่ผ่านมา มีการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยมาตรา 14(1) เรื่องการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มีการแก้ไขใจความสำคัญโดยเพิ่มองค์ประกอบว่า เป็นการนำเข้า "โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง" และเพิ่มข้อความ "อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา" และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ของ สนช. ย้ำหลายครั้งในต่างกรรมต่างวาระว่า มาตรา 14(1) ไม่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาท
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของ สนช.แล้ว และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 ม.ค. โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ค.นี้ (120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.