สถาบันวิจัยสังคมฯ จัดเสวนา จากโรงไฟฟ้ากระบี่ สู่โจทย์ใหญ่จัดการพลังงานยั่งยืน
Posted: 21 Feb 2017 10:32 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 

เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2560 เวลาประมาณ 16.30 น. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีนโยบายสังคม (Social Policy Forum) เรื่อง การจัดการพลังงานที่เป็นธรรมกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: โจทย์ท้าทายในอนาคต มีนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญทางทฤษฎีและปฏิบัติร่วมแลกเปลี่ยน มีโจทย์สำคัญจะจัดการพลังงานอย่างไรให้มีความยั่งยืนและเป็นธรรม ศึกษาจากความขัดแย้งด้านนโยบายการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่จากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ผ่านมา
ผศ.ประสาท มีแต้ม นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า พลังงานเป็นเรื่องประชาธิปไตย ประกอบด้วยความเป็นธรรมและความยั่งยืน จากสถานการณ์ความขัดแย้งการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจ.กระบี่ ทำให้ยกระดับความรู้เป็นที่น่าชื่นชม โจทย์สำคัญจะทำอย่างไรให้ทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่องว่า การใช้ถ่านหินมีต้นทุนสูงและทำให้โลกร้อนถึงแม้จะเอาพื้นที่มหาสมุทรมาปลูกต้นไม้ยังไม่สามารถทำให้ธรรมชาติกลับมาสมดุลได้ เราสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้พลังงานฟอสซิล ทั้งนี้ในเชิงเศรษฐศาสตร์ก็สามารถทำได้ ถ้ามีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากมีความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงพลังงาน เราจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจเรื่องนี้ง่ายขึ้น ทั้งที่ทั่วโลกเขาก็ทำมานานและสามารถทำได้
ขณะที่ เลิศชาย ศิริชัย จากคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์เรากลับใช้วิธีคิดแบบเดิม รัฐบาลคิดเอาเองพอใครไม่เห็นด้วยก็ใช้อำนาจผลักภาระให้ประชาชน การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่รัฐบาลไม่ได้เข้ามาศึกษาร่วมซึ่งรัฐบาลรู้ดีว่าโครงการมันมีผลกระทบ แต่ไม่สื่อสารต่อประชาชนและเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว ทั้งนี้ต้องมีการจัดการทรัพยากรโดยท้องถิ่น แต่กลุ่มทุนกลับมาใช้ประโยชน์และจัดแจงเสียเองโดยมองข้ามท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง พูดแต่เรื่องการใช้พลังงานแต่ไม่พูดเรื่องคน
เลิศชาย กล่าวต่อว่า กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และสงขลา หรือพื้นที่อื่นๆ ถูกต่อต้านอย่างเข้มแข็ง  ภาคใต้ถูกกำหนดตำแหน่งแห่งที่ให้เป็นเขตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จากการศึกษากระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้ากลายเป็นธุรกิจข้ามพรมแดน ขึ้นอยู่ว่าที่ไหนได้กำไรมากกว่ากัน จึงมีคำถามว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝพ.) มีการแปรรูปให้เอกชนเข้ามาถือหุ้น ขณะนี้เรากำลังเอาชีวิตคนไปค้าขายใช่หรือเปล่า แล้วจะเกิดความเป็นธรรมในอนาคตได้อย่างไร
“กฝพ. กับ  รัฐบาล มีวาทกรรมในทางเดียวกันว่า โครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ไม่ผลกระทบ โฆษณาว่าเทคโนโลยีที่นำมาใช้นั้นสะอาด บอกว่าถ้ามีโรงไฟฟ้าแล้วลูกหลานจะมีโอกาสทำงานใกล้บ้าน แต่ความจริงคือชาวบ้านแต่ละครัวเรือนที่ภาคใต้ใช้ไฟฟ้าแค่นิดเดียว ทั้งนี้ยังบอกให้ชาวบ้านมองให้กว้างกว่าเรื่องของตัวเองและไม่เห็นแก่ตัว รัฐนำวาทกรรมนี้สื่อสาธารณะเพื่อให้คนภาคใต้สนับสนุน ขณะที่ NGO ในพื้นที่กลายเป็นแพะรับบาป  ทำไม กฝผ. และรัฐบาล จ้างคนไปนำเสนอโครงการได้ ทำไมรัฐจัดงบประมาณพาชาวบ้านไปดูงานที่ถูกจัดแจงไว้ได้ เช่น กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง มีการพาชาวบ้านไปดูงานที่โรงไฟฟ้า แต่ไม่ได้พาชาวบ้านไปดูคนที่เจ็บป่วยจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ดร.เลิศชายกล่าว
เลิศชาย กล่าวอีกว่า การอนุมัติโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ถือได้ว่าเป็นการแย่งชิงทรัพยากรท้องถิ่น เกิดการขูดรีดทรัพยากรผ่านคน ลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพคน ซึ่ง ดร.เลิศชายเสนอทางออกดังนี้ 1.ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เริ่มอย่างจริงจัง ทำการศึกษาและทำวิจัยออกมา 2. ให้รัฐบาลยกเลิกการดำเนินการที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ 3. สร้างหน่วยงานกลางขึ้นมาจัดการแก้ไขปัญหา
ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ จากคณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า มติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ จากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ผ่านมา  รัฐบาลพูดถึงแค่ทางเลือกด้านพลังงาน ทางผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและทางการท่องเที่ยว ซึ่งในทางท้องถิ่นชาวบ้านก็มีความรู้และมีคุณค่า ดังนั้นการพูดถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และที่อื่นๆ จึงไม่ใช่แค่การพูดความสะอาดทางเทคโนโลยี เนื่องจากจะมีคำถามที่ท้าทายตามมาว่า เทคโนโลยีสำหรับกระบวนการสร้างนั้นสะอาดจริงหรือไม่ จากที่เคยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเมื่อปี 2504 เป็นโรงไฟฟ้ากระบี่โรงเก่าที่ใช้ถ่านหินก็เริ่มดำเนินการก่อสร้างจนเสร็จสมบูรณ์ เริ่มเดินเครื่องผลิตกระแสไฟอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2507 โดยมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งแรกเริ่ม 20 เมกกะวัตต์ ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 60 เมกกะวัตต์ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2538 จึงยกเลิกการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหิน และหันมาใช้น้ำมันเตาแทน ในช่วงที่มีการเดินเครื่องเพื่อผลิตไฟฟ้า งานวิจัยนี้พบว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 60 เมกกะวัตต์ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างรุนแรง โดยขี้เถ้าถ่านหินจากการเผาไหม้ฟุ้งกระจาย และชาวบ้านหมู่ 1 หมู่ 2 หมู่ 3 และหมู่ 4 ต.ปกาสัย ได้รับผลกระทบ โดยที่หมู่ 4 หรือบ้านทุ่งสาครได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากอยู่ใต้ลมของโรงไฟฟ้าเป็นเวลา 7-8 เดือนต่อปี (เดือน 6 - เดือน 12 หรือเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน) และขี้เถ้าถ่านหินทำให้ชาวบ้านจำนวนมากป่วย ส่วนใหญ่เป็นโรคทางเดินหายใจ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืด ข้อมูลนี้ได้จาก รพ. เหนือคลอง จ.กระบี่
ไชยณรงค์ กล่าวต่อว่า ด้านการใช้ระบบหล่อเย็นสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทรัพยากรส่วนรวมและความมั่นคงทางอาหาร ทั้งนี้มีการต่อสู้ของประมงพื้นบ้านกับประมงพานิชย์มาอย่างยาวนานเพื่อปกป้องทรัพยากรส่วนรวม
“ด้านรายงานของ EHIA ไม่มีการพูดถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหาร ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพไม่มี ทำให้โครงการขนาดใหญ่นี้เป็นข้อถกเถียงและข้อมูลถูกบิดเบือน ชาวบ้านจึงไม่เชื่อมั่นในความรู้ของรัฐบาลจึงทำการคัดค้าน” ไชยณรงค์ กล่าวไว้ตอนท้าย
สมพร เพ็งค่ำ นักวิชาการอิสระด้านการประเมินผลกระทบสุขภาพโดยประชาชน กล่าวถึงผลกระทบสุขภาพจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ว่า ภาครัฐมองแค่มิติด้านพลังงานแต่ไม่ได้มองมิติด้านสุขภาพ กรณีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านที่กระบี่และเทพา จ.สงขลานั้น หากกล่าวว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นมีราคาถูก แล้วถ้าถามถึงราคาด้านสุขภาพมีราคาถูกด้วยหรือไม่ แล้วเทคโนโลยีสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นสะอาดและป้องกันการเกิดโรคได้จริงหรือไม่ ผลกระทบไม่ใช่แค่ทำให้โรคหอบหืดและโรคทางเดินหายใจ แต่ยังมีความรุนแรงส่งผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจด้วย และเมื่อพูดถึงมลพิษทางอากาศ จะมีงานทางวิชาการระบุว่า มลพิษทางอากาศในพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ว่าที่ไหนจะมีการปนเปื้อนโลหะหนัก ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งสามารถเข้าสู่กระแสเลือดคนได้ คำถามคือเทคโนโลยีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านที่กระบี่สะอาดจริงหรือไม่
“ถ่านหินราคาถูกกว่าพลังงานอื่นๆ เนื่องจากไม่ได้รวมเรื่องราคาด้านสุขภาพ เราควรคุยกันในเรื่องต้นทุนระยะยาว ,ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ภาระค่าใช้จ่ายล้วนมาจากกองทุนประกันสุขภาพ มุมมองด้านสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่พูดถึงแค่จ่ายค่าไฟถูก” สมพรกล่าว
ศุภกิจ นันทะวรการ จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า ขณะนี้สื่อมวลชนทั้งสนใจและสับสนกับประเด็นพลังงาน กระทรวงพลังงาน และ กฝผ. ชี้ไปในทางเดียวกันว่า ไฟฟ้าไม่พอใช้ แต่หากมองไปแต่ละท้องถิ่นจะพบว่ามีการใช้ไฟฟ้าแค่นิดเดียว กฝผ. อ้างว่า หากกระบี่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100 % แล้วจะไม่มีความมั่นคง จึงเกิดนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างพลังงานหมุนเวียน สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ประชาชนเข้าไม่ถึงการมีส่วนร่วมด้านการจัดการพลังงาน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วม จะได้ไม่ต้องรอการตัดสินใจและเกิดความขัดแย้งดังที่ผ่านมา ข้อเสนอของศุภกิจคือ การปฏิรูป กพช. เพื่อแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยประชาชนในท้องถิ่นต้องเข้าไปมีส่วนร่วม และ กพช. ต้องเป็นกลไกหลักในการจัดการพลังงานครั้งนี้
ศุภกิจ เสนออีกว่า กรณีการจัดการพลังงานที่กระบี่เสนอให้ 1. ให้มีการจัดการภายในจังหวัด ให้ชาวบ้านตัดสินใจด้วยตัวเองว่าต้องการอะไรและไม่ต้องการอะไร 2. กระทรวงพลังงานให้ความเข้าใจในความรู้ด้านพลังงานกับชุมชน ตั้งแต่ความรู้เบื้องต้นเพื่อให้คนรับรู้ว่า ปัญหาคืออะไร พลังงานอยู่ร่วมและทำงานกับสังคมยังไง และจะจัดการพลังงานอย่างมีส่วนร่วมอย่างไร

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.