ขณะที่มีข้อถกเถียงกันเรื่องเกี่ยวกับภาษีสินสอด ในวัฒนธรรมอินเดียถึงขั้นมีคนเป็นหนี้สินเพื่อพยายามจัดงานแต่งหรูแบบล้นเกิน ทำให้นักการเมืองหญิงคนหนึ่งในอินเดียที่เห็นว่างานแต่งงานควรเป็น "การเฉลิมฉลอง" ไม่ใช่ "การอวดรวย" กำลังหาวิธีที่จะทำให้คนจัดงานแต่งอู้ฟู่ทั้งหลายต้องให้เงินส่วนหนึ่งเป็นกองทุนช่วยเหลืองานแต่งของคนจนถ้าหากจัดงานแต่งในราคาเกินกว่ากำหนด
27 ก.พ. 2560 ในตอนที่ รันจิต รันจัน สมาชิกสภานิติบัญญัติของอินเดียเข้าร่วมพิธีแต่งงานญาติของเธอพร้อมกับลูกชายเมื่อ 3 ปีก่อน ทั้งเธอและลูกชายต่างก็รู้สึกตกตะลึงกับความหรูหราล้นเกินของงานแต่งงานพวกนี้ ลูกชายอายุ 17 ปี ของเธอถึงขั้นบอกกับเธอว่าถ้าเขาได้แต่งงานขออย่าให้แม่ใช้เงินทุ่มไปกับงานแต่งงานมากขนาดนี้
อินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการจัดงานแต่งงานราคาแพง และมีประเพณีที่ครอบครัวฝ่ายหญิงต้องเป็นคนจ่าย เคยลูกจ้างของรันจันคนหนึ่งเล่าให้เธอฟังว่าเขาต้องใช้เงินไป 500,000 รูปี (ราว 260,000 บาท) ในการให้ลูกสาวของเขาได้แต่งงานในขณะที่เงินเดือนของเขาได้รับแค่ 10,000 รูปีต่อเดือนเท่านั้น (ราว 5,200 บาท)
จากสองเหตุการณ์นี้เองทำให้รันจันนำมาคิดแล้วหาทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยมีแผนนำเสนอกฎหมายใหม่ที่จะจำกัดวงเงินค่าจัดงานแต่งงานของชาวอินเดียทุกคนให้อยู่ไม่เกิน 500,000 รูปี และจำกัดจำนวนแขกผู้เข้าร่วมพิธี ถ้าหากมีครอบครัวใดที่ค่าใช้จ่ายเกินกว่านี้จะต้องบริจาคร้อยละ 10 ของรายจ่ายส่วนเกินเป็นกองทุนพิเศษเพื่อนำไปใช้กับการแต่งงานของผู้หญิงจากครอบครัวที่ยากจน
รันจันมองว่าการที่ครอบครัวชนชั้นกลางและชนชั้นล่างในอินเดียที่มีอยู่ร้อยละ 90 ของกลุ่มประชากรทั้งหมดต้องจ่ายค่าสินสอดและค่าแต่งงานแพงๆ นั้น เป็น "ความเลวร้าย" ในสังคม เธอบอกอีกว่า งานแต่งงานควรจะเป็นการเฉลิมฉลอง ไม่ใช่การอวดโชว์อย่างไร้ยางอาย เช่นการทำอาหารมากเกินความต้องการเสียจนมีแต่ของเหลือทิ้ง
แน่นอนว่างานแต่งงานกลายเป็นการอวดฐานะความร่ำรวยอย่างสุดโต่งในอินเดีย ทำให้ครอบครัวฝ่ายเจ้าสาวต้องเป็นฝ่ายแสดงภาพลักษณ์ให้เห็นว่ามีสถานะและความร่ำรวย แต่ก็ต้องใช้เวลาหลายสิบปีหลังจากนั้นในการชดใช้หนี้จากการแต่งงาน แม้กระทั่งในเแถบชนบทก็มีครอบครัวยากจนถึงขั้นต้องขายที่ดินหรือเป็นหนี้ชั่วชีวิตเพื่องานแต่งลูกสาว
รันจนา คูมารี หัวหน้าศูนย์วิจัยสังคมในนิวเดลีกล่าวว่า เป็นเรื่องเข้าใจได้ที่ชนชั้นสูงร้อยละ 3 ในอินเดียจะต้องการผลาญเงินไปกับงานแต่งที่อู้ฟู่อย่างไร้ยางอาย แต่คนส่วนใหญ่ในอินเดียก็รู้สึกถูกกดขี่จากประเพณีการจัดงานแต่งงานเช่นนี้
นอกจากเรื่องชนชั้นแล้วเรื่องนี้ยังมีมิติด้านเพศสภาพจากการที่ครอบครัวฝ่ายหญิงกลัวว่าจะต้องใช้เงินในการแต่งงานของพวกเธอทำให้กลายคู่ไม่ยอมมีลูกผู้หญิง พวกเขาทำแท้งลูกผู้หญิงจนทำให้อินเดียในปัจจุบันมีผู้ชายในอัตราส่วนสูงกว่าผู้หญิงมาก จากสถิติของรัฐบาลอินเดียในปี 2554 ระบุว่า ในอัตราส่วนประชากรเด็กชายเกิด 1,000 คน จะมีประชากรเด็กหญืงเกิด 918 คน
แต่พวกชนชั้นสูงร่ำรวยของอินเดียดูเหมือนจะไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้พวกเขาจัดงานแต่งกันอู้ฟู่มีแขกเข้าร่วมเป็นหมื่นคน จ้างยามรักษาความปลอดภัยนับพัน และฉลองกัน 3 วัน หมดค่าประดับเพชรพลอยไปเกือบพันล้านรูปี จ้างดาราบอลลิวูดมาแสดง ครั้งหนึ่งในปี 2547 เคยมีการจัดเลี้ยงอาหารในงานแต่งงานเยอะมากถึงขนาดทำให้แคว้นนั้นเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร
กฎหมายที่รันจันต้องการผลักดันมีชื่อว่ากฎหมายบังคับลงทะเบียนการแต่งงานและการป้องกันไม่ให้มีการใช้จ่ายอย่างสิ้นเปลือง เธอบอกว่าคนหนุ่มสาวชาวอินเดียสนับสนุนเธอ พวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงแนวคิดเรื่องการแต่งงาน มีคนวิจารณ์ว่ากฎหมายนี้อาจจะเป็นการที่รัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องส่วนบุคคลมากเกินไปและอาจจะเป็นการบังคับใช้ได้ยาก แต่รันจันก็ไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้โดยยกตัวอย่างว่าเมื่อก่อนการแต่งงานกับเด็กก็เป็นสิ่งที่ฝังรากอยู่ในสังคมอินเดียมากแต่พอหลังจากถูกห้ามแล้วก็กลายเป็นเกิดขึ้นนานๆ ที
เรียบเรียงจาก
One woman’s quest to end India’s big fat weddings, The National, 24-02-2017
แสดงความคิดเห็น