ปม 7 สนช. วีระชี้หากเป็นญี่ปุ่น-เกาหลี ลาออกไปแล้ว 'พิชัย' แนะ 'ประธาน สนช.' โชว์สปิริตลาออก
Posted: 26 Feb 2017 11:42 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
วีระ ถาม 7 สนช.ละอายใจบ้างไหม? ปมโดดร่ม ไม่เข้าประชุมเพื่อลงมติ ชี้หากเป็นญี่ปุ่น-เกาหลี เขาลาออกไปแล้ว ขณะที่ ปู่ พิชัย อดีต หน.ประชาธิปัตย์ แนะ 'ประธาน สนช.' โชว์สปิริตลาออก ชี้อยู่ต่อไร้ศักดิ์ศรี เหตุปล่อยให้สมาชิกทำผิดรัฐธรรมนูญ
27 ก.พ. 2560 จากกรณีที่ โครงการอิ
นเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ได้เปิดเผยผลสำรวจ เกี่ยวกับการเข้าประชุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พบว่า ตามข้อบังคับกำหนดให้สมาชิกต้องมาลงมติอย่างน้อย 1 ใน 3 ของทุกรอบ 90 วัน แต่พบสมาชิกอย่างน้อย 7 คน ที่ขาดประชุมเป็นประจำ จนอาจจะเป็นเหตุให้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกสนช. (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น โดยต่อมา ประธานคณะกรรมการจริยธรรม สนช. ตั้งอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีดังกล่าว พร้อมระบุด้วยว่าจะทราบผลใน 30 วัน
ล่าสุดวันนี้(27 ก.พ.60)
มติชนออนไลน์ รายงานว่า พิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานรัฐสภา กล่าวถึงการลาประชุมของ 7 สมาชิก สนช.จนขาดการลงมติเกิน 1 ใน 3 ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 9(5) กำหนดไว้ว่า ที่ผ่านมาสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มาตามระบอบประชาธิปไตย ไม่เคยกำหนดกฎเกณฑ์ในลักษณะนี้
ไว้ แต่พอมาถึงการรัฐประหารโดย คสช. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ก็ต้องการแสดงให้เห็นว่าบุคคลที่ถูกแต่งตั้งเข้ามาเป็นสมาชิก สนช.ที่ส่วนใหญ่เป็นทหาร จะทำงานได้อย่างดี มีระเบียบวินัย จึงวางกฎดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ จากประสบการณ์การเป็นนักการเมือง ตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อมีข้อครหาทางการเมืองเกิดขึ้น ก็จะมีการแสดงความรับผิดชอบ อย่างตนก็เคยลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เพราะเป็นเรื่องสปิริตในทางการเมือง
“ถ้าผมเป็นประธาน สนช.ตอนนี้ ก็จะขอลาออก ในเมื่อมีการปล่อยให้สมาชิกทำผิดรัฐธรรมนูญ แม้จะมีข้อบังคับ สนช.กำหนดให้ขาดลงมติเท่าไรก็ได้หากยื่นใบลา แต่ผู้ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายไปบังคับใช้ในสังคม ต้องมีความรับผิดชอบ ยึดหลักการทำหน้าที่ตามกฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ดีกว่าอยู่ทำหน้าที่ต่อไปภายใต้อาณัติของผู้มีอำนาจ แต่ไร้ศักดิ์ศรี ประธาน สนช.ที่เป็นถึงอดีตผู้พิพากษาน่าจะทราบดี เหตุการณ์นี้จะช่วยทำให้คนเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนเลือกผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในสภา แม้จะมีความขัดแย้ง แต่มันก็ยังตรวจสอบได้” อดีตประธานรัฐสภากล่าว
วันเดียวกัน วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้
านคอร์รัปชั่น โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก 'Veera Somkwamkid' กรณีนี้ด้วยว่า ตามที่เลขาธิการวุฒิสภา ซึ่ง ทำหน้าที่เลขาธิการ สนช. ได้นำสถิติการเข้าประชุมและการลาในรอบปี 2559 ของ 7 สนช.ออกมาแถลงยืนยันว่าเป็นไปอย่างถูกต้องแล้ว นอกจากนี้ พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังกล้าพูดอย่างไม่อายปากว่า “ข้อมูลการลงมติไม่ใช่ความลับ เป็นข้อมูลเปิดเผยเข้าไปดูได้ ไม่ต้องมาเถียงกันเรื่องตัวเลข เพราะตัวเลขราชการน่าจะถูกต้องกว่า สิ่งที่เลขาธิการวุฒิสภาแถลงอาจเป็นภาพรวมทั้งปี” ข้อมูลของไอลอว์ได้นำสถิติ 2 ช่วงมาเปิดเผย คือ ช่วงระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. และ 1 เม.ย.-29 มิ.ย. อันเป็นช่วงเวลาครั้งละ 90 วัน ตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2557 มาตรา 9 (5) ที่บัญญัติว่า “ถ้าสมาชิกไม่มาแสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม ให้สมาชิกภาพการเป็น สนช.สิ้นสุดลง” และตามข้อบังคับการประชุมสภา สนช. พ.ศ.2557 ข้อ 82 ที่กำหนดว่า “สมาชิกที่ไม่แสดงตน เพื่อลงมติในที่ประชุมสภาเกินกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนครั้งที่มีการแสดงตน เพื่อลงมติทั้งหมด ในรอบระยะเวลา 90 วัน ให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง
“ความจริง ทั้งประธาน สนช. เลขาธิการรัฐสภา และสมาชิก สนช.ทั้ง 7 คน ไม่ต้องออกมาอุ้ม ไม่ต้องออกมาเถียง ไม่ต้องออกมาแถว่า สนช.ทั้ง 7 ไม่ผิด เรื่องอื้อฉาวในทางไม่ดี ถ้าเป็นต่างชาติ เช่นญี่ปุ่น เกาหลี นักการเมืองหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ถูกเปิดโปงเขาจะไม่ดาหน้ากันออกมาช่วยคนทำผิดเหมือนของไทย คนที่ทำความผิดของเขาจะไม่รอให้มีผู้ใดมาตรวจสอบเพื่อลงโทษ ผู้ที่ทำความผิดจะรีบออกมาแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกเองทันที บางคนที่หน้าบาง รู้สึกละอายแก่ใจในความผิดที่ทำ ไม่อาจทนอยู่สู้หน้าผู้ใดได้ จะเลือกการฆ่าตัวตาย ก็ต้องรอดูว่า 7 สนช.ที่โดดร่ม ไม่เข้าประชุมเพื่อลงมติ จะมีผู้ใดลาออกเป็นคนแรก หรือจะมีผู้ใดไปผูกคอตายเป็นคนแรก หรือเลือกที่จะอยู่อย่างไม่สะทกสะท้านใดๆ ทั้งสิ้น ที่เรียกกันว่าไอ้พวกหน้าด้านหน้าทน ท่านผู้อ่านมาทายกันไหมครับว่า พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา และ สนช.ที่โดดร่มอีก 6 คนจะเลือกใช้วิธีใด?” วีระ โพสต์
แสดงความคิดเห็น