การยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นสันติวิธีโดยรัฐอย่างไร
Posted: 31 Jan 2017 08:30 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)  

บทนำ

“ไม่มีกฎหมาย ไม่อำนาจ” จากคำกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐใช้อำนาจผ่านทางกฎหมาย จึงมีความรุนแรงโดยรัฐที่กระทำผ่านทางกฎหมาย เช่น การปราบจลาจล การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การบัญญัติกฎหมายที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และการประหารชีวิต โดยการประหารชีวิตคือการลงโทษพลเมืองของรัฐ อันเป็นหนึ่งในโทษทางอาญา 5 ชนิด ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 18 ได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก ปรับ และริบทรัพย์ กล่าวได้ว่าโทษประหารชีวิตเป็นโทษที่มีความรุนแรงสูงสุด เพราะถึงขั้นทำลายล้างชีวิตของบุคคล[1] และถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งขัดต่อหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ3 บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในเสรีธรรมและในความมั่นคงแห่งร่างกาย และข้อ5 บุคคลใดจะถูกทรมานหรือได้รับการปฏิบัติหรือการลงทัณฑ์ซึ่งทารุณโหดร้ายไร้มนุษยธรรมย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้[2] อีกทั้งยังขัดกับลักษณะเฉพาะของสิทธิมนุษยชนที่ระบุไว้ในปฏิญญาสากล คือ เป็นสิทธิที่ไม่สามารถถูกพรากหรือยกให้แก่กันได้ คือไม่มีใครจะมาพรากเอาสิทธิจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ ถึงแม้ว่ากฎหมายของประเทศจะไม่ยอมรับสิทธิมนุษยชนหรือแม้จะละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ตาม ประชาชนของประเทศก็ยังมีสิทธิมนุษยชนอยู่[3] ทั้งนี้รายงานฉบับนี้เป็นการศึกษาประเด็นการยกเลิกโทษประหารชีวิตที่แสดงให้เห็นว่าเป็นสันติวิธีโดยรัฐอย่างไร และพยายามชี้ให้เห็นว่ารัฐยังสามารถใช้สันติวิธีกำหนดนโยบายอื่นๆที่นอกเหนือจากการนำไปใช้เพื่อสลายการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล รวมทั้งรายงานฉบับนี้ได้พยายามท้าทายมายาคติที่สนับสนุนการประหารชีวิตด้วยหลักทฤษฎีและข้อมูลเชิงสถิติอีกด้วย


รัฐกับสันติวิธีว่าด้วยการยกเลิกโทษประหารชีวิต ลักษณาการ, มายาคติของการสนับสนุนโทษประหารชีวิต, ความท้าทายมายาคติ, กรณีศึกษา

การประหารชีวิต(Capital Punishment) เป็นการลงโทษพลเมืองผู้กระทำผิดหรือขัดแย้งกับรัฐ และเป็นการลงโทษที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณที่ปรากฏในทุกอารยธรรม โดยจะมีลักษณะการลงโทษที่ต่างกันไปตามแต่ละบริบททางวัฒนธรรมและช่วงเวลา เช่น การประหารชีวิตด้วยการกดให้จมน้ำตาย การใช้หินขว้างให้ตาย การเผาให้ตาย การตัดศีรษะ เป็นต้น ส่วนการประหารชีวิตในปัจจุบันทุกประเทศพยายามที่จะทำให้เป็นไปด้วยความเจ็บปวดทรมานน้อยที่สุด เช่น การฉีดสารพิษเข้าร่างกาย การนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า การแขวนคอ การรมแก๊ส และการประหารชีวิตด้วยปืน[4] ในปัจจุบันประเทศไทยได้เปลี่ยนจากวิธีการประหารชีวิตด้วยปืนเป็นการฉีดยาให้ตาย เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2546 รัฐบาลได้มีการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 19 ว่า “ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย”[5] สำหรับการประหารชีวิตครั้งล่าสุดในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2552 เป็นการฉีดยาพิษประหารนักโทษชาย 2 รายในข้อหาคดียาเสพติด[6] ถึงแม้ว่าการประหารชีวิตในประเทศไทยจะไม่ได้ใช้ในทางปฏิบัติมาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่ยกเลิกกฎหมายกำหนดโทษประหารชีวิต ซึ่งผู้ศึกษาเห็นว่าความรุนแรงโดยรัฐในนามของการประหารชีวิตย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ

หากพิจารณาตามหลักอาชญาวิทยาที่ประกอบด้วย2สำนักคิดที่สำคัญ ได้แก่ สำนักคิดดั้งเดิม (Classical School) เป็นสำนักที่มุ่งเน้นการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างรุนแรง ที่เรียกว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” โดยการลงโทษจะเป็นเพื่อการแก้แค้นทดแทนในสิ่งที่ได้กระทำไป เพื่อให้ได้รับผลที่ตนได้กระทำอย่างสาสม  ต่อมาก็เริ่มมีพัฒนาการโดยสำนักปฏิฐานนิยม(Positive school)ที่เน้นการแก้ไขฟื้นฟู ที่เป็นการแก้ไขเยียวยาให้กลับคืนเป็นคนดีของสังคม เพราะเชื่อว่าคนที่กระทำความผิดเพราะมีเหตุปัจจัยสภาพแวดล้อมอื่นทำให้ก่ออาชญากรรม เช่น ความยากจน ชุมชนเสื่อมโทรม ถูกกระทำความรุนแรง เป็นต้น[7] ประกอบกับการพิจารณาตามหลักปรัชญาการลงโทษ ซึ่งอธิบายถึงวัตถุประสงค์ของการลงโทษทางอาญา 5 ประการด้วยกัน ดังนี้ 1.เพื่อการข่มขู่ยับยั้ง(Deterrence) 2.เพื่อทำให้อาชญากรหมดความสามารถที่จะกระทำความผิดได้อีก(incapacitation) 3.เพื่อการแก้แค้นทดแทน(Retribution) 4.เพื่อการฟื้นฟูเยียวยาแก้ไขพฤติกรรมอาชญากรรมของผู้กระทำความผิด(rehabilitation) 5.เพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูเหยื่ออาชญากรรมมากกว่าอาชญากรหรือการใช้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice)[8] จะพบว่าโทษประหารชีวิตมีลักษณะที่ตรงกับสำนักคิดดั้งเดิมของหลักอาชญวิทยาที่เป็นการลงโทษเพื่อการแก้แค้นทดแทน และยังมีลักษณะที่ตรงกับปรัชญาการลงโทษประการที่ 1. 2. และ3.

นอกจากนี้โทษประหารชีวิตยังมีลักษณะที่เป็นการเมืองแบบอำนาจนิยม(Authorities) ซึ่งพิจารณาจากทฤษฎีของฟรีดริกซ์ เฮเกล ที่สรุปได้ดังนี้ 1.รัฐมีความสำคัญกว่ามนุษย์ 2.มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดรัฐ 3.รัฐจึงมีอำนาจเหนือประชาชน 4.ประชาชนมีหน้าที่ต้องเชื่อฟังรัฐอย่างเด็ดขาด[9] การประหารชีวิตจึงแสดงให้เห็นว่า รัฐมีความสำคัญกว่ามนุษย์ รัฐจึงมีอำนาจชี้ขาดการตัดสินของพลเมืองไม่ว่าคำตัดสินนั้นจะเป็นอย่างไร พลเมืองจะต้องยอมรับการตัดสินใจของรัฐ และการเมืองแบบอำนาจนิยมจึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่สร้างความชอบธรรมให้รัฐใช้ความรุนแรงในการจัดการความขัดแย้งต่างๆ ไม่ว่าการใช้ความรุนแรงนั้นจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นอย่างไร อาทิ หากเกิดความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมแล้วมีการประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้กระทำความผิดแต่อย่างใด ย่อมเป็นความผิดพลาดที่เลวร้ายอย่างมหันต์ เพราะเป็นความผิดพลาดที่รัฐไม่อาจทำให้ผู้เสียหายกลับมามีชีวิตและมีสิทธิต่างๆได้อีกครั้ง และการเมืองแบบอำนาจนิยมที่ทำให้รัฐใช้ความรุนแรงแก้ไขความขัดแย้ง ย่อมเป็นอีกปัจจัยในความผิดพลาดนี้

ขณะที่การเมืองแบบเสรีนิยม(Liberalism) เชื่อว่ามนุษย์มีเสรีภาพมาตั้งแต่กำเนิด แม้แต่รัฐบาลก็จะละเมิดไม่ได้ และให้ความสำคัญกับตัวบุคคล(Individual)มากกว่ารัฐ(State)[10] ประกอบกับวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยที่จะต้องยึดมั่น ในความสำคัญของและศักดิ์ศรีของบุคคล ตลอดจนจะต้องเชื่อมั่นในความสามารถของบุคคลและมองโลกในแง่ดี[11] หากเปรียบเทียบการเมืองแบบอำนาจนิยมกับการเมืองแบบเสรีนิยม จะพบว่าการเมืองแบบเสรีนิยมและวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยไม่สนับสนุนการมีโทษประหารชีวิต จึงสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นกระแสโลกในปัจจุบันที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้หลายประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ยังมีบางประเทศที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิตอยู่ และหากสันติวิธีหมายถึงวิธีการจัดการซึ่งปราศจากความรุนแรง รัฐที่ยังคงมีการประหารชีวิตจึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นรัฐที่ปกป้องสวัสดิภาพของประชาชนอย่างถ้วนหน้า

ทั้งนี้การยกเลิกโทษประหารชีวิตมักถูกคัดค้าน เนื่องจากการตัดสินใจที่มาจากมายาคติที่ขาดการสำรวจและศึกษาข้อเท็จจริงที่ครอบคลุมมากพอที่จะอธิบายว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตไม่ได้ทำให้อาชญากรเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด โดยสามารถอธิบายตัวอย่างของมายาคติ เช่น

1.การลงโทษประหารชีวิตเหมาะสมต่อผู้ต้องหาแล้ว เพราะหากกระทำผิดในคดีอุกฉกรรจ์ ย่อมต้องได้รับโทษ เช่น ฆาตกรสมควรตาย เพราะฆาตกรรมถือว่าเป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรงที่สุด ฆาตกรจึงควรได้รับโทษหนักที่สุดเช่นกัน การลงโทษประหารชีวิตฆาตกรผู้ไม่เคารพคุณค่าในชีวิตของคนอื่นจึงเป็นการลงโทษที่นับว่าเหมาะสมและยุติธรรมที่สุด[12] หรือกฎหมายแบบแบบกฎหมายตาต่อตาฟันต่อฟัน

2.โทษประหารชีวิตสามารถยับยั้งอาชญากรรมอย่างได้ผล เพราะทำให้ผู้ที่คิดจะทำผิดเกิดความกลัวไม่กล้า ก่ออาชญากรรมที่รุนแรงยิ่งมีบทลงโทษหนักมาก การก่ออาชญากรรมก็ยิ่งมีความเสี่ยงมาก และถ้ามีความเสี่ยงมากพวกเขาก็จะไม่กล้าก่ออาชญากรรม การประหารชีวิตนอกจากจะหยุดฆาตกรไม่ให้ออกมาฆ่าใครได้อีกแล้ว ยังจะส่งสารไปยังนักฆ่าคนอื่นๆ ว่าฆาตกรจะไม่ได้รับอนุญาตให้มีชีวิตอยู่[13]

3.อาชญากรบางคนเป็นอันตรายเกินกว่าจะยอมให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ บุคคลอันตรายบางคนสามารถก่ออาชญากรรมรุนแรง คือ ทำลายชีวิตผู้คนได้ทุกเมื่อโดยไม่มีเหตุผล เปรียบเหมือนสัตว์ร้ายที่จำเป็นต้องถูกกำจัดเพื่อความปลอดภัยของผู้คนในสังคม[14]   


ความท้าทายมายาคติ

ดังนั้นผู้ศึกษาจึงท้าทายข้อคัดค้านนี้ด้วยสถิติการยกเลิกโทษประหารชีวิตใน พ.ศ.2556 จากเว็บไซต์ Amnesty International Thailand ที่เปิดเผยข้อมูลดังนี้ ปัจจุบันกว่าสองในสามประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกมาตรการลงโทษขั้นเด็ดขาดในรูปแบบนี้ และแสวงหาทางเลือกของการลงโทษที่ไม่ละเมิดสิทธิในการมีชีวิต โดยสถิตินับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ปรากฏดังนี้  98ประเทศยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท เช่น กัมพูชา แคนาดา ภูฎาน เป็นต้น, 7ประเทศยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทางอาญาทั่วไป เช่น โบลิเวีย ชิลี บราซิล เป็นต้น, 35ประเทศยกเลิกโทษประหารในทางปฏิบัติ เช่น ลาว ตูนีเซีย โมร็อคโค เป็นต้น, 140ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ เช่น ลาว ศรีลังกา เกาหลีใต้ เป็นต้น, 58ประเทศที่ยังคงมีบทลงโทษประหารชีวิต เช่น ไทย เกาหลีเหนือ ยูเครน สหรัฐฯ จีน อินเดีย เป็นต้น[15] ทั้งนี้เมื่อเทียบกับสัดส่วนพบว่าประเทศที่มีโทษประหารชีวิตมีจำนวนน้อยกว่าประเทศที่ไม่มีโทษประหารชีวิต ซึ่งหากการประหารชีวิตสามารถลดอาชญากรรมลงได้จริง แล้วเหตุใดหลายประเทศจึงทยอยกันยกเลิกโทษประหาร

หากพิจารณาอัตราการมีอาชญากรของบางประเทศที่มียกเลิกโทษประหารชีวิต เช่น ในแคนาดา อัตราการฆาตกรรมต่อประชากร 100,000 คนลดจากตัวเลขสูงสุดที่ 3.09 ในปี 2518 ก่อนที่จะมีการยกเลิกโทษประหาร ลงมาเหลือ 2.41 ในปี 2523 และจากนั้นมาก็มีอัตราลดลงเรื่อยๆ และในปี 2546 ยี่สิบเจ็ดปีหลังจากยกเลิกโทษประหาร อัตราการฆาตกรรมอยู่ที่ 1.73 ต่อประชากร 100,000 คน ตํ่ากว่าปี 2518 ถึง 44% และถือว่าตํ่าสุดในรอบสามทศวรรษ แม้ว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.0 ในปี 2548 แต่ก็ยังถือว่าเป็นอัตราที่ตํ่ากว่าตัวเลขในช่วงที่เริ่มมีการยกเลิกโทษประหารถึงหนึ่งในสาม[16] จะพบว่าเกิดอาชญากรลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีการประหารชีวิต เช่น ได้แก่ อิหร่าน (ตัวเลขอย่างเป็นทางการ 289 ครั้ง แต่เชื่อว่ามีอย่างน้อย 454 ครั้งหรือกว่านั้น แต่ทางการไม่ได้ยอมรับ) ซาอุดิอาระเบีย (อย่างน้อย 90 ครั้ง) อิรัก (อย่างน้อย 61 ครั้ง) และสหรัฐฯ (35 ครั้ง) ยกเว้นประเทศจีน มีข้อมูลการประหารชีวิตอย่างน้อย 607 ครั้งในปี 2557[17]  สถิติผู้ถูกประหารชีวิตคร่าวๆนี้สามารถแสดงให้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐตามจำนวนของผู้เสียชีวิตที่อาจกระทำผิดจริง และการยกเลิกโทษประหารชีวิตไม่ได้ทำให้อาชญากรเพิ่มขึ้น          

แต่กติการะหว่างประเทศเรื่องสิทธิพลเมืองสิทธิทางการเมืองระบุว่า แม้จะเป็นนักโทษประหาร แต่พวกเขายังคงมีสิทธิอื่นๆในฐานะความเป็นมนุษย์ ดังนั้นนักโทษประหารและวิธีการประหารจะต้องไม่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม[18] ฉะนั้นจึงไม่อาจเป็นไปได้ที่การประหารชีวิตจะเป็นการสร้างภาพหรือเป็นการข่มขวัญให้อาชญากรคนอื่นยำเกรงในโทษประหาร เพราะหากประหารชีวิตตามกติกาดังกล่าว


กรณีศึกษาการยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นสันติวิธีโดยรัฐอย่างไร

การยกเลิกโทษประหารชีวิตคือ การลงโทษโดยรัฐที่จัดได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่กล่าวไปแล้วในบทนำ โดยประเทศแรกที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตคือประเทศเอกวาดอร์ ค.ศ.1906[19] และมีประเทศอื่นๆต่างทยอยยกเลิกโทษประหารชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆกว่าร้อยประเทศ เมื่อรัฐดำเนินการแล้วย่อมต้องมีการใช้ลักษณะร่วมของสันติวิธีคือการเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้คนเป็นสำคัญมาเป็นแนวทางการแก้ไขโทษหรือยกเลิกโทษประหารชีวิต ซึ่งอย่างน้อยสันติวิธีจะเป็นหนทางที่ทำให้รัฐเผชิญกับความขัดแย้งในรูปแบบที่ 1.รัฐต้องปราศจากความเกลียดชังต่อคู่ขัดแย้งที่เป็นพลเมืองของตนเอง คือรัฐต้องเข้าใจว่าปัญหาอาชญากรไม่ได้เกิดจากตัวบุคคลอย่างเดียว แต่มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างอีกด้วย 2.ทำให้รัฐสามารถมุ่งสู่ประชาชนได้อย่างถ้วนหน้า และสามารถป้องกันกรณีที่เกิดความผิดพลาดทางกระบวนการตุลาการจนอาจเกิดการสั่งประหารชีวิตผู้ที่ไม่ได้กระทำผิดจริง 3.รัฐที่ใช้สันติวิธีในการออกแบบนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรมต้องยอมรับผลจากการใช้สันติวิธีเช่นกัน[20] เพราะรัฐต้องมองคู่ขัดแย้งว่าเป็นพลเมืองของตน ไม่ใช่ศัตรูที่ต้องนำไปประหารชีวิต

ทั้งนี้ผู้ศึกษาไม่อาจนับรวมประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในความอาญาบางกรณีและยังไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในแง่ของกฎหมาย เพราะหากการยกเลิกโทษประหารชีวิตจะเป็นสันติวิธีโดยรัฐได้ ก็ต่อเมื่อรัฐต้องยกเลิกโทษประหารชีวิตทุกกรณีและยกเลิกทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ แต่จะต้องหาวิธีอื่นๆมาลงโทษหรือเยียวยาผู้กระทำผิดและผู้เสียหายแทนเท่านั้น เพราะหากรัฐไม่ยกเลิกตามเงื่อนไขนี้ย่อมมีโอกาสที่รัฐจะใช้ความรุนแรงประเภทนี้ได้เสมอ ไม่ต่างไปจากการใช้สันติวิธีและความรุนแรงควบคู่กัน ซึ่งจะทำให้ความชอบธรรมของฝ่ายสันติลดลงหรือสูญไป[21]   
ผู้ศึกษาเห็นว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นสันติวิธีโดยรัฐ อย่างน้อย 4 ประการคือ
1.รัฐเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ว่า มนุษย์ทุกคนย่อมมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน แม้แต่ผู้ที่เหี้ยมโหดในส่วนลึกก็ยังมีความโน้มเอียงต่อความรักความกรุณา[22] จึงไม่กำจัดประชาชนของตนด้วยการใช้ความรุนแรงหรือการประหารชีวิต

2.การยกเลิกโทษประหารชีวิตแสดงให้เห็นว่ารัฐเข้าใจที่มาแห่งอำนาจ เพราะอำนาจไม่ไม่ได้เกิดจากอาวุธ หากอยู่ที่การยอมรับหรือยินยอมเชื่อฟังผู้อื่น[23] การที่รัฐไม่ใช้ความรุนแรงด้วยการประหารชีวิตเพื่อผดุงความถูกต้องของสังคม แต่ให้โอกาสในการให้ผู้กระทำผิดได้กลับออกมาอย่างพลเมืองที่เชื่อฟังและยอมรับอำนาจทางกฎหมายของรัฐ หรืออาจใช้วิธีคุมขังผู้กระทำผิดได้ทบทวนการกระทำของตนไปตลอดชีวิต

3.เป็นวิธีแห่งการใช้พลังทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง เพื่อการเปลี่ยนแปลง[24] เพราะมีหลายประเทศ เช่น ประเทศในแถบยุโรปที่ไม่มีโทษประหารชีวิตแต่อาชญากรรมน้อยจนต้องปิดฑัณทสถาน เช่น เนเธอร์แลนด์[25] ซึ่งหากสังเกตการพัฒนาด้านระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง จะพบว่าหลายประเทศที่ไม่มีโทษประหารชีวิตเป็นประเทศที่มีระบบระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่มีเสถียรภาพ เช่น มีกระบวนการการยุติธรรมที่โปร่งใส มีการออกกฎหมายที่เหมาะกับวิถีชีวิตของพลเมือง จึงประสบความสำเร็จในการใช้นโยบายนี้และไม่มีการแนวโน้มที่จะนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้อีก
4.เป็นเทคนิคในการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอย่างมีประสิทธิภาพชนิดที่ทำให้หลุดพ้นจากความรุนแรงได้ เพราะการที่รัฐเลือกที่จะปฏิเสธความรุนแรงด้วยการให้มีโทษประหารชีวิต ย่อมส่งผลให้รัฐไม่มีการลงมือสังหารพลเมืองของตนเอง ทำให้รัฐมีโอกาสที่จะพัฒนาหาวิธีการที่สามารถให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพแก่พลเมืองของตนได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง

บทสรุป

ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติของสังคมมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคลที่สถานะทางเศรษฐกิจทางสังคมเสมอกัน หรือไม่เท่ากัน เช่น ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐในกรณีต่างๆ ดังนั้นการจัดการความขัดแย้งไม่ว่าจะวิธีใดก็ตามแต่ไม่มีวิธีการใดที่จะทำให้ความขัดแย้งหายไปอย่างถาวร เหมือนกับโทษประหารชีวิตที่ไม่สามารถทำให้ความขัดแย้งระหว่างพลเมืองกับรัฐยุติลงได้ ถึงแม้ว่าจะมีการใช้วิธีดังกล่าวมาเป็นระยะเวลานานแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าความรุนแรงไม่สามรถทำให้ปัญหาสังคมซึ่งเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับพลเมืองบางกรณียุติลงได้ เช่น ปัญหาอาชญากรรมต่างๆที่ต้องโทษประหารชีวิต

หากกล่าวในแง่ของการจัดการความขัดแย้ง การยกเลิกโทษประหารชีวิตถือว่าเป็นการใช้สันติวิธีโดยรัฐอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องนำไปใช้เฉพาะการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐเท่านั้น แต่ยังสามารถนำรูปแบบวิธีการของสันติวิธีในการกำหนดนโยบายของรัฐเพื่อทำให้เกิดประโยชน์ที่สอดคล้องกับค่านิยมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยที่เป็นค่านิยมที่ส่งเสริมคุณค่าความเป็นพลเมืองได้เช่นกัน 

เชิงอรรถ
[1] สำนักงานรัฐธรรมนูญ. เอกสารวิชาการส่วนบุคคล เรื่องโทษประหารชีวิต : หลักคิดด้านสิทธิมนุษยชน (สิงหาคม 2557).
[2] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกสม.7รายงานผลเพื่อพิจารณาเสนอแนะนโยบายหรือข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย. (24 มีนาคม 2558)
[3] เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว, “แนวทางการปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชน” ใน คู่มือกติการะหว่างประเทศ สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (มปก. มปก. 2556) 6.
[4] ศิริกัลยา ธงชัย, “การใช้โทษอื่นแทนโทษประหารชีวิต,” (สารนิพนธ์ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต สาขางานบริหารงานยุติธรรม ภาควิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553), 14-16 ใน https://www.digi.library.tu.ac.th/thesis/sw/2875/03chapter2.pdf (สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559).
[5] นายพรชัย อักษรเสือ, “แนวโน้มการยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทย,” http://www.ptu.ac.th/StudentServe/input/thesis/[1][080916100219].pdf (สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559).
[6] ไทยรัฐออนไลน์, “ฉีดยาประหาร 2นักโทษ คดียาเสพติด,” ไทยรัฐ, 25 สิงหาคม 2552, http://www.thairath.co.th/content/28540 (สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559).
[7] จิฬาภรณ์ ตามชู และ อานนท์ ยังคุณ, “หลักอาชญาวิทยาและนโยบายการยุติธรรม” ใน เอกสารทางวิชาการรณรงค์เปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล (กรุงเทพฯ, กองส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, 2557). 8-9.
[8] นางสาวจิฬาภรณ์ ตามชู และ นายอานนท์ ยังคุณ, “หลักอาชญาวิทยาและนโยบายการยุติธรรม” ใน เอกสารทางวิชาการรณรงค์เปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล (กรุงเทพฯ, กองส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, 2557), 10-13.
[9] พิทักษ์ไท เทพนอก, “ทฤษฎีอำนาจนิยม” ใน ทฤษฎีสังคมและการเมือง (นครราชสีมา : สำนักพิมพ์ตะวันรุ่งซินดิเคท มปก.), 85.
[10] พิทักษ์ไท เทพนอก, “ทฤษฎีเสรีนิยม” ใน ทฤษฎีสังคมและการเมือง (นครราชสีมา : สำนักพิมพ์ตะวันรุ่งซินดิเคท มปก.), 91.
[11] พิทักษ์ไท เทพนอก, “ตารางที่1 แสดงการเปรียบเทียบวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยกับวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม” ใน ทฤษฎีสังคมและการเมือง (นครราชสีมา : สำนักพิมพ์ตะวันรุ่งซินดิเคท มปก.), 85.
[12]ดวงดาว กีรติกานนท์ , “โทษประหารชีวิต Capital Punishment,” www.bu.ac.th/knowledgecenter/epaper/jan_june2009/pdf/Duangdaew.pdf (สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559).
[13] ดวงดาว กีรติกานนท์ , “โทษประหารชีวิต Capital Punishment,” www.bu.ac.th/knowledgecenter/epaper/jan_june2009/pdf/Duangdaew.pdf (สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559).
[14] ดวงดาว กีรติกานนท์ , “โทษประหารชีวิต Capital Punishment,” www.bu.ac.th/knowledgecenter/epaper/jan_june2009/pdf/Duangdaew.pdf (สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559).
[15] มปก, “แนวโน้มและสถิติระดับโลก ข้อเท็จจริงและสถิติ,” https://www.amnesty.or.th/our-work/death-penalty/global-trend (สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559).
[16] ชำนาญ จันทร์เรือง, “โทษประหารชีวิตไม่ทำให้อาชญากรรมลดลง,” http://prachatai.com/journal/2013/09/48823 (สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559).
[17]มปก. “แอมเนสตี้เผยแพร่รายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตทั่วโลก ประจำปี 2557.” https://www.amnesty.or.th/news/press/560 (สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559).
[18] เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว, “แนวทางการปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชน” ใน คู่มือกติการะหว่างประเทศ สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (มปก. มปก. 2556) 13.
[19] ศิริกัลยา ธงชัย, “การใช้โทษอื่นแทนโทษประหารชีวิต,” (สารนิพนธ์ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต สาขางานบริหารงานยุติธรรม ภาควิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553), 44ใน https://www.digi.library.tu.ac.th/thesis/sw/2875/03chapter2.pdf (สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559).
[20] ชัยวัฒน์ อานนท์, “สันติวิธีจากแง่มุมของรัฐ” ใน ท้าทายทางเลือก ฉบับปรับปรุงใหม่ (กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2557). 256.
[21]  ชัยวัฒน์ อานนท์, “สันติวิธีจากแง่มุมของรัฐ” ใน ท้าทายทางเลือก ฉบับปรับปรุงใหม่ (กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2557). 309.
[22] ชัยวัฒน์ อานนท์, “สันติวิธีจากแง่มุมของรัฐ” ใน ท้าทายทางเลือก ฉบับปรับปรุงใหม่ (กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2557). 306.
[23] ชัยวัฒน์ อานนท์, “เคล็ดลับสันติวิธี” ใน ท้าทายทางเลือก ฉบับปรับปรุงใหม่ (กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2557). 306.
[24]  ชัยวัฒน์ อานนท์, “เคล็ดลับสันติวิธี” ใน ท้าทายทางเลือก ฉบับปรับปรุงใหม่ (กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2557). 306.
[25] โกวิท วงศ์สุรวัฒน์, มติชนออนไลน์, “เนเธอร์แลนด์ปิดคุก แต่ประเทศไทยสร้างคุกเพิ่ม,”มติชน, 19 ธันวาคม 2556, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1387362115 (สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559).
หมายเหตุ: จากบทความเดิมชื่อ "รัฐกับสันติวิธีว่าด้วยการยกเลิกโทษประหารชีวิต : กรณีศึกษาการยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นสันติวิธีโดยรัฐอย่างไร"

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.